มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ข้อเสนอเรื่องการสถาปนารัฐธรรมนูญประชาธิปไตย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ปมปัญหา

            ปัญหาสำคัญในการแก้ไขเพื่อให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องไม่จำกัดขอบเขตเอาไว้เฉพาะเพียงความขัดแย้ง “ทางการเมือง/เฉพาะหน้า/ระหว่างสี” เท่านั้น เพราะจะทำให้การพิจารณาถึงรัฐธรรมนูญวางอยู่บนปมขัดแย้งทางการเมืองแต่เพียงอย่างเดียวและนำไปสู่ความไม่ไว้วางใจ>>การคัดค้าน>>การต่อต้าน และถึงแม้จะสามารถแก้ไขหรือร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้บังเกิดขึ้นแต่ก็พร้อมที่จะถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงในภายหลังได้โดยไม่ยากลำบาก

            ในด้านหนึ่ง รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีปัญหาอย่างสำคัญทั้งในแง่ของความชอบธรรมของการกำเนิดขึ้น และทั้งในด้านโครงสร้างขององค์กรและสถาบันต่างๆ ที่ไม่สอดคล้องกับหลักการในระบอบประชาธิปไตยที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขปรับปรุง

            แต่สังคมไทยมีปัญหาที่นำมาซึ่งความขัดแย้งอีกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำระหว่างบุคคล การรวมศูนย์อำนาจรัฐ ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงควรเป็นกรอบกติกาในการต่อรองระหว่างกลุ่มต่างๆ ที่ไม่จำกัดเฉพาะปัญหาของโครงสร้างสถาบันการเมืองเท่านั้น อันอาจทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มหรือสีบังเกิดขึ้นอีกครั้ง จึงควรต้องพิจารณารัฐธรรมนูญในฐานะของเครื่องมือในการวางกฎเกณฑ์ที่จะให้แต่ละกลุ่มแต่ละฝ่ายสามารถเข้ามาต่อรองและแข่งขันให้อย่างกว้างขวางและเป็นธรรมมากที่สุดในประเด็นต่างๆ ที่กว้างขวางมากขึ้น และกลายเป็นกติกาในการวางขอบเขตสิทธิเสรีภาพของแต่ละฝ่าย อันจะทำให้รัฐธรรมนูญมีความหมายและมีชีวิตมากขึ้นกว่าเพียงบทบัญญัติที่ไม่มีความสำคัญแต่อย่างใด

ประเด็นที่ควรพิจารณา

            ประเด็นแรก โครงสร้างสถาบันทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ จะต้องถูกปรับให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย โดยทั้งนี้มีสาระสำคัญคือต้องยอมรับอำนาจนำของสถาบันการเมืองจากระบบเลือกตั้ง แต่ต้องมีกระบวนการตรวจสอบและควบคุมการใช้อำนาจในทางการเมืองด้วย

            สำหรับองค์กรอิสระจะต้องปรับโครงสร้างให้มีความสัมพันธ์และความรับผิดต่อประชาชนได้ในการปฏิบัติหน้าที่ของตน เพื่อไม่ให้เกิดการใช้อำนาจไปในทางที่ไม่เป็นธรรมและเอื้อประโยชน์ให้กับเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

            ประเด็นที่สอง การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและชุมชน ต้องยอมรับสิทธิในการปกครองของท้องถิ่นและชุมชนในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เกิดการตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายในแต่ละพื้นที่ โดยต้องยอมรับสิทธิของชุมชนและอำนาจในการจัดการท้องถิ่นของตนเอง อำนาจในการจัดการทรัพยากร และเลือกตั้งผู้นำของตนเองในทุกระดับ ด้วยการยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาคเหลือเพียงราชการส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นเต็มพื้นที่ดังเช่นนานาอารยประเทศทั้งหลาย

            ประเด็นที่สาม สร้างความเท่าเทียมและลดความเลื่อมล้ำในสังคม ความแตกต่างระหว่างบุคคลและกลุ่มต่างๆ เป็นปัญหาที่หยั่งรากลึกลงในสังคมไทยมาอย่างยาวนานโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนตัวเล็กในสังคม และนับวันจะสร้างความขัดแย้งให้เกิดรุนแรงมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการรับรองสิทธิในปัจจัยและความจำเป็นพื้นฐานของบุคคลรวมไปถึงการใช้มาตรการต่างๆ เพื่อนำไปสู่การทำให้เกิดความเท่าเทียมอย่างเป็นธรรมขึ้น

            ประเด็นที่สี่ สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนต้องได้รับการปกป้องโดยกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิจากการถูกละเมิดโดยอำนาจรัฐอย่างฉ้อฉล รวมทั้งต้องสร้างกระบวนการในการควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐอย่างเข้มงวด

            ทั้งนี้เสรีภาพในการแสดงความเห็นต้องได้รับการปกป้องอย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชนต่อสถาบันการเมืองต้องถือเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชน ต้องปราศจากกฎหมายเฉพาะที่ส่งผลต่อการห้ามการวิพากษ์วิจารณ์อย่างชอบธรรม

กระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

          การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นอำนาจอำนาจของรัฐสภาที่สามารถจะกระทำได้ทั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและจารีตประเพณีที่ปฏิบัติกันสืบเนื่องต่อมาในการจัดทำรัฐธรรมนูญหลายฉบับแต่ทั้งนี้ควรเพิ่มหลักการมีส่วนร่วมและอำนาจตัดสินใจของปวงชนเข้าไปในกระบวนการนี้

          หลักการมีส่วนร่วม นำหลักการในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 คือ การทำให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างกว้างให้เกิดขึ้น ทั้งนี้ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการทำให้ประชาชนจะได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ โดยต้องเปิดให้เกิดการมีส่วนอย่างกว้างขวางจากทุกฝ่าย นับตั้งแต่การคัดเลือกบุคคลเข้ามาทำหน้าที่ ขั้นตอนในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ การรับฟังความคิดเห็น    

          หลักอำนาจอธิปไตยของปวงชน ในขั้นตอนของการจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญต้องมีการลงประชามติจากประชาชน โดยในขั้นตอนนี้ต้องเปิดโอกาสให้มีการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ การโต้แย้ง การวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างกว้างขวางก่อนที่จะมีการลงประชามติเกิดขึ้น เพื่อให้เป็นประชามติที่ประชาชนได้ใช้ศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท