Skip to main content
sharethis

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา “คำ ผกา” หรือ “ลักขณา ปันวิชัย” นักเขียนสตรีฝีปากคมได้วิพากษ์เรื่อง การสวดมนต์ข้ามปี ผ่านทางรายการ คิดเล่นเห็นต่างกับคำ ผกา ทางสถานีโทรทัศน์วอยซ์ ทีวี ในวันที่ 10 มี.ค. และตั้งคำถามต่อพุทธศาสนากับรัฐไทย ให้หัวข้อ รัฐศาสนาและรัฐโลกวิสัย ในรายการเดียวกันเมื่อวันที่ 11 มี.ค. ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทั้งจากฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในโลกอินเทอร์เน็ตอย่างกว้างขวาง

โดยเฉพาะเมื่อพระครูวินัยธรธีรวิทย์ ฉันทวิชโช ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ได้ยื่นหนังสือต่อ ลีลาวดี วัชโรบล ส.ส. กรุงเทพฯ ของพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 14 มี.ค. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎรให้ตรวจสอบเทปรายการดังกล่าว โดยเห็นว่าเป็นการลบหลู่พระพุทธศาสนาและพระมหากษัตริย์ โดยเกรงว่าจะทำให้เยาวชนเข้าใจผิดเนื่องจากเป็นการนำเสนอข้อมูลเพียงด้านเดียว

การวิพากษ์พุทธศาสนาของ “คำ ผกา” ดังกล่าว ยังนำมาสู่การโจมตีของ พระมหาโชว์ ทัสสนีโย  รองผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการสังคม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยผ่านทางรายการกระแสโลก กระแสธรรม ว่าเป็นการทำลายศาสนาและหลักธรรม พร้อมวิจารณ์ “คำ ผกา” ไม่ว่าจะในเรื่อง “หัวนม” “อยากดัง” หรือ “ลามปาม” ศาสนา

ประชาไท พูดคุยกับ “คำ ผกา” ต่อมุมมองของเธอกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

 


ลักขณา ปันวิชัย (คำ ผกา)

ถ้าเราดูจากดีเบตของฝ่ายฝักใฝ่ในศาสนาทั้งหมดนี่
เราจะเห็นได้ทันทีเลยว่าสรรพสิ่งที่เขาเชื่อมันเป็นสัจจะ
แล้วมีอยู่อย่างนี้มานับพันปีไม่มีการเปลี่ยนแปลง
ทั้งๆ ที่ศาสนาพุทธก็ได้รับการสังคายนา
พระไตรปิฎกก็สังคายนากันหลายครั้ง
ซึ่งการสังคายนาพระไตรปิฎก
ก็จะทำให้เห็นการปรับตัวของศาสนาพุทธเอง

 

 

ประชาไท: รู้สึกอย่างไรต่อปฏิกิริยากรณีพระมหาโชว์ที่ตอนนี้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันใหญ่โตมากมาย

คำ ผกา: รู้สึกดีที่สามารถทำให้เรื่องนี้เป็นประเด็นดีเบตได้ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่คนพูดถึงกันน้อยมาก แล้วมันก็ทำให้เห็นภาพที่ตัวเองเคยพูดไว้หลายๆ ครั้ง ทั้งพูดในรายการแล้วก็ทั้งเขียนในคอลัมน์ ซึ่งก่อนหน้านี้มันไม่มีตัวอย่างอะไรให้เห็นชัดเจน เพราะปกติเวลาเรานึกถึงคนที่ฝักใฝ่ในศาสนา เราก็จะเห็นคนแบบนุ่งขาวห่มขาวเข้าวัดฟังธรรมสวดมนต์นั่งสมาธิ แต่คราวนี้เราก็ได้เห็นอีกด้านของคนที่ฝักใฝ่ในศาสนาในด้านที่เราไม่ค่อยได้เห็น ก็ทำให้สังคมได้ฉุกคิดว่า เอ๊ะ ทำไมล่ะ

 

ฉะนั้นก็คือ รู้สึก positive ด้วยซ้ำต่อปฏิกิริยานี้

ใช่ รู้สึก positive กับดีเบตในสังคมค่ะ แล้วก็อย่างนี้ปกติเราก็จะเห็นว่าคนที่เขาสวดมนต์นั่งสมาธิ น่าจะเป็นคนแบบมีสติอะไรอย่างนี้ พูดช้าๆ แต่ทำไมครั้งนี้เราเห็นอะไรแบบ “กรี๊ดๆ” เยอะมากเลย

 

แล้วคิดว่าปรากฏการณ์ตอนนี้สะท้อนอะไร

คิดว่ามันเหมือนที่ได้พูดในรายการ (คิดเล่นเห็นต่าง) มันเป็นการได้ตั้งคำถามกับสิ่งที่เราอยู่กับมัน เพราะสิ่งที่เราอยู่มันไม่ได้มีแต่เรื่องศาสนานะ คิดว่า มันก็ไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะว่านักวิชาการก็พูดกันมากว่า เราต้องไม่แบบ take it for granted (ไม่ใส่ใจ) กับทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเรา

อย่างสมมติว่าเราคิดว่าผู้หญิงผู้ชายเป็นเรื่องธรรมชาติ คือเมื่อไหร่ที่เราคิดว่าทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเราเป็นธรรมชาติ เป็นเรื่องที่เป็นสัจจะ เป็นเรื่องที่เป็นความจริงจนไม่ต้องพิสูจน์ เป็นเรื่องที่ไม่ต้องตั้งคำถาม เหมือนเรื่องพุทธศาสนาก็เหมือนกัน ก็แค่ตั้งคำถามว่าพุทธศาสนาก็มีหลายนิกายมากในโลกนี้ แล้วแต่ละนิกายพุทธศาสนาในญี่ปุ่น ในทิเบต ในศรีลังกา ในอินเดีย ในไทย ในพม่า ก็มีวินัยที่แตกต่างกันออกไป มีบทสวดที่แตกต่างกันออกไป มีคำสอน จุดมุ่งหมาย และอุดมการณ์ที่ไม่มีที่ไหนเหมือนกันเลย แต่ทำไมเรารู้สึกว่าพุทธที่เรารู้จักนี่มันเป็นสัจจะแล้ว

แต่สิ่งที่เห็นคืออะไร สิ่งที่เห็นก็คือว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เราคิดว่าสิ่งที่เรามีอยู่ในมือ สิ่งที่เราเห็นอยู่ทุกวัน แล้วเราไม่ได้เปิดโอกาสที่จะเปรียบเทียบสิ่งที่มีกับสิ่งอื่นๆ ที่เราอาจจะไม่เคยเห็น ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยได้ยิน มันก็เป็นการทำให้เราไม่ได้สนใจ เกิดความเคยชินกับสิ่งต่างๆ ในชีวิต มันเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว มันมีอย่างนี้อยู่แล้ว เป็นอย่างนี้มานานแล้ว ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

 

สิ่งที่ต้องการมากที่สุดคือคนไปตั้งคำถาม คนเอาไปคิดต่อ
แต่คนไทยเวลาดูหรือเวลาอ่านแล้วมีแนวโน้มที่จะอยากจะเชื่อว่า
สิ่งที่ผู้ประกาศคนนั้นนะ มันกำลังประกาศสัจจะ
แล้วถ้าสัจจะของมันไม่ตรงกับสัจจะของเรา
ก็คือมันต้องเป็นตัวอัปรีย์จัญไร

 

ถ้าเราเกิดความเคยชินกับสิ่งต่างๆ เหล่านี้ คิดว่ามันจะส่งผลเสียหรืออันตรายกับสังคมอย่างไร

สำหรับตัวเอง อย่างน้อยที่สุดก็คือ มันง่ายที่จะทำให้เราอยู่ภายใต้การครอบงำของอุดมการณ์ใดอุดมการณ์หนึ่ง ซึ่งมันก็เป็นที่มาของการสถาปนาอำนาจนำของอะไรก็ตามที่มีอำนาจอยู่ ณ ขณะนั้น แล้วเมื่อไหร่ก็ตามที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีอำนาจมากเกินไปมันก็ย่อมจะอันตราย ก็คำพูดง่ายๆที่คนเขาพูดๆ กันก็คือว่าอำนาจอยู่ที่ไหนมากเกินไป ท้ายที่สุดอำนาจนั้นก็จะคอร์รัปต์ และท้ายที่สุด มันก็เหมือนกับทุกๆ เรื่องที่คนไทยก็คุ้นเคยกับมันมานานอย่างเช่น สมมติว่าเราเชื่อว่าชีวิตนี้เรากำหนดอะไรเองไม่ได้ ชีวิตคนเรานี่ขึ้นอยู่กับบุญทำกรรมแต่ง สมมติว่าถ้าเราเชื่ออย่างนี้เสียแล้วเราจะเรียนหนังสือไหม เราจะต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไปทำไมในเมื่อชะตากรรมของเราถูกกำหนดมาแล้ว ยกตัวอย่างง่ายๆ แค่นี้ค่ะว่า การครอบงำของอุดมการณ์นี่มันเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจอยู่เสมอมา

แต่ละสังคม อำนาจก็อยู่ในแต่ละที่ไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะวิจารณ์ว่าเรื่องรัฐฆราวาสเป็นเรื่องเก่ามาก มันเชยมาก ก็แน่นอนมันเก่ามากมันเชยมากเพราะว่ายุโรปเขาพูดมา 200 ปีแล้ว แต่ทีนี้แล้วถามว่าในบริบทของสังคมไทย เรื่องนี้เก่าหรือใหม่ เรายังจำเป็นต้องพูดเรื่องนี้กันอยู่หรือเปล่า เช่นเดียวกันเหมือนที่ทุกวันนี้ในสังคมไทยเรายังต้องมานั่งพูดกันอยู่เลยว่าการเลือกตั้งสำคัญอย่างไร ซึ่งคำถามนี้ในหลายๆ สังคมเขาไม่ตั้งคำถามแล้วว่าการเลือกตั้งมันสำคัญอย่างไร เขาก็ตั้งคำถามเรื่องอื่นๆ ว่าประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมจะเป็นอย่างไร ประชาธิปไตยแบบต้องให้ความสำคัญกับเสียงส่วนน้อยจะทำอย่างไร ประชาธิปไตยที่อยู่นอกรัฐสภาจะมีอะไรบ้าง การ empower (เสริมสร้าง) คนชายขอบคนกลุ่มน้อย เรื่องเพศเรื่องเกย์จะได้แต่งงานไหม คือมันต้องไปไกลอีกเรื่อยๆ แต่สังคมไทยยังต้องมานั่งดีเฟนด์กันอยู่เลยว่าเอ๊ะทำไมเราจำเป็นต้องมีการเลือกตั้ง เฮ้ย คนทุกคนมันควรมี 1 เสียงเท่ากันหรือเปล่า มันก็เหมือนกัน

เพราะฉะนั้น คิดว่าดีเบตเรื่องรัฐว่าจะเป็นรัฐฆราวาสหรือรัฐศาสนาสำหรับสังคมไทย ถ้าไปเทียบกับที่อื่นนี่ ที่อื่นเขามองว่ามันเป็น old-fashioned (เชย) แต่สำหรับเรื่องนี้ ก็รู้สึกว่ามันยังพูดกันน้อยมาก แล้วก็คิดว่าคนไทยที่ไม่ใช่นักวิชาการจำนวนมากยังไม่รู้จักคำว่า “รัฐฆราวาส” เลยด้วยซ้ำไป แล้วเราก็ไม่ได้ทันคิดว่าพุทธศาสนานั้นอยู่รอบตัวเรา ทั้งๆ ที่ในประเทศเราก็มีทุกศาสนา มีคนนับถือศาสนาอื่นๆ เยอะแยะไปหมด

คือดูประเด็นอย่างนี้ว่า ที่ฝรั่งเศสมีปัญหาเรื่องเด็กมุสลิมใส่ฮิญาบมันเป็นปัญหาเรื่องเสรีภาพ แต่ของไทยมีปัญหาเรื่องผ้าคลุมเหมือนกัน แต่เป็นปัญหาว่าห้ามใส่ฮิญาบมาโรงเรียนพุทธ ซึ่งมันเป็นการห้ามในสิ่งเดียวกันแต่มันเป็นดีเบตคนละระดับ อุดมการณ์คนละชุดเลย

มันก็ทำให้ต้องมาตั้งคำถามกันจริงๆ ว่า เอ๊ะสังคมไทยมันมาอย่างไรไปอย่างไรทุกวันนี้ มันเข้าสู่ภาวะสมัยใหม่จริงหรือเปล่า หรือมันเป็นสภาวะลักลั่นมาโดยตลอด เป็นสภาวะพิพักพิพ่วนอย่างนี้มาโดยตลอด แล้วเราก็ไม่ได้ถูกฝึกมาให้คิดให้ตั้งคำถามโดยวัฒนธรรมของเรา โดยการศึกษาของเรา เราก็ไม่เคยสนับสนุนให้ตั้งคำถาม แต่ในขณะเดียวกันมันก็มีอะไรที่แบบ “ล้ำ” อย่างเช่นเรื่องแก้กรรม มันถูก commodify (ทำให้เป็นสินค้า) แบบล้ำมาก แล้วมันก็กลมกลืนอยู่ในวิถีชีวิตของคนสมัยใหม่อย่างไม่ขัดเขิน เราสามารถมีไอโฟนไอแพด 2 ในขณะเดียวกันเราก็แก้กรรมได้ด้วย สิ่งเหล่านี้อยู่ด้วยกันได้อย่างไร

อย่างตัวเองก็ไหว้หมดนะ ทั้งไหว้พระพิฆเนศ ไหว้ผีปู่ย่า ที่บ้านก็มีศาลพระภูมิก็ไหว้เจ้าที่ อะไรอย่างนี้ คือตัวเองนี่มีครบทุกสิ่งอัน แต่อย่างไรก็ตาม ก็ถือว่าทั้งหมดนี่ไม่ได้แปลว่าตัวเองมานั่งตั้งคำถามพวกนี้แล้วไม่เชื่ออะไรเลยก็ไม่ใช่นะ ก็กลัวนะคะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ว่าเรากำลังพูดกันถึงอีกเรื่องหนึ่งใช่หรือเปล่า คือถ้าเราดูจากดีเบตของฝ่ายฝักใฝ่ในศาสนาทั้งหมดนี่ เราจะเห็นได้ทันทีเลยว่าสรรพสิ่งที่เขาเชื่อมันเป็นสัจจะ แล้วมีอยู่อย่างนี้มานับพันปีไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งๆ ที่ศาสนาพุทธก็ได้รับการสังคายนา พระไตรปิฎกก็สังคายนากันหลายครั้ง ซึ่งการสังคายนาพระไตรปิฎกก็จะทำให้เห็นการปรับตัวของศาสนาพุทธเอง ไม่นับว่าศาสนาพุทธถูกนำไปปรับเป็นอีกหลายนิกาย และแต่ละสังคมก็มีการใช้ศาสนาพุทธในลักษณะต่างๆ กัน

อีกอย่างในรายการคิดเล่นเห็นต่าง ก็มีเวลาพูด 21 นาที สิ่งที่ท้าทายที่สุด คือเอาสิ่งที่เป็นเรื่องราวปกติที่มันพูดกันในแวดวงวิชาการ ซึ่งสำหรับวงวิชาการมันไม่ใช่เรื่องใหม่หรือน่าตกใจ แต่เมื่อนำมันมานำเสนอในสาธารณะทั้งหมดนี่ มันเสี่ยงมากที่จะเป็นการ simplify (ลดทอนความซับซ้อน) หรือเปล่า แต่ทีนี้ลูกเล่นในการทำรายการทีวี ต้องมีทั้งอารมณ์ขัน มีทั้งสีสัน ไม่อย่างนั้นคนก็เบื่อใช่ไหม ไม่อยากฟัง

แต่ทีนี้ สิ่งที่ท้าทายกว่านั้นคือว่า ก็พูดมาตลอดว่านี่คือคิดเล่นเห็นต่างนะคะ นี่คือสิ่งที่เราอยากจะให้นำไปเป็นบทสนทนาต่อรายการ เราไม่ได้พิพากษา รายการเราไม่ได้บอกว่าสิ่งนี้ถูกสิ่งนี้ผิด คือเรากำลังโยนความคิดของเราลงไป ซึ่งเป็นความคิดของเรา ซึ่งผิดก็ได้ ถูกก็ได้ เห็นด้วยก็ได้ ไม่เห็นด้วยก็ได้ แต่สิ่งที่ต้องการมากที่สุดคือคนไปตั้งคำถาม คนเอาไปคิดต่อ แต่คนไทยเวลาดูหรือเวลาอ่านแล้วมีแนวโน้มที่จะอยากจะเชื่อว่าสิ่งที่ผู้ประกาศคนนั้นนะ มันกำลังประกาศสัจจะ แล้วถ้าสัจจะของมันไม่ตรงกับสัจจะของเราก็คือมันต้องเป็นตัวอัปรีย์จัญไร ไอ้ตัวที่กำลังสื่อสารสิ่งที่ผิดๆ สู่สังคม กำลังจะชี้นำสังคมไปในทางที่เสื่อม ทำอย่างไรจะให้คนดูเห็นว่า สื่อเป็นสื่อจริงๆ สื่อเป็น ”media” เป็น “medium” (สื่อกลาง) ไม่ใช่ผู้พิพากษา สื่อไม่ใช่ผู้กำหนดสังคม

ไม่ใช่ผู้กำหนดความจริง...

สื่อไม่ใช่ผู้ประกาศลัทธิความเชื่ออะไรก็ตาม เพราะฉะนั้นคุณมีสื่ออยู่สิบช่อง คุณมีรายการให้ดูนับร้อยรายการ คุณชั่งน้ำหนักสิ คุณคิด คุณวิจารณ์ ก็คุณเห็นว่าคนที่อยู่ในสื่อของคุณนะมีสถานะเท่าเทียมกัน คิดว่าคนไทยลึกๆ แล้วดูสื่อเพราะเห็นว่าสื่อเป็น prophet (ศาสดา) มันขัดกับคอมมอนเซนส์ มันขัดกับความเชื่อของเราเพราะฉะนั้นเขาก็จะรับไม่ได้ เพราะเขาคาดหวังให้สื่อพูดว่า เยาวชนเป็นคนดีจะต้องไม่กินเหล้าไม่สูบบุหรี่ คนจะต้องรักพ่อแม่ มีความกตัญญู คนไทยมีแนวโน้มเห็นสื่อเป็นเครื่องมือพร็อพพากันด้า อยากให้สื่อพูดเหมือนอะไรที่แบบเรียนพูด อยากให้สื่อพูดอะไรเหมือนที่ครูสอนนักเรียนในโรงเรียน เพราะฉะนั้นเราก็จะเห็นว่าสื่อหรือรายการที่มีแนวโน้มเป็นรายการเพื่อการศึกษาหรือส่งเสริมเยาวชน ก็จะเป็นรายการที่คนตั้งคำถามน้อยที่สุด เพราะคิดว่ารายการเหล่านั้นนะ บริสุทธิ์ที่สุด อินโนเซนส์ที่สุด เพียวที่สุด มีพิษภัยน้อยที่สุด ในขณะที่พี่มองว่าไอ้รายการแบบนี้มันกำลังเอาอุดมการณ์ใส่ไว้ในสังคม ไอ้รายการที่ดูเหมือนมีพิษภัยน้อยที่สุด รายการสำหรับเด็กอาจจะเป็นเครื่องมือของอะไรก็ได้

...มีสองเรื่องที่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่สำหรับสังคมไทยในอนาคตคือ
ศาสนากับเรื่องเพศ คือเรื่องความคิดเป็นเสรีนิยม
ประชาธิปไตยมันคงไม่มาพร้อมกับความคิดอนุรักษ์นิยมในเรื่องศาสนากับเรื่องเพศ

ด้วยกระแสสังคมที่ค่อนข้างแรงในตอนนี้ รู้สึกว่าตนเองถูกคุกคามหรือเปล่า

ก็คิดว่าเป็นนั่งดูผู้สังเกตการณ์นะคะ ก็หวังว่าจะไม่มีอะไรมากกว่านี้ ก็หวังว่ามันจะยังเป็นเพียงดีเบตในสังคม แล้วถ้ามันเป็นดีเบตในสังคม และคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งคนที่นั่งอ่านดีเบตของเราอยู่นี่ เขาก็ได้คิดว่า เฮ้ย เกิดอะไรขึ้น เอ๊ะ มันเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า ทำไมพระพูดแบบนี้ เอ๊ะ ตกลงมันอะไรกันแน่ ก็คิดว่าแค่ทำให้คนรู้สึกว่าได้ตั้งคำถาม

ตอนนี้ถามว่าถ้าจะกลัวอะไร ก็กลัวคนทำร้ายนี่แหละกลัวจริงๆ แบบคลั่งๆมา

โดนทำร้ายแบบอาจารย์วรเจตน์ (ภาคีรัตน์) อะไรอย่างนั้น

ใช่ อย่างนั้นกลัว แต่ว่าจะมาเรื่องนมดำ นมเหี่ยว เรื่องประวัติชีวิตโชกโชน คือไม่ซีเรียส ด่าเรื่องนี้ด่าไปเลย อย่ามาตบก็แล้วกัน

คิดว่าสำหรับในกระบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย มันไม่ได้มีแต่เรื่องการเลือกตั้ง มันไม่ได้มีแต่เรื่องที่เราจะสู้กับเรื่องกรอบของการเมืองอย่างเดียว การเมืองแบบ “การเมื๊อง การเมือง” น่ะ แต่คิดว่าในกระบวนการได้มาซึ่งประชาธิปไตยแต่มันต้องมีมิติทางวัฒนธรรมด้วย แล้วมิติทางวัฒนธรรม คิดว่ามีสองเรื่องที่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่สำหรับสังคมไทยในอนาคตคือ ศาสนากับเรื่องเพศ คือเรื่องความคิดเป็นเสรีนิยม ประชาธิปไตยมันคงไม่มาพร้อมกับความคิดอนุรักษ์นิยม ในเรื่องศาสนากับเรื่องเพศ

ตอนนี้คือเรากำลังแบบยุ่งอยู่กับเรื่องการต่อสู้กับการต้านรัฐประหาร การดีเฟนด์ระบบการเลือกตั้งอะไรอย่างนี้ ก็เลยทำให้ลืมมิติทางวัฒนธรรม ว่าตัวกลไกและก็เครื่องมือที่จะผดุงไว้ซึ่งอำนาจนิยม มันอยู่ในทางมิติวัฒนธรรมมากซะยิ่งกว่าตัวกฎหมาย มากซะกว่าอยู่ในกลไกการเลือกตั้ง
 

ถ้าคุณถ่วงดุลอำนาจรัฐสภาโดยคุณมีฝ่ายค้าน
สิ่งที่ทำก็คือต้องการถ่วงดุลอำนาจในมิติทางวัฒนธรรม
เราจะไม่ต้องการฝ่ายค้านทางวัฒนธรรมบ้างเลยหรือ...

 

มองว่า ถ้าเราสู้ให้เพื่อความเสรีในมิติศาสนาหรือเพศ อาจจะช่วยผลักให้สังคมไทยไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมมากขึ้น

การครอบงำทางอุดมการณ์มันจะยากขึ้น เพราะฉะนั้น สิ่งที่คนพูดกันมากว่ากลัวเรื่องเผด็จการรัฐสภา อะไรพวกนี้ คือถ้าเรามีความเป็นเสรีนิยมทางวัฒนธรรม สิ่งที่เรียกว่าเผด็จการรัฐสภานี่มันจะอยู่ไม่ได้ เพราะมันจะรักษาอำนาจนำ มันจะต้องถูกตั้งคำถามตลอดเวลา แต่ทีนี้ถ้าคุณมีการเลือกตั้งครอบงำคุณทางกลไกได้หมด คุณไปเลือกตั้งก็จริง แต่คุณถูกบังคับจากจิตสำนึกของคุณให้เลือกคนอื่น แล้วคุณก็ยินดีที่จะเลือกพรรคการเมืองนี้อีก 20 – 30 ปี ไม่เปลี่ยนแปลงก็ได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องทำรัฐประหาร มันก็คือกลับไปพูดเรื่องการครอบงำทางอุดมการณ์

เขาบอกว่าเรื่องอำนาจมันมีสองแบบ คืออำนาจแบบตรงไปตรงมา คือคุณใช้กฎหมาย ใช้การลงโทษ แต่มันก็มีอำนาจอีกแบบหนึ่ง อำนาจแอบแฝง ซึ่งคนที่สนใจฟูโกต์ ก็คงเข้าใจดี มันเป็นอำนาจที่มาพร้อมกับเรื่องสุขภาพ อำนาจที่มาพร้อมกับโรงเรียน อำนาจที่มาพร้อมกับนิทาน อำนาจที่มาพร้อมกับพิธีกรรมสวยงามต่างๆ แล้วสิ่งเหล่านี้ก็เป็นการผูกขาดอำนาจแบบหนึ่ง เป็นการผูกขาดอำนาจแบบแนบเนียนแบบที่เราไม่รู้ตัวว่าเรากำลังอยู่ภายใต้อำนาจของมัน แต่อย่างไรก็ตาม มันไม่ได้แปลว่าเราจะต้องหลุดจากทุกอำนาจจนเราไม่มีอะไรเลย อำนาจแบบนี้มันไม่ต้องการการปลดแอกอย่างสิ้นเชิง มันต้องการแค่บทสนทนาอย่างสม่ำเสมอ

คนชอบถามว่าไปรื้อมันออก ไปรื้อทิ้ง มันจะเหลืออะไรล่ะ แล้วชีวิตนี้เราจะอยู่กับอะไร คือมองว่ามันไม่ใช่ว่าเราจะต้องรื้อทั้งหมด ไม่ได้แปลว่าเราจะไม่ส่งลูกเข้าโรงเรียน ถ้าตัวเองมีลูก ก็จะส่งลูกเข้าโรงเรียน ทั้งๆ ที่รู้ว่าโรงเรียนมันเป็นเครื่องมือกล่อมเกลาทางสังคมทางอุดมการณ์อย่างหนึ่ง ไม่ได้แปลว่าเราจะเลิกส่งลูกเข้าโรงเรียน แต่อย่างน้อยเมื่อเราส่งลูกเข้าโรงเรียน สังคมก็ดีเบตว่า เอ๊ะ สังคมมันมีปัญหาอะไร มันก็เท่ากับเป็นการถ่วงดุลอำนาจกันนั่นเอง เพราะฉะนั้นถ้าคุณถ่วงดุลอำนาจรัฐสภาโดยคุณมีฝ่ายค้าน สิ่งที่ทำก็คือต้องการถ่วงดุลอำนาจในมิติทางวัฒนธรรม เราจะไม่ต้องการฝ่ายค้านทางวัฒนธรรมบ้างเลยหรือ...

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net