วันที่ 31 ม.ค. นักศึกษาและศิษย์เก่า วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคามส่วนหนึ่งเปิดเพจเพื่อระดมรายชื่อ ศิษย์เก่า-ปัจจุบัน และบุคคลทั่วไปเพื่อ เตรียมยื่นจดหมายต่อคณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครอง กรณีไม่อนุญาตให้ให้สถานที่จัดเวทีเสวนาเรื่อง “สิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยภายใต้กฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์”
นายโอภาส สินธุโคตร นักศึกษาวิทยาการเมืองการปกครองเปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ กลุ่มนักศึกษาได้ร่วมกับอาจารย์ในวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีความสนใจที่จะจัดเวทีเสวนาวิชาการในหัวข้อ “สิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยภายใต้กฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์” โดยเป็นความพยายามที่จะสร้างพื้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พูดคุยและถกเถียงปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นในสังคม ให้แก่นิสิตและผู้ที่สนใจทั่วไป ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 ณ ตึก D วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
อย่างไรก็ตาม เมื่อทีมผู้จัดงานได้ทำเรื่องขออนุญาตขอใช้สถานที่และจัดเวทีเสวนาวิชาการใน หัวข้อ “สิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยภายใต้กฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์” ผลปรากฏว่า คณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครองไม่อนุญาตให้ใช้ ตึก D วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นสถานที่จัดงานดังกล่าว
ทั้งนี้ การรวบรวมรายชื่อดำเนินการต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 2 ก.พ.ที่จะถึงนี้ โดยวันดังกล่าวนักศึกษาและศิษย์เก่าจะร่วมกันอ่านจดหมายเปิดผนึกวางพวงหรีด และทำพิธีสืบชะตาวิทยาลัยการเมืองการปกครอง ในเวลา 12.12 น. ที่หน้าวิทยาลัยการเมืองการปกครอง ม.มหาสารคาม
รายละเอียดของจดหมายมีดังนี้
จดหมายเปิดผนึก
วันที่ 31 มกราคม 2555
เรื่อง ขอเหตุผลที่ไม่อนุญาตให้จัดเวทีเสวนาวิชาการ
เรียน คณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ตามที่กลุ่มนิสิตที่สังกัดวิทยาการเมืองการปกครอง ร่วมกับอาจารย์ในวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีความสนใจที่จะจัดเวทีเสวนาวิชาการในหัวข้อ “สิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยภายใต้กฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์” โดยเป็นความพยายามที่จะสร้างพื้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พูดคุยและถกเถียงปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นในสังคม ให้แก่นิสิตและผู้ที่สนใจทั่วไป ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 ณ ตึก D วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
แต่กระนั้น เมื่อทีมผู้จัดงานได้ทำเรื่องขออนุญาตขอใช้สถานที่และจัดเวทีเสวนาวิชาการใน หัวข้อ “สิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยภายใต้กฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์” ผลปรากฏว่า คณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครองไม่อนุญาตให้ใช้ ตึก D วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นสถานที่จัดงานดังกล่าว
ในขณะที่วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในฐานะองค์กรทางวิชาการ ดำเนินงานตามพันธกิจด้านการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมนับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ที่เกี่ยวกับ การเมืองการปกครองและกฎหมาย รวมทั้งการเมืองท้องถิ่นในอีสาน เพื่อทำหน้าที่ในการสร้างองค์ความรู้ และแสวงหาข้อเท็จจริง (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มิติด้านการเมืองการปกครอง) ให้เป็นไปอย่างรอบด้านมากยิ่งขึ้น โดยหวังว่าด้วยข้อมูลและองค์ความรู้ที่เพิ่มมากขึ้น จะทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจของนิสิตและสาธารณชน
ซึ่งประเด็นเรื่องกฎหมายอาญา มาตรา 112 กำลังเป็นประเด็นทางการเมืองที่มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง จึงเป็นสิ่งที่สมควรยิ่งที่วิทยาลัยการเมืองการปกครองจะเป็นพื้นที่ที่สร้าง ความรู้ ความเข้าใจแก่นิสิตและผู้ที่สนใจ ผู้ซึ่งเป็นคณะบริหารและคณาจารย์ควรจะเห็นถึงความสำคัญของมหาวิทยาลัย ในการเป็นพื้นที่เปิดที่สามารถจัดกิจกรรมทางสังคม การเมือง และการวิพากษ์วิจารณ์และถกเถียงอย่างเปิดกว้าง
และยิ่งไปกว่านั้น วิทยาลัยการเมืองการปกครอง ก่อตั้งขึ้นเพื่อมุ่งผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชารัฐ ศาสตร์ นิติศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์ เป็นพลเมืองที่มีความกระตือรือร้นทางการเมือง และมีจิตสำนึกที่รับใช้สังคม ในขณะเดียวกันก็เป็นศูนย์กลางทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงที่อำนวยประโยชน์ แก่ท้องถิ่นและประเทศชาติ
ดังนั้นในฐานะของนิสิต, คณาจารย์, ศิษย์เก่า แห่งวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้รักในเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก ขอเรียกร้องให้ผู้บริหารวิทยาลัยการเมืองการปกครอง ที่ลงมติในการไม่อนุญาตให้ใช้ วิทยาลัยการเมืองการปกครองเป็น พื้นที่ในการแลกเปลี่ยนในเวทีเสวนาวิชาการหัวข้อ “สิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยภายใต้กฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์” ออกมาชี้แจงและให้เหตุผลประกอบการตัดสินใจดังกล่าวด้วย เพราะการกระทำดังกล่าวถือเป็นการขัดขวางความหลากหลายทางความคิดและปิดกั้น โอกาสในการพูดคุย ถกเถียง ประเด็นทางสังคมและการเมือง ไม่ให้นักศึกษาและคณาจารย์แสดงเสรีภาพทางความคิด
เชื่อมั่นแห่งอุดมการณ์ สิทธิและเสรีภาพเป็นของทุกคน