Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทความจากบล็อก ‘Banyan’ ในเว็บไซต์ ‘ดิ อีโคโนมิสต์’ วิเคราะห์การประชุมอาเซียนและการประชุมสุดยอดผู้นำตะวันออกที่สิ้นสุดไปเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา เมื่อย้อนมองสหภาพยุโรปและหันกลับมาดูอาเซียน ก็ฟันธงได้เลยว่าอาเซียนไม่มีทางจะเป็นได้อย่างอียู 000 บรรดาผู้นำประเทศในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ได้เดินทางไปร่วมประชุมประจำปีครั้งที่ 19 ที่บาหลีในอาทิตย์ที่ผ่านมา อาเซียนเองก็เริ่มกลายเป็นสถานที่ยอดนิยมแห่งยุคสมัยไปแล้ว เนื่องจากไม่ว่าประเทศใดๆที่แม้จะอยู่ห่างไกลจากประโยชน์ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิคก็ล้วนแต่อยากร่วมเป็นสมาชิกด้วยทั้งสิ้น หรืออย่างน้อยได้เข้ามานั่งประชุมด้วยก็ยังดี ในขณะที่การประชุมสุดและองค์การยอดครั้งแล้วครั้งเล่าแบบที่เรียกกันว่า “อาเซียน-เซนทริค” (อาเซียนเป็นศูนย์กลาง) ถูกตั้งขึ้นมาใหม่เพื่อรองรับผู้มาใหม่เหล่านี้ - ตั้งแต่อินเดียยันนิวซีแลนด์ และตั้งแต่จีนยันรัสเซีย ด้วยเหตุฉะนี้ การประชุมสุดยอดอาเซียนในปัจจุบันจึงกลายเป็นมหกรรมการประชุมสุดยอดและการประชุมทวิภาคีต่างๆ ที่มีตารางประชุมติดกันเป็นชุดๆ ซึ่งไฮไลท์ของปีนี้จะเป็นการมาเยือนของประธานาธิบดี บารัก โอบาม่า เพื่อส่งสัญญาณการผงาดขึ้นสู่ที่ประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกของสหรัฐอเมริกา อันเป็นการรวมตัวน้องใหม่อีกกลุ่มหนึ่งของอาเซียน ซึ่งมีสมาชิกดั้งเดิม 10 ประเทศ และประเทศคู่เจรจาอีก 8 ประเทศ นอกจากนี้ การมาเยือนนี้จะยิ่งเป็นการตอกย้ำความรู้สึกว่าศตวรรษนี้จะเป็น “ศตวรรษแห่งเอเชีย” ปธน. โอบาม่าก็เองย้ำแล้วย้ำอีกในประเด็นนี้เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (หมายถึงพุธที่ 17 พ.ย. 54 – ประชาไท) อย่างไรก็ตาม จุดประสงค์ของอาเซียนปีนี้คงจะไม่สนใจในการสร้างเอเซียใหม่อันน่าภาคภูมิใจมากนัก แต่ความสนใจจะไปอยู่กับยุโรปเก่าที่กำลังทรุดลงเรื่อยๆต่างหาก เช่นเดียวกับที่การประชุม G20 เมื่อเร็วๆนี้ที่ฝรั่งเศส ประเด็นเรื่องวิกฤติค่าเงินยูโรจะเป็นประเด็นหนึ่งที่พูดคุยกันในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ของอาเซียนด้วยเช่นกัน หากจะมีเรื่องที่เกี่ยวกับอาเซียนจริงๆในการประชุมครั้งนี้ อย่างมากก็คงมีเพียงแค่ประเด็นคำถามที่ว่า เศรษฐกิจในแถบเอเชียแปซิฟิกนี้จะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อหลีกเลี่ยงโรคระบาดทางการเงินครั้งนี้จากยุโรปที่นั่น วิกฤติค่าเงินยูโรยังทำให้บรรดาขาประชุมทั้งหลายที่บาหลีหันมาครุ่นคิดเกี่ยวกับอนาคตของตัวอาเซียนเองอีกด้วย รวมถึงคำถามที่ว่ามีบทเรียนใดที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากประวัติศาสตร์การเงินยุโรปพักหลังๆอันน่าอัปยศนี้ได้บ้างหรือไม่ แทบไม่มีใครหรอกที่จะไม่ลองเปรียบเทียบสถานการณ์ทั้งสองนี้ดู: ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมาในปี 1967 (ซึ่งก็ถือว่าช้ากว่าคนอื่นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว) อาเซียนมีเป้าหมายว่าจะขึ้นเป็น “เขตเศรษฐกิจอาเซียน” ให้ได้ภายในปี 2015 หรือ อย่างที่เอกสารทางการของอาเซียนได้กล่าวไว้อย่างหอมหวานว่า “วิสัยทัศน์” ของอาเซียนนั้นคือจะสร้าง “ภูมิภาคเศรษฐกิจอาเซียนที่มั่นคง รุ่งเรือง และมีการแข่งขันสูง โดยจะมีทั้งการไหลเวียนสินค้า บริการ และการลงทุนที่ดี การหมุนเวียนของทุนที่เสรี การพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างถาวรและช่องว่างในสังคมและเศรษฐกิจของประเทศรวมทั้งความยากจนต่างๆ จะลดน้อยลง” ทั้งหมดนั้นฟังดูคล้ายเหลือเกินกับบทบัญญัติของเขตเศรษฐกิจยุโรป (อีอีซี) อันเป็นต้นตำหรับที่นำไปสู่สหภาพยุโรปในเวลาต่อมา เช่นเดียวกับที่บิดาผู้ก่อตั้งอีอีซีทั้งหลายได้บรรลุความฝันนี้ในยุโรปเมื่อทศวรรษ 1980s แล้ว ก้าวต่อไปของยุโรปก็คือการใช้สกุลเงินเพียงหนึ่งเดียว หรือ ยูโร และก้าวต่อไปก็คือ... นั่นแหละ คงไม่งามหากจะมาพูดกันตอนนี้ เพราะเราต่างก็ทราบดีแล้วว่าสหภาพยุโรปลงเอยอย่างไร ความคล้ายคลึงกันใน “วิสัยทัศน์” ของทั้งอีอีซีและอาเซียนนั้นมิใช่เป็นเรื่องบังเอิญแต่อย่างใด คงเป็นยากนักที่จะระลึกถึงความจริงหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ว่า สหภาพยุโรปเคยได้รับความหวังและการคาดการณ์ว่าจะประสบความสำเร็จอย่างใหญ่หลวง ว่าสหภาพยุโรปนั้นคือโมเดลของการที่บรรดาอริเก่าทั้งหลายสามารถเอาความขัดแย้งต่างๆ ฝังลงดินเพื่อหันมาสร้างตลาดและบรรลุความยิ่งใหญ่ทางเศรษฐกิจแทน โปรดลองหลับตาและรำลึกถึงวันวานของเยอรมนีในปี 1950 อิตาลีในปี 1960 หรือไอร์แลนด์ในปี 1990 แม้แต่ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟต้า) ก็ยังมีรูปแบบบางส่วนมาจากสหภาพยุโรป เป็นเรื่องธรรมดาที่ชาวเอเชียเองก็มองหาตัวอย่างจากยุโรปด้วยเช่นกัน เราจะเห็นว่า ปัญหาของโมเดลแบบยุโรปนี้คือเป้าหมายเศรษฐกิจที่จำกัดนี้สร้างโมเมนตัมบางอย่างขึ้นมาด้วย กล่าวคือ เมื่อเกิดปัญหาใดๆก็ตามในสหภาพยุโรป คำตอบก็มีแต่ “ต้องปรับตัวให้เป็นหนึ่งเดียวกับอียูให้ได้มากกว่านี้” จนคำตอบนี้กลายเป็นคำตอบปริยายไปแล้ว ประเทศต่างๆเข้าคิวรอเข้าอียูก็เพราะพวกนี้ต้องการที่จะเข้าร่วมขบวนการ “เป็นหนึ่งเดียว” กับสหภาพยุโรป ทั้งที่จริงๆ แล้วพวกเขาหวังว่าการเข้าเป็นหนึ่งเดียวนี้จะนำไปสู่ความมั่งคั่งสืบไปอีกสเต็ปหนึ่งต่างหาก ตามที่อีอีซีได้เคยทำไว้ใน 20 ปีแรกของการก่อตั้ง อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครฉุกคิดเลยว่า สมมติถ้ามีประเทศในแถบมิดิเตอเรเนียนหนึ่งอยากจะเข้าอียู ประเทศนี้จะต้องปรับตัวมโหฬารเพียงใดเพียงเพื่อจะได้เข้า “เป็นหนึ่งเดียว” กับเศรษฐกิจระดับเยอรมนี เริ่มมีความกังวลในอาเซียนเองด้วยว่า สมาชิกทั้ง 10 ประเทศกำลังสร้างสภาวะที่อยากแต่จะ “เป็นหนึ่งเดียว” อย่างไม่ตั้งคำถามเลยเช่นกัน เอกสารว่าด้วย “วิสัยทัศน์” ที่กล่าวมาแล้วขององค์การนี้ก็ยิ่งตอกย้ำความกังวลนี้ อย่างไรก็ตาม ยังโชคช่วยอยู่บ้าง (สำหรับอาเซียน) ที่ความจริงมิได้เป็นเช่นนั้นเลย ประเด็นที่หนึ่ง อาเซียนชอบเติบโตในแนวกว้างมากกว่าในทางลึก ตามที่มหกรรมการประชุมในสัปดาห์นี้แสดงให้เห็น อาเซียนชอบที่จะเอาเวลาและการลงแรงไปกว้านหาประเทศใหม่ๆ เข้ามาในภูมิภาค มากกว่าที่จะยอมเอาอธิปไตยของประเทศในอาเซียนมาเป็นต้นทุนกัน ตามจริงแล้ว ความจริงของอาเซียนนั้นตรงกันข้ามกับถ้อยคำบรรเจิดต่างๆ ที่อยู่ในเอกสารเมื่อครั้งตั้งอาเซียนเลย เพราะบรรดาประเทศสมาชิกต่างๆกลับต้องการหาทางจำกัดอำนาจและบทบาทของอาเซียนที่ตั้งอยู่ที่กรุงจาการ์ต้า มากกว่าจะเพิ่มให้มากขึ้น ที่นี่ไม่ใช่กรุงบรัสเซลล์ ผู้เขียนเองทึ่งอย่างมากที่ได้เรียนรู้ในสัปดาห์นี้เองว่า ประเทศสมาชิกต่างๆของอาเซียนยอมเสียเงินเพียงแค่ 1.7 ล้านดอลลาร์เพื่อบำรุงอาเซียนเท่านั้น (ข้อมูลจากวิกิลีกส์) ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนเงินที่น้อยมากสำหรับประเทศอย่างสิงคโปร์หรืออินโดนีเซีย จริงแล้วๆ อเมริกาและญี่ปุ่นกลับจ่ายเงินให้แก่อาเซียนมากกว่าชาติใดๆในอาเซียนเองด้วยซ้ำ เห็นได้ชัดว่าชาติอาเซียนไม่ยอมให้มีระบบราชการศูนย์กลางเติบโตขึ้นมาเพื่อท้าทายอธิปไตยในประเทศของตนเอง ช่างประเสริฐยิ่ง ยิ่งไปกว่านี้ ต่อให้ชาติอาเซียนประสงค์จะเข้าสู่ “สหภาพอันใกล้ชิดกัน” มากกว่านี้ ก็คงเป็นไปไม่ได้อยู่ดี ตามที่นักข่าวท่านหนึ่งของหนังสือพิมพ์จาการ์ตาโพสต์ชี้ให้ผู้เขียนเห็นว่า ในขณะที่สหภาพยุโรปสามารถวางข้อกำหนดในการเข้าร่วมได้ว่าต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง (ในกรณีนี้คือ ต้องเป็นประชาธิปไตยเสรีนิยมแบบตะวันตก เป็นต้น) เพื่อที่ว่าทุกประเทศในแถบผู้โชคดีบางแถบของยุโรปจะได้ตรงตามคุณสมบัตินี้กันหมด) แต่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น นี่เป็นเรื่องที่ไม่มีทางเป็นไปได้ ความแตกต่างในระบอบการปกครองนั้นมีมากเกินไป อาเซียนมีทั้งหมด ตั้งแต่รัฐคอมมิวนิสต์พรรคเดียวในเวียตนามยันระบอบกษัตริย์แบบรัฐธรรมนูญในไทย หรือตั้งแต่เผด็จการกึ่งทหารในพม่ายันประชาธิปไตยลุ่มๆดอนๆของอินโดนีเซีย อาเซียนมีสติพอที่จะยอมรับความแตกต่างเหล่านี้ให้คงอยู่ต่อไปได้ และบรรดาประเทศเหล่านี้ก็กลับปฏิญาณด้วยว่า จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองในแต่ละประเทศสมาชิกอีกด้วย (นับว่าเป็นโชคดีอยู่มากสำหรับบรรดาผู้นำพม่า) ในทำนองเดียวกัน ความแตกต่างทางเศรษฐกิจของ 10 ชาติอาเซียนนั้นใหญ่โตกว่ารอยแยกทางการเงินที่เป็นปัญหาในยุโรปตอนนี้ยิ่งนัก ทางด้านหนึ่ง สิงคโปร์คือประเทศที่รวยที่สุดแห่งหนึ่งในโลก (วัดจากค่า GDP ต่อหัว) แต่พม่ากลับเป็นประเทศที่จนที่สุดแห่งหนึ่ง บางประเทศมีระบบเศรษฐกิจอยู่บนฐานของตลาดเปิดแบบทุนนิยม อย่างในไทยและสิงคโปร์ แต่ประเทศอื่นกลับเป็นธุรกิจรัฐรวมศูนย์เสียส่วนใหญ่ เช่น กัมพูชาหรือเวียตนาม บรูไนตัวเล็ก แต่อินโดนีเซียกลับตัวใหญ่ คงเป็นเรื่องชวนหัวหากจะคาดหวังให้ความแตกต่างทางธรรมชาติของประเทศเหล่านี้ลดน้อยได้บ้างผ่านกระบวนการรวมเป็นหนึ่งเดียว ส่วนเรื่องจะใช้สกุลเงินเดียวก็ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเลย โดยเฉพาะหลังจากประสบการณ์เลวร้ายของยูโร (แล้วเมื่อคิดว่าจะตั้งชื่อว่าอะไรดียิ่งน่าปวดหัวเข้าไปใหญ่) ดังนั้น โปรดจงมองข้าม “วิสัยทัศน์” อะไรแบบนั้น และคาดหวังให้อาเซียนยังคงความหละหลวม กว้าง และพูดจาน้ำท่วมทุ่งแบบนี้ต่อไปดีกว่า การประชุมสุดยอดจำนวนนับครั้งไม่ถ้วนก็ไม่ทำให้เกิดสหภาพอันใกล้ชิดกันมากขึ้นไปตลอดหรอก ขอบคุณสวรรค์! ที่มา: แปลจาก No Brussels sprouts in Bali. The Economist. 18/11/54

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net