Skip to main content
sharethis

เนื่องในวันรำลึกผู้ถูกอุ้มหายเมื่อ 30 ส.ค. 2567 แอมเนสตี้ฯ ร่วมกับ กสม. กรมคุ้มครองเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม จัดฉายภาพยนตร์ 'ดอยบอย' ที่สะท้อนปัญหาการอุ้มหาย หวังหนังจะเป็นแรงบันดาลใจให้คนตระหนักและพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น 

 

5 ก.ย. 2567 ทีมสื่อ แอมเนสตี้ อินเตอเนชันแนล ประเทศไทย รายงานวันนี้ (5 ก.ย.) สืบเนื่องจากเมื่อ 30 ส.ค. 2567 ถือเป็นวันรำลึกผู้ถูกบังคับสูญหาย ที่โรงภาพยนตร์พารากอน ซีนีเพล็กซ์ สยามพารากอน แอมเนสตี้ อินเตอเนชันแนลฯ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม จัดกิจกรรม “Movies that Matter: ดูหนัง-ฟังเรื่องสิทธิมนุษยชน” ฉายหนังเรื่อง “ดอยบอย” กำกับโดย นนทวัฒน์ นำเบญจพล ผู้กำกับภาพยนตร์

สำหรับภาพยนตร์เรื่อง "ดอยบอย" เป็นผลงานการกำกับของนนทวัฒน์ นำเบญจพล เจ้าของผลงานสารคดีสะท้อนสังคม เช่น "ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง" "สายน้ำติดเชื้อ" "ดินไร้แดน" และอื่นๆ โดยผลงานชิ้นล่าสุดบอกเล่าเรื่องราวของ 'ศร' หนุ่มชาวไทใหญ่ ที่เข้าไปพัวพันกับการอุ้มหายนักกิจกรรมการเมือง รวมทั้งสะท้อนภาพชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ พนักงานบริการ และเจ้าหน้าที่รัฐ ภายใต้โครงสร้างทางสังคมที่ไม่เป็นธรรม

ตั๋วภาพยนตร์ ดอยบอย (ที่มา: แอมเนสตี้ ประเทศไทย)

โดยปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ ประเทศไทย กล่าวก่อนฉายภาพยนตร์ว่า การอุ้มหายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง เพราะไม่เพียงแต่เป็นการละเมิดสิทธิของผู้สูญหายเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบต่อครบอครัวและสังคมวงกว้าง

ผอ.แอมเนสตี้ ประเทศไทย แสดงความกังวลว่า แม้ทุกวันนี้จะมีกฎหมายที่ป้องกันและปราบปรามการอุ้มหายบังคับใช้มาแล้ว 1 ปี แต่ข้อท้าทายคือความเข้าใจของเจ้าหน้าที่รัฐ ในการปฏิบัติหน้าที่ และญาติพี่น้องของครอบครัวของผู้สูญหาย ยังคงแบกรับภาระในการหาหลักฐานเอาผิดผู้กระทำผิดด้วยตัวเองแทนที่จะเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ

ปิยนุช กล่าวทิ้งท้ายว่า หลังจากชมภาพยนตร์ดอยบอย เธออยากให้ผู้ชมได้ตั้งคำถาม และได้แรงบันดาลใจในการสร้างโลกที่ดีกว่าเดิม

ดอยบอย: ภาพยนตร์ที่มีที่มาจากปัญหา 'การถูกอุ้มหาย'

เสวนาหลังหนังจบ นนทวัฒน์ กล่าวถึงที่มาของ ‘ดอยบอย’ ว่าเขาต่อยอดมาจากสารคดี ‘ดินเรื่องไร้แดน’ ซึ่งเป็นเรื่องชาวชาติพันธุ์ ตอนไปทำงานที่เชียงใหม่ เขาเลยสงสัยว่า ทำไมคนไทใหญ่ถึงอยู่กันเยอะ เราไปเชียงใหม่บ่อย แต่ไม่เคยสังเกตเห็นการมีอยู่ของพวกเขา เหมือนเป็นมนุษย์ล่องหนอยู่ในประเทศเรา

“เราใช้เวลาเขียนบท 5-6 ปี แล้วในระหว่างที่พัฒนาบท ก็มีเหตุการณ์ของวันเฉลิม เกิดขึ้น และจริงๆ เป็นเพื่อนกับวันเฉลิมเหมือนกัน ก็ตกใจแล้วก็เสียใจมากๆ แล้วก็อยากเล่าเรื่องนี้ใส่ลงไปในภาพยนตร์เรื่องนี้” นนทวัฒน์ กล่าว  

สำหรับนนทวัฒน์ ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือเป็นการรวบรวมประเด็นที่เขาสนใจในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีหลัง ที่ประเด็นทางสังคมมากมายถูกหยิบยกมาพูดด้วยเสียงของคนรุ่นใหม่ และถูกขับเคลื่อนออกมาเป็นรูปธรรมชัดเจน

นนทวัฒน์ นำเบญจพล (ที่มา: แอมเนสตี้ ประเทศไทย)

'ผมอยากถ่ายทอดเรื่องราวของผู้ถูกอุ้มหาย'

หนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองคือ อวัช รัตนปิณฑะ ผู้รับบทเป็น “ศร” และหนึ่งในผู้เข้าร่วมเสวนา 

อวัช กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เขาเคยตัดสินใจยุติเส้นทางนักแสดง แต่พอได้อ่านบทภาพยนตร์ดอยบอย เขารู้สึกว่าอยากถ่ายทอดเรื่องราวของตัวละคร ‘ศร’ เรื่องการอุ้มหาย เรื่องระบบยุติธรรม กลุ่มชาติพันธุ์ สิทธิและเสียงของมนุษย์ ซึ่งเป็นประเด็นที่เราสนใจ และต่อสู้เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง มีการประท้วง เรารู้สึกว่าเราใช้เสียงของเรามาโดยตลอด ในฐานะนักแสดงได้มาถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้พร้อมกับผู้กำกับที่มีความกล้าหาญที่จะพูดเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา ทำให้เรารู้สึกว่าต้องได้บทนี้ อุทิศตัวเอง เพื่อเปลี่ยนเป็น ศร ในเรื่องดอยบอย

อวัช ได้ลงไปคลุกคลีและใช้ชีวิตกับเพื่อนชาวไทใหญ่ และค้นคว้าเกี่ยวกับชีวิตของพนักงานบริการ เพื่อถ่ายทอดชีวิตของผู้คนเหล่านี้ให้สมจริงที่สุด ในฐานะนักแสดงที่ต้องการทำหน้าที่ของตัวเองในการเป็นกระบอกเสียงของผู้คนที่ไร้อำนาจในสังคม

“ที่ผ่านมา เราในฐานะนักแสดง เมื่อก่อนก็จะถูกบอกว่า อย่าพูดเรื่องการเมือง พูดแล้วเดี๋ยวจะโดนแบน เดี๋ยวไม่มีงาน แต่สุดท้ายวันนี้ผมก็รู้สึกว่า การที่ผมได้มาเล่นหนังเรื่องนี้ ผมทำในฐานะมนุษย์ที่ประกอบอาชีพเป็นนักแสดง และผมเชื่อว่า เรื่องการเมือง เรื่องอุ้มหาย เรื่องสิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องที่เราทุกคน ในฐานะมนุษย์ ไม่ว่าอาชีพอะไร เรามีสิทธิที่จะพูด เราควรมีสิทธิที่จะสร้างสิ่งเหล่านี้ออกมาเป็นเสียงของคน ไม่ว่าจะในรูปแบบใด ในอาชีพใด คุณสามารถจะทำได้” อวัช กล่าว

ทุกคนมีสิทธิที่จะพูด

อาจเรียกได้ว่า ‘ดอยบอย’ หนึ่งในภาพยนตร์ที่บอกเล่าปัญหาการทรมานและการอุ้มหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างตรงไปตรงมา ทั้งยังจุดประกายให้เกิดการพูดคุยถกเถียงกันในสังคมอย่างแพร่หลาย ยิ่งไปกว่านั้น การเผยแพร่ภาพยนตร์ในระบบสตรีมมิงที่กระจายไปทั่วโลก โดยไม่จำเป็นต้องผ่านการเซ็นเซอร์ ยังสร้างพลังให้ภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถไปได้ไกลกว่าเดิม

นนทวัฒน์ กล่าวว่า การลุกฮือของคนรุ่นใหม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการวิจารณ์บางอย่างอย่าง ทำให้เราคิดว่าถึงเวลาทำภาพยนตร์หรืองานศิลปะที่พูดได้อย่างตรงไปตรงมา ไม่ต้องสื่อสารผ่านสัญลักษณ์ ไม่ต้องตีความอะไรมากมาย และผมรู้สึกว่าพอออกฉาย ก็ทำให้ผู้ชมตื่นเต้นและเกิดการถกเถียงมากมายในโลกออนไลน์ แล้วก็ภาพยนตร์หลายๆ เรื่องที่ออกมาหลังจากนั้น ก็พยายามเล่าวิพากษ์วิจารณ์สังคมแบบตรงไปตรงมาเพิ่มมากขึ้น และในทางการตลาด ผู้คนเองก็ชอบหนังที่มันมีการวิพากษ์วิจารณ์สังคมอย่างตรงไปตรงมา เพราะ ‘มันแซ่บกว่า’

ด้านอวัช มองว่า ภาพยนตร์ดอยบอยเป็นเหมือนบันทึกทางประวัติศาสตร์ และเป็นสื่อหนึ่งที่สามารถเข้าถึงคนที่ไม่สนใจประเด็นสิทธิมนุษยชน ให้ ‘ตาสว่าง’ และตระหนักถึงประเด็นนี้มากขึ้น และเขาไม่รู้สึกกลัว หากวันหนึ่งจะถูกผู้มีอำนาจคุกคาม

อวัช รัตนปิณฑะ (ที่มา: แอมเนสตี้ ประเทศไทย)

"ผมก็ทำอาชีพตัวเองอยู่ แล้วก็แค่ถ่ายทอดเรื่องราวที่มันก็มีอยู่จริงในฐานะนักแสดง ทุกคนควรมีสิทธิที่จะพูดในสิ่งที่ตัวเองอยากจะพูด การที่คุณไม่ให้พูด นั่นแปลว่าคุณกำลังใช้อำนาจของคุณในการกดทับให้เสียงของคนที่อยากจะพูดมันไม่มีเสียง มันยิ่งกลายเป็นว่า ยิ่งคุณกด ยิ่งคุณปิด ประชาชนเขายิ่งอยากพูด

"สิ่งที่มันเป็นอดีตมันก็เป็นอดีต ถ้าคุณไม่ปรับตัวเข้าหาปัจจุบัน คุณก็จะค่อยๆ ล่มสลายลงไป เหมือนประโยคที่ตัวละครวุฒิบอก ระบบที่คุณรับใช้ วันหนึ่งมันก็จะหล่นลงมาทับคุณเอง ถ้าคุณไม่เรียนรู้จากมัน เพราะว่าสังคม คน กาลเวลา มันเปลี่ยนไปทุกวัน ถ้าคุณไม่ปรับตัว ไม่เปลี่ยนตัวตาม ทุกอย่างมันก็จะกลับไปที่ตัวคุณ ที่จะอยู่ยากขึ้น" อวัช กล่าว

อุ้มหาย 'วันเฉลิม' เรื่องจริงนอกจอ

"ทำไมคนที่อุ้มตาร์ (วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์) ไม่ใจดีแบบในหนัง" คำพูดแรกของสิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมการเมืองที่ถูกบังคับสูญหายในกัมพูชา เมื่อ พ.ศ. 2563 กล่าวหลังจากภาพยนตร์ดอยบอยจบลง

หลังจากที่น้องชายถูกทำให้หายตัวไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว สิตานัน ปรากฏตัวในสื่อต่างๆ ในฐานะญาติของผู้สูญหาย ที่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม เช่นเดียวกับครอบครัวนักกิจกรรมอีกหลายคนที่สูญเสียสมาชิกในครอบครัวไปอย่างไร้ร่องรอยและไม่ทราบชะตากรรม

"ตั้งแต่วันแรกที่น้องหายไป แล้วเราออกมาเรียกร้อง คนรอบข้างพูดทุกคนว่าระวังจะเจอเหมือนตาร์ ไม่กลัวเหรอ ก็ทบทวนนานเหมือนกัน เราก็มานั่งคิดว่ามีบุคคลถูกอุ้มหายนอกราชอาณาจักรไทย 9 คน แล้วไม่มีการออกมาเรียกร้อง  มันก็เลยเกิดเคสวันเฉลิมขึ้น เราก็เลยไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้กับครอบครัวใครอีก เราก็เลยตัดสินใจว่าเป็นไงเป็นกัน เพราะนั่นก็คือน้องเรา" สิตานัน กล่าว 

สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ (ที่มา: แอมเนสตี้ ประเทศไทย)

ตั้งแต่นั้นมา คนธรรมดาอย่างสิตานัน ได้กลายเป็นหนึ่งในนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญกับการถูกคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเธอในหลายด้าน แต่เธอก็ยืนยันว่าไม่ควรต้องมีใคร "ถูกอุ้ม" เพียงเพราะแสดงออกทางการเมือง

"คนอย่างตาร์มันอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ตาร์มันยอมสละ มันอยากเห็นประเทศไม่เป็นอย่างที่ผ่านมา นั่นคือตาร์ มันเป็นสิ่งที่เรายอมทุ่มทั้งชีวิตเพื่อออกมาเรียกร้องให้น้อง ก็ยังไม่รู้เลยนะว่าความยุติธรรมมันคืออะไรสำหรับเรา แต่เสียดายไหมเวลา 4 ปี เสียอะไรไปเยอะมาก แต่ไม่เสียดาย เพราะเรามีความรู้สึกว่า เราพูดออกไป จะมีคนเกรงและไม่ทำกับใครอีก แล้วเราก็ยังไม่พอแค่นี้ การทำงานของเรา ถึงแม้ว่า 4 ปีมันจะนาน แต่เราอยากให้คนที่สั่งได้รับผลกรรม ไม่ใช่ลอยนวลพ้นผิด" สิตานัน กล่าว

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net