Skip to main content
sharethis

วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนา ‘1 ปีหลังรัฐประหารพม่า’ โดยมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญหลากหลายแขนงมาร่วมให้ความเห็นต่อสถานการณ์ในเมียนมาหลากหลายมิติ 

6 ก.พ. 65 วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตท่าพระจันทร์ จัดเสวนาวิชาการ “1 ปีหลังรัฐประหารพม่า” เมื่อ 1 ก.พ. 65 เวลา 13.30-15.30 น. โดยเชิญชวนนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญหลากหลายแขนงมาอัปเดตความคืบหน้าสถานการณ์ภายในเมียนมาในหลากหลายมิติ

  • นฤมล ทับจุมพล บรรยายถึงสถานการณ์ในเมียนมา การสู้รบระหว่างกองกำลังชาติพันธุ์ที่อาจขยายไปในพื้นที่รัฐฉาน การลงทุนจากต่างประเทศ และการต่อสู้ของชาวพม่าที่ยังคงยืนหยัดมาโดยตลอด 1 ปีที่ผ่านมา
  • ดุลยภาค ปรีชารัช วิเคราะห์ 2 ฉากทัศน์หากกองทัพพม่าทำรัฐประหารสำเร็จ หรือฝั่งประชาชนสามารถกุมความได้เปรียบเหนือกองทัพ
  • สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี นักข่าวอาวุโส เสนอไทยควรช่วงชิงบทบาทการแก้วิกฤตเมียนมา

สงครามกลางเมืองขยายแนว

นฤมล ทับจุมพล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ และรองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อัปเดตความคืบหน้าของชาวเมียนมา 1 ปีหลังรัฐประหารในภาคประชาชน โดยระบุว่า การต่อสู้กับกองทัพพม่าเมื่อเทียบกับตอนแรกที่กระจุกอยู่ในพม่าตอนกลาง เช่น รัฐพม่า ในพื้นที่สะไกน์ มะกเว่ และกะฉิ่น แต่เมื่อผ่านไป 6 เดือน การต่อสู้ไปกระจุกที่บริเวณชายแดนมากกว่าพม่าตอนกลาง ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของกองกำลังชาติพันธุ์ 

นฤมล ทับจุมพล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เหตุที่เป็นแบบนี้เพราะว่าเมื่อกองทัพพม่าเห็นแล้วว่าผ่านไป 1 ปียังควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ จึงเลือกใช้วิธีตอบโต้ด้วยความรุนแรง และหลังจากรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ประกาศจัดตั้งกองกำลังปกป้องประชาชน หรือ People’s Defense Force - PDF ซึ่งได้รับการฝึกอาวุธจากกองกำลังชาติพันธุ์ ก็ส่งผลให้จำนวนการสู้รบดีดตัวสูงขึ้นตาม 

นอกจากนี้ เธอตั้งข้อสังเกตว่า กองทัพพม่าประสบความสำเร็จในการให้กองกำลังชาติพันธุ์สู้กันเองเพื่อแย่งชิงเขตอิทธิพลและผลประโยชน์ แทนที่การต่อต้านกองทัพพม่า ดังนั้น จะเห็นว่าช่วงแรกๆ ของการทำรัฐประหาร เอกภาพของกองกำลังชาติพันธุ์ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เช่น รัฐฉานใต้ของเจ้ายอดศึกปะทะกับรัฐฉานเหนือ ปมข้อพิพาทเรื่องดินแดน ซึ่งอาจารย์จากจุฬาระบุด้วยว่า สิ่งที่กองทัพพม่าต้องการ คือ ทำให้สงครามกลางเมือง เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง ในการเข้าไปจัดการ และสร้างสันติสุขสำหรับประเทศเมียนมา  

นอกจากนี้ นฤมล กล่าวว่า ตัวเลขการปะทะกันด้วยกำลังอาวุธที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องไปในแนวทางเดียวกับจำนวนผู้พลัดถิ่นภายในที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะทางฝั่งรัฐกะเหรี่ยง และกะเรนนี ซึ่งมีการรบพุ่งจำนวนมาก โดยมีการประมาณการว่าตัวเลขอาจสูงถึง 5 หมื่นคน

ทั้งนี้ เมื่อ 21 ม.ค. 65 มีรายงานเผยแพร่โดยกลุ่มเสียงก้าวหน้า หรือ Progressive Voice - PV ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมรณรงค์ในเรื่องสิทธิมนุษยชน ระบุว่าตลอด 11 เดือนหลังกองทัพพม่าทำรัฐประหาร จนถึงวันที่ 29 ธ.ค. 65 มีการปะทะด้วยอาวุธสงครามระหว่างกองทัพพม่าและพลเรือน และการโจมตีประชาชน สูงถึง 7,686 ครั้ง โดยมากสุดในช่วง ก.ย. - ธ.ค. 64 นอกจากนี้ ตัวเลขการปะทะในปี 64 มีจำนวนสูงขึ้นถึง 715% เมื่อเทียบกับการปะทะและการโจมตีพลเรือน 2563 

รายงานดังกล่าวระบุด้วยว่า ตัวเลขการปะทะกันระหว่างทหารพม่าและประชาชน ในปี 64 มีจำนวนเกือบเทียบเท่าเหตุปะทะด้วยอาวุธสงครามในประเทศซีเรีย ในช่วงเดียวกัน อยู่ที่ 7,742 ครั้ง และสูงกว่าในอัฟกานิสถานในช่วงเดียวกัน ซึ่งอยู่ที่ 6,481 ครั้ง ที่อิรัก 6,270 ครั้ง และเยเมน 3,732 ครั้ง   

ทั้งนี้ นฤมล มองว่า ในปีนี้สถานการณ์การสู้รบอาจขยายแนวเข้ามาที่รัฐฉานมากขึ้นด้วย ซึ่งอาจเป็นการรบกันระหว่างกองกำลังชาติพันธุ์ด้วยกันเอง และจะส่งผลให้มีจำนวนผู้พลัดถิ่นภายในเพิ่มขึ้น 

การลงทุนจากจีนไม่ลด

สำหรับมิติด้านเศรษฐกิจ สิ่งที่น่าสนใจคือหลังรัฐประหาร ประเทศพม่ากำลังวกกลับเข้าไปสู่ cash economy หรือเศรษฐกิจเงินสด เพราะว่าระบบธนาคาร (banking system) ทำงานยาก เนื่องจากถูกฝ่ายต่อต้านทำลายเสาส่งสัญญาณเป็นระยะๆ แต่ถามว่ายังมีการค้าระบบ e-commerce ไหม ยังมี แต่เป็นแถบชายแดนติดกับไทยมากกว่า 

ขณะที่หลังรัฐประหารพบด้วยว่า ยังมีการลงทุนจากต่างประเทศอยู่ โดยมีสิงคโปร์เป็นผู้นำการลงทุน รองลงมาเป็นจีน ไทย และฮ่องกง 

“จีนยังคงเป็นมหามิตร หากดูตัวเลขจะพบว่าการรัฐประหารไม่มีผลต่อการลงทุนของจีนในพม่า … หากความรุนแรงเพิ่มขึ้น สถานการณ์ของเศรษฐกิจจะแย่ลง ดังนั้น ที่ผ่านมาเราจะเห็นจีนกดดันกองทัพว่า ถ้าคุณปกครองไม่ได้ คุณก็ต้องประนีประนอม”

ชาวพม่ายังคงไม่ยอมแพ้

สำหรับสถานการณ์ของชาวพม่า นฤมล เพียงแต่กล่าวสั้นๆ ว่า พวกเขายังไม่ยอมแพ้ ผ่านมา 1 ปี ก็ยังมีการประท้วง แต่ประท้วงถนนไม่ได้ เพราะตำรวจยังคงจับกุม เช่น ถ้าใครมีมือถือ 2 เครื่อง จะถูกตรวจค้น หรือใครมีข่าวเข้าร่วม CDM หรือขบวนการ Civil Disobedience Movement จะถูกจัดการ  

“ถ้าจะให้สรุป ดิฉันคิดว่าความคาดหวังของเขาค่อนข้างยาก พูดอย่างตรงไปตรงมา… สอง อาเซียนกับนานาชาติจะมีข้อเสนอยังไง และก็รูปที่เราเห็นในแต่ละวันที่มีสถานการณ์การสู้รบ จะยังเห็นอยู่ไหม อาจจะยังเห็นอยู่ แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นภายในประเทศ เขายังยืนยันว่าเขาจะไม่ยอมแพ้” นฤมล กล่าว 

บทสรุป : 2 ฉากทัศน์เมียนมา 

ขณะที่ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ณ ปัจจุบันนี้ พม่าก็อยู่ในช่วงที่อย่างน้อยก็มี 2 ก๊กหลักๆ ได้แก่ ขั้วของคณะรัฐประหาร หรือสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ที่กรุงเนปิดอ และขั้วของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ใครที่ได้เปรียบเสียเปรียบอาจจะเห็นได้ชัดในบางช่วงในอนาคต 

ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อาจารย์จาก มธ.มองต่อว่า อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากองทัพจะถูกโจมตีและสูญเสียไพร่พลจำนวนมาก แต่ระบบราชการและการบริหารประเทศยังสามารถเดินต่อได้ มีการเปิดประชุมสภากลาโหมเพื่อความมั่นคง และการตกลงต่ออายุสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามอำนาจรัฐธรรมนูญ 2008 

หากทหารพม่ายังสามารถชิงความได้เปรียบตรงนี้ คาดว่าเราจะได้เห็นฉากทัศน์ 2 แบบ คือ 1) พม่าเดินเข้าสู่หนทางการเป็นรัฐเผด็จการเสนาธิปัตย์ทหารประชาธิปไตย คล้ายทศวรรษ 1990 ทหารพม่าอาจจะคุมพื้นที่ต่างๆ ได้ไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่ฝ่ายต่อต้านก็ไม่สามารถสั่นคลอนทหารได้  

2) เล่นเกมการเลือกตั้ง แต่ถ้าหากมีการสู้รบในพื้นที่ต่างๆ อยู่ก็จะมีการขยายเวลาต่อออกไปได้ สิ่งที่น่าจะเห็น พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD จะอ่อนอำนาจลง เนื่องจากโดนยัดคดีความต่างๆ หากมีการจัดการเลือกตั้งจริง จะเป็นการจัดให้มีการเลือกตั้งแบบที่ฝ่ายทหารได้เปรียบ มีแก้ระบบการเลือกตั้ง เนื่องจากที่ผ่านมา ผู้ชนะเป็นระบบกินรวบทั้งหมด NLD ได้รับอานิสงส์จากระบบเลือกตั้งแบบนี้ มินอ่องหล่าย บอกแล้วว่าจะแก้ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วน กลุ่มที่แพ้คะแนนการเลือกตั้ง จะได้มีที่นั่งในสภาตามสัดส่วน แน่นอนว่าจะไม่ได้เห็นประชาธิปไตยเต็มใบอย่างแน่นอนในฉากทัศน์แบบนี้ จะได้เห็นเป็น ประชาธิปไตยครึ่งใบ แทน

ฉากทัศน์อีกกรณีคือหากฝ่ายต่อต้านชนะ จะเกิดเป็นสหพันรัฐประชาธิปไตย ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในพม่า 

“นี่เป็นประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่า และเซาท์อีสเอเชีย เพราะมีพลังของสหพันวิวัฒน์ และประชาธิปไตยวิวัฒน์มารวมกัน แต่คำถามก็คือว่า จะไม่มีการแตกคอ เชิงแนวคิดของกลุ่มอำนาจระหว่างคนพม่าแท้ กับกลุ่มชาติพันธ์ุ ซึ่งมีหลายเฉดสีแนวคิดทางการเมือง เราคงเห็น scenario นี้ได้ยาก แต่มันปักธง แนวคิดสหพันธรัฐประชาธิปไตยเกิดขึ้นในแผ่นดินพม่าเรียบร้อยแล้ว” ดุลยภาค ทิ้งท้าย 

รัฐประหารพม่ายังไม่สำเร็จ

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี นักข่าวอาวุโส และหนึ่งในผู้ร่วมเสวนา กล่าวว่า การรัฐประหารของกองทัพพม่าครั้งนี้ยังไม่สำเร็จ เนื่องจากผ่านมา 1 ปี ยังมีผู้ต่อต้านอยู่เลย 1 ปีผ่านไปยังไม่สามารถหาประเทศรับรองรัฐบาลจากเนปิดอได้เลย และยังไม่มีตัวแทนนั่งในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ หรือ UN ดังนั้น กองทัพพม่ากำลังดิ้นรนเพื่อหาความชอบธรรม เพื่อให้เขาได้นั่งอยู่ในเก้าอี้ผู้นำได้ต่อไป 

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี นักข่าวอาวุโส

นี่เป็นครั้งแรกที่การต่อต้านกองทัพพม่าขยายตัวไปทั่วไปประเทศ แต่ทัตมาดอ หรือกองทัพพม่า สูญเสียการควบคุมพื้นที่จำนวนมาก พื้นที่บางพื้นที่ทัตมาดอเข้าไม่ถึง และเมื่อเทียบกับปี 1988 ชาวพม่ายังไม่ได้ถืออาวุธมากมายขนาดนี้ และตอนนี้ PDF กำลังจะพัฒนาไปเป็นกองทัพ PDF อาจจะยังไม่ถึงขั้นเป็นกองทัพได้ แต่กำลังพัฒนา 
ปัญหาของ PDF คือยังมีกองกำลังที่ไม่มากพอ และยังต้องพึ่งกองกำลังชาติพันธุ์ให้เข้าช่วยหลายกลุ่ม เช่น สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) กองทัพเอกราชกะฉิ่น (KIA) หรือกองทัพของพรรคก้าวหน้าแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNPP) ซึ่งถืออาวุธอยู่ และต่อสู้มานาน อย่างไรก็ตาม ปัญหาของกองกำลังชาติพันธุ์ คือความเป็นเอกภาพ ซึ่งหลายฝ่ายยังมีการรบกันเองอยู่ และหลายฝ่ายก็สงวนท่าที ไม่ออกตัวต่อต้านรัฐประหารแต่แรก 

อย่างไรก็ตาม สุภลักษณ์ มองว่า ต่อให้กองกำลังชาติพันธุ์มีเอกภาพ แต่ก็อาจจะไม่สามารถเอาชนะกองกำลังพม่าได้ ดังนั้น ถ้าชนะด้วยกำลังไม่ได้ ก็จะเกิดการเจรจา และความหวังที่จะเข้ามาประสานเจรจาได้มากที่สุดคงหนีไม่พ้น ‘อาเซียน’ หรือสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้       

ไทยต้องมีบทบาทในการแก้ไขวิกฤตพม่า

สุภลักษณ์  มองบทบาทอาเซียนต่อการแก้ปัญหาวิกฤษการเมืองพม่าที่ผ่านมา พบว่า อาเซียนมีบทบาทสำคัญต่อการแก้ปัญหาการเมืองในพม่า เพราะไม่ใช่ว่าพม่าเป็นสมาชิก แต่เหตุการณ์ในพม่าทุกอย่างล้วนกระทบต่ออาเซียน ฉะนั้น อาเซียนจะไม่อยู่เฉยแน่นอน

แต่จุดอ่อนการทำงานของอาเซียน คือ กลไกการแก้ปัญหาค่อนข้างช้า และอาจต้องใช้เวลานานถึง 2 ทศวรรษถึงจะแก้ปัญหาพม่าได้ 

หลังการรัฐประหารพม่า อาเซียนมีบทบาทในการแก้ปัญหามาโดยตลอด โดยเฉพาะเมื่อปลายเดือน เม.ย. 64 มินอ่องหล่ายเข้าร่วมประชุมกับชาติสมาชิกที่อินโดนีเซีย จนบรรลุข้อตกลง ฉันทามติ 5 ข้อ เพื่อแก้ไขวิกฤตเมียนมา แต่ไม่เคยนำไปปฏิบัติได้จริง 

ในช่วงปลายปีมีการเปลี่ยนประธานอาเซียน เป็นกัมพูชา ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา มีการเยือนพม่า และพบปะหารือกับมินอ่องหล่าย โดยไม่มีการปรึกษาหารือก่อน ทำให้การเยือนของฮุน เซน เป็นการให้การรับรอง SAC 

ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เยือนเนปิดอ เมื่อ 7-8 ม.ค. 65

อาเซียนจะต้องทำอะไรต่อไป สิ่งที่ฮุน เซน ถูกมาเลเซียต่อว่า ทำให้อาเซียนจะมีการเคลื่อนไหวการแก้ปัญหาพม่าในลักษณะเป็นองค์รวมมากขึ้น โดยไม่ใช่การเคลื่อนไหวของประธานคนเดียว และต่อไป อาจได้เห็นการแชร์ตำแหน่งระดับสูงในอาเซียนร่วมกัน 3 ประเทศจากการใช้แนวคิดเรื่อง ‘ทรอยก้า’ (Troika) ซึ่งสุภลักษณ์ มองว่าถ้าทำได้ อาจจะทำให้การออกมาตรการแก้ไขวิกฤตพม่าดีขึ้น 

ทำไมอาเซียนไม่สามารถดำเนินการได้ปัจจุบัน ส่วนหนึ่งมาจากความเห็นและจุดยืนที่แตกต่างในกรณีการแก้ไขวิกฤตในพม่า เช่น ประเทศอาเซียนภาคพื้นสมุทรออกตัวต่อต้านอย่างแข็งขัน ขณะที่ประเทศภาคพื้นทวีปอย่างไทย และลาว กลับไม่มีการออกเสียง อาเซียนที่ผ่านข้อตกโดยใช้ฉันทามติของทุกประเทศสมาชิก จึงเคลื่อนไหวลำบาก 

ดังนั้น สุภลักษณ์ จึงเสนอให้ไทยเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหาเมียนมา ปัจจุบัน นานาชาติค่อนข้างผิดหวังต่อท่าทีของไทย เพราะถ้าย้อนไปในสมัยสงครามกัมพูชา ไทยออกหน้าเป็นประเทศแรก แต่คราวนี้ประเทศไทยกลับไม่ทำอะไร  

นักข่าวอาวุโส ระบุต่อว่า ไทยควรฉวยโอกาสเข้าไปมีบทบาทตอนที่ฮุน เซน นายกฯ กัมพูชา เพลี้ยงพล้ำทางการทูต หลังดอดไปเยือนพม่าด้วยตัวเองเมื่อเดือน ม.ค. 65 และต้องโทร.ไปหาแต่ละประเทศ เพื่อปรับความเข้าใจ เช่น การสร้างแผนยุติความรุนแรง และแผนการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเมียนมา  

ไทยต้องมีจินตนาการใหม่ต่อการแก้ปัญหาวิกฤตเมียนมา

ก่อนจบวงเสวนา ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวปาฐกถาถึงสถานการณ์พม่าโดยตั้งข้อสังเกต 3 ประเด็น ได้แก่ พม่าในสถานการณ์ระดับโลก สถานการณ์ในพม่า และผลกระทบจากพม่าถึงไทย 

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 

ชาญวิทย์ ทั่วโลกกำลังจ้องดูกรณีพม่าเป็นพิเศษ ซึ่งสะท้อนผ่านงานเสวนาที่ถูกจัดขึ้นในหลายภูมิภาคในโลก เปรียบเป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ (Moment of History) โดยได้รับความสนใจ และเป็นเหตุการณ์ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ยุคเขมร 4 ฝ่าย 

อดีตอธิการบดี มธ. กล่าวต่อว่า สถานการณ์พม่าหลังผ่านไป 1 ปี การทำรัฐประหารยังคงไม่สำเร็จ และยังคุมประเทศไม่ได้ ชาวบ้านทั่วประเทศทั้งชาวพม่าหลายมณฑล (division) และชาติพันธุ์ ลุกขึ้นมาต่อต้าน หลายคนเป็นคนรุ่นใหม่ และเป็นคนรุ่นเก่าซึ่งยังไม่ยอมแพ้ ไม่ยอมจำนน มีการปฏิบัติการแบบสงครามจรยุทธ สร้างความเสียหายให้กับกองทัพพม่าจำนวนมาก มีการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น หรือ NUG - National Unity Government of the Union of the 
ประเด็นที่น่าติดตามของพม่าต่อไปคือพม่าจะกลายเป็นรัฐล้มเหลวหรือไม่ 

สำหรับผลกระทบต่อไทยนั้น ชาญวิทย์ มองว่า สงครามที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมา จะส่งผลกระทบต่อไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จะเกิดขึ้นผู้พลัดถิ่นภายใน และผู้ลี้ภัยนับหมื่นนับแสนโดยเฉพาะในรัฐกะเหรี่ยง จากตรงข้ามแม่สอด จ.ตาก ไล่ลงมาถึง จ.กาญจนบุรี และกะเรนนี

มองพม่า ย้อนดูไทย

อดีตอธิการบดี มธ. มองว่า “เมียนมา-ไทยแลนด์ same same but difference”  เมียนมากำลังแตกกระจัดกระจาย และไทยกำลังล้มลุกคลุกคลาน เพราะไทยเองก็มีปัญหาเช่นเดียวกับพม่า เรื่องของความเป็นประชาธิปไตย เรื่องการเลือกตั้ง เรื่องของคนรุ่นใหม่ เรื่องของรัฐประหาร เรื่องของการใช้อำนาจตุลาการ ยกเว้น ที่ไม่เหมือนคือ พม่าไม่มีสถาบันกษัตริย์แบบของไทย 

นโยบายต่างประเทศของไทยเคยได้รับการยกย่องในสมัยสงคราม ลัทธิอาณานิคมตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นสมัยสงครามเย็น หรือสมัยโลกาภิวัฒน์ ที่ไทยสามารถจะปรับตัวเป็นไผ่ลู่ตามลม ‘bend with the wind’ ทำตัวเป็นชาติอารยะ น่านับถือในโลกสากล การเปิดทูตกับจีนแผ่นดินใหญ่สมัยคึกฤทธิ์ ปราโมทย์ สมัยของการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับเวียดนาม เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เปิดความสัมพันธ์กับเขมรของชาติชาย ชุณหะวัน ไทยมีเกียรติประวัติเป็นกองกำลังรักษาสันติภาพในติมอร์ เชื่อว่าผู้นำไทยกำลังคิดหนักว่าจะทำยังไงกับปัญหาภายในของพม่าที่อยู่ใกล้แสนใกล้กับคนไทยเรา  

“เชื่อว่าวิธีคิดแบบเก่าๆ ของรัฐข้าราชการไทย ไม่ใช่เป็นสิ่งที่น่าพิศมัยอีกต่อไป ผมเชื่อว่าไทยต้องการนโยบายต่อพม่าที่มีจินตนาการใหม่ต่อปัญหาการเมืองในพม่า” ชาญวิทย์ ทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net