Skip to main content
sharethis

 

วงเสวนาชี้ 6 ปีรัฐประหาร เสื่อมศรัทธาฝ่ายที่อ้างว่าก้าวหน้า, ผู้ผ่านยุค รสช., ปัญญาชนชนชั้นกลาง, สถาบันต่างๆ ที่ไม่ผ่านการตรวจสอบ ชี้ในทางกลับกันศรัทธาอำนาจประชาชนโตจากการเรียนรู้โครงสร้างอำนาจเก่าที่เสื่อม และมาพร้อมกับอาการตาสว่าง และความอึมครึม เสนอยกเลิก ม.112 สร้างความโปร่งใส


 

เมื่อวันที่ 19 ก.ย.55 เวลา 13.00 – 17.00 น. ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน  สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) จัดกิจกรรมเสวนา “ย้อนรอยรัฐประหาร 49 ศรัทธาที่เสื่อมคลายภายใต้การเรียนรู้” โดยมีวิทยากรร่วมเสวนาประกอบด้วย นายสมบัติ บุญงามอนงค์ อดีตแกนนำกลุ่มพลเมืองภิวัฒน์ น.ส.จิตรา คชเดช อดีตเลขาธิการสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิงทอฯ นายจรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  ชัยนรินทร์ กุหลาบอ่ำ นักกิจรรมและนายสุพัฒน์ อาษาศรี เลขาธิการ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)

 

สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด อดีตแกนนำกลุ่มพลเมืองภิวัฒน์ ซึ่งเป็นองค์กรสำคัญในการต้านรัฐประหาร กล่าวถึงอินเตอร์เน็ตกับการรัฐประหารว่า

เป็นรัฐประหารครั้งแรกที่มีการไปบล็อคโครงข่ายโครงข่ายทางอินเตอร์เน็ต แต่ก็ยังมีช่องทางอินเตอร์เน็ตเหลืออยู่ อย่างไรก็ตามก็มีการปิดการเมืองอย่างห้องราชดำเนินในพันทิพ หลังจากรัฐประหารได้ไปทำแฟลชม็อบที่สยามพารากอน และได้มีการทำเวปไซต์ 19seb.com จดวันที่ 20 ก.ย.49 มีการเปิดเว็บบอร์ดอภิปรายการเมือง แต่อยู่ได้ไม่ถึง 2 วันก็ถูกบล็อก หลังจากนั้นจึงได้เปิดเป็น 19seb.org และพยายามที่จะเรียกร้องต่อผู้ให้บริการในระหว่างที่มีการพยายามที่จะปิดกั้น

ปรากฏการณ์ทางเทคโนโลยี หลังสลายการชุมนุม พ.ค.53 เสื้อแดงแตกหือ แต่ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจคือคนหนีเข้าเฟสบุ๊ค แทนที่จะเข้าป่าในสมัย 6 ตุลา 19 ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่มีนัยสำคัญ แต่น่าเสียดายที่ขบวนการประชาธิปไตยไม่ถอดบทเรียน ที่จะเห็นว่าอินเตอร์เน็ตเป็นโอกาสในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แม้ อ.ธิดา จะประกาศว่า. Cyber เป็นแนวรบหนึ่ง แต่ก็ไม่มีปฏิบัติการจริง

ปัจจุบันการปิดอินเตอร์เน็ตนี้เรียกแขกหรือคนไม่พอใจเพราะปัจจุบันมีการทำธุรกรรมจำนวนมากผ่านทางนี้ รัฐก็จะชั่งใจทำให้การปิดยากขึ้น

 

รัฐประหารอาจจะจบในเกมส์ระยะสั้น แต่ระยะยาวมันไม่จบ

คิดว่าการไปยื่นดอกไม้มีการจัดตั้งเพื่อหวังผลเรื่องกระแส เพราะไม่กี่วันถัดมาก็มีโพลล์ที่บอกว่าคนกว่า 70 % เห็นด้วยกับการรัฐประหาร จึงอยากให้มีการสอบสวนตรงนี้ เพราะโพลล์ถือเป็นมาร์เก็ตติ้งอย่างหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่สนับสนุนการรัฐประหาร มันน่าสมเพชทีมีชนชั้นกลางและปัญญาชนสายตาสั้นมองเห็นการรัฐประหารจะเป็นทางออกจากปัญหาการเมืองขณะนั้น แต่ในความเป็นจริงรัฐประหารอาจจะจบในเกมส์ระยะสั้น แต่ระยะยาวมันไม่จบ

ควรแก้กฎอัยการศึกว่าห้ามใช้ในกิจการทางการเมือง คณะ รัฐประหารจะได้ไม่มีเครื่องมือ

 

การต้านรัฐประหารทันทีและสืบเนื่อง เป็นเงื่อนไขสำคัญที่รัฐประหารต่อจาก 19 ก.ย. ยังไม่เกิด

คุณูปการของการต้านรัฐประหารทันทีและสืบเนื่องยาวนานมานั้นเป็นเหตุผลที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ รัฐประหารต่อจาก 19 ก.ย. ยังไม่เกิด คณะ รัฐประหารยังหาวิธีการไม่ได้หากประชาชนออกมาต้าน ยังหาวิธีการไม่ได้หากประชาชนออกมาต่อต้านและต่อต้านในทุกรูปแบบ ดังนั้นการคณะ รัฐประหารจึงไม่รู้จะรับมือย่างไรนี่จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การ รัฐประหารไม่เกิด แต่ความพยายาม รัฐประหารก็มีอยู่ตลอดเวลาอยู่ ซึ่งก็ต้องรอปัจจัยสนับสนุน อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่เห็นว่าปัจจัยทางการเมืองจะเป็นเหตุแต่อาจจะมีปัจจัยอื่น

 

ศรัทธาที่หายไปกับคนที่คิดว่าเป็นฝ่ายก้าวหน้า ผู้ที่ผ่านยุค รสช. และปัญญาชนชนชั้นกลาง

รัฐประหารปี 49 สิ่งที่เจ็บปวดคือรุ่นพี่ที่ผ่านรัฐประหาร ยุค รสช. 34, 35 แล้วมาถอดบทเรียนว่าจะไม่มีการปล่อยให้เกิดการรัฐประหารอีก แล้วมีการออกคู่มือต้านการรัฐประหาร นี่เป็นศรัทธาแรกๆที่หายไป อย่างไรก็ตามไม่มีปัญหากับคนไปเป็นพันธมิตร แต่มีปัญหาที่เขายันจุดยืนไม่อยู่ เสียความรู้สึกดีๆกับคนที่คิดว่าเป็นฝ่ายก้าวหน้า แม้เสื่อมศรัทธาแต่ก็ไม่ได้เกลียดชัง

เสียองค์กรประชาธิปไตยไป ซึ่งเป็นองค์กร NGO ที่ทำงานเรื่องประชาธิปไตยคือ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย หรือ ครป. ซึ่งมีเลขาชื่อสุริยะใส กตะศิลา การที่ ครป.ออกแถลงการณ์ต่อท่าทีการรัฐประหารช้า 1 สัปดาห์ และออกมาบอกแปลกๆว่า “ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แต่บอกด้วยว่ามีความเข้าใจที่เกิดการรัฐประหาร” นี่เป็นการทำลายองค์กรเลย ที่มีรากเหง้าการต่อสู้มาตั้งแต่ พ.ค.35

เคยคิดว่าปัญญาชนคือคนที่มีการศึกษา แต่เหตุการณ์รัฐประหารนี้ทำให้ไม่คิดเช่นนั้น ปัญญาชนชนชั้นกลางที่สนับสนุนรัฐประหารครั้งนี้ เนื่องจากชนชั้นนี้ได้รับการปลดปล่อยแล้วตั้งแต่ 14 ตุลา 16 และ พ.ค.35  คนเหล่านี้มีตัวตน แต่กลับไม่เข้าใจการเคลื่อนตัวของรากหญ้า หรืออาจเพราะเข้าใจว่าการแชร์อำนาจอาจทำให้สูญเสียสถานะ การเลือกตั้งครั้งล่าสุดก็ดูถูกคนต่างจังหวัด ทั้งๆที่คนต่างจังหวัดดูจานดำกันแล้ว ทำให้รู้สึกเสียความรู้สึกกับคนที่มีโอกาสในสังคมเหล่านี้

ถ้าเราต่อสู้กับชนชั้นกลางจะใช้ชนชั้นล่างต่อสู้ไม่ได้ เพราะคุยกันคนละภาษา ดังนั้นต้องให้ชนชั้นกลางเข้าปะทะกัน และการปรากฏตัวของคณะนิติราษฎร์ คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 หรือหลังสลายการชุมนุม พ.ค.53 นำไปสู่การปะทะกันทางความคิดในสังคมมากขึ้น ดังนั้นต้องแสวงหารูปแบบของชนชั้นกลางในการเคลื่อนไหว

 

จิตรา คชเดช นักสหภาพแรงงาน อดีตเลขาธิการสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ หนึ่งในองค์กรแรงงานจดทะเบียนทีเข้าร่วมต้านรัฐประหาร กล่าวว่ารัฐประหาร 19 ก.ย.49 มีองค์กรแรงงานรัฐวิสาหกิจบางองค์กรนำดอกไม้ไปแสดงความยินดี ในช่วงรัฐประหารโรงงานไหนที่มีคนงานร่วมต้านรัฐประหารจะมีทหารมาตั้งเต็นท์หน้าโรงงานและมี กอ.รมน. เข้าไปที่โรงงานเพื่อให้ทางโรงงานควบคุมกรรมการสหภาพแรงงาน และในช่วงที่มีการณรงค์รับร่างรัฐธรรมนูญ 50 นั้น ขบวนการกรรมกรแบ่งเป็น 2 ฝ่ายชัดเจน คือฝ่ายรับกับฝ่ายไม่รับ ในฐานะที่อยู่ฝ่ายไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 50 นั้น ช่วงที่มีการรณรงค์แจกเอกสารให้ข้อมูลและการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น พบว่าคนงานในโรงงานต่างๆให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

 

พวกที่ออกมาต้านรัฐประหารถูกทำลายทุกรูปแบบ

หลังจากนั้นในปี 51 คนที่ออกมาต้านรัฐประหารอย่างแข็งขันคนแรกที่โดนจัดการด้วยขบวนการล่าแม่มดคือ นายโชติศักดิ์ อ่อนสูง ซึ่งไม่ยืนร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี จนถูกแจ้งความดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น ภายหลังได้มีการออกเสื้อจำหน่ายรณรงค์และระดมทุนสู้คดีนั้น ได้มีโอกาสสนับสนุนเสื้อดังกล่าวที่มีข้อความ “ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร คิดต่างไม่ใช่อาชญากรรม” แล้วใส่ออกรายการโทรทัศน์ทางช่อง 11 หลังจากนั้นถูกเว็บไซต์ผู้จัดการและเครือข่ายโจมตี จนเป็นเหตุให้นายจ้างฉวยโอกาสเลิกจ้าง ซึ่งขณะนั้นเป็นประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ และคนงานสมาชิกสหภาพแรงงานฯ ในโรงงานก็ได้หยุดงานเพื่อเรียกร้องให้บริษัทรับประธานสหภาพฯกลับเข้าทำงาน เพราะคนงานเชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการทำลายสหภาพแรงงาน และในปี 52 คนงานในส่วนที่มีบทบาทสำคัญกับการต่อสู้ของสหภาพก็ถูกเลิกจ้างจำนวนมาก จึงมองว่านี่เป็นอีกส่วนหนึ่งของกระบวนการฉวยโอกาสในการทำลายสหภาพ ไปพร้อมกับการทำลายฝ่ายต่อต้านรัฐประหารด้วย

ปัจจุบันนี้มองว่าเสื้อที่สกรีนคำว่า “ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร คิดต่างไม่ใช่อาชญากรรม” นั้นถือว่าเป็นคำที่เบามากๆเมื่อเทียบกับเสื้อรณรงค์ในปัจจุบัน ที่มีสามารถมีการเดินขบวนรณรงค์ยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแล้ว

 

รัฐประหาร 49 ทำให้เห็นสิ่งที่เป็นปัญหาต่อประชาธิปไตย

ผลดีของการรัฐประหาร 19 ก.ย.49 นั้นทำให้เห็นสิ่งที่เป็นปัญหาและอุปสรรค์ต่อการพัฒนาประชาธิปไตยมากขึ้น ภาษาของคนเสื้อแดงคือ “ตาสว่าง” ซึ่งยืนยันว่าไม่ใช่แค่นักศึกษา ปัญญาชน ในการออกมาต้านการรัฐประหาร แต่มีกรรมกรออกมาต้านด้วย เพียงแต่ไม่สามารถออกมาแบบเปิดเผยได้มากนักเนื่องจากข้อจำกัดจาก พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ปี 18 ที่ห้ามองค์กรแรงงานที่มีการจดทะเบียน เช่น สหภาพแรงงาน ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เพราะจะถูกเพิกถอนทะเบียนจากนายทะเบียนที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐได้ นอกจากนั้นยังมีข้อจำกัดในการออกมาชุมนุม เพราะต้องทำงาน หากลางานมาก็จะถูกตรวจสอบจากนายจ้าง อย่างไรก็ตามคนงานที่เป็นแถวหน้าในการต้านรัฐประหารเสมอคือคนงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ

 

ศรัทธาที่เสื่อมคลายกับสถาบันต่างๆ ที่ไม่ผ่านการตรวจสอบ

จากการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินถึงได้ทราบกรณีเขายายเที่ยง ที่เกี่ยวเนื่องกับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ รวมทั้งความศรัทธาที่เสื่อคลายนั้นเนื่องจากเราไม่มีกระบวนการตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมาในหลายองค์กรและสถาบันในสังคม ทำให้คนพูดถึงแบบจริงบ้างไม่จริงบ้าง รวมทั้งการโฆษณาชวนเชื่อที่ไม่มีกระบวนการตรวจสอบ ทำให้คนสงสัยเกิดคำถามและศรัทธาที่เสื่อมคลาย

ดังนั้นกระบวนการตรวจสอบในทุกองค์กรและสถาบันจะต้องเกิดขึ้นภายใต้ความโปร่งใส ต้องไม่มีกฎหมายหรืออำนาจที่จะมาคอยปิดปากการตรวจสอบ แต่ตอนนี้กลับมีคนเสนออกกฎหมายห้ามวิจารณ์ศาสนา ซึ่งถือเป็นกระบวนการทำลายการตรวจสอบสาธารณะ

รวมทั้งหากเราไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 ได้ เราก็ยังในผลพวงของการรัฐประหาร 19 ก.ย.49 ต่อไป

 

จรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  กล่าวถึงความศรัทธาที่เสื่อมคลาย 6 ปี หลังจากการรัฐประหาร 19 ก.ย.49 ว่าประกอบด้วย เคยคิดว่าคนมีการศึกษาจะเห็นด้วยกับประชาธิปไตย แต่ความเป็นจริงส่วนหนึ่งกลับไม่เห็นด้วย พวกนี้เห็นว่าประชาชนปกครองตัวเองไม่ได้ ประชาชนยังไม่มีการศึกษา ทั้งๆที่หลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยคืออำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน รวมทั้งบางสิ่งในสังคมที่คนเคยศรัทธาก็ไม่ศรัทธาแล้ว

 

สังคมใช้จุดยืนและอารมณ์เป็นหลัก การแสวงหาสัจธรรมหรือความจริงจึงลำบาก

ทั้ง 2 ฝ่ายในสังคมไทยเราใช้จุดยืนและอารมณ์เป็นหลัก ดังนั้นการแสวงหาสัจธรรมหรือความจริงจึงลำบาก ทั้ง 2 ฝ่ายมักโจมตีอีกฝ่ายว่าโง่ ดังนั้นเราใช้ความคิดเดียวกันกับอีกฝ่ายเลย เหล่านี้มาจากการรัฐประหาร 19 ก.ย.49 และก่อนหน้านั้น ที่เป็นปัจจัยก่อให้เกิดการตัดแบ่งสังคมไทย

 

2 มาตรฐานทำสถาบันยุติธรรมเสื่อม

รวมทั้งความเสื่อมคลายของศรัทธาต่อสถาบันยุติธรรม จากปรากฏการณ์ 2 มาตรฐาน นำไปสู่วิกฤติการณ์ทำให้ศาลเสื่อมอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ความเชื่อถือของประชาชน โดยเฉพาะเสื้อแดง เป็นสิ่งที่ยากมากในการฟื้นกลับคืนมา

 

ชัยนรินทร์ กุหลาบอ่ำ นักกิจรรมและนักจัดรายการวิทยุ กล่าวว่าปรากฏการณ์หลังจากการรัฐประหาร 19 ก.ย.49 นำไปสู่ปรากฏการตาสวางโดยเริ่มจากตาสว่างข้างเดียว จากการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในวันที่ 7 ต.ค.51 และมีผู้เสียชีวิตคือน้องโบว์ หรือ น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ และงานศพ จนกระทั้งอาการตาสว่าง 2 ข้าง จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง เมษา – พ.ค.53

 

ศรัทธาที่เสื่อมคลายมาพร้อมกับอาการตาสว่าง และความอึมครึม

สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดบรรยากาศของความอึมครึมที่จะนำไปสู่ความรุนแรง ดังนั้นจะปลอดจากบรรยากาศเช่นนั้น ต้องปลดล็อคคือยกเลิกมาตรา 112 หรือกฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ บรรยากาศอึมครึมที่จะก่อให้เกิดความรุนแรงเนื่องจากฝ่ายอำมาตย์คิดไปเองว่าฝ่ายประชาธิปไตยจะเล่นงาน ทั้งๆที่ไม่ได้มีการจะเล่นงาน ดังนั้นเมื่อเกิดความอึมครึมและความระแวงอาจจะนำไปสู่การใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามหรือโจมตีฝ่ายประชาธิปไตยด้วยความเข้าใจผิดจากการที่ไม่สามารถแสดงออกหรือแสดงความคิดเห็นได้อย่างตรงไปตรงมาเพราะมีมาตรา 112 อยู่นั้นเอง

 

สุพัฒน์ อาษาศรี เลขาธิการ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) คนล่าสุด กล่าวถึงศรัทธาที่เสื่อคลายในรอบ 6 ปีหลังจากการรัฐประหาร 19 ก.ย.49 ว่า ขณะนี้ความศรัทธาในตัวประชาชนกำลังโตขึ้น แข่งกับศรัทธาเดิมที่ไม่ได้ศรัทธาในตัวประชาชน

 

6 ปีรัฐประหาร ศรัทธาในอำนาจประชาชนโตจากการเรียนรู้โครงสร้างอำนาจเก่า

ศรัทธาโครงสร้างอำนาจเก่าที่ใช้คุมทั้งพรรคการเมือง ศาล ทหารและสื่อมวลชน เมื่อมีขบวนการประชาชนออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยทำให้ศรัทธาในพลังประชาชนเติบโตขึ้นภายใต้การพยายมเข้ามาควบคุมปราบปรามของโครงสร้างอำนาจเก่า จึงนำไปสู่กระบวนการเรียนรู้ของประชาชน เช่น ปรากฏการณ์ของลุงนวมทอง ไพรวัลย์ คนขับรถแท็กซี่ที่ขับรถชนรถถังในวันที่ 30 ก.ย.49 และแขวนคอตายในเดือนถัดมา เพื่อประท้วงการรัฐประหาร เป็นคุณูปการที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ว่าประชาธิปไตยไม่ได้มาจากปากกระบอกปืน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net