Skip to main content
sharethis

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยรายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิตในปี 2555 พบไทยเป็นหนึ่งใน 58 ประเทศทั่วโลกที่ยังคงใช้โทษประหารชีวิต ในขณะที่แนวโน้มทั่วโลกมุ่งสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต




สถานการณ์โทษประหารชีวิตโดยแอมเนสตี้ ประเทศไทย


(10 เม.ย.56) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยแพร่รายงาน “สถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิต ในปี 2555” (Death Sentences and Executions in 2012) ระบุว่า แนวโน้มทั่วโลกมุ่งสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต โดยในปี 2555 มีเพียง 21 ประเทศหรือหนึ่งใน 10 ของประเทศทั่วโลกเท่านั้นที่ยังทำการประหารชีวิต

เมื่อ 35 ปีที่แล้ว มีเพียง 16 ประเทศ ที่ยกเลิกโทษประหารชีวิต แต่ในปัจจุบันมี 140 ประเทศทั่วโลกหรือมากกว่า 2 ใน 3 ของทุกประเทศที่ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติแล้ว นั่นแสดงให้เห็นว่าทัศนคติและความเชื่อดั้งเดิมสามารถเปลี่ยนแปลงได้

อย่างไรก็ตามในปี 2555 ได้เกิดความถดถอยเช่นกัน กล่าวคือมีการรื้อฟื้นการประหารชีวิตในประเทศแกมเบีย อินเดีย ญี่ปุ่น และปากีสถาน รวมทั้งการเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจของการประหารชีวิตตามการรายงานข่าวในอิรัก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง 

สำหรับประชาคมอาเซียนซึ่งประกอบด้วย 10 ประเทศนั้น กัมพูชาและฟิลิปปินส์ ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภท ส่วนลาว พม่า และบรูไน ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ   ส่วนประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์และเวียดนาม ยังคงมีและใช้โทษประหารชีวิตอยู่

สำหรับประเทศไทยในปี 2555 มีบันทึกการตัดสินประหารชีวิตอย่างน้อย 106 คดี และจนถึงสิ้นปี 2555 มีนักโทษประหารชีวิตอยู่กว่า 650 คน โดยกว่าครึ่งเป็นความผิดที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด อย่างไรก็ตามเป็นปีที่ 3 ที่ไม่มีการประหารชีวิตในประเทศไทย

ปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2555 คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติรับรองผลการพิจารณาการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย (UPR) ซึ่งมีขึ้นเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2554 อย่างไรก็ตามทางการไทยปฏิเสธข้อเสนอแนะที่ให้ทบทวนหรือแก้ไขกฎหมายเพื่อให้มีการยกเลิกโทษประหารชีวิต และแม้ว่ารัฐไทยได้แสดงเจตจำนงในแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (2552-2556) ที่จะยกเลิกโทษประหารชีวิต และเปลี่ยนเป็นจำคุกตลอดชีวิตแทน แต่ตลอดทั้งปีที่ผ่านมากลับมีเสียงเรียกร้องให้เร่งการประหารชีวิตในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด รวมทั้งการกดดันที่มาจากหน่วยงานของรัฐบาลด้วย

ปริญญา ระบุว่า ในปี 2555 ประเทศไทยได้ “งดออกเสียง” เป็นปีที่ 2 ต่อมติพักการใช้โทษประหารชีวิตชั่วคราวในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าอีกครั้งหนึ่งเมื่อเทียบกับการลงมติ “คัดค้าน” เมื่อปี 2550 และ 2551 การประชุมครั้งต่อไปในปี 2557 เราคาดหวังว่าประเทศไทยจะลงมติ “เห็นชอบ” รับมติพักการใช้โทษประหารชีวิตชั่วคราวอย่างเป็นทางการ

“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องรัฐบาลไทยให้ดำเนินการตามเจตน์จำนงที่ระบุไว้ในแผนสิทธิมนุษยชน ประกาศพักการใช้โทษประหารชีวิตชั่วคราวอย่างเป็นทางการ รวมทั้งให้สัตยาบันรับรองพิธีสารเลือกรับฉบับที่สองของกติกา ICCPR” ปริญญากล่าว

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลคัดค้านโทษประหารชีวิตทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใด โทษประหารชีวิตละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตและเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของอาชญากรรม

 

โทษประหารปี 2555: ข้อเท็จจริงและตัวเลข

ข้อมูลระดับโลก

  • มีผู้ถูกประหารชีวิตอย่างน้อย 682 คน ใน 21 ประเทศ ในปี 2555 เมื่อปี 2554 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลรายงานว่ามีการประหารชีวิต 680 คน ใน 21 ประเทศทั่วโลก
  • การประหารชีวิตส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่ประเทศจีน อิรัก อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอเมริกา และเยเมน ตามลำดับ
  • จีนประหารชีวิตบุคคลเป็นจำนวนมากกว่าการประหารชีวิตในประเทศที่เหลือในโลกรวมกัน แต่เราไม่ทราบข้อมูลการใช้โทษประหารที่แท้จริงในจีน เพราะทางการถือเป็นความลับทางราชการ และตัวเลข 682 ครั้งนั้นยังไม่รวมถึงการประหารนับพันครั้งที่เกิดขึ้นในจีน
  • ในอิรัก การประหารชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก มีผู้ถูกประหารชีวิตอย่างน้อย 129 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2554 เกือบสองเท่า ที่มีผู้ถูกประหารชีวิต 68 คน
  • ในปี 2555 มีเพียง 21 ประเทศ หรือประมาณหนึ่งในสิบประเทศทั่วโลกที่ประหารชีวิต จำนวนเท่ากับปี 2554 แต่ลดลงประมาณหนึ่งในสี่จากทศวรรษที่ผ่านมา (28 ประเทศมีการประหารชีวิตในปี 2546)
  • 140 ประเทศทั่วโลก หรือมากกว่าสองในสาม ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางกฎหมายหรือทางปฏิบัติ
  • เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 111 ประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติลงมติเห็นชอบมติพักการใช้โทษประหารชีวิตชั่วคราว เป็นครั้งที่สี่
  • มีข้อมูลว่ามีการแปลงโทษหรือการอภัยโทษสำหรับโทษประหารใน 27 ประเทศในปี 2555 ลดลงจาก 33 ประเทศในปี 2554
  • มีคำตัดสินลงโทษประหารชีวิต 1,722 ครั้ง ใน 58 ประเทศ ลดลงจาก 1,923 ครั้ง ใน 63 ประเทศในปี 2554
  • จนถึงปลายปี 2555 มีผู้ต้องโทษประหารอย่างน้อย 23,286 คน
  • ในปี 2555 บางประเทศที่ไม่ได้ใช้โทษประหารชีวิตเป็นเวลานาน กลับมารื้อฟื้นการประหารชีวิตอีกครั้ง เช่น ปากีสถาน (มีการประหารชีวิตครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี) อินเดีย (มีการประหารชีวิตครั้งแรกในรอบกว่า 8 ปี) และ แกมเบีย (มีการประหารชีวิตครั้งแรกในรอบ 3 ทศวรรษ)
  • มีการประหารชีวิตบุคคลอย่างน้อยสองคนในเยเมนสำหรับความผิดที่กระทำตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 18 ปี ซึ่งถือว่าขัดกับกฎบัตรระหว่างประเทศ
  • สำหรับประเทศส่วนใหญ่ในโลกที่มีการประหารชีวิตหรือมีการลงโทษประหาร กระบวนการไต่สวนที่เกิดขึ้นมักไม่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศในการไต่สวนคดีอย่างเป็นธรรม ในบางประเทศ มีการบังคับให้สารภาพโดยใช้การทรมาน หรือการกดดันอย่างอื่น อย่างเช่นในประเทศอัฟกานิสถาน เบลารุส จีน อิหร่าน อิรัก เกาหลีเหนือ ซาอุดิอาระเบีย และไต้หวัน
  • ในประเทศเบลารุสและญี่ปุ่น นักโทษไม่ได้รับแจ้งล่วงหน้าว่าจะมีการประหารชีวิต รวมถึงทนายความและครอบครัวด้วย ในประเทศเบลารุสและบอตสวานาทางการไม่ส่งคืนร่างของนักโทษที่ถูกประหารให้กับครอบครัวเพื่อทำพิธีฝัง
  • ทราบกันว่ามีการประหารชีวิตต่อหน้าสาธารณะในประเทศอิหร่าน เกาหลีเหนือ ซาอุดิอาระเบีย และโซมาเลีย
  • ยังมีการใช้โทษประหารกับความผิดที่ไม่นับเป็น “อาชญากรรมร้ายแรงที่สุด” ซึ่งหมายถึง “การเจตนาฆ่าผู้อื่น” ตามที่นิยามไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น ความผิดที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดในหลายประเทศ ข้อหาการผิดประเวณีและการมีเพศสัมพันธ์วิตถารในอิหร่าน การหมิ่นศาสนา (blasphemy) ในปากีสถาน ความผิดด้านเศรษฐกิจในจีน และ การข่มขืนในซาอุดีอาระเบีย

แอฟริกา

  • มีการประหารชีวิตอย่างน้อย 40 ครั้ง ใน 5 ประเทศในทวีปแอฟริกาส่วนที่ต่ำกว่าทะเลทรายสะฮาราลงมา
  • ในเดือนสิงหาคม ภายในหนึ่งวันมีผู้ถูกประหารชีวิตเก้าคนในแกมเบีย ถือว่าเป็นครั้งแรกในรอบเกือบสามทศวรรษ
  • มีการประหารชีวิตอย่างน้อย 19 ครั้งในซูดาน ในปี 2555 และมีคำตัดสินลงโทษประหารชีวิตอย่างน้อย 199 ครั้ง
  • เบนินให้การรับรองต่ออนุสัญญาของยูเอ็นที่มุ่งยกเลิกโทษประหารชีวิต เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม
  • มาดากัสการ์ ร่วมลงนามในอนุสัญญาดังกล่าวเมื่อวันที่ 24 กันยายน แต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน
  • รัฐบาลกานายอมรับข้อเสนอแนะที่จะยกเลิกโทษประหารชีวิตในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
  • ไม่มีคำตัดสินลงโทษประหารชีวิตในประเทศบูร์กินาฟาโซ มาลาวี หรือเซียร์ราลีโอน และหลังจากการอภัยโทษในเดือนเมษายน ไม่มีนักโทษประหารชีวิตในเซียร์ราลีโอนอีกต่อไป

อเมริกา

  • สหรัฐฯ ยังเป็นประเทศเดียวที่มีการประหารชีวิตในทวีปอเมริกา มีการประหารชีวิต 43 ครั้งในปี 2555 (เท่ากับปี 2554) มีเพียงเก้ารัฐที่มีการประหารชีวิตในปี 2555 เทียบกับ 13 รัฐ ในปี 2554 ในเดือนเมษายน 2555 รัฐคอนเนตติคัตเป็นรัฐลำดับที่ 17 ที่ยกเลิกโทษประหารชีวิต
  • นอกเหนือจากคำตัดสินลงโทษประหารชีวิต 12 ครั้ง ในสี่ประเทศ (บาร์เบโดส กายอานา และตรินิแดดและโตเบโก) ไม่ปรากฎว่ามีการใช้โทษประหารชีวิตในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ รวมถึงในเขตทะเลแคริบเบียน
  • กัวเตมาลามีคำสั่งลดโทษประหาร 53 ครั้ง หลังจากแผนกอาญาของศาลฎีกาพิจารณาคดีของนักโทษประหารใหม่ทั้งหมด

เอเชีย-แปซิฟิก

  • มีการประหารชีวิตอย่างน้อย 38 ครั้ง ใน 8 ประเทศในภูมิภาคนี้ ตัวเลขดังกล่าวไม่นับรวมการประหารชีวิตอีกหลายพันครั้งที่คาดว่าได้เกิดขึ้นในประเทศจีน จีนประหารชีวิตบุคคลเป็นจำนวนมากกว่าการประหารชีวิตในประเทศที่เหลือในโลกรวมกัน แต่เราไม่ทราบข้อมูลการใช้โทษประหารที่แท้จริงในจีน เพราะทางการถือเป็นความลับทางราชการ
  • อินเดีย รื้อฟื้นการประหารชีวิตครั้งแรกในรอบกว่า 8 ปี ในเดือนพฤศจิกายน มือปืนเพียงคนเดียวที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์โจมตีเมืองมุมไบเมื่อปี 2551 ถูกแขวนคอ
  • ปากีสถาน รื้อฟื้นการประหารชีวิตครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี ในขณะที่ อัฟกานิสถานและญี่ปุ่นนำการประหารชีวิตกลับมาใช้อีกครั้งหลังจากพักใช้เป็นเวลา 17 และ 18 เดือน ตามลำดับ
  • เวียดนาม ไม่มีการประหารชีวิตในปี 2555 ในขณะที่ สิงคโปร์ พักการใช้โทษประหารชีวิตชั่วคราวระหว่างพิจารณาแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับโทษประหารชีวิต
  • มองโกเลียให้การรับรองต่ออนุสัญญาของยูเอ็นที่มุ่งยกเลิกโทษประหารชีวิต เมื่อวันที่ 13 มีนาคม

ยุโรปและเอเชียกลาง

  • เบลารุสยังเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคนี้ที่มีการประหารชีวิต และข้อมูลการประหารชีวิตถูกเก็บเป็นความลับอย่างเข้มงวด โดยมีชายอย่างน้อยสามคนที่ถูกประหารในปี 2555
  • ลัตเวียเป็นประเทศลำดับที่ 97 ในโลกที่ยกเลิกโทษประหารสำหรับความผิดทางอาญาทุกประการ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2555

ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ

  • มีการประหารชีวิตอย่างน้อย 557 ครั้ง ในหกประเทศในภูมิภาคนี้ อิหร่าน อิรัก ซาอุดิอาระเบีย และเยเมน ยังคงมีสถิติประหารชีวิตมากถึง 99% ของจำนวนการประหารชีวิตทั้งหมดในภูมิภาค
  • ไม่สามารถยืนยันว่ามีการใช้โทษประหารชีวิตในอียิปต์ หรือ ซีเรีย หรือไม่
  • ในตูนีเซีย มีคำสั่งลดโทษสำหรับนักโทษประหาร 125 คน แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังไม่ได้ตัดโทษประหารชีวิตออกไป

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net