Skip to main content
sharethis

เจ้าของทฤษฎี “สองนคราประชาธิปไตย” ปาฐกถาเปิด “ฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย ครั้งที่ 2” ชี้สังคมไทยต้องออกจากการเป็นรัฐรับเหมาทำแทน ไปสู่การคืนนอำนาจให้ท้องถิ่นได้จัดการตนเอง เป็นผู้ใหญ่เสียที เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ระหว่างปาฐกถาในเวที \ฟื้นฟูพลังท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย ครั้งที่ 2 ประจำปี 2555\" ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติ ไบเทค บางนา เมื่อ 1 มีนาคม 2555 เวที “ฟื้นฟูพลังท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย ครั้งที่ 2 ประจำปี 2555” ซึ่งมีกำหนดจัด ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติ ไบเทค บางนา ระหว่างวันที่ 1-3 มีนาคม 2555 ในช่วงเช้ามีการปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ท้องถิ่นกับการบริหารจัดการตนเอง ข้อเสนอสำหรับอนาคต” โดย ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เจ้าของทฤษฎี “สองนคราประชาธิปไตย” ปัจจุบันเป็นคณบดีวิทยาลัยบริหารรัฐกิจและรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตเป็นองค์ปาฐก ตอนหนึ่ง ศ.พิเศษ ดร.เอนก กล่าวว่า การฟื้นพลังของชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทยเกี่ยวข้องอย่างมากกับลักษณะของรัฐไทย แม้เราจะอยู่ในระบอบประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง แต่เรากลับมีรัฐที่รวมศูนย์ และเป็นรัฐรวมศูนย์เข้มข้นที่สุดรัฐหนึ่งในโลก เรามีส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคเป็นพระเอก เราเน้น “เอกนิยม” เป็นหลักคิด คือ มีชาติเดียว ภาษาเดียว อำนาจรัฐเดียว เป็นรัฐเดี่ยว และเป็นรัฐเดี่ยวที่ค่อนข้างจะเถรตรง อำนาจสาธารณะอยู่กับรัฐแต่ผู้เดียว รัฐของเราแม้จะมีความตั้งใจดีแต่ผูกขาดการแก้ปัญหา ผูกขาดการจัดการ การบริหาร การดูแลสังคมและประเทศ ไม่ค่อยมีที่ทางให้ความคิดเชิงซ้อน ความคิดหลายมิติ ความคิดหลายระดับ ในประเทศไทยมีรัฐย่อยไม่ได้ ข้อเสนอเรื่องปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่สามจังหวัดภาคใต้ก็มีคนไม่เห็นด้วย มีแนวคิดที่จะทำภาคให้เป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นที่ใหญ่กว่า อบจ. ก็คิดยาก หลายท่านอยากทำมณฑลขึ้นมาใหม่ที่เป็นท้องถิ่นก็ยาก รัฐไทยจึงเป็นรัฐที่รับเหมางานทำแทนท้องถิ่นและชุมชนเกือบทุกเรื่อง แม้ในปัจจุบันที่มีรัฐสภา รัฐธรรมนูญ นักการเมือง แต่หัวใจหรือวิธีการทำงานของรัฐ ก็ยังเป็นราชการที่มีกระทรวง มีกรมเป็นตัวตนและจิตวิญญาณ ในการยึดอำนาจรัฐประหารทุกครั้ง สิ่งที่จะไม่ถูกแตะต้องก็คือรัฐเช่นว่านี้ ยึดแค่สภา ยึด ครม. ก็พอ รัฐที่มีอยู่มันยังดำเนินการเองได้ในแบบเดิม ศ.พิเศษ ดร.เอนก เสนอว่า สังคมไทยจะต้องออกจากรัฐที่รับเหมาทำแทนนี้ รัฐบาลส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคอาจดีจริง อาจจะเก่ง แต่เราไม่น่าจะหยุดที่การปกครองที่ดี เราน่าจะอยากได้การปกครองตนเองด้วย “แม้รัฐรวมศูนย์ผูกขาดทำแทนจะเคยประสบความสำเร็จพอสมควร บางช่วงอาจประสบความสำเร็จมากด้วยซ้ำในช่วง 100 ปีมานี้ เพราะได้สร้างชาติ สร้างเศรษฐกิจ สร้างระบบกฎหมาย แต่ผมคิดว่า เวลานี้รัฐเช่นนี้น่าจะใกล้ถึงทางตัน ลูกตุ้มแห่งการปฏิรูปน่าจะเหวี่ยงออกจากขั้ว “กรมมาธิปไตย” ไปสู่ขั้วที่มีภาคสังคม มีชุมชนท้องถิ่นที่มีบทบาท ได้จัดการตนเอง และเป็นผู้ใหญ่เสียที ดูแลพัฒนาตนเองได้ มีจินตนาการ มีความสร้างสรรค์ มีความใฝ่ฝันของตนเอง ไม่ใช่เป็นเพียงผู้รับบริการ รับการกำกับดูแล รับการควบคุม รับการสอนการสั่งจากรัฐบาลส่วนกลาง” การพัฒนาประเทศโดยรัฐบาล ถึงจะมีโครงการเท่าไรออกมา ก็ล้วนแต่เป็นการคิดในกรอบเก่า จะใส่เงิน ใส่ธรรมาภิบาลเข้าไปเท่าไรก็ไม่พอ จึงอาจถึงเวลาที่เราต้องยกเครื่องรัฐไทย นั่นคือคือการคืนอำนาจให้ท้องถิ่น คืนให้กับประชาสังคม มอบภาระและอำนาจทรัพยากรให้ท้องถิ่นและสังคม ลดการบริหารทรัพยากรโดยราชการส่วนกลางและภูมิภาค กระบวนทัศน์ใหม่นี้เกิดขึ้นในหลายประเทศแล้ว ในประเทศฝรั่งเศสซึ่งเป็นรัฐเดี่ยว เดิมมีการรวมศูนย์อำนาจมาก แต่ปัจจุบันท้องถิ่นมีอำนาจในการบริหารจัดการมากขึ้น สูงกว่าจังหวัดที่เป็นการปกครองส่วนภูมิภาค ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีสมเด็จพระจักรพรรดิเป็นประมุข ก็มีการกระจายอำนาจบริหารท้องถิ่นให้ อบจ. อังกฤษมีการปกครองรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่อังกฤษไม่มีการปกครองส่วนภูมิภาค และในประเทศไม่ได้มีแต่รัฐสภาของสหราชอาณาจักรเท่านั้น มีรัฐสภาท้องถิ่นของไอร์แลนด์เหนือ เวลส์ และสก็อตแลนด์ควบคู่ไปด้วย และในส่วนของประชาสังคมที่มีอยู่ ก็สร้างความน่าสนใจในด้านต่างๆ มากมาย ศ.ดร.พิเศษ เอนกเสนอว่า ต่อไปนี้การปกครองส่วนกลางของไทยคงต้องปรับกระบวนทัศน์ของตัวเองโดยยกตัวอย่างประสบการณ์ในช่วงที่เกิดมหาอุทกภัยว่า “ผมได้เห็นส่วนกลางและส่วนภูมิภาคล้มไปหมด เอาไม่อยู่ แต่ได้เห็นท้องถิ่น ประชาสังคมหลายแห่งเอาอยู่ สร้างสรรค์จนถึงขนาดทำคลองประดิษฐ์ได้ ท้องถิ่นหลายแห่งรักษาตัวเองได้อยู่ และผมเชื่อว่า ถ้าน้ำท่วมปีต่อไปก็ต้องอาศัยชุมชน ประชาสังคม และท้องถิ่น ในตอนที่เกิดมหาอุทกภัย ผมเห็นมูลนิธิ องค์กรต่างๆ ไปแจกเสื้อผ้า ไปแจกผ้าห่มให้ ไม่หยุดทุกวัน ผมยังสงสัยเลยว่า กระทรวงพัฒนาสังคมทำงานสู้ได้หรือไม่ กรมประชาสงเคราะห์ทำงานสู้มูลนิธิเหล่านี้ได้หรือเปล่า” ศ.ดร.พิเศษ เอนก ยังได้กล่าวถึงความสัมพันธ์กับประชาธิปไตยในรูปแบบการเลือกตั้งด้วยว่า เราต้องไม่พอใจแค่เพียงการหย่อนบัตร เพราะแค่การมีสิทธิมีเสียงไม่พอ การได้หย่อนบัตรนั้นดี การมีสิทธิมีเสียงนั้นดี แต่ไม่พอ เรามีรัฐบาลจากการเลือกตั้งนั้นไม่พอ หรือมีแต่นโยบายมาลงท้องที่เราไม่พอ ถึงจะเทลงมามากจนเราใจหาย ก็ไม่น่าจะพอ เราน่าจะอยากได้การดูแลปกครองและการพัฒนาด้วยตนเองด้วย “เราต้องการรัฐแบบใหม่ที่ชอบสนับสนุนความแตกต่าง หลากหลายตามพื้นที่มากขึ้น เราต้องการรัฐที่ยอมรับสังคมหลายระดับ ยอมรับพหุลักษณ์ พหุวัฒนธรรม แม้กระทั่งพหุการศึกษา มีแต่ประเทศไทยที่รวมไปหมด มีแต่การศึกษาของชาติ ทำให้รู้แต่เรื่องชาติ แต่ไม่รู้เรื่องท้องถิ่นเลย” ในช่วงท้าย ศ.ดร.พิเศษ เอนกกล่าวว่า ในการช่วงที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่นี้ ประเด็นที่น่าคิดก็คือ อย่าแก้มาตราอื่นๆ แล้วปล่อยมาตราที่ว่ารัฐไทยเป็นรัฐเดี่ยว คิดจะแบ่งแยกไม่ได้ น่าจะต้องอธิบายด้วยว่า ถ้าจะเป็นรัฐเดี่ยว ต้องเป็นพหุนิยมมากกว่านี้ ต้องปลดปล่อยพลังของท้องถิ่น ชุมชน พลังสังคม ดังที่รัฐสมัยหนึ่งได้ปลดปล่อยพลังธุรกิจภาคเอกชนมาแล้ว “ทุกวันนี้เศรษฐกิจของเราอยู่ได้ด้วยภาคเอกชน ฉันใดก็ฉันนั้น ผมคิดว่าประเทศชาติของเราในยุคต่อไปจะอยู่ได้ก็เพราะชุมชนและท้องถิ่น ไม่ได้อยู่ที่รัฐ รัฐยังสำคัญอยู่ แต่ความสำคัญของรัฐไม่ได้อยู่ที่การทำแทน ทำให้ แต่จะอยู่ว่าจะทำอย่างไรจะปลดปล่อยพลังใหม่ๆ ที่ในชุมชนท้องถิ่นให้ออกมาให้มากขึ้น ทางรอดของประเทศชาติ ทางรอดของระบอบประชาธิปไตยอยู่ที่นั่นครับ” ศ.ดร.พิเศษเอนก กล่าว"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net