Skip to main content
sharethis

 

 

ย่อคำพิพากษา

คดีหมายเลขดำที่ อ.๑๑๖๗/๒๕๕๓

                                                            ศาลอาญา

            วันที่ ๓๐ เดือน พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕

 

ระหว่าง    พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด                                            โจทก์

            นางสาวจีรนุช   เปรมชัยพร                                                                 จำเลย

เรื่อง      ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

 

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้ให้บริการเว็บไซต์โดยเป็นผู้ดูแลเว็บไซต์ (Web master) ชื่อว่า ประชาไท (www.prachatai.com) จำเลยจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการดำเนินการนำข้อความอันเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ ที่มีเนื้อหาเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์  พระราชินี  รัชทายาท อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร จำนวน ๑๐ กระทู้ เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งอยู่ในความควบคุมของจำเลย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๔ , ๑๕ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๑

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทย์จำเลยแล้วเห็นว่า ข้อความตามกระทู้ทั้งสิบมีลักษณะเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และมีการนำเข้าสู่ในเว็บบอร์ดของเว็บไซต์ประชาไท แต่โจทย์ไม่มีพยานหลักฐานว่าจำเลยจะเป็นผู้นำข้อความตามกระทู้ทั้งสิบดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ หรือ จงใจ สนับสนุน ให้มีการกระทำความผิดดังกล่าว ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของจำเลย จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๑๔ (๓) และฟังไม่ได้ว่าจำเลยจงใจ หรือสนับสนุน ให้มีการกระทำความผิดดังกล่าว ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของจำเลย ส่วนจะเป็นการ ยินยอม ให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๔ ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของจำเลยหรือไม่นั้น เนื่องจากพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๕ มิได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งเกี่ยวกับระยะเวลานับแต่เกิดการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๔ ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ความควบคุมของผู้ให้บริการว่า ควรมีระยะเวลานานเพียงใด กับมิได้กำหนดระยะเวลาในการแจ้งเตือนให้ผู้ดูแลเว็บไซต์ดำเนินการแก้ไขกรณีที่มีการนำเข้าข้อความที่ไม่เหมาะสมสู่ระบบอินเตอร์เน็ตของผู้ให้บริการ ซึ่งมีฐานะตัวกลางระหว่างผู้ใช้บริการในเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เพื่อให้ผู้ให้บริการเว็บไซต์ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลที่ไม่เหมาะสมที่ผู้ใช้บริการโพสต์หรือนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ผู้ใช้บริการรับผิดชอบดูแลอยู่ หรือระงับการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวไว้เพียงใด กรณีจะถือว่าผู้ให้บริการยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๔ ในระบบคอมพิวเตอร์ ที่อยู่ในความควบคุมของตน และต้องรับผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐ โดยทันทีหลังจากมีการนำเข้าข้อความที่ไม่เหมาะสมสู่ระบบอินเตอร์เน็ตของตัวกลางนั้นนับว่าไม่เป็นธรรมแก่ผู้ให้บริการในฐานะตัวกลางระหว่างผู้ใช้บริการในเครือข่ายอินเตอร์เน็ต แต่ผู้ให้บริการเองจะอ้างว่าไม่ทราบว่ามีการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๔ ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตนโดยมิได้คำนึงถึงภาระหน้าที่และความรับผิดชอบในฐานะเป็นผู้ดูแลเว็บไซต์ หรือ Web master ของผู้ให้บริการเองเพื่อให้หลุดพ้นจากความผิดดังกล่าว และทำให้บทบัญญัติตามกฎหมายไม่มีสภาพบังคับนั้น ย่อมไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่บัญญัติไว้ดังกล่าว


ศาลเห็นว่าหากจำเลยมีความใส่ใจดูแลและตรวจสอบตามหน้าที่และความรับผิดชอบของจำเลยแล้ว ควรจะใช้เวลาในการตรวจสอบและพบเห็นตลอดจนนำข้อมูลที่ไม่เหมาะสมตามที่บัญญัติในมาตรา ๑๔ ดังกล่าวออกจากระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของจำเลยภายในระยะเวลาอันสมควรที่อาจจะพึงคาดหมายได้ว่าจำเลยรู้อยู่ว่ามีการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่นำเข้าสู่ระบบโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เพราะหากปล่อยเวลาให้เนินนานไปกว่านี้อาจมีการนำข้อความที่มีลักษณะเป็นการไม่เหมาะสมเผยแพร่ต่อไปไม่จบสิ้นจนก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศชาติได้ เมื่อปรากฏว่ากระทู้จำนวน ๙ กระทู้ ตามเอกสารหมาย จ.๒๓ ถึง จ.๓๑ อยู่ในกระดานสนทนาหรือเว็บบอร์ดที่จำเลยเป็นผู้ดูแล เป็นเวลา ๑๑ วัน ๑ วัน ๓ วัน ๒ วัน ๒ วัน ๑วัน ๓ วัน ๒ วัน และ ๑ วัน ตามลำดับ ซึ่งอยู่ภายในกรอบเวลาอันสมควรในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยในฐานะเป็นผู้ควบคุมเว็บบอร์ด จึงมิอาจฟังได้ว่าจำเลยได้รู้ถึงการนำกระทู้ตามเอกสารหมาย จ.๒๓ ถึง จ.๓๑ ดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของจำเลย อันจะถือว่าเป็นการยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๔ ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของจำเลย ส่วนกระทู้ตามเอกสารหมาย จ.๓๒ นั้น ปรากฏว่าอยู่ในกระดานสนทนาหรือเว็บบอร์ดที่อยู่ในความควบคุมของจำเลยเป็นเวลาถึง๒๐วัน ซึ่งศาลเห็นว่า  เกินกำหนดเวลาอันควรที่จำเลยจะตรวจสอบพบตลอดจนนำข้อมูลที่ไม่เหมาะสมดังกล่าวออกจากระบบคอมพิวเตอร์ที่จำเลยเป็นผู้ดูแล จึงเป็นการงดเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ของผู้ให้บริการภายในเวลาอันสมควร กรณีย่อมถือได้ว่าจำเลยให้ความยินยอมโดยปริยาย ในการนำข้อมูลที่ปรากฏในเอกสารหมายเลข จ.๓๒ เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของจำเลย เมื่อข้อมูลที่นำเข้าดังกล่าว มีลักษณะเป็นความผิดตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๑๔(๓) จำเลยในฐานะผู้ให้บริการในการนำเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ต ย่อมมีความผิดฐานเป็นผู้ยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา๑๔ ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของจำเลย

ที่จำเลยนำสืบว่าหลังจากรัฐประหารมีผู้เข้าไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นบนเว็บบอร์ดของเว็บประชาไทมากขึ้น จึงได้เพิ่มมาตรการในการควบคุมดูแล โดยให้มีการตรวจสอบข้อมูลโดยเจ้าหน้าที่ของประชาไทกับให้มีอาสาสมัครที่เป็นสมาชิกที่ใช้บริการเว็บบอร์ดประชาไทเข้าไปตรวจสอบข้อมูลที่นำเข้าของเว็บประชาไท เมื่ออาสาสมัครท่านใดตรวจพบว่ามีข้อมูลที่สุ่มเสี่ยงหรือไม่เหมาะสมก็สามารถนำออกได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากจำเลยก่อนนั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งของการทำหน้าที่ของจำเลยในฐานะผู้ให้บริการแก่บุคคลอื่นในการเข้าสู่อินเทอร์เน็ท แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ภาระหน้าที่ของจำเลยในการควบคุมดูแลมิให้มีการกระทำคงวามผิดตามมาตรา๑๔ ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของจำเลยมีอยู่เช่นใดก็ยังคงมีอยู่เช่นนั้นไม่เปลี่ยนแปลง

และส่วนที่ว่าเว็บไซต์ประชาไทเป็นโครงการหนึ่ง ภายใต้มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน จุดประสงค์เพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง มุ่งเน้นเรื่องสิทธิมนุษยชนและส่งเสริมประชาธิปไตยนั้น ศาลก็ยอมรับว่า สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองซึ่งให้การรับรองและคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ เพราะเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นสะท้อนถึงธรรมาภิบาลและความเป็นประชาธิปไตยของประเทศหรือองค์กรนั้นๆ การวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนทั้งด้านบวกและด้านลบแล้ว ย่อมเป็นโอกาสในการนำไปปรับปรุงประเทศ องค์กร และตนเองให้ดียิ่งๆขึ้น แต่เมื่อจำเลยเปิดช่องทางให้มีการแสดงความคิดเห็นในระบบคอมพิวเตอร์ที่จำเลยเป็นผู้ให้บริการและอยู่ในความดูแลของจำเลย จำเลยย่อมมีหน้าที่ในการตรวจสอบข้อคิดเห็นหรือข้อมูลที่อาจกระทบกระเทือนถึงความมั่นคงของประเทศรวมทั้งเสรีภาพของผู้อื่นที่ต้องเคารพเช่นกัน เมื่อปรากฏว่าจำเลยยินยอมให้มีการนำข้อคิดเห็นหรือข้อมูล ตามที่ปรากฏอยู่ในเอกสารหมาย จ.๓๒ ลงในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของจำเลยดังที่วินิจฉัยมาข้างต้น จำเลยจึงมิอาจอ้างถึงสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นดังกล่าวเพื่อให้หลุดพ้นจากความรับผิดได้

พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๑๕ ประกอบมาตรา ๑๔ (๓) ตามฟ้องข้อ ๑.๑๐ ลงโทษจำคุก ๑ ปีและปรับ ๓๐,๐๐๐ บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่ การพิจารณา นับว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ หนึ่งในสาม คงจำคุก ๘ เดือน และปรับ ๒๐,๐๐๐ บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เพื่อให้จำเลยมีโอกาสเป็นพลเมืองดีของประเทศชาติ โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๑ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ ข้อหาและคำขออื่นให้ยก./

 


 

 

 

 

อ่านรายละเอียดคดีได้ที่
http://freedom.ilaw.or.th/th/case/112

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net