ชุมนุมราชประสงค์ บก.ลายจุดเรียกร้องยิ่งลักษณ์-อภิสิทธิ์ขอโทษประชาชน

ชุมนุม "หมื่นอัพ เราไม่ลืม" ประกาศไม่ลืมคนตาย ไม่ลืมเหตุสลายชุมนุมปี 2553 และค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย 'บก.ลายจุด' เรียกร้องยิ่งลักษณ์-อภิสิทธิ์ขอโทษประชาชน ระบุเคารพผู้ร่วมชุมนุมเป่านกหวีด แต่เตือนระวังหลงคารม 'อภิสิทธิ์-สุเทพ' เพราะเพิ่งถูกอัยการฟ้องข้อหาทำให้คนตาย

10 พ.ย. 2556 - เมื่อเวลา 12.00 น. วันนี้ (10 พ.ย.) ผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงได้มารวมตัวกันบริเวณหน้าห้างอมรินทร์พลาซ่า ใกล้แยกราชประสงค์ ถ.ราชดำริ ตัดกับ ถ.พระราม 1 เพื่อร่วมกิจกรรม "หมื่นอัพ เราไม่ลืม" ตามที่สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด แกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงนัดหมาย โดยผู้ชุมนุมที่มาถึงก่อนเวลานัดหมายได้ไปรวมกันในร้านแมคโดนัลด์ บ้างก็รอร่วมกิจกรรมบริเวณหน้าห้างอมรินทร์พลาซ่า

บก.ลายจุดระบุชุมนุมราชประสงค์เพราะไม่ลืมเหตุการณ์ปี 53

ทั้งนี้ สมบัติ บุญงามอนงค์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า "เรามาวันนี้เพื่อจะมายืนในจุดที่เราเคยยืน เรามาแสดงจุดยืนว่าเรานั้นไม่เห็นด้วยกับการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่เรียกว่าเหมาเข่งสุดซอย อะไรก็ว่าไป แล้วไปนิรโทษกรรมให้ฆาตรกรที่สังหารประชาชนแบบที่อย่างเรียกว่า หน้าด้านๆ เอิกเริก ถ่ายทอดสดไปทั่วโลก และไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ แล้วดูเหมือนคนในกรุงเทพฯ จะแกล้งลืมไปแล้ว เราจึงมายืนที่เดิมเพื่อบอกว่า เราไม่ลืมฆาตรกร และที่นี่คือทุ่งสังหาร"

"ดังนั้น คนเสื้อแดงก็ไม่เห็นด้วยกับสิ่งนี้ และคนที่ไปเป่านกหวีด ผมก็เคารพว่าเขาก็ไม่เห็นด้วย พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเช่นกัน ดังนั้นผมไม่คัดค้านคนเป่านกหวีด เขาก็มีความชอบธรรมที่จะเป่านกหวีด แต่ผมอยากบอกคนที่เป่านกหวีดว่า คุณจะต้องเข้าใจมากกว่าสิ่งที่คนบนเวทีพรรคประชาธิปัตย์พูด คนบนเวทีพรรคประชาธิปัตย์เขาถูกข้อหาฆ่าคนตาย ดังนั้นเวลาคุณไปหลงคารมคนพวกนี้คุณต้องระวัง ผมจะช่วยบอกว่าสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่บอกคือเรื่องอะไร"

 

เรียกร้องคำขอโทษจากยิ่งลักษณ์-อภิสิทธิ์

"ส่วนสิ่งที่ผมจะส่งสารไปถึงรัฐบาลก็คือรัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบ คือคุณต้องขอโทษ คุณต้องขอโทษประชาชน และที่สำคัญต้องขอโทษคนเสื้อแดงเพราะคนเสื้อแดงเลือกคุณมาเป็นนายกรัฐมนตรี คุณต้องขอโทษ นี่เป็นขั้นต่ำ เป็นอย่างน้อยที่สุดที่คุณต้องทำสิ่งนี้ และผมหวังว่าคุณยิ่งลักษณ์จะมีความกล้าหาญเหนือคุณอภิสิทธิ์ โดยการออกมาเป็นผู้ริเริ่มและกล่าวคำนี้ ทำไมนายกรัฐมนตรีกล่าวคำขอโทษมันยากหรือ มันไม่ยากหรอก ไม่อย่างนั้นคนที่เขาไม่พอใจต่อสิ่งนี้ คุณจะทำอย่างนี้ได้ไง ใส่ พ.ร.บ.เหมาเข่งเข้าไปแบบนี้ พอเห็นว่าไม่รอดก็ถอย ทำอย่างนี้แล้วจบกัน ไม่ได้ ไม่ได้ เป็นนักการเมืองทำแบบนี้ไม่ได้ผมไม่ยอม"

ส่วนกรณีที่นักการเมืองแต่ละพรรคลงนามในสัตยาบรรณว่าจะไม่เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนั้น สมบัติกล่าวว่า นั่นนั่นเป็นการสร้างความมั่นใจ แต่ไม่ใช่การแสดงความรับผิดชอบ เป็นการแสดงความมั่นใจว่ารัฐบาลจะถอนร่าง จะไม่ดันทุรังทำสิ่งนี้ แต่สิ่งที่ผมพูดคือเรียกร้องให้มีการแสดงความรับผิดชอบ ไม่ใช่ว่าได้เท่าทุนแล้วจบ คุณต้องขอโทษ

มีผู้ถามว่าที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีอ้างว่าไม่เกี่ยวกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรม เป็นเรื่องสภา สมบัติตอบว่า สังคมรู้ว่าพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล สิ่งเหล่านี้ขับเคลื่อนมาจากผู้นำของพรรค ดังนั้นพรรคจะมาอ้างว่าเป็นงานของฝ่ายนิติบัญญัติไม่ได้ "ผมว่ายิ่งพูดยิ่งมีเรื่อง อย่าพูดแบบนี้ คุณรับเถอะ ทำผิดคุณก็ยอมรับ ก้มหัวให้ต่ำเหมือนนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ก้มได้เท่าไหร่คุณต้องก้มให้ได้มากเท่านั้น แล้วสังคมจะให้อภัยคุณ แต่ถ้าคุณไม่แสดงออกมา ผมขอถามว่าสังคมจะให้อภัยคุณได้อย่างไร"

"ขอเรียกร้องให้ทั้งสองรัฐบาลขอโทษ และอย่าคิดว่าผมลืมนะคุณอภิสิทธิ์ ฆ่าคนอื่นตายแล้วมาเล่นบทพระเอก แต่ในข้อเท็จจริงคุณอภิสิทธิ์ถูกอัยการฟ้องว่าทำคนอื่นตาย นี่เป็นทักษะของอภิสิทธิ์ แต่หลอกคนเสื้อแดงไม่ได้" สมบัติกล่าว

 

เคลื่อนไปรวมตัวที่แยกราชประสงค์ ตะโกน "ที่นี่มีคนตาย"

ต่อมาในเวลา 12.00 น. ผู้ชุมนุมทยอยมากันมากขึ้น โดยเริ่มรวมตัวกันบริเวณหน้าห้างอมรินทร์พลาซ่า ใกล้แยกราชประสงค์ และบริเวณถนนราชดำริ ใกล้กับเกษรพลาซ่า ก่อนที่ในเวลานัดหมาย ผู้ชุมนุมหลายพันคนได้ลงไปสมทบกันที่แยกราชประสงค์ และบริเวณทางเชื่อมรถไฟฟ้า BTS มีการตะโกนว่า "ที่นี่มีคนตาย" และ "อภิสิทธิ์ ฆาตกร สุเทพ ฆาตกร" โดยสมบัติ ปราศรัยเรียกร้องให้ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวคำขอโทษจากการผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง เรียกร้องอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวคำขอโทษจากเหตุสลายการชุมนุมปี 2553 และเรียกร้องให้ ส.ว. ปลดล็อกความขัดแย้ง ทั้งนี้สมบัติยังประณามทั้งอภิสิทธิ์ และสุเทพ ที่มีบทบาทสลายการชุมนุมในปี 2553 แล้วในวันนี้ไปปราศรัยบนเวทีที่ ถ.ราชดำเนินด้วยว่าไม่มีมาตรฐานทางการเมือง

ตอนหนึ่งสมบัติยังกล่าวถึงกลุ่มตุลาการที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมด้วยว่า ถ้าคุณออกมาเป่านกหวีดได้ ขอเรียกร้องให้ช่วยนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองด้วย โดยเฉพาะผู้ที่ถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 112 และขอสิทธิการประกันตัวให้กับนักโทษการเมือง

สมบัติยังเรียกร้องให้คนเสื้อแดง ให้มีความตื่นตัว ช่วยกันเฝ้าระวัง ตรวจสอบ หากมีผู้ใช้มวลชนล้มล้างรัฐบาลเพื่อเข้าสู่อำนาจ และยังเตือนรัฐบาลว่า หากรัฐบาลนิรโทษกรรมเหมาเข่ง หรือบิดพลิ้วแบบนี้อีก เขาจะนำมวลชนมาต่อต้านรัฐบาล

นอกจากนี้โดยรอบแยกราชประสงค์ยังมีคนเสื้อแดงกลุ่มย่อย และกลุ่มทางสังคมต่างๆ จัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมในปี 2553 ในเวลาประมาณ 14.00 น. เริ่มมีผู้ชุมนุมบางส่วนทยอยกลับ ขณะที่ผู้ชุมนุมที่ยังชุมนุมอยู่ได้รอเข้าร่วมกิจกรรมผูกผ้าแดงที่แยกราชประสงค์ในเวลา 15.00 น. และการปราศรัย "ประชาชน 3.0" ที่ป้ายสี่แยกราชประสงค์ใกล้ห้างเกษรพลาซ่า

 

ผู้ร่วมชุมนุมระบุไม่เห็นด้วยกับเหมาเข่ง และต้องการให้ปล่อยนักโทษการเมือง

สำหรับความเห็นของผู้ร่วมกิจกรรม "หมื่นอัพ เราไม่ลืม" นั้น ปกรณ์ ปาการเสรี นักสิ่งแวดล้อม อายุ 70 ปีกล่าวว่า เขารู้สึกโกรธมากกับพรรคเพื่อไทยที่พยายามผลักดัน พ.ร.บ. นิรโทษกรรมเหมาเข่งออกมา ประกอบกับการที่รายการในช่องเอเชียอัพเดทถูกถอด อย่างไรก็ตามที่มาวันนี้ เพราะต้องการแสดงว่าคนเสื้อแดงยังออกมาเพื่อปกป้องรัฐบาลจากความพยายามโค่นล้มรัฐบาลจากฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ ที่ยังคงชุมนุมต่อไปไม่เลิก แม้รัฐบาลจะได้ออกมาถอนร่างดังกล่าวแล้ว เพราะต้องการจะยื้อให้ถึงวันที่ตัดสินคดีเขาพระวิหาร และรอให้เกิดเงื่อนไขเพิ่มขึ้นไปอีก

“เห็นเขาดีกันแล้วก็ดีใจด้วย ถ้าแตกกันก็ไม่ชนะ จะแพ้เขาทั้งหมด” ปกรณ์กล่าว

เขากล่าวว่า แม้จะรู้สึกโกรธกับเพื่อไทยที่พยายามผลักดันเหมาเข่ง แต่คราวหน้าก็คงจะยังเลือกพรรคเพื่อไทยต่อไป เพราะเลือกประชาธิปัตย์ไม่ลง หากว่ามีพรรคทางเลือก ก็ต้องดูก่อนว่ามีแนวโน้มน่าจะชนะแค่ไหน ถ้าไม่มีก็ต้องเลือกพรรคที่เลือกทางเดียวกับเรา

ส่วนสมชาย (ขอสงวนนามสกุล) อาชีพค้าขาย อายุ 55 ปี กล่าวว่า จำเป็นต้องออกมาชุมนุม เพื่อปกป้องรัฐบาลนี้ที่เลือกมากับมือ แม้ว่ารัฐบาลแสดงจุดประสงค์ว่าจะถอยแล้ว แต่กลุ่ม 40 ส.ว. ยังไม่ร่วมมือกับรัฐบาลในการถอนร่างดังกล่าว และถึงแม้คนเสื้อแดงจะไม่พอใจกับพรรคเพื่อไทย แต่เขาเองก็เข้าใจเหตุผลที่รัฐบาลต้องทำเช่นนั้น เนื่องจากว่าเป็นการทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ก็ไม่พอใจกับการให้อภัยโทษทุกฝ่ายๆ เท่าๆ กัน เพราะรัฐบาลต้องค้นหาความจริงให้ปรากฎก่อน แล้วค่อยมายกโทษให้กันได้

ด้านสุรพงษ์ กุลบุตร วัย 59 ปี อาชีพนักดนตรี กล่าวว่าเห็นด้วยกับพ.ร.บ. นิรโทษกรรมร่างของวรชัย เหมะ มากที่สุด เนื่องจากจำเป็นต้องให้นักโทษที่ติดอยู่ในคุกออกมาก่อน มาเหมารวมคนที่สั่งฆ่าประชาชนไปด้วยเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง แม้อาจจะสามารถส่งคดีเข้าสู่ศาลโลกได้ภายหลัง แต่รัฐบาลก็ควรจะเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาดำเนินคดีสอบสวนให้เรียบร้อยก่อน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท