Skip to main content
sharethis

เสวนา: "ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค: กรณีจอดำ ฟุตบอลยูโร 2012" กสทช.เผยแผน 5 ข้อ แก้ปัญหาระยะยาว  “จีเอ็มเอ็ม” ขอรัฐบาลส่งจดหมายถึงยูฟ่า เปิดทางเจรจาชี้เป็นวาระชาติ “วรวัจน์” เรียกทุกฝ่ายหาข้อสรุปวันนี้ จ่อชงเป็นคดีพิเศษทางเศรษฐกิจ 

 
 
14 มิ.ย.55 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกับคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ จัดเสวนาโต๊ะกลม เรื่อง “ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค: กรณีจอดำ ฟุตบอลยูโร 2012” ณ โรงแรมเอเชีย โดยเชิญผู้บริหารจาก บริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด เจ้าของลิขสิทธิ์ และบริษัท ทรูวิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) รวมถึงผู้บริหารช่อง 3, 5, 9 ทีวีผ่านดาวเทียม เคเบิลทีวี และเครือข่ายผู้บริโภค ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
 
 
“จอดำยูโร” ประเด็นระดับชาติ ขอรัฐบาลส่งจดหมายถึงยูฟ่า
 
นายเดียว วรตั้งตระกูล กรรมการผู้จัดการสายงาน แพลทฟอร์ม สเตรทิจี้ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด
ชี้แจงกรณีลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2012 ว่า สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) ได้กำหนดช่องทางการถ่ายทอดไว้อย่างชัดเจน ซึ่งตนเองเชื่อว่าเป็นนิยามมุมสากล โดยนิยามช่องฟรีทีวีที่ยูฟ่ากำหนดไว้สรุปได้ว่า สิทธิ์การรับชมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย รับชมอย่างอิสระ ส่วนการรับชมผ่านดาวเทียมเป็นอีกลิขสิทธิ์
 
นายเดียว กล่าวด้วยว่า จีเอ็มเอ็มใช้งบกว่า 400 ล้านบาท เพื่อให้ได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด และเมื่อได้สิทธิ์แล้วก็นำมาบริหารจัดการ หาหุ้นส่วนแต่ละช่องทางตามสิทธิที่ยูฟ่าให้ไว้ ซึ่งการเจรจากับฟรีทีวี เช่น ช่อง 3 , 5 และ 9 ในช่องทางการส่งสัญญาณภาคพื้นดิน และมีการแบ่งรายได้โฆษณา
 
ส่วนการนำเสนอผ่านช่องทางอื่น เช่น ระบบดาวเทียม ที่อาจจะมีการแพร่สัญญาณภาพครอบคลุมไปถึงประเทศอื่นก็จะมีปัญหาเกี่ยวกับสัญญาที่ทำกับยูฟ่าไว้ เพราะได้สิทธิการถ่ายทอดให้รับชมเฉพาะในประเทศไทย ดังนั้น ถ้าหากเกิดปัญหาว่าการรับชมช่องฟรีทีวีผ่านระบบระบบดาวเทียมก็จะต้องมีการให้เข้ารหัสสัญญาณ
 
ต่อกรณีเหตุการณ์จอดำ นายเดียวกล่าวยอมรับว่า ไม่ได้เกิดขึ้นในกรณีนี้เป็นครั้งแรก โดยการถ่ายทอดสดรับชมบอลโลกเมื่อ 2 ปีที่แล้วก็เลยปรากฏจอดำ ซึ่งขณะนั้นระบบการรับชมสัญญาณก็เริ่มใช้ระบบดาวเทียมเช่นกัน หรืออย่างกรณีการถ่ายทอดสดชกมวยของปาเกียวที่ผ่านมาที่สถานีโทรทัศน์ช่อง 7 สีได้ลิขสิทธิ์ การรับชมระบบฟรีทีวีก็รับชมได้ปกติ ส่วนการรับชมทีวีผ่านระบบระบบดาวเทียมก็จะดูได้เฉพาะจานดาวเทียมของ PSI ที่มีข้อตกลงกับช่อง 7 เท่านั้น ส่วนจานดาวเทียมอื่นก็จะจอดำ เช่นเดียวกับการถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกก็มีลิขสิทธิ์เช่นกัน ดังนั้น เรื่องจอดำจึงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ และครั้งนี้ทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันเกี่ยวกับการนิยามช่องทางที่จะได้รับชมสัญญาณตามลิขสิทธิ์
 
กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด กล่าวด้วยว่า ในวันนี้ หลังจากที่ได้เข้าชี้แจงกับทางรัฐสภา ก็ได้แจ้งให้ทางรัฐสภาทำหนังสือที่จะขอดูสัญญาที่จีเอ็มเอ็มทำกับยูฟ่า เพราะปกติสัญญาที่ทำจะต้องเป็นความลับระหว่างธุรกิจไม่สามารถเปิดเผยได้ เพื่อที่ทางจีเอ็มเอ็มจะได้แจ้งให้ยูฟ่าได้รับทราบถึงความจำเป็น และใช้จดหมายจากรัฐสภาในการเจรจาว่าขณะนี้ปัญหานี้ได้กลายเป็นปัญหาระดับชาติ ไม่ได้เป็นปัญหาระดับธุรกิจแล้ว
 
สำหรับจีเอ็มเอ็มเองยินดีที่จะเปิดสัญญา เพราะเชื่อว่าได้ทำทุกอย่างโปร่งใสบนพื้นฐานของข้อตกลงที่เป็นสากล และระหว่างนี้จะหาทางพูดคุยและทำความเข้าใจกับยูฟ่า โดยจะพยายามดำเนินการให้เร็วที่สุด น่าจะมีคำตอบในวันที่ 15 มิ.ย.นี้
 
 
“วรวัจน์” เรียกทุกฝ่ายหาข้อสรุป จ่อชงเป็นคดีพิเศษทางเศรษฐกิจ
 
ทั้งนี้ไทยรัฐออนไลน์ระบุ ในวันที่ 15 มิ.ย.55 นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีที่กำกับดูแล ได้เรียกดูสัญญาระหว่างจีเอ็มเอ็มแซทและยูฟ่า พร้อมเชิญผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ ช่อง 3 5 9 และทีวีดาวเทียมทุกช่องที่ได้ลิขสิทธิ์ เพื่อหาข้อสรุป ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยระบุว่าหากไม่สามารถดำเนินการได้ ต้องใช้ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งมีทั้งความผิดทั้งทางแพ่งและอาญา อีกทั้งมีการเชิญดีเอสไอเข้าร่วมประชุมด้วย เพราะหากมีการฟ้องร้องก็จะส่งเรื่องนี้ให้เป็นคดีพิเศษทางเศรษฐกิจ
 
 
“ผู้บริหารช่อง 3” แนะ “กสทช.” กำหนดเกณฑ์ให้ชัด
 
สำหรับ กรณีสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ซึ่งถือเป็นสถานีฟรีทีวีหลักในการถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร 2012 โดยถ่ายทอดสดทางจำนวน 27 แม็ตช์ จากทั้งหมด 31 แม็ตช์
 
นายประวิทย์ มาลีนนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ผู้ได้รับสัมปทานดำเนินกิจการ สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 กล่าวว่า ในเรื่องเกี่ยวกับการถ่ายทอดสัญญาณฟุตบอลยูโร 2012 ได้ปฏิบัติตามที่จีเอ็มเอ็มระบุ โดยช่อง 3 เสมือนเป็นตัวกลางที่รับจ้างส่งสัญญาณสู่ช่องฟรีทีวีที่ประชาชนจะเข้าถึงได้ ขณะที่กรณีจอดำจากกรณีลิขสิทธิ์ครั้งนี้ไม่ใช่เกิดขึ้นครั้งแรก และเคยเกิดขึ้นมาแล้วในกรณีฟุตบอลยูโรเช่นกัน
 
นายประวิทย์ ระบุว่า ต้นเหตุหรือคนผิดในกรณีที่เกิดขึ้นนี้คือเทคโนโลยีที่พัฒนาไปจนทำให้เกิดสื่อใหม่ๆ ขึ้นมาเป็นทางเลือก เป็นช่องทางใหม่ที่จะรับสัญญาได้ และกลายเป็นธุรกิจขึ้นมา ส่วนเจ้าของลิขสิทธิ์ก็มีการจัดหมวดหมู่ฟรีทีวีและทีวีดาวเทียมเพื่อขายลิขสิทธิ์ตามช่องทางนำเสนอ นอกจากนั้น ในกรณีฟรีทีวีที่บริการไม่ดี ไม่ทั่วถึง ภาครัฐแทนที่จะแก้ไขให้ทุกคนสามารถเข้าถึงสัญญาณที่ดีอย่างทั่วถึง กลับสนใจดูแต่ใบอนุญาตและการเก็บสัมปทาน เมื่อช่องทางการบริการใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ลูกค้าฟรีทีวีก็หายไปเรื่อยๆ ตรงนี้เป็นปัญหาของฟรีทีวีมาตลอด
 
ทั้งนี้ในด้านธุรกิจ การดูฟรีทีวีผ่านจานดาวเทียม สร้างความเสียหายให้ฟรีทีวีเพราะคนดูเป็นกลุ่มเดียวกัน อีกทั้งการบริโภคเนื้อหาฟรีทีวีผ่านช่องทางเลือกใหม่นี้เกิดขึ้นโดยที่คนไม่รู้เลยว่ามีเรื่องลิขสิทธิ์อยู่ด้วย
 
นายประวิทย์ กล่าวด้วยว่า อยากให้ประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคเข้าใจกรอบการให้บริการของฟรีทีวี เพราะสัมปทานของฟรีทีวีเป็นในส่วนภาคพื้นดิน และสัญญาสัมปทานก็มีเงื่อนไขชัดเจน โดยมีหน่วยงานของรัฐและ อสมท.ควบคุมอยู่ ว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้
 
อย่างไรก็ตามในส่วนการเข้าถึงข่าวสารของผู้บริโภค นายประวิทย์ เสนอว่า หากจะให้มีการแก้ไขในอนาคต กสทช.ก็ควรกำหนดให้ชัดเจนว่าในการส่งสัญญาณของระบบทีวีดาวเทียมหรือเคเบิ้ลแบบบอกรับสมาชิกจะต้องจัดให้มีช่องสัญญาณของฟรีทีวีเข้าไปอยู่ในอันดับต้นๆ เพื่อให้ประชาชนผู้บริโภคทุกส่วนเข้าถึงทุกรายการ เพราะต้องยอมรับว่าช่องฟรีทีวีในบางพื้นที่ก็มีปัญหาเรื่องการส่งสัญญาณรับชมที่จะไม่ชัดทำให้ผู้บริโภคหันไปพึ่งพาทีวีระบบดาวเทียมหรือเคเบิ้ล
 
ส่วนเรื่องลิขสิทธิ์ของรายการก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องรับในทางธุรกิจว่าจะต้องมีผู้จ่ายเงินเพื่อซื้อลิขสิทธิ์ ซึ่งจุดนี้ต้องพูดคุยกันให้ชัดเจนว่าใครจะต้องเป็นผู้จ่าย หรือภาครัฐจะมีการช่วยสนับสนุนได้บางส่วนหรือไม่ เรื่องลิขสิทธิ์แก้ไขได้ด้วยเงิน
 
 
 
“ฟรีทีวี” ร่วมแจงปัญหา “ลิขสิทธิ์”
 
ด้านตัวแทนของสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 กล่าวว่า การถ่ายทอดฟุตบอลยูโรครั้งนี้ ทางช่อง 5 และ 9 ได้ตัดรายการปกติออกไปเพื่อถ่ายทอดเพียงในส่วนเล็กน้อยที่ช่อง 3 อาจรับผิดชอบได้ไม่ทั่วถึง และในเรื่องลิขสิทธิ์นั้นเป็นสิ่งที่ฟรีทีวีเป็นกังวลและขณะนี้ก็มีคดีฟ้องร้องกันอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น กรณีของเพลงที่ใช้ประกอบในรายการต่างๆ
 
สำหรับกรณีที่ทรูวิชั่นและช่องทีวีดาวเทียม นำสัญญาณของช่อง 5 ไปเผยแพร่ จนทำให้ผู้บริโภคเกิดความเคยชินว่าจานรับสัญญาณดาวเทียมสามารถรับชมรายการฟรีทีวีได้จึงเปลี่ยนจากเสาอากาศแบบก้างปลาและหนวดกุ้ง หันไปใช้จานดาวเทียมนั้น ไม่เคยมีการทำสัญญา มีเพียงการขออนุญาต และที่ให้เพราะต้องการให้ผู้บริโภครับชมอย่างทั่วถึง
 
ตัวแทนของสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 แสดงความเห็นเพิ่ม จากนายประวิทย์ มาลีนนท์ถึงต้นเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยว่า นอกจากเทคโนโลยีแล้วยังมีเรื่องของกฎหมายที่ยังตามไม่ทัน อีกทั้งการที่มีผู้เล่นเยอะ ทั้งผู้ประกอบการ ผู้บริโภค และกรรมาธิการฯ ทำให้ประเด็นถูกขยาย จนบางครั้งหาความจริงกันไม่เจอ
 
ขณะที่นายธนะชัย วงศ์ทองศรี รองกรรมการ ผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท ตัวแทนจากสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 โมเดิร์นไนน์ แสดงความเห็นว่า ปัญหาหลักของกรณีนี้คือเรื่องลิขสิทธิ์ ซึ่งการละเมิดลิขสิทธิ์ก่อให้เกิดผลเสียหายสูง ทั้งนี้รายการหนึ่งๆ ที่ออกอากาศก็มีลิขสิทธิ์ซ้อนกันอยู่และไม่มีกฎหมายใดไปยกเลิกอำนาจลิขสิทธิ์ได้ ทางสถานีจึงระมัดระวังในเรื่องนี้มาก
 
ส่วนฟุตบอลยูโรปีนี้ โมเดิร์นไนท์ทีวีรับถ่ายทอดมา 3 แมช ซึ่งเจ้าของลิขสิทธิ์คือจีเอ็มเอ็มส่งจดหมายมาถึง ระบุให้เปลี่ยนรหัสเข้าสัญญาณไม่ให้มีการถ่ายทอดรายการผ่านทางทรูวิชั่นส์ เว็บไซต์ และรายการดูทีวีย้อนหลัง ตรงนี้ไม่มีผู้ให้บริการช่องไหนอยากละเมิด
 
นายธนะชัย ให้ข้อมูลด้วยว่า โมเดิร์นไนท์ทีวีได้รับใบอนุญาตให้แพร่ภาพทางภาคฟื้นดินเท่านั้น การยิ่งสัญญาณขึ้นดาวเทียมเพื่อส่งต่อให้ลูกข่ายนำไปออกอากาศ ไม่ได้เป็นการออกอากาศทีวีดาวเทียม และสามารถออกอากาศครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 96 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศไทย ทั้งนี้ในส่วนความคมชัดอาจเป็นปัญหามากกว่าในการทำให้ประชาชนบางหันไปใช้บริโภคข่าวสารผ่านช่องทางอื่น
 
 
เสนอทางออก เร่ง “กสทช.” ออกใบอนุญาตทีวีดาวเทียม
 
นายวิชิต เอื้ออารีวรกุล ตัวแทนผู้ประกอบการเคเบิลทีวี กล่าวว่า จานดาวเทียม (KU BAND) ทุกสี ผิดกฎหมาย ไม่มีผู้ประกอบการรายใดได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ แต่ กสทช.เกิดมาช้า และปัจจุบันต้องมารับผิดชอบผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำผิด ทั้งนี้ สิ่งที่ กสทช.ต้องรีบทำเพื่อแก้ปัญหาคือ 1.การออกใบอนุญาตทีวีดาวเทียม 2.การให้ใบอนุญาตจะต้องนำรายการในฟรีทีวีทั้ง 6 ช่องไปด้วย 3.รายการใดออกฟรีทีวีได้ ต้องออกทางเคเบิลทีวีแบบบอกรับสมาชิกด้วย
 
นายวิชิต กล่าวด้วยว่าปัญหาที่เกิดขึ้น ฟุตบอลเอฟเอคัพ เคยเกิดขึ้นมาแล้ว แต่ไม่มีการพูดถึงเพราะเป็นกรณีคนจน แต่วันนี้เป็นเพราะคนรวยดูไม่ได้ จานสีต่างๆ ที่ไม่ได้มีใบอนุญาตพยายามออกมาโวยวายเรื่องนี้ ทั้งที่ควรกลับไปทำตัวให้ถูกกฎหมายก่อน ส่วนลิขสิทธิ์มีการไปประมูลซื้อเสียเงินมาก กสทช.ควรต้องออกกฎแยกประเภทลิขสิทธิ์ที่ยอมให้ซื้อเอ็กซ์คูลซีฟหรือกรณีที่เป็นเอกสิทธิ์เฉพาะออกมาให้ชัดเจน
 
นายสมพันธ์ จารุมิลิน รองประธานกรรมการบริษัท ทรูวิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ร่วมแสดงความเห็นว่า หากจะให้มีการส่งสัญญาณผ่านระบบดาวเทียมโดยต้องเข้ารหัสเพื่อป้องกันไม่ให้มีการถ่ายทอดสัญญาณออกไปนอกประเทศ ทางทรูวิชั่นส์ยืนยันว่าสามารถทำได้ ขณะที่ในการให้บริการผู้บริโภคของทรูวิชั่นส์เองมาจากรายการที่ซื้อลิขสิทธิ์มาก็มีจำนวนมาก และทรูวิชั่นส์ก็เคยปล่อยสัญญาณให้กับฟรีทีวี เช่น ช่อง 3 นำไปออกอากาศได้โดยไม่มีการคิดค่าใช้จ่าย ซึ่งค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคก็เป็นในลักษณะบอกรับสมาชิกตามแพ็คเก็จต่างๆ อยู่แล้ว ส่วนค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าลิขสิทธิ์ทางทรูวิชั่นส์เป็นผู้รับผิดชอบเอง
 
 
หนุน “จีเอ็มเอ็ม” เจรจา “ยูฟ่า” ให้จานดำดูฟุตบอลยูโร
 
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กสทช.ซึ่งดูแลด้านคุ้มครองผู้บริโภค ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารพื้นฐานโดยเฉพาะในส่วนของฟรีทีวี อีกทั้งยังเกี่ยวข้องกับเรื่องลิขสิทธิ์และเทคโนโลยี ซึ่งผลจากการร่วมแสดงความคิดเห็นครั้งนี้ถูกนำไปเสนอต่อที่ประชุมบอร์ด กสทช. ในวันจันทร์ที่ 18 มิ.ย.นี้ เพื่อหาทางออกของทั้งสำหรับเอกชนกับเอกชน เอกชนกับผู้บริโภค รวมทั้งองค์กรกำกับอย่าง กสทช.เอง
 
นางสาวสุภิญญา กล่าวด้วยว่า กสทช.สนับสนุนแนวคิดของคณะกรรมาธิการการสื่อสารและโทรคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ในการหาช่องทางแก้ปัญหาในภาพรวม แม้ยังแก้ไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ คือทำอย่างไรให้ดาวเทียมจานดำดูฟุตบอลยูโร 2012 ได้ โดยขอให้จีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด ไปเจรจากับทางยูฟ่าเจ้าของลิขสิทธิ์ให้ทราบว่าไทยพัฒนาเทคโนโลยีล่าช้า และขณะนี้ประชาชนชมรายการฟรีทีวีผ่านจานดำและระบบดาวเทียมเหมือนเป็นฟรีทีวีไปแล้ว จึงต้องการให้ประชาชนที่ใช้จานดำสามารถชมฟุตบอลยูโรได้ แต่จำกัดโดยการเข้ารหัสให้สามารถรับชมได้เพียงในประเทศไทยเท่านั้น ส่วนกรณีทรูวิชั่นส์ หากแก้ไขปัญหาจอดำไม่ได้ จะนำรายละเอียดไปหารือในที่ประชุมบอร์ด กสทช.ต่อไป
 
นางสาวสุภิญญา กล่าวยอมรับด้วยว่า ในวันนี้ กสทช.ยังไม่สามารถกำกับ หรือออกคำสั่งทางปกครองใดๆ กับทางจีเอ็มเอ็มได้ เพราะบริษัทจีเอ็มเอ็มยังไม่ได้อยู่ในสถานะผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. แต่ต่อไปจะต้องมาขอใบอนุญาต ดังนั้น ตรงนี้จึงเป็นการขอความร่วมมือ เพื่อที่ในอนาคตจะได้นำประเด็นการดูแลคุ้มครองผู้บริโภคมาพิจารณาให้เป็นพิเศษ
 
ทั้งนี้ ในการเสวนาได้เปิดให้มีการเจรจาระหว่างผู้รับสัมปทานการถ่ายทอด คือ ดีทีวี ที่เป็นหนึ่งในผู้รับสัมปทานร่วมกับจีเอ็มเอ็ม กับคู่แข่งทางการค้าอย่างจานดำ พีเอสไอที่แม้เป็นระบบดาวเทียม แต่ไม่บอกรับสมาชิกดั่งเช่นทรูวิชั่นส์ ซึ่งเรื่องนี้ดีทีวียินยอมให้พีเอสไอสามารถถ่ายทอดได้ภายใต้เงื่อนไขตามที่ กสทช.กำหนด เพื่อให้ได้ข้อยุติและเกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภค
 
“ถึงเราทำธุรกิจร่วมกับแกรมมี่ แต่ด้วยตัวดีทีวี เป็นบริษัทลูกของไทยคม เราจึงสนับสนุนทุกจานดาวเทียมให้ดูได้ จึงอยากให้แกรมมี่ ช่วยเหลือตรงนี้ด้วยเพื่อผู้บริโภค” นายธีระยุทธ บุญโชติ ตัวแทนบริษัท ดีทีวี เซอร์วิส จำกัด กล่าว
 
 
“กสทช.” เผยแผน 5 ข้อ ดำเนินการแก้ปัญหาระยะยาว
 
น.ส.สุภิญญา กล่าวด้วยว่า สำหรับในระยะยาว กสทช. มีแผนดำเนินการ 5 ข้อ คือ 1.เรื่องการออกใบอนุญาตผู้ประกอบการทีวีให้เร็วที่สุด โดยทุกค่ายต้องมาอยู่ภายใต้การกำกับของ กสทช. ซึ่งคาดว่าจะสามารถนำเข้าที่ประชุม กสท. ได้ภายใน 1-2 เดือนนี้ 2.การออกกฎระเบียบที่ผู้ประกอบการทีวีต้องปฏิบัติในใบอนุญาตประกอบกิจการฯ 3.ข้อกำหนดเงื่อนไขในใบอนุญาตในการกำหนดข้อห้ามของลิขสิทธิ์รายการถ่ายทอดสดที่เป็นเอกสิทธิ์เฉพาะ (เอ็กซ์คลูซีฟ) 4.ในอนาคตจะต้องมีการหารือกันก่อนการถ่ายทอดสดรายการระดับประเทศหรือระดับโลก เพื่อให้ร่วมกันทำการประมูลในลักษณะความร่วมมือกัน 5.การปรับระบบจากทีวีระบบอะนาล็อคเป็นทีวีระบบดิจิตอล
 


“ประธานสหพันธ์เพื่อผู้บริโภค” หวังปัญหาจบด้วยดี ขู่ใช้ “กฎหมาย” หากยังไม่แก้
 
นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์เพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าการออกมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้เป็นเรื่องสิทธิเป็นเรื่องสิทธิของผู้บริโภค ไม่ใช่มาขอความกรุณา เราต้องการให้มีการแก้ปัญหาการทำตัวเป็นเหมือนนักเลงคุมซอยของกลุ่มธุรกิจ ทั้งนี้ จากเดิมที่ประชาชนสามารถรับชมรายการจากช่องฟรีทีวี 3, 5, 7 และ 9 ซึ่งล้วนได้สัมปทานจากหน่วยงานรัฐ แต่ที่ผ่านมาประชาชนถูกละเลยสิทธิการเข้าถึงข่าวสาร ทำให้ผู้บริโภคต้องไปซื้อจานก็เนื่องจากว่าต้องการดูช่องฟรีทีวีให้ชัดขึ้น ต่อมาธุรกิจได้มีข้อตกลงร่วมกันปิดกั้นช่องทางเหมือนนักเลงคุมซอย ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถรับชมรายการช่องฟรีทีวีได้
 
วันนี้กลายเป็นว่าหากต้องการชมฟุตบอลก็ต้องไปซื้อกล่องเพิ่ม หรือไปหาเสาอากาศก้างปลา หรือหนวดกุ้งมา ซึ่งหากคิดว่าผู้บริโภคจะต้องซื้อกล่องรับสัญญาณราคา 1,500 บาท หรือเสาอากาศแบบก้างปลาราคา 200 บาท 1 ล้านครัวเรือน ใครจะได้รับประโยชน์จากรณีดังกล่าว
 
นางสาวบุญยืน กล่าวตั้งความหวังว่าเรื่องนี้จะจบลงด้วยดี โดยที่ประชาชนสามารถดูในสิ่งที่ควรได้ดูคือฟุตบอลยูโร โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เพิ่ม ทั้งผู้บริหารช่องฟรีทีวีที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ รัฐซึ่งเป็นเจ้าของสัมปทาน และกสทช.ที่ดูแลคลื่นสัญญาณควรต้องร่วมกันแก้ปัญหา หากไม่มีการดำเนินการทางสหพันธ์เพื่อผู้บริโภคก็เตรียมศึกษาช่องทางกฎหมาย ตรงนี้ไม่ต้องการจะข่มขู่แต่ทำจริง นอกจากนั้น ในกรณีการดำเนินธุรกิจโดยไม่ต้องเสียภาษี ไม่ต้องขอใบอนุญาต เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคจะดำเนินการเคลื่อนไหวต่อไป
 
 
“เครือข่ายผู้บริโภค” ระบุ 4 ร้อง ย้ำการรับชมฟรีทีวีเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ สหพันธ์คุ้มครองผู้บริโภค ได้ส่งหนังสือฉบับที่ 2 ไปยัง กสทช. เพื่อให้ กสทช. มีมติเร่งด่วนในการออกคำสั่งบังคับปกครองให้สถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีที่ถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2012 ทั้งช่อง 3, 5 และ 9 ให้มีการแพร่ภาพโดยไม่เลือกปฏิบัติกับทุกครัวเรือน เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค โดยเรียกร้อง 4 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย 1.ต้องการให้ กสทช.ออกมาตรการปกครองบังคับสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีทั้ง 3 ช่องดังกล่าว และให้ กสทช.มีการออกคำสั่งอย่างเร่งด่วน ออกอากาศตามปกติ
 
2.บริษัท จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ไม่ควรผูกขาดหรือกีดกั้นความเป็นสาธารณะของฟรีทีวีในประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยมีประชาชนกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ ที่ไม่ได้ใช้หนวดกุ้งหรือเสาก้างปลา แต่รับชมสถานีโทรทัศน์ผ่านจานดาวเทียม จึงเห็นควรให้ดำเนินการกับบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เช่นกัน แม้จะไม่ใช่ผู้ได้รับใบอนุญาต ไม่ใช่ปรับแต่ ทรูวิชั่นส์ ฝั่งเดียว
 
3.ขอให้ กสทช. พิจารณาการทำหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น บมจ.กสท.โทรคมนาคม ในฐานะให้การช่วยเหลือบริษัท จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ ที่กีดกันหรือบล็อกสัญญาณ เข้าข่ายสมคบการกระทำความผิด และ 4.ให้ กสทช. ดำเนินการกับ ทรูวิชั่นส์ ที่ไม่สามารถทำได้ตามคำโฆษณากล่าวอ้างต่อสมาชิกซึ่งเป็นผู้บริโภค ในการรับชมสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวี
 
ทั้งนี้ ตัวแทนองค์กรผู้บริโภคจะมีการไปติดตามว่าการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หรือ กสท. ในวันที่ 18 มิ.ย.นี้ จะมีการพิจารณาอย่างไร รวมทั้งเตรียมออกมาตรการการบอตคอตหรือไม่สนับสนุนสินค้าของบริษัทจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ต่อไปด้วย
 
 
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net