Skip to main content
sharethis

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ อภ. ยืนยันเข้าร่วมชุมนุมร่วมแพทย์ชนบทค้าน P4P ในวันที่ 6 มิ.ย. นี้แม้ รมว.สธ. ยืนยันไม่มีการแปรรูป ขณะที่แพทย์ชนบทเตรียมประสานขอรถพยาบาลฉุกเฉินดูแลผู้ป่วยกรณีล้างไตหน้าบ้านนายกรัฐมนตรี ด้าน "กลุ่มเพื่อนมหิดล" ออกแถลงการณ์หนุนกลุ่มแพทย์ชนบท เรียกร้องรัฐบาลสร้างนโยบายสุขภาพที่เป็นธรรม

วันนี้ (28 พ.ค.) สำนักข่าวไทย รายงานว่า นายระวัย ภู่ระกา ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า ขอบคุณ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรงสาธารณสุข ที่ออกมาระบุว่าจะไม่มีการแปรรูป อภ. แต่ยังไม่วางใจจนกว่า บอร์ด อภ. จะปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของสหภาพ ทั้งการฟ้องร้องผู้ที่ก่อความเสียหายแก่ อภ. ได้แก่ สถานีโทรทัศน์อาเซียนทีวี ช่องรามสูร และ รมว.สาธารณสุข เลขานุการ รมว.สาธารณสุข ที่ออกมาให้ข่าว อภ. เป็นระยะเรื่องของกรณียาพาราเซตามอลว่ามีการปลอมปน ปนเปื้อน ทำลายภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือ และต้องไม่มีการแทรกแซงการทำงานภายใน อภ.  และยืนยันชุมนุมร่วมกับแพทย์ชนบทที่หน้าบ้านนายรัฐมนตรีในวันที่ 6 มิถุนายนนี้

ด้านนพ.เกรียงศักดิ์ วัชระนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า การชุมนุมในวันที่ 6 มิถุนายนนี้ จะมีผู้เข้าร่วมชุมนุม 4 กลุ่ม ได้แก่ เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม รพ.ชุมชน 2 สหภาพแรงงาน อภ. 3.กลุ่มคนรักษ์หลักประกัน 4 .กลุ่มเครือข่ายผู้ป่วยโรคไต เอดส์ มะเร็ง โดยยืนยันว่าไม่มีการชักชวนผู้ป่วยมาร่วมล้างไตนอกสถานที่ แต่เป็นเรื่องความสมัครใจ เตรียมประสานขอรถพยายาลฉุกเฉินไว้ดูแลผู้ป่วย ไม่หวั่นผิด พ.ร.บ.สถานพยาบาล พร้อมย้ำมาชุมนุมอย่างสันติ เพื่อแสดงสัญลักษณ์ เนื่องจากตนไม่ใช่ม็อบการเมือง และช่วงบ่ายวันนี้ (28 พ.ค.) จะมีการประชุมร่วมกับแกนนำผู้ชุมนุมทั้งหมด และเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ และยืนยันไม่ก่อความรุนแรง  หลังจากพื้นที่บริเวณบ้านนายกรัฐมนตรีเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง จากกรณีระเบิดปากซอยรามคำแหง  43/1

 

ด้าน กลุ่มเพื่อนมหิดล ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 "แถลงการณ์กลุ่มเพื่อนมหิดล ฉบับที่ 1 ไขปมวิกฤตสาธารณสุขไทย กรณีนโยบาย P4P" โดยมีเนื้อหาดังนี้

สืบเนื่องจากการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ. ประดิษฐ สินธวณรงค์ ได้มีนโยบายและ สั่งการให้ โรงพยาบาล สถานบริการสาธารณสุขของรัฐใช้ระบบ P4P (Pay for Performance) ในการประเมิน ผลตอบแทนแก่เจ้าหน้าที่ และบุคลากรที่ปฏิบัติงานบริการสุขภาพในระดับต่าง ๆ จนก่อให้เกิดกระแสการ ต่อต้าน คัดค้านอย่างกว้างขวาง ในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา โดยชมรมแพทย์ชนบทและบุคลากรในวงการ สาธารณสุขที่เป็นห่วงเป็นใยในระบบหลักประกันสุขภาพ ที่อาจเกิดความโกลาหลอย่างใหญ่หลวง และส่งผลกระทบต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ได้ริเริ่มไว้ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี ๒๕๔๔ อย่างรุนแรง

แม้ว่าประเทศทุนนิยมที่พัฒนาแล้วหลายประเทศจะได้ใช้ระบบที่เรียกว่า “เบี้ยขยัน” P4P และพบว่า ได้ผลดี ตามที่ได้มีการศึกษาโดยสถาบันวิชาการด้านสาธารณสุข ก็ยังมิได้หมายความว่าระบบดักล่าวจะใช้ ได้ผลดีกับ ประเทศไทย ซึ่งยังคงมีปัญหาและข้อจำกัดในการเข้าถึงการบริการสุขภาพอยู่มาก มีความแตกต่าง หลากหลายใน เศรษฐานะ ความเหลื่อมล้ำอันเนื่องมาจากปัจจัยต่าง ๆ ทั้งทางสังคม วัฒนธรรม ภูมิประเทศ และสถานะของบุคคล ซึ่งยังต้องได้รับการ แก้ไขอีกมาก

กลุ่มเพื่อนมหิดล เป็นองค์กรภาคีความร่วมมือของบุคลากรในแวดวงวิชาชีพสาธารณสุข วิทยาศาสตร์ สุขภาพ และการพัฒนา ซึ่งเป็นอดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลที่รักประชาธิปไตย รักความเป็นธรรม และมุ่งมั่นผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบสุขภาพถ้วนหน้า ที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม และเป็นธรรม มีความเห็นร่วมกันว่า

1. กลุ่มเพื่อนมหิดล เห็นด้วยอย่างยิ่งและสนับสนุนการดำเนินงานของชมรมแพทย์ชนบท ในการปฎิเสธ การนำระบบ P4P มาใช้ในระบบบริการสุขภาพของรัฐ เนื่องจากไม่สามารถนำมาใช้ทดแทนระบบผลตอบแทน แบบเหมาจ่ายให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ในท้องถิ่นชนบทที่ทุรกันดารได้ เพราะระบบ ผลตอบแทนในท้องถิ่นชนบท (เบี้ยเหมาจ่าย) เป้าหมายหลักเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการกระจายบุคลากรทาง การแพทย์ และสาธารณสุข เพื่อให้บริการแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และเพียงพอตามความต้องการ มิให้บุคลากรเหล่านั้นกระจุกตัวอยู่ที่โรงพยาบาลศูนย์ หรือในเขตเมืองเท่านั้น หลักประกันสุขภาพดีถ้วนหน้า จึงจะเกิดขึ้นได้จริง อีกทั้งการดำเนินการในระบบ P4P ที่เน้นการบันทึกกิจกรรมของตนเองเพื่อเป็นคะแนน เก็บสะสมแต้ม ทำให้แพทย์และบุคลากรให้เวลากับการบริการผู้ป่วยได้น้อยลงทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ขณะเดียวกันก็อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มบุคลากรด้วยกันเอง ปัญหาเกี่ยงกันไม่ทำงานที่ไม่ได้แต้ม ก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อระบบการทำงานแบบ “ทีมสุขภาพ” ที่สำคัญยิ่งสำหรับโรงพยาบาลชุมชน หรือสถานบริการที่มีขีดจำกัดในด้านทรัพยากรบุคลากร และงบประมาณ ดังนั้นนโยบายการใช้ระบบ P4P เข้ามาทดแทนระบบเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายที่ใช้อยู่เดิมแล้วจึงน่าจะเป็นการปฏิบัติที่สวนทางการกับการพัฒนาระบบ ประกันสุขภาพในระยะยาว ส่งผลให้เกิดอาการ “สมองไหล” “แพทย์ไหล” หรือ “บุคลากรไหล” จาก โรงพยาบาลชุมชน ในชนบท เข้าสู่เมืองใหญ่ ทั้ง ๆ ที่ในปัจจุบัน อัตราส่วนของแพทย์และสาธารณสุข ต่อประชากรในเขตเมืองกับชนบท ก็มีความแตกต่างกันอย่างมากมายกว่าสิบเท่าอยู่แล้ว นอกจากนี้บุคลากร เหล่านี้ส่วนหนึ่งจะไหลเข้าสู่โรงพยาบาลภาคเอกชน ภายใต้ระบบแพทย์พาณิชย์ ที่ให้ค่าตอบแทนที่ดีกว่า ซึ่งนั่นอาจเป็นการสนองต่อนโยบาย Medical Hub ของรัฐบาล แต่กลับกระทบต่อระบบสุขภาพโดยตรง ทำให้บุคลากรในระบบหลักประกันสุขภาพยิ่งลดน้อยลง ทั้งปริมาณและคุณภาพ

2. กลุ่มเพื่อนมหิดลเรียกร้องให้รัฐบาลสร้างนโยบายด้านสุขภาพที่ให้เกิดความเป็นธรรมในระบบ สุขภาพ เป็นนโยบายที่เน้นการมีส่วนร่วมจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทุกระดับอย่างเสมอภาคตั้งแต่การเริ่มต้น ของนโยบาย ให้ถือเป็นภารกิจสำคัญยิ่งของภาครัฐที่จะต้องยึดถือ และนำมาสู่การปฏิบัติให้บรรลุผล เพื่อสร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตย อีกทั้งนโยบายด้านสุขภาพของรัฐบาลจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ และการเข้าถึงได้ง่ายของประชาชนส่วนใหญ่ในชนบท มากกว่าเพื่อประโยชน์ของการบริการสุขภาพใน เชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ยังถือเป็นโอกาสดีที่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของเงินภาษีจะได้เรียนรู้ ติดตามการ ดำเนินการนโยบายของรัฐบาลอย่างใกล้ชิดและร่วมแสดงความคิดเห็นกับปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย เพราะผลกระทบ จากนโยบายครั้งนี้ อาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชน โดยตรงได้

3. นอกจากกลุ่มเพื่อนมหิดล จะสนับสนุนการแสดงออกและปฏิบัติการทางสังคมโดยสันติวิธี ของชมรมแพทย์ชนบท กลุ่มสหวิชาชีพด้านสุขภาพ กลุ่มผู้ป่วย และเครือข่ายภาคีความร่วมมือด้านสุขภาพ ที่ต้องการสื่อสารข้อมูลและ ความคิดเห็นไปยังผู้มีส่วนรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา หรือประชาชนเจ้าของประเทศ อันเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแล้ว กลุ่มเพื่อนมหิดลจะสนับสนุนให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการนี้ด้วย

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net