ความหมายของการรำลึก 36 ปี 6 ตุลา ปีนี้เราคงไม่ต้องถามว่า “ใครฆ่าเขา หรือเราเห็นคนตาย” อีกแล้ว

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
วันที่ 6 ตุลาคม ปีนี้ นอกจากเป็นวันครบรอบ 36 ปี ของเหตุการณ์นองเลือดในมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ อันเกิดจากอาชญากรรมรัฐ เมื่อปี พ.ศ.2519 แล้ว ยังเป็นวันครบรอบ 12 ปี ของชิ้นงานประติมานุสรณ์ 6 ตุลาด้วย  ประติมากรรมชิ้นนี้สร้างขึ้นมาด้วยน้ำพัก น้ำแรง น้ำใจ และการระดมทุนจากบรรดาผู้ผ่านเหตุการณ์ และมีประสบการณ์ร่วมกันภายใต้คำขวัญการจัดงานรำลึก 20 ปี 6 ตุลา ว่า “ขบวนการนักศึกษาประชาชนเดือนตุลา..กล้าต่อสู้เพื่อสังคมที่ดีงาม” โดยมติเห็นชอบของสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2539 สร้างเสร็จและเปิดก่อนหน้าอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาถึง  2 ปี นั่นหมายความว่าพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ของสามัญชนในรูปของอนุสรณ์สถานนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะสร้างได้ง่ายๆในสังคมไทย
 
ในบันทึกอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิการบดีในขณะนั้น ชื่อว่า “ความรุนแรงและรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519” ถ่ายทอดทุกสิ่งที่สังคมไทยตั้งคำถามกับเหตุการณ์นี้ แจกแจงถึงเจตนาตลอดจนวิธีการของพวกที่รวมตัวกันวางแผนก่ออาชญากรรมรัฐว่า
 
“......... เจตนาที่จะทำลายล้างพลังนักศึกษา และประชาชนที่ใฝ่เสรีภาพนั้นมีอยู่นาน ในการเลือกตั้งเมษายน 2519 ได้มีการปิดประกาศและโฆษณาจากพรรคการเมืองบางพรรคว่า “สังคมนิยมทุกชนิดเป็นคอมมิวนิสต์” และพระกิตติวุฒโฑภิกขุ ยังได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า “การฆ่าคอมมิวนิสต์นั้นไม่เป็นบาป”  ในกันยายน–ตุลาคม 2519  มีผู้กล่าวว่าการฆ่าคนที่มาชุมนุมประท้วงจอมพลถนอม กิตติขจร สัก 30,000 คน ก็เป็นการลงทุนที่ถูก
 
ผู้ที่สูญเสียอำนาจทางการเมืองในเดือนตุลาคม 2516 ได้แก่ทหารและตำรวจบางกลุ่ม  ผู้ที่เกรงว่าในระบบประชาธิปไตยจะสูญเสียอำนาจทางเศรษฐกิจไป  ได้แก่ พวกนายทุนเจ้าของที่ดินบางกลุ่ม และผู้ที่ไม่ประสงค์จะเห็นระบบประชาธิปไตยในประเทศไทย กลุ่มเหล่านี้ได้พยายามอยู่ตลอดเวลาที่จะทำลายล้างพลังต่างๆ ที่เป็นปรปักษ์แก่ตนเองด้วยวิธีต่างๆ ทางวิทยุและโทรทัศน์ ทางหนังสือพิมพ์ ทางใบปลิวโฆษณา ทางลมปากลือกัน ทางบัตรสนเท่ห์ ทางจดหมายซึ่งเป็นบัตรสนเท่ห์ขู่เข็ญต่างๆ และได้ก่อตั้งหน่วยต่างๆ
 
วิธีการของบุคคลกลุ่มเหล่านี้คือ ใช้การปลุกผีคอมมิวนิสต์โดยทั่วไป ถ้าไม่ชอบใครก็ป้ายว่าเป็นคอมมิวนิสต์  แม้ แต่นายกรัฐมนตรีคึกฤทธิ์ หรือเสนีย์ หรือพระราชาคณะบางรูปก็ไม่เว้นจากการถูกป้ายสี อีกวิธีหนึ่งคือการอ้างถึงชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นเครื่องมือในการป้ายสี ถ้าใครเป็นปรปักษ์ก็แปลว่าไม่รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ….”
 
ความขัดแย้งทางการเมืองในระหว่างกลุ่มพลังก้าวหน้า ที่มุ่งให้มีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างกับพลังอนุรักษ์นิยมทางการเมือง   ลงเอยด้วยการก่ออาชญากรรมรัฐ  ในวันที่ 6 ตุลา 2519   เพียง 3 ปี จากเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516   ความทรงจำที่พร่ามัวบวกกับความหมายของการตายที่ถูกบิดเบือนไปทำให้บันทึกประวัติศาสตร์ 6 ตุลา และเจตนารมณ์ 6 ตุลา ต้องผิดเพี้ยนไปจากความจริง วันนี้สังคมไทยยังคงซึมซับกับประสบการณ์เดิมๆ เรื่องราวเดิมๆ การคุกคาม ปราบปราม เข่นฆ่า และอาชญากรรมของรัฐ ซึ่งดูรุนแรงยิ่งกว่า
 
แต่ขณะเดียวกันประชาชนก็มีความตื่นตัว แจ่มชัด ยิ่งขึ้น ตาสว่างมากขึ้น มีการกระจายตัวอยู่ในทุกจังหวัด ไม่ได้รวมศูนย์เฉพาะในกรุงเทพฯ  การสื่อสารต่างๆจึงไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงฝ่ายกุมอำนาจ แม้จะมีความพยายามปิดสื่อทุกทาง ทั้งโทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ เว็บไซต์
 
ความหมายของการรำลึก 36 ปี 6 ตุลา  ปีนี้เราคงจะไม่ต้องถามหาว่า “...ใครฆ่าเขา หรือเราเห็นคนตาย ” อีกแล้ว  ความจริงคำถามเหล่านี้เราตอบได้เพราะฆาตกรในเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลา 2519 กับ เมษา-พฤษภามหาโหด 2553 ก็ไม่ได้ต่างกันเลย   ขบวนการประชาชน ซึ่งรวมคนชนบทและคนในกรุงเทพฯ จำนวนมากเป็นประวัติการณ์ ยิ่งใหญ่กว่าการต่อสู้ 14 ตุลา และการต่อสู้ในเดือนพฤษภาปี 2535 มีการสั่งสมบทเรียน และก่อตัวเป็นอุดมการณ์ การขับเคลื่อนใหม่ๆ 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท