Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

พวกเราชาวสหภาพแรงงานและฝ่ายซ้าย รวมถึงกรรมาชีพธรรมดาๆ ในอังกฤษ รอวันตายของทรราช “แม่มดชั่วแทชเชอร์” อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษมานาน ในวันตายของเขาและวันต่อๆ มา มีการจัดงานฉลองกันในเมืองต่างๆ และในประเทศอื่นเช่นออสเตรเลีย และหลายประเทศของยุโรปเช่นไอร์แลนด์ ก็มีคนที่ดีใจจำนวนมาก นอกจากนี้เพลง “แม่มดชั่วตายแล้ว” จากภาพยนต์เด็กสมัยก่อนขึ้นมาเป็นเพลงยอดนิยมอันดับหนึ่งในอังกฤษ ทำไม?
 
แทชเชอร์ช่วงชิงการนำในพรรคนายทุน(พรรคคอนเซอร์เวทิฟ) หลังจากที่นายกรัฐบมนตรี เอดเวอร์ด ฮีธ จากพรรคเดียวกันพ่ายแพ้การเผชิญหน้ากับสหภาพเหมืองถ่านหินในปี 1972 ก่อนหน้านั้นแทชเชอร์ขึ้นชื่อว่าเป็น “แทชเชอร์ขโมยนมเด็ก” ในขณะที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีการศึกษา เพราะไปตัดนมฟรีที่เด็กอังกฤษเคยได้ในโรงเรียนภายใต้รัฐสวัสดิการ
 
แทชเชอร์เป็นนักการเมืองขวาจัดที่คลั่งกลไกตลาดเสรี เขามองว่าภารกิจอันยิ่งใหญ่ของเขาคือการทำลายอำนาจต่อรองของสหภาพแรงงาน และการทำลายรัฐสวัสดิการ ก่อนที่จะชนะการเลือกตั้งในปี 1979 เขาออกมาปลุกกระแสเหยียดคนต่างชาติ โดยพูดทำนองว่าคนอังกฤษรู้สึกถูกคลื่นคนต่างชาติท่วมบ้านเมือง คำพูดแบบนี้จากนักการเมืองย่อมนำไปสู่การที่คนผิวดำโดนทำร้ายฆ่าตามถนน และทำให้พวกฟาสซิสต์มั่นใจมากขึ้น ผมเองก็เป็น “คนต่างชาติ” ในอังกฤษ เพราะพ่อเป็นคนไทยและผมเกิดที่กรุงเทพฯ
 
แทชเชอร์เป็นนักการเมืองที่คลั่งสงคราม คู่หูหลักของเธอคือประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน ของสหรัฐที่พยายามสร้างสถานการณ์ความขัดแย้งอย่างหนักกับรัสเซีย โดยการเร่งสร้างอาวุธใหม่ๆ ซึ่งเสี่ยงกับการก่อสงครามนิวเคลียร์ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่สหรัฐนำอาวุธนิวเคลียร์รุ่นใหม่มาไว้ในฐานทัพอเมริกาที่อังกฤษ หลายคนจึงมองว่าอังกฤษกลายเป็นแค่เรือบรรทุกเครื่องบินรบของสหรัฐ ผมก็เคยไปประท้วงฐานทัพทหารสหรัฐในยุคนั้น
 
ในปี 1982 เมื่อเผด็จการทหารอาเจนตินา ส่งทหารไปบุกหมู่เกาะมัลวีนาส ใกล้ๆ อาเจนตินา เพื่อปลุกกระแสชาตินิยมและให้ความชอบธรรมกับเผด็จการ แทชเชอร์มองว่า “ยอมไม่ได้” ทั้งๆ ที่อังกฤษขายอาวุธเป็นประจำให้เผด็จการทหารทั่วโลก แทชเชอร์จึงส่งกองทัพไป “กู้” หมู่เกาะที่ชนชั้นปกครองอังกฤษมองว่า “เป็นของอังกฤษ” ทั้งๆ ที่อยู่คนละขั้วโลกกัน ในสงครามครั้งนั้น แทชเชอร์ไม่ยอมเจรจาสันติภาพ และจงใจยิงเรือรบ “เบล์กรานโน” ล่มไปทั้งๆ ที่เรือรบลำนั้นหันหน้ากลับ ไม่ได้มุ่งหน้าไปสู่หมู่เกาะมัลวีนาสอย่างที่แทชเชอร์โกหกในรัฐสภา เมื่อเรือลำนี้จม หนุ่มอาเจนตินาวัย 17 ที่ถูกเกณฑ์เป็นทหาร จมน้ำตายเป็นร้อยๆ และแทชเชอร์ก็แสดงความดีใจ
 
ชนชั้นปกครองอังกฤษไม่เคยแคร์อะไรกับชาวบ้าน “อังกฤษ” ที่อาศัยบนหมู่เกาะเหล่านั้น เพราะทุกวันนี้เขาไม่มีสิทธิเป็นพลเมืองอังกฤษเต็มตัวและไม่มีสิทธิ์ย้ายบ้านมาอยู่อังกฤษ สงครามนั้นทำเพื่อหนุนคะแนนเสียงของแทชเชอร์ และ “พิสูจน์ความยิ่งใหญ่” ของชนชั้นปกครองอังกฤษเท่านั้น
 
เมื่อแทชเชอร์ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เขากับคณะรัฐมนตรีร่วมกันวางแผนเพื่อที่จะเผชิญหน้ากับขบวนการแรงงาน โดยมีความหวังว่าจะตัดค่าจ้างกรรมาชีพอังกฤษถึง 20% เพื่อเพิ่มอัตรากำไรของกลุ่มทุนอังกฤษ มีการสร้างสถานการณ์เพื่อแบ่งแยกและจัดการกับสหภาพแรงงานทีละแห่ง คือยอมบางส่วนไปก่อน และเลือกรบเมื่อมีโอกาส สงครามทางชนชั้นครั้งยิ่งใหญ่เกิดขึ้นในปี 1984 เมื่อแทชเชอร์จงใจประกาศปิดเหมืองแร่ถ่านหินจำนวนมาก ทั้งๆ ที่ยังมีถ่านหินใต้ดินมากมาย ข้ออ้างที่ใช้คือเรื่องของการสร้างกำไรที่ไม่พอ แต่เป้าหมายจริงคือการทำลายสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งที่สุด ในชุมชนเหมืองแร่ทางเหนือ มีการส่งตำรวจเข้าไปยึดครองพื้นที่เสมือนภาวะสงคราม และมีการใช้ตำรวจม้าทำลายการชุมนุมของคนงานด้วยความรุนแรงสุดขั้ว
 
สหภาพเหมืองแร่ต่อสู้ด้วยความอดทนถึงหนึ่งปี และมีนักสหภาพแรงงานอื่นๆ สนับสนุนมากมายทั่วประเทศ ผมเองซึ่งตอนนั้นเป็นผู้แทนสหภาพแรงงานของคนทำงานในห้องแล็บวิทยาศาสตร์ก็มีส่วนร่วมมาแต่แรก ทุกวันเสาร์เราจะไปถือถังพลาสติคเรี่ยรายเงินสำหรับสหภาพเหมืองแร่ในเมืองอ็อกซ์ฟอร์ด และในหมู่เพื่อนร่วมงาน บางวันเราจะตื่นตั้งแต่ตีสามเพื่อไปชุมนุมหน้าโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินใกล้ๆ อ็อกซ์ฟอร์ด และครั้งหนึ่งผมก็ไปเยี่ยมเพื่อนนักสหภาพถ่านหินที่เวลส์ (ภาพสุดท้าย) พวกเขาโทรศัพท์ติดต่อกับผมแต่แรก เมื่อมีการนัดหยุดงาน เพื่อไปตั้งค่ายหน้าโรงไฟฟ้า เพื่อไม่ให้คนขับรถไฟขนถ่านหินเข้าโรงไฟฟ้า
 
ตลอดเวลาที่มีการนัดหยุดงานของสหภาพเหมืองแร่ สื่อกระแสหลักจะโกหกและโจมตีนักสหภาพแรงงานอย่างต่อเนื่อง และพรรคแรงงานซึ่งตอนนั้นเป็นพรรคฝ่ายค้านก็ร่วมโจมตีเช่นกัน เพราะพรรคแรงงานมองว่าต้องเลียก้นแทชเชอร์ เพื่อพิสูจน์ต่อชนชั้นนายทุนว่าพรรคแรงงานจะรับผิดชอบต่อผลประโยชน์กลุ่มทุนเสมอ แทชเชอร์อาจมีชื่อว่าเป็น “สตรีเหล็ก” แต่เธอเกือบแพ้หลายครั้ง และไม่มีวันชนะถ้าพรรคแรงงานกับผู้นำสหภาพแรงงาน “หมูอ้วน” ระดับชาติ ไม่คอยหักหลังผู้ที่ต้องการสู้เพื่อปกป้องการทำงานหรือรัฐสวัสดิการ ทุกวันนี้พรรคแรงงาน ตั้งแต่สมัย โทนี่ แบลร์ ก็ชื่นชมและเลียก้น แทชเชอร์ เมื่อทรราชแทชเชอร์ตายหัวหน้าพรรค เอด มิลิแบน สั่งไม่ให้ สส.คนไหนกล่าวโจมตี
 
ผลของการทำลายสหภาพแรงงานเหมืองแร่คือชุมชนเหมืองแร่ในที่ต่างๆ ที่ไม่มีงานอื่นทำ กลายเป็นชุมชนที่หมดความหวัง หมดงานทำ นอกจากนี้มีการทำลายอุตสาหกรรมเหล็กกล้า มีการปิดโรงงานประกอบรถยนต์รวมถึงที่อ็อกซ์ฟอร์ดด้วย และในท่าเรือซึ่งเคยสู้กันมานานเพื่อให้มีงานถาวรที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรี ก็มีการหมุนนาฬิกากลับสู่ยุคที่จ้างคนแบบรายวัน
 
สภาพการทำงานในอังกฤษทุกวันนี้ยากลำบากกว่าเดิม หลายคนกลัวที่จะลาป่วยเพราะอาจโดนไล่ออก คนรุ่นใหม่บางคนไม่รู้จักสหภาพแรงงาน
 
การพูดซ้ำแล้วซ้ำอีกถึงการที่รัฐบาลต้อง “รักษาวินัยทางการคลัง” เหมือนที่พรรคประชาธิปัตย์ในไทยชอบพูด เป็นนโยบายเสรีนิยมสุดขั้ว ที่หวังบีบเศรษฐกิจอังกฤษเพื่อบังคับให้นายทุนบีบลูกจ้างอีกที แทชเชอร์มองว่ากิจกรรมไหนไม่สร้างกำไรก็ควรกำจัดทิ้ง ซึ่งหมายความว่าคนต้องตกงานยากลำบาก อุตสาหกรรมอังกฤษถูกทำลายไปมาก และเศรษฐกิจอังกฤษมีการหันมาพึ่งพาพวกธนาคารและกิจกรรมไฟแนนส์มากขึ้น ซึ่งในที่สุดช่วยปูทางไปสู่วิกฤษเศรษฐกิจโลกปี 2008
 
แทชเชอร์เป็นหัวหอกของกระแสแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั่วโลก ซึ่งได้แต่สร้างกำไรมหาศาลให้กลุ่มทุนท่ามกลางความยากจนและการขาดเสถียรภาพในชีวิตของประชาชน วิสาหกิจก๊าซ ไฟฟ้า และรถไฟอังกฤษในปัจจุบันเต็มไปด้วยเรื่องอื้อฉาว การกอบโกยกำไร และความไร้ประสิทธิภาพในการบริการประชาชนธรรมดา
 
อย่างไรก็ตาม แทชเชอร์ ไม่สามารถทำลายสหภาพแรงงานไปหมด และรัฐสวัสดิการยังอยู่ สหภาพครู ไปรษณีย์ ข้าราชการ และสหภาพช่างไฟในสถานที่ก่อสร้าง ขึ้นมาเป็นหัวหอกในการต่อสู้ในยุคนี้ และความหวังของแทชเอชร์ที่จะตัดค่าจ้างคนงานอังกฤษถึง 20% เขาทำไม่ได้ ยิ่งกว่านั้นงบประมาณรัฐและหนี้สาธารณะก็เพิ่มขึ้นจากการทำลายการทำงานและอุตสาหกรรมหลักๆ ซึ่งตรงข้ามกับเป้าหมายของพวกเสรีนิยมกลไกตลาดสุดขั้ว
 
ในปี 1989 แทชเชอร์มั่นใจในตนเองมากเกินไปและเสนอให้มี “ภาษีหัว” ที่เก็บจากประชาชนอังกฤษทุกคนในอัตราเดียวกันหมด ภาษีนี้เข้ามาแทนที่ภาษีบ้านที่เคยเก็บในอัตราก้าวหน้า คือใครมีบ้านแพงเคยต้องจ่ายมาก ใครยากจนก็จ่ายน้อย ภาษีปฏิกิริยาใหม่ของแทชเชอร์ก่อให้เกิดความไม่พอใจทั่วประเทศ มีการประท้วงใหญ่ในลอนดอน และคนจำนวนมากไม่ยอมจ่าย ในที่สุดพรรคคอนเซอร์เวทิฟตัดสินใจผลักแทชเชอร์ออกไป เพราะกลัวว่าถ้าเขาอยู่ต่อพรรคจะไม่มีวันชนะการเลือกตั้งอีก
 
ในความเป็นจริง ทั้งๆ ที่แทชเชอร์ชนะการเลือกตั้งมาหลายรอบ เขาไม่เคยได้เสียงสนับสนุนของประชาชนส่วนใหญ่ คะแนนสูงสุดของเขาอยู่ในระดับสามสิบกว่าเปอร์เซนเท่านั้น เพียงแต่แต่พรรคอื่นน้อยกว่าเท่านั้น
 
แทชเชอร์เป็นนายกรัฐมนตรีสตรีคนแรกของอังกฤษ แต่ผลงานของเขาคือการที่ค่าจ้างชายกับหญิงมีความเหลื่อมล้ำมากขึ้น และแน่นอนสำหรับผู้หญิงคนทำงานส่วนใหญ่ นโยบายของเขาตรงข้ามกับผลประโยชน์คนธรรมดา นอกจากนี้แทชเชอร์เป็นคนที่เกลียดคนรักเพศเดียวกันและรัฐบาลเขานำกฏหมายใหม่เข้ามาเพื่อปราบเกย์
 
แทชเชอร์เป็นเพื่อนสนิทกับเผด็จการป่าเถื่อน พิโนเช ของชิลี และเขามองว่า เนลสัน แมนเดลา เป็น”ผู้ก่อการร้าย” ในกรณีไอร์แลนด์ แทชเชอร์ปล่อยให้นักโทษการเมือง “ไออาร์เอ” อดอาหารตายไปหลายคนด้วยหัวใจเย็นชา หนึ่งในนั้นเป็น สส. ที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน
 
ทั้งหมดที่ผมเล่าไปครั้งนี้เป็นสาเหตุที่ผมและคนจำนวนมากในอังกฤษ ดีใจฉลองวันตายของทรราชแทชเชอร์ งานศพของเขาเป็นสมรภูมิทางชนชั้น มันเป็นการช่วงชิงประวัตฺศาสตร์ เพื่อช่วงชิงรูปแบบสังคมในอนาคต เพราะพวกประจบสอพลอที่ไปร่วมงานศพ และชื่นชมแทชเชอร์ เป็นศัตรูทางชนชั้นของพวกเราทั่วโลก ส่วนคนไทยบางคนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่เกี่ยวกับการเมืองอังกฤษ และคล้อยตามคำชื่นชมของพวกประจบสอพลอ ผมมองด้วยความสมเพชเท่านั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net