9 ต.ค.56 ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี เห็นชอบหลักการร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ พ.ศ. ... เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรม หรือ คุ้มครองการใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งสืบทอดมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ เช่น ภาษา การแสดง การดนตรี พิธีกรรม ประเพณี เทศกาล และงานช่างฝีมือ เป็นต้น
ทั้งนี้ หลักการสำคัญ คือ กำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ในแต่ละจังหวัด ซึ่งจะมีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม รวมทั้งมีบทลงโทษ โดยมาตรา 40 ระบุว่า หากมีการนำมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ซึ่งขึ้นทะเบียนแล้ว ไปเผยแพร่ในลักษณะหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ กระทบกระเทือนศาสนาและความมั่นคงของประเทศ หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม มีสิทธิเชิญบุคคลมาให้ข้อเท็จจริง หรือ ความเห็นทางวิชาการได้เมื่อเห็นสมควร โดยหากผู้ใดไม่มาให้ถ้อยคำหรือส่งเอกสาร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบร่างกม.ฉบับดังกล่าว มาตรา 5 กล่าวถึงมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ที่ได้รับการคุ้มครอง และส่งเสริมตามพ.ร.บ. นี้ ต้องมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ วิชาการ ศิลปะ คุณค่าทางจิตใจ หรือผลงานควรค่าแก่การรักษาไว้ และต้องมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
1.วัฒนธรรมทางภาษาและการสร้างสรรค์ทางภาษา รวมทั้งการแสดงออกโดยใช้ภาษาเป็นสื่อถ่ายทอด
2.ศิลปะการแสดงและการดนตรี
3.การปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม และประเพณีหรือเทศกาล
4.ความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล
5.ผลงานซึ่งเป็นงานช่างฝีมือดั้งเดิม
6.มีลักษณะอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ที่มา: เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์