#Savepannika #อีช่อหนักแผ่นดิน สำรวจการพูดถึงสถาบันกษัตริย์-ม.112 ปี 2562

ส่องโลกทวิตเตอร์ ผู้คนพูดอะไรกันในแฮชแท็กท็อปเทรนด์ เมื่อโฆษกพรรคอนาคตใหม่ถูกขุดรูปและโพสต์เก่ามาวิจารณ์ว่าเป็นการหมิ่นพระมหากษัตริย์ กับ มาตรฐานจริยธรรมใหม่ที่อาจถูกใช้อย่างคับแคบเรื่องคุณสมบัติ ส.ส. ในวันที่นายกฯ มาจากการล้มระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุขยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย

เป็นอีกครั้งที่สปอตไลท์ทางการเมืองถูกเบนไปจากเรื่องหลักอย่างการจัดตั้งรัฐบาลไปที่ภาพและสเตตัสเฟสบุ๊คในอดีตของพรรณิการ์ วานิช (ช่อ) โฆษกและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) โดยกระแสโซเชียลจำนวนไม่น้อยตั้งคำถามกระทั่งพิพากษาว่าเป็นการดูหมิ่นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

เหตุการณ์ดังกล่าวตามมาด้วยคำอธิบายของพรรณิการ์ (ซึ่งต่อมาถูกลบ) ตามมาด้วยการยื่นคำร้องให้ตรวจสอบมาตรฐานจริยธรรมโดย ‘นักร้อง(เรียน)’ ชื่อดังอย่าง ศรีสุวรรณ จรรยา และการรับลูกของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่จะตรวจสอบว่าการกระทำของพรรณิการ์มีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และความมั่นคงหรือไม่ ไปจนถึงการออกมาผสมโรงจาก ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่เคยมีวิวาทะกับพรรณิการ์มาก่อนหน้านี้และริเริ่มติดแฮชแท็ก #อีช่อหนักแผ่นดิน ในทวิตเตอร์

กรณีนี้ทำให้สาธารณชนจำนวนมากหันมาให้ความสนใจด้วยทัศนคติที่แตกต่างกัน เครื่องยืนยันความสนใจสาธารณะคือการติดแฮชแท็ก #SavePannika ด้านหนึ่ง กับอีกด้านหนึ่งคือ #อีช่อหนักแผ่นดิน ในโลกทวิตเตอร์ที่เมื่อวาน (10 มิ.ย. 2562) ติดเทรนด์อันดับต้นๆ ของทวิตเตอร์ประเทศไทย

นอกจากการถากถางทางวาจาและการให้กำลังใจ ประชาไทรีวิวข้อถกเถียงของโพสต์อย่างคร่าวๆ ว่าเขาคุยอะไรกันบนทวิตเตอร์ นับเป็นบทสนทนาของคนสองกลุ่มที่สะท้อนเพดานเสรีภาพการแสดงออกในประเทศไทย

คร่าวๆ บน #SavePannika กับ #อีช่อหนักแผ่นดิน

  • กังวลเรื่องเสรีภาพการพูด แสดงออก ว่าจะแชร์จะโพสต์อะไรได้บ้าง
  • มองว่าเป็นการโจมตีทางการเมือง ควรพิจารณาเรื่องบริบทของการเมืองในสมัยที่มีการโพสต์
  • ตั้งคำถามกับนิยามความจงรักภักดีและการล้มเจ้า
  • พูดถึงการล่าแม่มด คิดถึงสมัยการใช้ข้อมูลมาปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรงในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
  • โพสต์ภาพผ่องพรรณ จันทร์โอชา ภรรยา พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา (น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์)
  • สิ่งที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมกำลังทำอยู่นั้นจะมีผลให้คนรุ่นใหม่เห็นปัญหาของการใช้กฎหมายมาตรา 112 หรือไม่
  • หากช่อไม่เห็นด้วยก็ไม่ควรแสดงออก จะคาดหวังให้คนที่มีความเคารพนิ่งเฉยกันคงเป็นไปไม่ได้
  • เจ็บปวด ผิดหวังกับภาพและโพสต์ที่ออกมา
  • คิดก่อนโพสต์คือการสร้างความปลอดภัยไซเบอร์ลำดับต้นๆ
  • ไม่เห็นด้วยกับการเมืองและการหาเสียงที่ทำให้ประชาชนแตกแยกกัน (พูดถึง อนค.)

 

หนึ่งข้อถกเถียงที่น่าสนใจคือ การใช้กฎหมาย มาตรา 112 เป็นการละเมิดเสรีภาพในการพูด แต่ว่าเสรีภาพในการพูดนั้นรวมถึงการพูดจาสร้างความเกลียดชัง (Hate speech) และการล้อเลียนสมาชิกของราชวงศ์หรือไม่ การถกเถียงไปแตะเรื่องสภาวะความอ่อนไหวของผู้ต้องหาคดี ม.112 ที่ต้องลี้ภัยไปนอกประเทศ ชี้ให้เห็นสภาพความกดดันของผู้ตกเป็นผู้ต้องหา-จำเลยในข้อหาที่เป็นภัยต่อความมั่นคงนี้

ในทศวรรษที่ผ่านมา สถาบันกษัตริย์ถูกใช้ในทางการเมืองท่ามกลางความแตกต่างทางความคิด กระแสความจงรักภักดีส่งผลในทางปฏิบัติให้รัฐหยิบกฎหมาย ม.112 มาใช้อย่างน่ากลัวทั้งในทางจำนวนที่มากขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และในทางคุณภาพคือโทษหนัก เช่น ศาลทหารสั่งจำคุกผู้โพสต์เฟสบุ๊คหมิ่น 5 ครั้ง นับเป็น 5 กรรม กรรมละ 10 ปีรวมจำคุก 50 ปี ศาลอาญาลงโทษจำคุกอากงส่งเอสเอ็มเอส 4 ครั้ง นับเป็น 4 กรรมกรรมละ 5 ปีรวม 20 ปี นอกจากนี้ “การตีความ” ว่าอะไรหมิ่นก็เป็นประเด็นอย่างยิ่ง ที่ผ่านมาคดีความเกิดขึ้นง่ายมาก แม้การกล่าวถึงสุนัขทรงเลี้ยง การโพสต์เสียดสีเล็กๆ น้อยๆ ทั้งการกล่าวถึงกษัตริย์ในอดีต การแสดงศิลปะ ฯลฯ

ในส่วนของนักการเมือง ประเด็นสถาบันก็ถูกนำมาใช้อย่างฟุ่มเฟือย อย่างกรณีกรณีทักษิณ ชินวัตร และคณะรัฐมนตรีในเวลานั้น จัดทำบุญประเทศในวัดพระแก้ว เมื่อ 10 เม.ย. 2548 หรือจักรภพ เพ็ญแข เสวนาที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) เมื่อเดือน ก.ย. 2550 โดยพรรคประชาธิปัตย์แถลงตอบโต้ว่า "เป็นทัศนะที่เป็นอันตราย"

1 ทศวรรษคดี 112 ตอนที่ 1: สถิติและความเป็น ‘การเมือง’ ของคดีหมิ่นฯ

สาวแจ้งจับจักรภพ-FCCT หมิ่นเบื้องสูง มีหมายจับติดตัว

หันดูในประเทศอื่นๆ ประเทศตะวันตกที่ยังมีกฎหมายหมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์ต่างให้น้ำหนักกับการกระทำความผิดไม่เหมือนกัน อย่างในเดนมาร์ก กฎหมายหมิ่นฯ ที่มีโทษจำคุกสูงสุด 4 เดือนนั้นไม่ได้ถูกใช้มาตั้งแต่ปี 2477 แล้ว เนเธอร์แลนด์เองก็มีการลดโทษกฎหมายหมิ่นฯ จากจำคุกสูงสุด 5 ปีเหลือเพียง 4 เดือนเมื่อปี 2561 และเมื่อปี 2560 ชายวัย 44 ปีถูกจำคุก 30 วันเนื่องจากมีเจตนาดูหมิ่นมหากษัตริย์วิลเลม อเล็กซานเดอร์ บนเฟสบุ๊คโดยกล่าวหาว่าพระองค์เป็นฆาตกร โจร และนักข่มขืน ส่วนในอังกฤษ การล้อเลียนสมาชิกราชวงศ์เป็นเรื่องที่กระทำกันแพร่หลาย และหลายครั้งเราก็หัวเราะไปกับพลเมืองอังกฤษด้วย

ในปี 2562 นี้ เครื่องมือใหม่ในการกำจัดศัตรูทางการเมือง นอกเหนือจากการกล่าวหาว่า “ล้มเจ้า” ในทางสังคม หรือการดำเนินการทางคดีอาญาก็คือ “มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ” ที่ออกมาในปี 2560 และนำมาบังคับใช้กับ ส.ส. ด้วย โดยเฉพาะในหมวดที่ 1 เรื่องมาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์ข้อ 5 และข้อ 6 ใจความว่า

5) ต้องยึดมั่น และธำรงไว้ซึ่งการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

6) ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรภาพแห่งอาณาเขตและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ และความมั่นคงของรัฐ

คุณสมบัติใน 5) และ 6) ถูกหยิบยกมาใช้ในการอภิปรายก่อนจะมีการลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อ 4 พ.ค. 2562 ที่ฝ่าย 7 พรรคต้านการสืบอำนาจของ คสช. ให้เหตุผลว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และแคนดิเดตนายกฯ จากฝั่ง พปชร. ไม่มีคุณสมบัติ เนื่องจากเป็นผู้กระทำการรัฐประหารยึดอำนาจทั้งๆ ที่ทราบดีว่ามีความผิดในฐานกบฏ (เพราะว่าเขียนกฎหมายนิรโทษกรรมตัวเองหลังจากรัฐประหารสำเร็จ) และมีการขอให้ประธานรัฐสภา ชวน หลีกภัย วินิจฉัยความเหมาะสมตามคุณสมบัติดังกล่าว แต่ประธานรัฐสภาจากพรรคประชาธิปัตย์ก็เล่นบทเตมีย์ใบ้ไปเสีย

หากพรรณิการ์ต้องพ้นสภาพการเป็น ส.ส. เพราะผิดจริยธรรมร้ายแรงจากกรณีภาพและโพสต์ทั้งหลายดังกล่าว ย่อมสะท้อนชัดเจนว่าบรรทัดฐานใหม่ว่าใครเข้าสภาได้บ้างถูกขีดขึ้นใหม่ เพิ่มไปจากที่มีอยู่ปัจจุบันที่คนเล็กคนน้อยถูกกระทำอยู่เรื่อยมา

ในวันที่หัวหน้าคณะรัฐประหารยังเป็นนายกฯ ได้

ภาคผนวก: ภาพที่เก็บจากทวิตเตอร์

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

Dutch divided over law against insulting the king, The Guardian, Feb. 5, 2018

Dutch Parliament reduces penalties for insulting king, Sydney Morning Herald, Apr. 11, 2018

What happens when you criticize the royal family in Thailand, The Washington Post, Feb. 8, 2019

หมายเหตุ: ประชาไทเพิ่มเติมภาพทวิตเตอร์ที่เก็บไว้ในส่วนภาคผนวก แก้ไขเมื่อเวลา 00.14 น. ของวันที่ 12 มิ.ย. 2562

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท