Skip to main content
sharethis

คลิกที่นี่เพื่อรับชมแบบ HD

ASEAN Weekly สัปดาห์นี้ เริ่มต้นด้วยเรื่องพิพาทเขตแดนทางทะเลระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่เกาะทาเคชิมา หรือด็อกโด ซึ่งญี่ปุ่นประท้วงเกาหลีใต้หลังประธานาธิบดีลี เมียง บักเดินทางไปเยือนเกาะพิพาท ในขณะที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้กำลังใกล้เข้ามา ขณะเดียวกันนักกิจกรรมชาตินิยมจากญี่ปุ่นก็เข้าไปปักธงที่หมู่เกาะเซ็นกากุ หรือหมู่เกาะเตียวหยู ทำให้เกิดการประท้วงต่อต้านญี่ปุ่นอย่างหนักทั่วประเทศจีน 

ขณะเดียวกันทางการพม่ายกเลิกระบบการตรวจเซ็นเซอร์สิ่งพิมพ์ก่อนวางจำหน่ายแล้ว โดยหลังจากนี้สื่อท้องถิ่นสามารถตีพิมพ์ได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านการตรวจสอบจากกองเซ็นเซอร์ของรัฐบาลอีก นับเป็นการสิ้นสุดระบบเซ็นเซอร์สิ่งพิมพ์ที่ดำเนินมากว่า 48 ปี นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1964 นอกจากนี้ติดตามบรรยากาศฉลองวันอีด หรือวันฮารีรายา อันเป็นการฉลองสิ้นสุดการถือศีลอดของชาวมุสลิม โดยที่มาเลเซีย นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นาจิป ราซัก ได้เปิดบ้านให้ประชาชนนับหมื่นคนร่วมอวยพรและฉลองในวันสำคัญของชาวมุสลิมนี้ด้วย

ส่วนช่วงที่สองของรายการ ASEAN Weekly ติดตามบรรยากาศพาเหรดฉลองวันชาติสิงคโปร์ปีที่ 47 เมื่อ 9 ส.ค. และสุนทรพจน์ประจำปีจากนายกรัฐมนตรีชักชวนให้เพิ่มจำนวนประชากร ขณะที่โฆษณาลูกอมยี่ห้อดังก็ออกสปอตโฆษณาเหมือนขานรับนโยบายนี้ด้วยการชักชวนคนสิงคโปร์เพิ่มจำนวนประชากรในช่วงวันชาติ

นอกจากนี้ ASEAN Weekly สัปดาห์นี้จะพาไปค้นหาคำตอบว่ามีเหตุปัจจัยใดที่ทำให้ชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทยอยได้รับเอกราชภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 และทบทวนเส้นทางการได้เอกราชของหลายหลายชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีวันชาติตรงกับเดือนสิงหาคมนี้ ได้แก่ อินโดนีเซีย ซึ่งประกาศเอกราชในวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 1945 เพียง 2 วันหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 มาเลเซีย ซึ่งได้รับเอกราชในวันนี้เมื่อ 65 ปีที่แล้วหรือเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 1957 และสิงคโปร์ซึ่งแยกออกจากมาเลเซียในวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1965

โดยช่วงหนึ่ง ดุลยภาค ปรีชารัชช พิธีกรรายการ นำเสนอว่า ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีวิวัฒนาการของการได้รับเอกราชเนิ่นนาน แต่ไม่ใช่ว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดแล้วจะได้รับเอกราชทั้งหมด แต่ทยอยได้รับเอกราชหลายชาติมาจนถึงปี ค.ศ. 1965 และล่าสุดไม่นานนี้คือติมอร์ตะวันออก ทั้งนี้การแบ่งแยกดินแดน การสร้างรัฐ สร้างชาติจะยังคงเกิดขึ้นเสมอ ประเทศที่ได้รับเอกราชอยู่แล้ว ยังอยู่ในภาวะสร้างรัฐ สร้างชาติ บางประเทศเป็นรัฐชาติ บางประเทศก็ยังเป็นรัฐเฉยๆ บ้างมีแต่ชาติ ไม่มีรัฐ ประเทศไทยแม้จะไม่เคยตกเป็นอาณานิคม มีเอกภาพตามสมควร แต่สภาพการเมืองปัจจุบันก็อาจจะต้องทบทวนภาวะของความเป็นรัฐและความเป็นชาติของตนเช่นกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net