โวย "ม.สารคาม" เลือกปฏิบัติ สั่งปลดป้ายรณรงค์ "ต้าน SOTUS"

นักกิจกรรม-นิสิต ตั้ง กลุ่ม SOTUS WATCH GROUP จับตาการรับน้อง มมส.ทำกิจกรรมตั้งป้าย-แจกเอกสาร แบบสอบถามในมหาวิทยาลัย แต่ถูกสั่งห้าม-ยกป้ายเก็บ ตั้งคำถามถูกเลือกปฏิบัติ-ปิดกั้นข้อมูล

 
 
(4 มิ.ย.55) นายประภัสชัย กองศักดิ์ ผู้ประสานงานกลุ่ม SOTUS WATCH GROUP (กลุ่มผู้จับตาดูการรับน้องแบบ SOTUS) อันเกิดจากการรวมกลุ่มของนักกิจกรรม นิสิต นักศึกษา ประกอบด้วย กลุ่มเถียงนาประชาคม กลุ่มปุกฮัก และกลุ่มแสงเสรี ให้ข้อมูลว่า เมื่อช่วงเวลาประมาณ 23.15 น.ของวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทางกลุ่มได้ทำกิจกรรมโดยการติดป้ายผ้ารณรงค์เรื่อง SOTUS ในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมรับน้องในระหว่างวันที่ 4-10 มิ.ย.55 แต่เมื่อทางกลุ่มเข้าไปทำการรนรงค์ในช่วงเช้าวันต่อมากลับไม่พบป้ายดังกล่าว คาดว่าจะมีการขนย้ายโดยเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย
 
นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.55 ทางกลุ่มฯ ได้นำเอกสารที่มีข้อมูลและข่าวสารเกี่ยวกับการรับน้องของ และประกาศของกระทรวงศึกษาธิการเรื่องการรับน้อง รวมทั้งแบบสอบถามจำนวน 1,000 ชุด ซึ่งมีคำถาม อาทิ “คุณรู้หรือไม่ว่ามหาวิทยาลัยมหาสารคามรับนองแบบ SOTUS” “คุณรู้หรือไม่ว่าระบบ SOTUS เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนฯ” และ “คุณรับได้หรือไม่กับการรับน้องที่มีการบังคับให้หมอบคลาน ข่มขู่” ไปแจกให้กับนิสิตชั้นปี 1 แต่ถูกกลุ่มกองกิจการนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม นิสิตอาสาและยามเข้ามาพูดคุยเพื่อให้หยุดแจกเอกสาร โดยให้เหตุผลว่า อธิการบดีเป็นผู้สั่งการให้ยับยั้งการแจกเอกสารดังกล่าว เพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อระบบการรับน้องของมหาลัยได้ อีกทั้งจะไปกระทบต่อกลุ่มคนที่จัดงานด้วย
 
 
เหตุการณ์ขณะที่ "กองกิจการนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม" เข้าขัดขวางการทำกิจกรรมของกลุ่มกลุ่ม SOTUS WATCH GROUP ซึ่งแม้จะบอกว่าก็บอกว่าไม่ผิดแต่ก็ไม่ให้แจกเอกสาร
 
 
ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การจัดกิจกรรมต้อนรับน้องใหม่และประชุมเชียร์ในสถาบันอุดมศึกษา
 
กำหนดนโยบาย และมาตรการ 3 ข้อ สรุปสาระสำคัญดังนี้
 
นโยบาย
 
1.การจัดกิจกรรมฯ ควรเคารพสิทธิเสรีภาพและหลักความเสมอภาค  ไม่มีความรุนแรง และห้ามล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลทั้งทางร่างกายและจิตใจ ไม่ดื่มสุรา และเสพสิ่งมึนเมาทุกชนิด และไม่กระทบกับการเรียนการสอน
 
2.การจัดกิจกรรมฯ ควรอยู่ในความรับผิดชอบดูแลร่วมกันของผู้บริหาร อาจารย์ และบุคลากรทุกคณะ/ภาควิชา รวมทั้งรุ่นพี่ ที่จะต้องให้คำแนะนำกำกับดูแล ปรึกษาการจัดกิจกรรมให้มีลักษณะสร้างสรรค์ ไม่ขัดต่อระเบียบสถาบัน กฎหมาย วัฒนธรรม ประเพณี และมารยาททางสังคมที่ดีงาม
 
3.การจัดกิจกรรมฯ ให้จัดกิจกรรมภายในสถาบันอุดมศึกษา ไม่ควรจัดนอกสถานที่ เพื่อความปลอดภัยและประหยัด โดยการอนุญาตการจัดกิจกรรมให้อยู่ในดุลยพินิจของแต่ละสถาบัน
 
มาตรการ
 
1.ให้สถาบันอุดมศึกษาออกกฎระเบียบ ข้อบังคับ หรือหลักเกณฑ์และมาตรการ ในการจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับนโยบาย ศธ. โดยกำหนดการพิจารณาอนุญาต การรับผิดชอบ การกำกับ ระยะเวลาการจัดกิจกรรม รูปแบบแนวทางกิจกรรม ตามความเหมาะสมและลักษณะเฉพาะของแต่ละสถาบัน
 
2.องค์กรนิสิตนักศึกษาต้องเสนอขออนุมัติโครงการจัดกิจกรรมเป็นลายลักษณ์อักษร และจะจัดกิจกรรมได้ต่อเมื่อได้รับอนุมัติแล้วเท่านั้น
 
3.ให้สถาบันอุดมศึกษารณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้สังคมเข้าใจรูปแบบกิจกรรม นโยบาย และมาตรการ มีทัศนคติที่ดีต่อการรับน้อง และร่วมตรวจสอบการจัดกิจกรรมได้
 
4.ให้นิสิตนักศึกษาใหม่ เข้าร่วมกิจกรรมด้วยความสมัครใจ เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองเข้ามาสังเกตการณ์กิจกรรมได้
 
5.สถาบันอุดมศึกษาให้จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวัง มีเว็บไซต์เพื่อติดตามแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แก้ไขปัญหา ประสานกับสื่อมวลชน ส่วนวิทยาเขต/คณะต่างๆ ควรจัดตั้งศูนย์บริการข้อมูลและให้การช่วยเหลือ (Call Center) หรือบริการสายด่วน (Hotline)
 
6.ให้สถาบันอุดมศึกษาประเมินผลและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดกิจกรรม และควรมีการยกย่องชมเชยผู้ที่จัดกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์
 
7.ให้สถาบันอุดมศึกษามีบทลงโทษทางวินัย กับนิสิตนักศึกษาและผู้เกี่ยวข้องที่จัดกิจกรรมที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ความเสมอภาค และกฎระเบียบข้อบังคับของสถาบัน
 
8.ให้ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา ถือเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบในการดำเนินการตามนโยบายและมาตรการนี้
 
 
นายประภัสชัย ให้ข้อมูลต่อมาว่า ช่วงแรกทางกองกิจการนิสิตได้ขอเอกสารทั้งหมดที่มีเพื่อเก็บไว้ แต่ทางกลุ่มฯ ให้ไปเพียงหนึ่งชุด และทางกองกิจการนิสิตได้สอบถามทางกลุ่มนำเงินจากไหนมาทำกิจกรรม รวมทั้งถ่ายเอกสารจำนวนมาก ซึ่งทางกลุ่มได้ตอบไปสั้นๆ ว่าเป็นเงินจากการลงขันกันเองในกลุ่ม
 
นอกจากนั้น ทางกลุ่มฯ ได้พยายามต่อรองเพื่อแจกเอกสารต่อไป โดยจะไม่เข้าไปใกล้บริเวณที่มีการทำกิจกรรมรับน้อง แต่ทางกองกิจการนิสิตไม่ยินยอม โดยอ้างว่าให้ไปทำเอกสารยื่นเรื่องเพื่อขออนุญาตก่อน รวมถึงเรื่องการติดป้ายในมหาลัยด้วยเช่นกัน เมื่อสอบถามถึงป้ายรณรงค์ที่ทางกลุ่มฯ ทำไว้ รปภ.ของมหาวิทยาลัยอ้างว่า รองอธิการฝ่ายอาคารสถานที่ เป็นคนสั่งให้ปลดป้ายลงและให้ไปทำเรื่องยื่นที่ฝ่ายกองกิจก่อนตามขั้นตอนจึงจะได้ป้ายคืน
                                                                                                           
ด้านนายโอภาส สินธุโคตร สมาชิกกลุ่มSOTUS WATCH GROUP แสดงความเห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัติ เนื่องจากในมหาวิทยาลัยมีการติดป้ายต่างๆ อยู่กลาดเกลื่อน และมักไม่มีการขอก่อนติดหรือแม้กระทั่งการแจกเอกสารปกติก็มีการขออนุญาต โดยเฉพาะเมื่อเป็นแบบสอบถามเพื่อทำข้อมูลเกี่ยวกับความเห็นต่อการรับน้องก็ไม่ควรต้องมีการปิดกั้น เราควรมีสิทธิที่จะแจกเอกสารเพื่อให้ข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อนิสิตได้
 
นายโอภาส กล่าวว่า หากเป็นไปได้ทางกลุ่มต้องการหยุดการรับน้องแบบ SOTUS และต้องการให้มีการรับน้องที่สร้างสรรค์เพื่อให้คนที่เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยออกไปรับใช้สังคมส่วนร่วม ไม่ใช่รับใช้หรือสยบยอมต่ออำนาจตั้งแต่ในมหาวิทยาลัย และที่ผ่านมาแต่ละกลุ่มที่มารวมตัวกันก็มีการทำกิจกรรมเรียนรู้สังคมและชุมชน เช่นการศึกษาข้อมูลโครงการพัฒนาต่างๆ ที่มีอยู่ในท้องถิ่น พานิสิต นักศึกษาไปลงพื้นที่ในกรณีเหมืองโปแตช เหมืองแร่ทองคำ และโรงไฟฟ้า เป็นต้น  
 
สมาชิกกลุ่ม SOTUS WATCH GROUP ให้ข้อมูลด้วยว่า หลังจากที่ทางกลุ่มได้แจกเอกสารไปแล้วในบางส่วน จึงได้ติดตามผลโดยการสอบถามนักศึกษาปี 1 พบว่า มีรุ่นพี่ที่ทำกิจกรรมรับน้องสั่งให้ฉีกเอกสารของทางกลุ่มSOTUS WATCH GROUP ทิ้งด้วย
 
ทั้งนี้ เมื่อปี 2554 กรณีการรับน้องของมหาวิทยาลัยมหาสารคามได้รับความสนใจจากสังคมวงกว้าง เมื่อมีการเผยแพร่คลิปเหตุการณ์การรับน้องที่กลุ่มคนถือป้ายประท้วงการรับน้องว่าเป็นเผด็จการ และมีการตอบโต้จากรุ่นพี่บนเวทีโดยประกาศปลุกกระแสมวลชนขับไล่กลุ่มคนเหล่านั้น พร้อมข่มขู่ว่าห้ามนำคลิปไปเผยแพร่ ซึ่งก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการรับน้องและระบบ SOTUS ขึ้นในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
 
 
 
 
เผด็จการพบได้ในที่แห่งนี้
 
คำ ประโยค แห่งเสรีถูกกล่าวเกลื่อน
แต่... มือ มาร เถื่อน หยิบย้ายบิดเบือนหนี
ความมืดมิด ใบ้บอด ตลอดปฐพี
ไหนชีวีประชา จะได้ลืมตาอ้าปา
ปัญญาชนแดนอีสานที่ใฝ่รู้
จะต่อสู้ความขมขื่นอย่างร่วมมือ
ทั้งติดตามเปิดโปงโหมกระพือ
ว่านี่คือประเพณีกดขี่คน
                           (ชอบสูญ สัญญา 2555)
           
ณ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในภาคอีสาน ได้มีกลุ่มกิจกรรม รวมตัวกันในนามกลุ่มจับตาการรับน้องแบบ SOTUS (SOTUS WATCH GROUP) เพื่อต่อต้านระบบการกดขี่ หรือ ปิดบัง สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคเอาไว้ภายใต้ระบบ SOTUS นักศึกษาปัญญาชนเหล่านี้ เห็นว่า ระบบการรับน้องแบบ SOTUS ได้รับใช้สังคมจารีต ที่ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะสังคมไทยที่ยังคงความไม่เสมอภาคอย่างหนาแน่น และวิธีคิดเช่นนี้ได้ขัดกับอุดมการณ์ของกลุ่ม ทำให้จิตสำนึกทางการเมือง หรือ ความคิดต่อต้านกับความไม่เป็นธรรม ได้เร่งเร้าพวกเขาให้วางแผนเปิดโปงข้อเท็จจริงของหน่ออ่อนเผด็จการในทันที
 
ค่ำคืนของวันที่ 2 พฤษภาคม 2555 สมาชิกของกลุ่มประมาณ 10 คน ได้ติดป้ายรณรงค์ถึงความสำคัญของสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค รวมถึงการรณรงค์เพื่อให้นักศึกษาใหม่ได้รับรู้ถึงระบบ SOTUS ในพื้นที่มหาวิทยาลัย และด้วยถ้อยคำภาษาที่ปะทะกับหน่อความคิดแบบเผด็จการ ทำให้ป้ายรณรงค์ของพวกเขาได้หายไปหลายผืน จึงมีคำกล่าวขึ้นมาในทันที “ว่าแล้วเชียว” “สังคมเผด็จการยังมีอยู่” และหลายคนรู้สึกว่าเปล่าประโยชน์ “อุตส่าห์ลงขันกันซื้อป้าย” เพื่องานรณรงค์ในครั้งนี้
 
ภาพ : การติดป้ายผ้ารณรงค์ในมหาวิทยาลัย
 
ปรากฏการณ์ดังกล่าว ได้สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมแบบเผด็จการอำนาจนิยมที่ใช้อำนาจในการกำจัดความเห็นต่าง ทางกลุ่มจับตาการรับน้องแบบ SOTUS จึงได้ประณามการกระทำเยี่ยงนี้ว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตยโดยไม่คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเป็นการเหยียบย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่พึ่งมีไว้ในสังคม
 
อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่สามารถหาผู้กระทำการรื้อป้ายได้ อีกทั้งยังไม่มีวี่แววว่าจะได้รับป้ายผ้าคืน พวกเขาจึงได้แต่หวังว่าการต่อสู้อย่างต่อเนื่องจะทำให้เผด็จการหายไปจากสังคมนี้เสียที
 
โดย SOTUS WATCH GROUP
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท