Skip to main content
sharethis

นักสหภาพคุยเรื่องการจ้างงานเหมาช่วง สหภาพแรงงานต้องเรียกร้องสิทธิให้คนงานทุกคนเท่าเทียมกัน อีกหนึ่งทางออกคือ กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ม.11/1 แต่คนงานซับคอนแทรคต้องกล้าต่อสู้ 18 ธ.ค. 54 – ที่ ต.บ่อวิน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก ได้จัดการสัมมนาเรื่อง “แรงงานซับคอนแทรคในอุตสาหกรรมต่างๆ” โดยมีตัวแทนจากสหภาพแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์, ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์, ผลิตยางรถยนต์, ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเข้าร่วมการสัมมนา บุญยืน สุขใหม่ ผู้ประสานงานกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออกกล่าวถึงภาพรวมการใช้แรงงานผ่านบริษัทจ้างเหมาช่วงหรือซับคอนแทรค (sub-contract) ในปัจจุบันนั้น พบว่าได้คืบคลานมาเกือบในทุกอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทยแล้วแล้ว บุญยืนกล่าวว่าหลายที่นายจ้างมักจะนำซับคอนแทรคเข้ามาตอนที่มีการเจรจาข้อเรียกร้อง ทั้งๆ ที่กำลังการผลิตของพนักงานประจำก็เพียงพอแล้ว ซึ่งเป็นแท็คติคของนายจ้าง นายจ้างพร้อมที่จะเพิ่มค่าใช้จ่ายเพื่อทำลายสหภาพแรงงาน โดยจากการเก็บข้อมูลพบว่าการจ้างแรงงานผ่านบริษัทซับคอนแทรคนั้น ต้นทุนจะตกอยู่ที่ประมาณ 8,000 – 9,000 บาทต่อคนงานหนึ่งคนต่อเดือน แต่ถ้าหากบริษัทจ้างพนักงานโดยตรงจะไม่เสียค่าใช้จ่ายถึงขนาดนี้ และมีกรณีที่น่าสนใจคือ ในช่วงที่สหภาพแรงงานในอุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกยื่นข้อเรียกร้อง นายจ้างได้ใช้ซับคอนแทรคเข้าคุมเครื่องจักร แล้วกันพนักงานประจำออกโรงงาน ซึ่งเห็นได้ชัดว่าการกระทำแบบนี้ เมื่อกล่าวถึงการแก้ปัญหาเรื่องการจ้างงานซับคอนแทรคนั้น บุญยืนกล่าวว่าในกฎหมายคุ้มครองแรงงาน มาตรา 11/1 ได้ระบุไว้ว่า “ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการมอบหมายให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้จัดหาคนมาทำงานอันมิใช่การประกอบธุรกิจจัดหางาน โดยการทำงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจในความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการ และโดยบุคคลนั้นจะเป็นผู้ควบคุมดูแลการทำงานหรือรับผิดชอบในการจ่ายค่าจ้างให้แก่คนที่มาทำงานนั้นหรือไม่ก็ตาม ให้ถือว่าผู้ประกอบกิจการเป็นนายจ้างของคนที่มาทำงานดังกล่าว ให้ผู้ประกอบกิจการดำเนินการให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงที่ทำงานในลักษณะเดียวกันกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรง ได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ” ซึ่งที่ผ่านมาการต่อสู้ของคนงานซับคอนแทรคที่ทำงานในบริษัทยูลินิเวอร์ได้ไปร้องที่พนักงานตรวจแรงงาน และได้มีคำสั่งให้พนักงานซับคอนแทรคได้รับสวัสดิการเท่ากับพนักงานประจำมาแล้ว รวมถึงการการฟ้องร้องบริษัทเหมาค่าแรงในศาลแรงงานกลางก็มีกรณีตัวอย่างที่มีคนงานไปฟ้อง แล้วศาลชั้นต้นตัดสินในแนวเดียวกันกับคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานกรณีซับคอนแทรคของยูลินีเวอร์ แต่ทั้งนี้คดีนี้ยังอยู่ในขั้นอุทรณ์ของนายจ้างอยู่ คนงานซับคอนแทรค บ.ยูนิลีเวอร์ ร้อง ก.แรงงาน ถูกนายจ้างเบี้ยวค่าแรง เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 53 ที่ผ่านมา คนงานสังกัด บริษัททองพูล จำเริญ เซอร์วิส จำกัด จำนวนกว่า 230 คน ซึ่งเป็นบริษัทซับคอนแทรค ของบริษัท ยูนิลีเวอร์ไทยโฮลดิ้ง จำกัด ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ผลิต ไอครีม ผงซักฟอก และแชมพูยี่ห้อดัง ถูกนายจ้างโอนย้ายให้ไปทำงานกับบริษัทซับคอนแทรคแห่งใหม่ โดยไม่บอกเลิกสัญญาจ้าง ได้เดินทางมาร้องเรียนที่กระทรวงแรงงาน เพื่อขอความช่วยเหลือ นายยอดยิ่ง แวงวรรณ กรรมการสหภาพแรงงานลูกจ้างเหมาค่าแรง กล่าวว่า สาเหตุที่พนักงานไม่พอใจการโอนย้ายครั้งนี้ เนื่องจากพนักงานส่วนใหญ่ที่มีอายุงานตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป กลับต้องไปเริ่มต้นฐานค่าแรงและสวัสดิการเหมือนเป็นพนักงานใหม่ โดยไม่มีการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย เมื่อพวกตนไม่ยินยอม นายจ้างจึงไม่ให้เข้าทำงานตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา ทั้งนี้เชื่อว่าสาเหตุที่นายจ้างทำเช่นนี้เพราะต้องการล้มล้างสหภาพแรงงาน หลังจากคนงานเพิ่งจะรวมตัวกันตั้งสหภาพได้เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 53 ที่ผ่านมา โดยบุญยืนทิ้งท้ายไว้ว่า แต่ทั้งนี้ปัญหาที่พบก็คือยังไม่ค่อยมีคนงานซับคอนแทรคใช้ลู่ทางที่กล่าวในการเรียกร้องความเป็นธรรม เนื่องจากข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น คนงานซับคอนแทรคไม่มีข้อมูลและแนวทางสู้ในเรื่องนี้ รวมถึงความพยายามใช้แทคติคไม่ให้คนงานสู้ถึงศาลฎีกาของนายจ้าง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net