Skip to main content
sharethis

องค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานจากฮ่องกง พร้อมองค์กรประชาชนประเทศอินโดนีเซีย ลงพื้นที่ชุมชนในเครือข่าย “สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้” ดูการต่อสู้ของเกษตรไร้ที่ดิน เตรียมขยายเครือข่ายข้ามประเด็น หวังผลสู่การต่อรองรัฐ-ทุน

 
 
ปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ความมั่นคงทางอาหาร และแรงงานนอกระบบ กำลังเป็นประเด็นสำคัญระดับชาติที่เกี่ยวโยงกันไปทั่วโลก ความไม่เป็นธรรมในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และการถูกเอารัดเอาเปรียบที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรรายย่อยรวมถึงผู้ใช้แรงงานที่อยู่กันแบบกระจัดกระจายไม่มีการรวมกลุ่ม เหล่านี้คือปัญหาที่เชื่อมร้อยกันเป็นร่างแห ซึ่งหากจะเลือกแก้แต่เพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่งคงทำได้ยาก
 
ศูนย์ข้อมูลแห่งเอเชีย หรือ Asia Monitor Resource Centre (AMRC) ซึ่งเล็งเห็นความสำคัญของการจัดการอย่างเป็นระบบในการแก้ปัญหาได้จัดการประชุมระดับภูมิภาคเอเชียครั้งที่ 2 ในหัวข้อเรื่อง การเจรจาต่อรองแบบรวมหมู่ การทวงพื้นที่ทางการเมือง ผ่านกระบวนการจัดตั้งที่ยั่งยืน เมื่อวันที่ 4-6 ก.ค.55 ณ โรงแรมพาลาซโซ กรุงเทพฯ
 
 
ในการประชุมมีตัวแทนจากเครือข่ายภาคประชาชนและองค์กรชุมชนต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย 7 ประเทศ เข้าร่วม ประกอบด้วย พม่า ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ลาว กัมพูชา อินโดนีเซีย และเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้
 
ต่อเนื่องกัน เมื่อวันที่ 8-9 ก.ค.ที่ผ่านมา ตัวแทนจาก AMRC และตัวแทนจากองค์กรประชาชนประเทศอินโดนีเซียได้ลงพื้นที่ค้างคืนและเรียนรู้การดำรงชีวิตของเกษตรกรผู้ไร้ที่ดินในชุมชนสันติพัฒนา อ.พระแสง และชุมชนไทรงามพัฒนา ชุมชนคลองไทรพัฒนา อ.ชัยบุรี จ.สุราษฏร์ธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ สปก.ที่สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ทำการตรวจสอบยึดคืนมาจากกลุ่มนายทุน และจัดสรรให้ชาวบ้านเข้าไปอยู่อาศัยทำกิน และผลักดันกับภาครัฐจนเข้าสู่นโยบาย “โฉนดชุมชน” นำร่อง 
 
 
การลงพื้นที่ของคณะทำงานในครั้งนี้เพื่อเข้าไปศึกษาการปฏิบัติการยึดพื้นที่ และสภาพความเป็นอยู่ในชุมชนซึ่งประสบปัญหาต่างๆ ทั้งผลกระทบทั้งจากการดำเนินการของภาครัฐ และจากกลุ่มนายทุนผู้ประกอบการ
 
องค์กรประชาชนประเทศอินโดนีเซีย ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงวิธีการต่อสู้ว่า ในอินโดนีเซียสามารถดึงคนทุกกลุ่มทั้งผู้ใช้แรงงานทั้งในภาคอุตสาหกรรมและในภาคเกษตรกรรมให้เป็นพันธะมิตรต่อกันได้ เพื่อสร้างอำนาจทางการต่อรองกับกลุ่มทุนซึ่งเป็นบรรษัทข้ามชาติและภาครัฐ
 
 
จากการแลกเปลี่ยนได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ปัญหาแรงงานหรือกำลังการผลิตกับความไม่เป็นธรรมในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของทุกประเทศมีปัญหาที่เหมือนกัน คือระหว่าง รัฐ - ทุน กับชนชั้นผู้ใช้แรงงาน ซึ่งมีแต่วิธีการรวมตัวกันและจัดตั้งเป็นองค์กรที่เข้มแข็ง ทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายทั้งระดับชุมชน ระดับภูมิภาค และระดับชาติ จึงจะสามารถสร้างพลังในการต่อรองได้
 
สอดคล้องกับสาระสำคัญในการประชุมครั้งที่ผ่านมา ที่ได้พูดถึงความร่วมมือในการจัดตั้งเครือข่ายหรือขบวนการขยายเครือข่ายข้ามประเด็นและภาคส่วน เพื่อสร้างให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนที่ยั่งยืน จากการนำประเด็นระดับชาติมาเชื่อมโยง บุกเบิก ปฏิบัติการ และรณรงค์ ในระดับภูมิภาค ให้สอดคล้องกับความจริง และสามารถนำไปปฏิบัติได้  
 
ทั้งนี้ AMRC เป็นองค์กรพัฒนาเอกชน ก่อตั้งขึ้นในฮ่องกงในปี 1976 ที่เน้นเคลื่อนไหวประเด็นแรงงานเอเชียมาโดยตลอด มีบทบาท เช่น ศูนย์กลางสนับสนุนขบวนการแรงงานอิสระส่งเสริมประชาธิปไตยและหลักการของสิทธิแรงงาน, สิทธิทางเพศและการมีส่วนร่วมของคนงาน ฯลฯ
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net