Skip to main content
sharethis

กรมอุทยานแห่งชาติฯ ฟ้องชาวกะเหรี่ยงปลูกข้าว 3 ไร่ 2 งาน เรียกค่าเสียหาย 3.1 แสนบาท สุดท้ายศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมสั่งยกค่าเสียหาย ชี้ผู้ฟ้องใช้งานวิจัยเก่า ไม่ได้เก็บข้อมูลจากพื้นที่เกิดเหตุจริง และเชื่อว่าป่าสามารถกลับมาฟื้นฟูด้วยตนเองได้ ผอ.ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนาชี้ชุมชนบ้านป่าผากตั้งมาหลายร้อยปี พื้นที่พิพาทกับกรมอุทยานแห่งชาติฯ เป็นไร่หมุนเวียนดั้งเดิมของชุมชน ผ่านมา 11 ปีฟื้นตัวกลายเป็นป่าแล้ว

ชาวบ้านกะเหรี่ยงจำเลยทั้ง 3 คน

ป่าฟื้นตามธรรมชาติเป็นป่าสมบูรณ์เมื่อ 12 ส.ค. 2559

หนึ่งในจำเลยถ่ายรูปคู่กับพื้นที่ทำข้าวไร่ในปี 2548 ปัจจุบันฟื้นฟูกลายเป็นป่าไม้แล้ว

กรณีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายอมรเทพ ศุภกรสกุล นางมะลิ งามยิ่ง และนางมะและหยิ่ง งามยิ่ง ชาวกะเหรี่ยงบ้านป่าผาก ต.วังยาว อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ที่เข้าไปหยอดปลูกข้าวไร่เป็นเนื้อที่ 3 ไร่ 2 งาน 80 ตารางวา ซึ่งเป็นพื้นที่ป่า อันเป็นการทำลายป่า ทำให้เสื่อมสภาพทรัพยากรธรรมชาติ ล่าสุดคดีดังกล่าวซึ่งฟ้องมาตั้งแต่ปี 2548 มาถึงศาลฎีกาแล้ว

โดยเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2561 ศาลจังหวัดสุพรรณบุรีได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อม คดีที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ เรียกร้องต่อศาลฎีกาซึ่งเรียกกันว่าคดีโลกร้อนได้แก่  มูลค่าเนื้อไม้และความเพิ่มพูนไร่ละ 60,024 บาทต่อปี  มูลค่าของป่าไร่ละ 232.25 บาทต่อปี  มูลค่าของธาตุอาหารในดินไร่ละ 767.97 บาทต่อปี  การปลูกป่าและทำนุบำรุงป่าไร่ละ 7,220 บาทต่อปี  และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ 18 พฤษภาคม 2548  รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 310,474.12 บาท

ศาลฎีกาแผนกสิ่งแวดล้อมเห็นว่า เป็นหน้าที่ของโจทก์ (กรมอุทยานแห่งชาติฯ) ต้องนำสืบถึงความเสียหายตามจำนวนเงินที่ฟ้อง โดยสำรวจและเก็บข้อมูลทั้งไม้และดินจากป่าที่เกิดเหตุ การใช้แบบจำลองค่าเสียหายที่ไม่ตรงกับสภาพป่า การไม่เก็บข้อมูลทั้งไม้และดิน และการอ้างงานวิจัยตั้งแต่ปี 2519 และ 2535 เป็นงานวิจัยเก่า เนื่องจากคดีเกิดปี 2548 ซึ่งหลังจากงานวิจัยหลายปี ดังนั้นพยานหลักฐานของโจทก์ (กรมอุทยานแห่งชาติฯ) จึงไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ป่าที่เกิดเหตุเสียหายตามฟ้อง ประกอบกับนายสุรพงษ์ กองจันทึก จากศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าสำรวจที่เกิดเหตุเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2559 พบว่า ขณะที่เข้าไปสำรวจป่ามีสภาพสมบูรณ์แล้ว

ศาลฎีกาพิพากษายืนตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษา และให้ยกฎีกาของโจทก์ (กรมอุทยานแห่งชาติฯ) เนื่องจากฟังไม่ขึ้น  ซึ่งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ลงวันที่ 28 มีนาคม 2560 มีว่า “อุปกรณ์ในการกระทำผิดที่ยึดได้มีเพียง มีด 2 เล่ม ไม้สำหรับหยอดข้าว 1 อัน  แสดงว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้ร้ายแรงมากนัก  และพื้นที่ซึ่งถูกบุกรุกก็มีเพียง 3 ไร่ 2 งาน 80 ตารางวา  การที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลยพินิจกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมชดใช้แก่โจทก์เป็นเงิน 37,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดนั้น  นับว่าเหมาะสมแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว”

นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนาเปิดเผยว่า หมู่บ้านป่าผากที่ชาวกะเหรี่ยงซึ่งเป็นจำเลยทั้งสามคนอาศัยอยู่ เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ ตั้งมาหลายร้อยปีแล้ว  จำเลยทั้งสามก็เกิดและอาศัยทำกินในพื้นที่นี้ตลอดมา พื้นที่พิพาทเป็นไร่หมุนเวียนดั้งเดิมของชุมชน  ชาวบ้านทั้งสามเข้าไปปลูกข้าวไร่ไว้รับประทานเองตามวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงซึ่งเป็นไร่หมุนเวียนใช้พื้นที่เพียง 3 ไร่ ตนเข้าไปดูพื้นที่เกิดเหตุในปี 2559 ซึ่งหลังจากเหตุเกิด 11 ปี  พบว่าป่าได้ฟื้นสภาพตามธรรมชาติเป็นป่าสมบูรณ์  ไม่พบร่องรอยความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติแต่อย่างใด เป็นการยืนยันว่าไร่หมุนเวียนเป็นการรักษาป่าและสภาพแวดล้อม ซึ่งมีการศึกษาวิจัยรองรับจำนวนมาก  จนกระทรวงวัฒนธรรมประกาศให้ไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติในปี 2546

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net