Skip to main content
sharethis

‘เพียรพร’ ปาฐกโกมลคีมทอง ประจำปี 2556 เผยบริษัทจีนเดินหน้าส่งออกเทคโนโลยีเขื่อน สร้างเขื่อนใหญ่กว่า 300 แห่งใน 72 ประเทศ พบในพม่ามีเขื่อนจีนถึง 51 โครงการ ส่วนนักลงทุนไทยคิดแค่เรื่องตักตวงผลประโยชน์ เสนอร่วมกันสร้างกติกาการลงทุนข้ามพรมแดนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม

 
ณ ขณะก้าวที่ทุนระดับชาติกลายเป็นทุนข้ามชาติ เขื่อนระดับชาติผันตัวไปเป็นเขื่อนข้ามพรมแดน และการลงทุนข้ามพรมแดนเป็นสิ่งที่ยอมรับกันในสังคมโลก แต่ในอีกด้านหนึ่งผลกระทบข้ามพรมแดนก็กำลังเป็นหายนะที่ผู้คนในภูมิภาคนี้ต้องเผชิญ คำถามสำคัญคือเราทุกคนจะอยู่ร่วมและปรับตัวรับกับกระแสโลกนี้อย่างไร
 
สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นนี้น่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่มูลนิธิโกมลคีมทอง เลือกให้ เพียรพร ดีเทศน์ ผู้ประสานงานการรณรงค์ประเทศไทย องค์การแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) เป็นปาฐกโกมลคีมทอง ประจำปี 2556 ครั้งที่ 39
 
เพียรพร ดีเทศน์ ปาฐกโกมลคีมทอง ประจำปี 2556 ครั้งที่ 39 ภาพโดย: เสกสรร โรจนเมธากุล
 
“นักกิจกรรมที่มีรากเง้าจากรากหญ้าแต่ทำงานในระดับโลก” คือคำกล่าวแนะนำ ‘เพียรพร’ ของพิภพ อุดมอิทธิพงศ์ กรรมการมูลนิธิโกมลคีมทอง ก่อนที่หญิงสาวผู้นี้จะมาบอกเล่าถึงแนวทางอุดมการณ์เพื่อสังคม และการทำงานในระดับนานาชาติที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงไป
 
ทั้งนี้ เพียรพร เรียนรู้การทำงานเพื่อสังคมจากการติดตาม ‘เตือนใจ ดีเทศ’ หรือ ‘ครูแดง’ ผู้เป็นแม่ตั้งแต่ยังเด็กในพื้นที่บนดอยสูง ต่อมาจึงเข้าสู่แวดวงการทำงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะการศึกษาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ล่าสุดคือโครงการเขื่อนไซยะบุรีที่จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาและการดำรงชีวิตของประชาชนในลุ่มน้ำโขง
 

สถานการณ์รอบบ้าน บริบทในภูมิภาคอุษาคเนย์

เพียรพร กล่าวปาฐกถา “เขื่อนข้ามพรมแดน ทุนข้ามชาติ คำถามถึงธรรมาภิบาลในอุษาคเนย์” ในงานปาฐกถามูลนิธิโกมลคีมทอง ประจำปี 2556 ครั้งที่ 39 เมื่อวันศุกร์ที่ 22 ก.พ.2556 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม กรุงเทพฯ ในตอนหนึ่งว่าด้วยเรื่อง ‘สถานการณ์รอบบ้าน บริบทในภูมิภาค’ ดังนี้ ในยุคที่ประเทศต่างๆ กำลังพยายามเปิดเสรีให้กับทุน รัฐบาลแต่ละประเทศต่างหาช่องทางลดเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนข้ามพรมแดน และเอื้ออำนายทุกวิธีให้เศรษฐกิจเฟื่องฟู
 
ทุนขนาดใหญ่จากประเทศในภูมิภาค ทั้งไทย จีน มาเลย์ ญี่ปุ่น เวียดนาม ต่างมุ่งหน้าสู่โครงการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในประเทศที่ยังเหลือทรัพยากรธรรมชาติอยู่มากล้น เช่น ลาว กัมพูชา พม่า โดยมีการสร้างคำอธิบายให้กับคนในชาติที่เป็นเจ้าของทุนอยู่เสมอว่า “หากเราไม่รีบเข้าไปสร้าง เดี๋ยวจะไม่ทันประเทศอื่น” หรือ “ถ้าเราไม่สร้าง จีนก็สร้างอยู่ดี” พร้อมกับการกระตุ้นให้รัฐบาลแต่ละประเทศสนับสนุนให้นักลงทุนของตัวเองเข้าไปตักตวงผลประโยชน์จากแหล่งทรัพยากรของประเทศเพื่อบ้านอย่างไม่บันยะบันยัง
 
ขณะที่การส่งเสริมความสัมพันธ์ในระดับชาวบ้านที่มีความเป็นพี่เป็นน้องร้อยโยงกันทั้งวิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรมกลับมีการพูดถึงน้อยมาก ชมชนกลุ่มชาติพันธ์ต่างๆ กลายเป็นคนแปลกหน้าที่เราพร้อมจะเข้าไปบดขยี้และแสวงหาประโยชน์ ความสัมพันธ์ของพี่น้องในภูมิภาคอุษาคเนย์ถูกแบ่งแยกไปตามเขตแดนของรัฐสมัยใหม่
 
โครงการขนาดใหญ่หลายโครงการที่รัฐบาลเจ้าของประเทศสนับสนุนให้นักธุรกิจต่างชาติเข้าไปลงทุนไม่เคยมีการให้ข้อมูล สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนในท้องถิ่นว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา นักลงทุนที่เข้าไปส่วนใหญ่ก็เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้มากที่สุด ได้กำไรสูงสุด ขาดหัวใจและความรู้สึกของความเป็นพี่เป็นน้องและมนุษย์ในสังคม หวังตักตวงกันโดยไม่ได้คิดถึงปัญหาต่อเนื่องที่ท้ายที่สุดเราเองก็หนีไม่พ้นที่ต้องได้รับผลกระทบไปด้วย เพราะพรมแดนแห่งรัฐชาติไม่สามารถกั้นผลกระทบข้ามพรมแดน ทั้งด้านระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ สังคม รวมทั้งเศรษฐกิจได้
 
สิ่งที่น่ากังวลที่สุด คือภูมิภาคนี้กำลังจะเต็มไปด้วยโครงการขนาดใหญ่ที่ชื่อว่า ‘เขื่อน’ ทั้งๆ ที่ 2 ทศวรรษที่ผ่านมาเขื่อนในฐานะสัญลักษณ์แห่งการพัฒนาถูกตั้งคำถามอย่างกว้างขวางถึงต้นทุนที่แท้จริง ขบวนการผู้เดือดร้อนจากเขื่อนได้เคลื่อนไหวเป็นเครือข่ายกันในระดับโลก จนเป็นที่มาของการศึกษาแง่มุมต่างๆ ของเขื่อน
 
คณะกรรมการเขื่อนโลก (The World Commission on Dams: WCD) ซึ่งศึกษาเขื่อนทั้งหมดกว่า 1,000 แห่ง ใน 79 ประเทศ ระบุว่า แม้เขื่อนได้สร้างประโยชน์สำคัญต่อการพัฒนา แต่มีกรณีมากมายที่ชี้ให้เห็นว่าผลประโยชน์เหล่านี้แลกมาด้วยต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมมหาศาล
 
การสร้างเขื่อนทำให้ประชาชนต้องถูกอพยพ โดยเฉพาะชุมชนที่อาศัยท้ายน้ำ ซึ่งพบว่ามีคนทั่วโลกกว่า 40-60 ล้านคน ถูกอพยพออกจากพื้นที่เพื่อการสร้างเขื่อน พวกเขาต้องเผชิญกับชีวิตที่ยากลำบากกว่าเดิม หลายพื้นที่พบว่าเขื่อนนำมาซึ่งการทำลายระบบนิเวศ พันธุ์พืชและสัตว์ซึ่งเป็นความเสียหายที่เรียกกลับคืนไม่ได้
 
ขณะเดียวกันเขื่อนที่สร้างมักให้ประโยชน์น้อยกว่าที่โฆษณาไว้ ผลิตไฟฟ้าได้น้อยกว่าที่บอก ส่งน้ำให้แก่พื้นที่ชลประทานได้น้อยกว่า และหลายกรณีไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้อย่างที่กล่าวอ้าง
 
เขื่อนขนาดใหญ่ที่มีกว่า 45,000 แห่งทั่วโลก วันนี้เป็นเพียงเทคโนโลยีที่ล้าหลัง มีต้นทุนสูง ขณะที่ทางเลือกการจัดการพลังงานและน้ำที่มีประสิทธิภาพ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนท้องถิ่น มีอยู่มากมายแต่มักไม่ถูกเลือกมาพัฒนา

คณะกรรมการเขื่อนโลกจึงมีข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อนำไปปฏิบัติในโครงการเขื่อน ข้อที่สำคัญมากคือ การพิจารณาทางเลือกอย่างรอบด้าน เริ่มจากเราต้องการอะไร น้ำหรือไฟฟ้า ทางเลือกอะไรบ้างที่จะตอบความต้องการได้ หากต้องการไฟฟ้า เรามีโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก มีระบบพลังงานแบบไม่รวมศูนย์ มีพลังงานทางเลือก ซึ่งเขื่อนขนาดใหญ่ก็เป็นหนึ่งในทางเลือกเหล่านั้น ต่อมาก็พิจารณาต้นทุนว่าวิธีใดที่จะได้ไฟฟ้ามาโดยคุ้มค่าที่สุด โดยพิจารณาทั้งต้นทุนด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเขื่อนขนาดใหญ่อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด
 
สำหรับประเทศไทย การจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดปริมาณการใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมและพาณิชย์เป็นทางเลือกที่ราคาถูกที่สุด แต่กลับไม่ได้รับการพัฒนาจากฝ่านโยบาย ตัวอย่างวิธีเหล่านี้เช่น การอุดหนุนและจูงใจให้ภาคอุตสาหกรรมเดินเครื่องการผลิตในช่วงดึกที่ประชาชนและอาคารต่างๆ ไม่ใช้ไฟฟ้าแล้ว
 
สิ่งสำคัญคือ การตระหนักว่าเรามีทรัพยากรจำกัด เราไม่สามารถสร้างเขื่อน สร้างโรงไฟฟ้าสนองการพัฒนาอย่างไม่สิ้นสุด เรายังมีลูกหลานที่ต้องเติบโตบนโลกใบนี้ต่อๆ ไป เราเป็นเพียงผู้อาศัยบนโลกใบนี้ชั่วครู่ชั่วยามหนึ่งเท่านั้น ทำอย่างไรจึงจะส่งต่อทรัพยากรให้ลูกหลานได้ใช้ประโยชน์ต่อไปอีก
 
ข้อเสนอทางยุทธศาสตร์อีกข้อหนึ่งของคณะกรรมการเขื่อนโลกคือ การได้รับการยอมรับจากสาธารณะ เขื่อนจะไม่สามารถสร้างได้หากปราศจากการยอมรับจากประชาชน โดยเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ดังนั้น ชาวบ้านต้องได้รับข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจ ว่าเขื่อนเป็นอย่างไร สร้างแล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ทั้งด้านดีและด้านลบ เพื่อให้ชาวบ้านมีสิทธิกำหนดอนาคตของตนเอง
 
 
กรณีเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งสร้างกั้นแม่น้ำโขงในแขวงไซยะบุรี ประเทศลาว เป็นเขื่อนแห่งแรกที่สร้างบนแม่น้ำโขงตอนล่าง จากแผนใหญ่ทั้งหมด 12 โครงการ เขื่อนขนาด 1,260 เมกะวัตต์ มูลค่ากว่าแสนล้านนี้ ลงทุนโดยบริษัทสัญชาติไทย เงินกู้มาจากธนาคารพาณิชย์ 6 แห่งของไทย ไฟฟ้า 95 เปอร์เซ็นต์ลงนามรับซื้อโดย กฟผ.เรียกได้ว่าเป็นเขื่อนสัญชาติไทย เพียงแต่ตั้งอยู่ในประเทศลาว
 
ที่ผ่านมา เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ที่อาศัยอยู่ใน จังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ได้เรียกร้องให้หยุดโครงการเขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนบนแม่น้ำโขงตอนล่างทั้งหมด นั่นไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่ต้องการกระแสไฟฟ้า หรือต้องการขัดขวางการพัฒนา แต่เนื่องจากหวั่นเกรงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับระบบนิเวศแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นเหมือนสายเลือดที่หล่อเลี้ยงประชาชนกว่า 60 ล้านคน ใน 4 ประเทศลุ่มน้ำโขง
 
การศึกษาหลายชิ้น รวมทั้งรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ ว่าจ้างโดยคณะกรรมการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) และการศึกษาของ World Fish Center (ศูนย์นานาชาติเพื่อการจัดการทรัพยากรสิ่งมีชีวิตทางน้ำ) ระบุว่า การประมงในลุ่มน้ำโขงตอนล่างเป็นการประมงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ปลาส่วนใหญ่เป็นปลาอพยพที่อพยพตามลำน้ำในฤดูกาลต่างๆ โดยบางพื้นที่พบว่ามีการอพยพของปลาหนาแน่นถึง 30 ตันต่อชั่วโมง ปริมาณปลาขนาดนี้ไม่สามารถมีบันไดปลา ลิฟต์ปลา หรือทางปลาผ่านใดๆ ที่จะทดแทนได้หากมีเขื่อนกันน้ำโขง
   
ที่น่าสนใจ การศึกษาระบุว่า หากสร้างเขื่อนทั้ง 12 แห่ง ก็จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียง 11 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการในภูมิภาคเท่านั้น แลกกับการเป็นลุ่มน้ำที่มีความสมบูรณ์เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากลุ่มน้ำอเมซอน ขณะที่มีประชากรมากถึง 2.1 ล้านคน อาศัยอยู่ในระยะ 5 กิโลเมตรจากแม่น้ำโขงที่จะได้รับผลกระทบจากเขื่อนทั้ง 12 แห่ง โดยเฉพาะผลกระทบต่อชีวิต วัฒนธรรม และความเป็นชุมชน ถือได้ว่าเป็นโศกนาฏกรรรมครั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นกับชุมชนลุ่มน้ำโขง     
 

อนาคตที่อยากเห็น

การขยายตัวของทุนข้ามชาติในภูมิภาคนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ บริษัทจากจีนออกไปสร้างเขื่อนขนาดใหญ่กว่า 300 แห่งใน 72 ประเทศทั่วโลก โดยการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐบาลจีน โดยเฉพาะในแอฟริกาและภูมิภาคอุษาคเนย์ ทั้งในพม่า ลาว กัมพูชา จากข้อมูลขององค์การแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) พบว่า ในประเทศพม่ามีเขื่อนที่ลงทุนโดยบริษัทจากจีนถึง 51 โครงการ เพราะในประเทศจีนแทบไม่เหลือแม่น้ำให้สร้างเขื่อนอีกแล้ว ดังนั้นจึงต้องมีการส่งออกเทคโนโลยีนี้ เพื่อให้อุตสาหกรรมเขื่อนยังดำเนินต่อไปได้    
 
ขณะที่โครงการลงทุนของไทยจำนวนมากก็ไม่น้อยหน้า เพราะต้องการเข้าไปจับจองพื้นที่ในฐานะประเทศย่านเดียวกัน โดยไปดำเนินการในประเทศเพื่อนบ้าน และมีทีท่าว่าจะนำไปสู่การสร้างผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อชุมชนท้องถิ่น ทั้งๆ ที่เราเคยมีประสบการณ์อันเจ็บปวดมาแล้วมากมาย แทนที่จะเอาบทเรียนเหล่านั้นเข้าไปส่งเสริมให้ชาวบ้านในประเทศเพื่อนบ้านได้เรียนรู้และมีโอกาสเลือก แต่กลับคิดแค่เรื่องตักตวงผลประโยชน์เพื่อตัวเอง ใช้ช่วงสุญญากาศที่กำลังไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ริเริ่มโครงการใหญ่ต่างๆ
 
รูปแบบของทุนข้ามชาติส่วนใหญ่ที่เข้าไปนั้นน่าสะพรึงกลัว เพราะใช้วิธีการติดสินบนตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น เนื่องจากรู้ดีว่าโครงสร้างการปกครองในประเทศเพื่อนบ้านนั้น ประชาชนในชนบทยังไม่สามารถลุกขึ้นมาต่อรองกับรัฐบาลของตัวเองได้ บางประเทศไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนแม้กระทั่งการคิดหรือการตั้งคำถาม ประชาชนถูกสอนให้เชื่อคณะผู้ปกครองแล้วประเทศจะหลุดพ้นจากความยากจน แต่เป็นที่รับรู้กันอย่างก้าวขวางว่า คณะผู้ปกครองเหล่านั้นทุจริตคอรัปชั่นกันอย่างมโหฬาร
 
สิ่งที่น่ากลัวอีกประการหนึ่งคือ การส่งเสริมการลงทุนข้ามพรมแดน โดยเฉพาะในอาเซียนไม่มีกรอบกติการะดับภูมิภาคที่จะควบคุมผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และสิทธิมนุษยชน
 
CSR (ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร) ของบริษัทต่างๆ ที่เห็น ก็ไม่มากไปกว่าการประชาสัมพันธ์ สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่บริษัท ปลูกป่าชายเลน สร้างส้วมลอยน้ำ สร้างห้องสมุด ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับกระบวนการผลิตและการดำเนินการของบริษัท ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่ภูมิภาคนี้ต้องการอย่างเร่งด่วน คือ ธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจและความรับผิดชอบของบรรษัท
 
 
กรณีโครงการเขื่อนใหญ่อย่างไซยะบุรี โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสาลิกไนต์ในลาว โครงการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึกทวาย และเหมืองถ่านหินเมืองกกในพม่า หรือโครงการโรงไฟฟ้าเกาะกงในกัมพูชา คงไม่สามารถเกิดได้ง่ายๆ หากตั้งอยู่ในประเทศไทย เพราะประชาชนชาวบ้านในพื้นที่คงออกมาเรียกร้องสิทิตามกฎหมายไทย ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม การทำประชาพิจารณ์และการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งมีสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชนที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ
 
อย่างไรก็ตาม กติกาเหล่านี้ไม่มีอยู่ในระดับภูมิภาค ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าประหลาดมาก ทั้งที่ทุกประเทศในอาเซียนต่างพูดถึงความร่วมมือกันมากมาย มีการกำหนดกติกาสารพัดด้าน แต่กลับไม่มีกติกาด้านนี้ ดังนั้น สิ่งที่เราต้องเรียกร้องให้เกิดขึ้นทันทีคือ กติกาภูมิภาคว่าด้วยการลงทุนข้ามพรมแดนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม
 
เพียรพร กล่าวว่าเธออยากเห็น... คนในสังคมไทยมีหัวใจที่ใหญ่ รู้สึกรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติของภูมิภาคนี้เหมือนบ้านของตนเอง อยากเห็นอคติและมายาคติที่เกิดจากความเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ลดน้อยลง
 
อยากเห็น... การเชื่อมร้อยของคนในอุษาคเนย์ที่มีขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมใกล้เคียงกัน ได้อยู่เคียงข้างกัน เดือดเนื้อร้อนใจแทนกันในยามที่ถูกรุกรานจากศัตรูสมัยใหม่
 
อยากเห็น... สภาแม่น้ำโขง สภาแม่น้ำสาละวิน หรือสภาอื่นๆ ซึ่งเป็นองค์กรของประชาชนทุกหมู่เหล่าที่ร่วมกันปกปักรักษาทรัพยากรในท้องถิ่น พร้อมทั้งเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของตนเอง
 
สำหรับคนหนุ่มสาวและงานเพื่อสังคม อยากเห็น... คนหนุ่มสาวเรียนรู้เรื่องราวในสังคม และออกมามีส่วนร่วมในการดูแลภูมิภาคร่วมกัน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นประชาชนที่สนใจและมีส่วนร่วมกับเรื่องราวในสังคม
 
สำหรับเธองานที่ได้ทำร่วมกับเพื่อนร่วมงานและชาวบ้านทำ งานแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาละวินเป็นเพียงฟังเฟืองตัวเล็กๆ ของการทำงานเพื่อรักษาสิทธิและปกป้องทรัพยากร ยังมีคนเล็ก อีกมากมายทั่วโลกทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อจุดหมายเดียวกัน คือ สังคมเป็นธรรม และการกระจายทรัพยากรอย่างเป็นธรรม
 
ยังมีนักอนุรักษ์ชาวเคนยาที่ทำงานกับชุมชนรอบทะเลสาบเทอร์คานาที่กำลังจะเหือดแห้งเพราะเขื่อนที่สร้างในเอธิโอเปีย โดยบริษัทจากจีน ยังมีชนเผ่าพื้นเมืองในป่าอเมซอนที่รณรงค์ปกป้องผืนป่าซึ่งจะถูกน้ำท่วมจากเขื่อนเบโลมองจ์ บนแม่น้ำสาขาของอเมซอน
 
“แม้ยุคสมัยเปลี่ยนไป 28 ปีที่ผ่านมาครูแดงพูดเรื่องหมู่บ้าน (ปาฐกถามูลนิธิโกมลคีมทอง ประจำปี 2528) และตอนนี้ไปไกลกว่าเรื่องหมู่บ้านมากมายแล้ว แต่ถนนที่ครูโกมล คีมทอง สร้างไว้ยังคงเป็นทางให้เราเดินไป ด้วยวิธีการของเราเอง เพื่อให้ชีวิตของเรามีประโยชน์ต่อส่วนรวมมากที่สุด” เพียรพร กล่าวทิ้งท้าย
 
 
 
ทั้งนี้ ภายในงานปาฐกถามูลนิธิโกมลคีมทอง ประจำปี 2556 ครั้งที่ 39 ได้มีการมอบโล่ประกาศบุคคลเกียรติยศมูลนิธิโกมลคีมทอง 4 คน คือ 1.ประยงค์ ดอกลำไย ด้านสิทธิมนุษยชน 2.ณิชชญา น้อยแก้ว ด้านการศึกษา 3.พุทธิพร ลิมปนดุษฎี ด้านสาธารณสุข และ 4.กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
 
นอกจากนั้น พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต ต.ท่ามะไฟหวาน อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ ยังได้มอบทุนสนับสนุนการทำงานของเครือข่ายภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ จำนวน 10 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.ชุมชมโคกอีโด่ย จ.สระแก้ว 2.เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด (คปบ.) 3.สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย
 
4.กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี 5.กลุ่มชาวบ้านอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศลุ่มน้ำชีตอนล่าง 6.กลุ่มฅนรักบ้านเกิด ต.ทุ่งเขาหลวง จ.เลย 7.กลุ่มอนุรักษ์ป่าต้นน้ำท่าแซะ จ.ชุมพร 8.กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเชียงทา จากกรณีเขื่อนโป่งขุนเพชร 9.เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน และศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูนิเวศวัฒนธรรมชุมชนเทือกเขาเพชรบูรณ์ 10.เครือข่ายติดตามผลกระทบโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา
 
###############
 
หมายเหตุ: ปาฐกถา “เขื่อนข้ามพรมแดน ทุนข้ามชาติ คำถามถึงธรรมาภิบาลในอุษาคเนย์” ในงานปาฐกถามูลนิธิโกมลคีมทอง ประจำปี 2556 ครั้งที่ 39 ฉบับเต็มมีการจัดพิมพ์เป็นรูปเล่ม สามารถติดต่อสั่งซื้อได้ที่มูลนิธิโกมลคีมทอง (http://www.komol.com/)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net