ยกฟ้อง ‘คดีเพิกถอนใบอนุญาตโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2’ หลังรอผล 6 ปี-โรงไฟฟ้าเดินเครื่องแล้ว

6 ปีที่รอคอย ศาลปกครองกลางพิพากษาให้ยกฟ้อง คดีฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตสร้างโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 และใบอนุญาตให้โรงไฟฟ้าใช้น้ำจากแม่น้ำป่าสัก จ.สระบุรี ชี้กรมชลประทานอยู่กับข้อเท็จจริงในการบริหารจัดการน้ำ น่าเชื่อถือมากกว่า

 
วันนี้ (27 ก.พ.56) เวลา 9.00 น.ห้องพิจารณาคดีที่ 14 ชั้น 3 ศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษา กรณีชุมชนแก่งคอย ในนามกลุ่มอนุรักษ์แก่งคอยฟ้องให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมเพิกถอนใบอนุญาตสร้างโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 และให้กรมชลประทานเพิกถอนใบอนุญาตให้โรงไฟฟ้าใช้น้ำจากแม่น้ำป่าสัก เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมจากการจัดสรรน้ำให้กับโครงการพลังงาน จนทำให้ภาคการเกษตรขาดแคลนน้ำ รวมทั้งมลพิษที่อาจเกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตของโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 โดยศาลปกครองกลางพิพากษาให้ยกฟ้อง
 
คดีนี้ชาวบ้านแก่งคอยได้มอบให้โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) เป็นผู้แทนในการดำเนินคดีต่อศาลปกครอง ยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 27 มี.ค.2550 ในประเด็นสำคัญ คือ 1.การที่กรมชลประทานออกหนังสืออนุญาตให้โรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 ทำการสูบน้ำจากทางน้ำชลประทานป่าสักชลสิทธิ์ โดยไม่ได้พิจารณาถึงข้อเท็จจริงเรื่องความไม่เพียงพอของน้ำต้นทุนในแม่น้ำป่าสักต่อการสนับสนุนกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในการอนุมัติให้ใช้น้ำของกรมชลประทาน ดังนั้น การออกคำสั่งของกรมชลประทานดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
2.การที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) พิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ด้านโครงการพลังงาน มีมติเห็นชอบ EIA โครงการโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 โดยไม่ได้พิจารณาถึงข้อเท็จจริงเรื่องความไม่เพียงพอของน้ำต้นทุนในแม่น้ำป่าสัก ซึ่งเป็นประเด็นที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ สงสัยและมีข้อห่วงกังวล การออกคำสั่งอนุญาตดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
3.การออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ให้โรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 ประกอบกิจการโรงไฟฟ้า ทำให้ผู้ฟ้องคดีและประชาชนเกิดอันตราย เหตุรำคาญ และความเสียหายทั้งสุขภาพร่างกายและทรัพย์สิน และตั้งอยู่ในทำเลที่ตั้ง สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ขัดกับหลักเกณฑ์ของกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ.2535) ข้อ 4 ออกตามความใน พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 การออกคำสั่งของกรมโรงงานอุตสาหกรรมจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
4.การอนุมัติ อนุญาตให้ดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 ของหน่วยงานรัฐโดยไม่จัดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้มีส่วนได้เสียในขั้นตอนการให้ข้อมูล คำชี้แจงหรือเหตุผลของหน่วยงานรัฐก่อนรับฟังความคิดเห็น และกระบวนการประชาพิจารณ์ อันเป็นสาระสำคัญตามหลักการในรัฐธรรมนูญและระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ย่อมเป็นการออกคำสั่งทางปกครองที่ขาดขั้นตอนและวิธีการที่เป็นสาระสำคัญตามกฎหมาย คำสั่งอนุมัติอนุญาตโครงการดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ ทนายความโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) กล่าวว่า คดีดังกล่าวศาลพิพากษายกฟ้องโดยพิจารณาจากประเด็นหลักเรื่องการอนุมัติให้ใช้น้ำของกรมชลประทานไม่ถูกต้อง ซึ่งชาวบ้านต่อสู้ว่าในพื้นที่มีการขาดแคลนน้ำอยู่แล้ว การอนุญาตให้โรงไฟฟ้าใช้น้ำนั้นยิ่งทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำ โดยอ้างถึงการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ วุฒิสภา แต่ศาลมีความเห็นว่าการอนุญาตให้โรงไฟฟ้าใช้น้ำได้ ไม่ส่งผลกระทบ น่าเชื่อถือกว่า เพราะกรมชลประทานอยู่กับข้อเท็จจริงในการบริหารจัดการน้ำ
 
ส่วนการที่ คชก.พิจารณาเห็นชอบ EIA โครงการโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 และการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานของกรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยไม่ได้พิจารณาถึงข้อเท็จจริงเรื่องความไม่เพียงพอของน้ำต้นทุนในแม่น้ำป่าสัก ทำให้การออกคำสั่งอนุญาตดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้ง 2 ประเด็นนี้จึงตกไปด้วย
 
สงกรานต์ แสดงความเห็นต่อมาว่า คดีนี้แสดงให้เห็นข้อจำกัดของภาคประชาชน จากการที่ศาลเชื่อความเชี่ยวชาญของหน่วยงานรัฐ ขณะที่ประชาชนไม่มีความเชื่อมั่น กลายเป็นปัญหาว่าประชาชนจะเอาเงินที่ไหนมาสู้เพื่อตรวจสอบข้อมูลของหน่วยงานรัฐ อีกทั้งการที่นักวิชาการอิสระจะคัดค้านความเห็นของหน่วยงานรัฐได้ต้องทำให้เห็นข้อมูลอย่างชัดแจ้ง หรือการขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรงนั้นปรากฏชัดเจนต่อสาธารณะแล้ว
 
“ผลการศึกษา 3 เดือน กับการศึกษา 3 ปี ของ EIA คิดแบบคนปกติทั่วไป เราจะเชื่ออะไรมากกว่ากัน” สงกรานต์ยกตัวอย่าง
 
สำหรับข้อเสนอ สงกรานต์กล่าวว่า ในแง่กระบวนการ 1.ศาลควรตั้งคนกลางของศาลมาช่วยในการสืบค้นข้อมูล นอกเหนือจากการพิจารณาข้อมูลของทั้ง 2 ฝ่ายที่ถกเถียงกันอยู่ 2.ตั้งกองทุนเพื่อรองรับภาคประชาชนในการทำวิจัยข้อมูลในเชิงลึกเกี่ยวกับกรณีที่เกิดขึ้น ส่วนการเดินหน้าคดีต่อไปหรือไม่ทีมทนายต้องทำการศึกษาข้อมูลร่วมกับชาวบ้านอีกครั้งหนึ่ง
 
ทั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 ของบริษัทกัลฟ์ พาวเวอร์เจเนอเรชั่น จำกัด ตั้งอยู่ที่ ต.บ้านป่า อ.แก่งคอย จ.สระบุรี เป็นโรงไฟฟ้าก๊าซ ขนาด 1,468 เมกกะวัตต์ ซึ่งใหญ่กว่าโรงไฟฟ้าบ่อนอก 2 เท่า เพื่อชดเชยค่าเสียหายจำนวน 4,000 ล้านบาทที่รัฐบาลต้องจ่ายให้บริษัทกัลฟ์ ที่ต้องย้ายโครงการโรงไฟฟ้ากำลังการผลิต 734 เมกะวัตต์มาจาก ต.บ่อนอก อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีกำหนดต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบตั้งแต่เมื่อเดือนมีนาคม 2550
 
ปัจจุบันโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 หน่วยที่ 1 กำลังผลิต 734 เมกกะวัตถ์ ได้ผลิตกระแสไฟฟ้าส่งเข้าระบบของประเทศแล้วตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2550 ส่วนหน่วยที่ 2 ได้ทดลองเดินเครื่องและพร้อมจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบในวันที่ 1 มีนาคม 2551
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท