รายงาน: การตีความ ม.7 - รากความคิด 'สภาประชาชน' คนดีจัดการทุนสามานย์

 

การประกาศตั้ง “สภาประชาชน” ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อาจทำให้ใครหลายคนงุนงงสงสัยว่าโมเดลนี้คืออะไร เป็นไปได้เพียงไหน 

หลายวันที่ผ่านไปหลังประกาศไอเดียนี้ ไม่มีอะไรชัดเจนมากนัก นอกจากเป้าหมายหลักนั่นคือ ล้มล้าง “ระบอบทักษิณ” ซึ่งตามนิยามของสุเทพแล้วมันเป็นทุนสามานย์ที่ชั่วร้าย ฝังอยู่ในทุกอณูเนื้อของวิถีทางประชาธิปไตยแบบตัวแทน หรือเสียงข้างมากผ่านการเลือกตั้งซึ่งชนะด้วยการซื้อเสียง

กระแสมาตรา 7 ครั้งที่ 2 ในรอบทศวรรษ

คอนเซ็ปท์หลักของสภาประชาชนนั้นพูดถึง “ประชาธิปไตยทางตรง” นั่นคือ รัฐบาลหมดความชอบธรรมแล้วจากการเสนอ พ.ร.ก.นิรโทษกรรมและการไม่ยอมรับศาลรัฐธรรมนูญ (=ไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญ)  หลังจากนั้นอำนาจรัฐจึงต้องกลับสู่ประชาชน อ้างอิงตามมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการ “แต่งตั้ง” ตัวแทนสาขาอาชีพต่างๆ ประกอบกันเป็นสภาประชาชน คล้ายกับสภาสนามม้าที่ประชาชนหลายสาขาอาชีพมาช่วยกันร่างรัฐธรรมนูญปี 2517 โดยสุเทพอ้างอิงช่องทางตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ

“มาตรา 7 ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใดให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

กระแสเรียกร้อง นายกฯ คนกลาง หรือ นายกฯ พระราชทาน หรือ นายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งนั้นเกิดขึ้นระลอกแรกเกิดในช่วงต้นปี 2549 โดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย  (พธม.) นำโดยสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นหัวหอกในการนำเสนอ

“ประตูแห่งการเปลี่ยนแปลงภายในระบบ ภายในกรอบของรัฐธรรมนูญ ที่เหลืออยู่เพียงหนึ่งเดียว คือวิถีทางตามมาตรา7 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540....พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนรวมพลังร่วมแสดงตนขอพึ่งพระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงพระกรุณาใช้พระราชอำนาจตามนัยแห่งมาตรา 7 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 พระราชทานนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เพื่อให้เกิดกระบวนการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2 ที่ภาคประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรมโดยพลัน”  แถลงการณ์ฉบับที่ 6/2549 ของ พธม. (23 มี.ค.49)

“ถ้าปล่อยให้ทักษิณเป็นผู้นำการปฏิรูปทางการเมืองก็ไมได้แก้ไขปัญหาเรื่องระบบทักษิณ และคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี เพราะฉะนั้นการเรียกร้องนายกรัฐมนตรีตามาตรา 7 ก็คือการเรียกร้องรัฐบาลที่เป็นกลาง แน่นอนรัฐธรรมนูญตามมาตรา 7 ก็ต้องได้รับการวินิจฉัยจากพระมหากษัตริย์ตามประเพณีการปกครองซึ่งคนทั่วไปก็เรียกว่าเป็นนายกรัฐมนตรีพระราชทาน แต่หลังจากนั้น รัฐบาลที่เกิดจากมาตรา 7 หรือนายกรัฐมนตรีที่เกิดจากมาตรา 7 จะต้องทำก็คือการปฏิรูปการเมืองแบบที่ประชาชนมีส่วนร่วม และเพิ่มอำนาจภาคประชาชนในรัฐธรรมนูญ เพิ่มพื้นที่ภาคประชาชนในรัฐธรรมนูญให้มากกว่าเดิม นั่นคืองานที่ทำต่อไป และการที่จะปฏิรูปการเมืองก็เพื่อจะขจัดระบบทักษิณ ระบบการใช้อำนาจของนายกฯ ทักษิณ ไม่ให้แข็งแรงถึงขั้นครอบงำสังคมไทย”  พิภพ ธงไชย หนึ่งในแกนนำ พธม.ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับแนวคิดนายกพระราชทาน

แต่ครั้งนี้ การตีความมาตรา 7 นั้นแตกต่างออกไปโดยไม่อาศัยพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ อาจเพราะในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ทรงปฏิเสธการตีความมาตรา 7 เช่นนั้นอย่างชัดเจน คราวนี้จึงเห็นนักวิชาการบิ๊กเนมหลายคนช่วยอธิบายช่องทางใหม่ของการใช้มาตรา 7 จำนวนไม่น้อย

“หากถึงที่สุดแล้วพลังของฝ่ายประชาชนชนะ รัฐบาลยอมลาออก และแสดงเจตนาไม่ปฏิบัติหน้าที่เป็นรัฐบาลรักษาการ ก็จะเกิดสุญญากาศ ขณะนี้มวลชนกำลังบี้ให้เกิดสุญญากาศ ยุบสภา ลาออก และไม่รักษาการต่อไป อำนาจอธิปไตยก็จะกลับมาสู่ประชาชน  ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ก็ต้องกลับไปสู่ประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย (มาตรา 7) ไม่มีการไปรบกวนเองพระยุคคลบาท ไม่จำเป็นต้องมีนายกฯ พระราชทาน ประชาชนสามารถจัดการกันเองในฐานะเจ้าของอำนาจ” บรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า

“ถ้าน.ส.ยิ่งลักษณ์หรือรัฐบาลมีความจริงใจก็สามารถทำตามข้อเสนอของนายสุเทพได้โดยการยุบสภา ซึ่งถ้าเป็นไปตามขั้นตอนปกติครม.ต้องรักษาการระหว่างการจัดการเลือกตั้ง แต่ครม.ทั้งคณะสามารถกราบบังคมทูลขอไม่ทำหน้าที่แต่เนื่องจากประเทศไม่มีผู้ทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินไม่ได้ซึ่งทำให้ต้องมีการแต่งตั้งบุคคลที่มาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีและครม. ขณะเดียวกันเมื่อมีการยุบสภาทำให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรในฐานะประธานรัฐสภาต้องพ้นตำแหน่งไปด้วย ดังนั้นจึงเป็นอำนาจหน้าที่ของประธานวุฒิสภาต้องนำรายชื่อบุคคลที่เหมาะสมเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายนำรายชื่อขึ้นโปรดเกล้าฯให้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีโดยให้สมาชิกวุฒิสภาเป็นผู้เสนอชื่อซึ่งเห็นผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อไม่จำเป็นต้องเป็นส.ส.เพราะเป็นเพียงผู้ที่ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีมิได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ส่วนในเรื่องการกราบบังคมทูลไม่ทำหน้าที่หรือหยุดปฏิบัติหน้าที่ของครม.ทั้งคณะนั้นคิดว่าสามารถทำได้โดยให้เปรียบเทียบกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)มีมติชี้มูลความผิดคณะรัฐมนตรีทั้งคณะซึ่งจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าวุฒิสภาจะมีมติกรณีการยื่นถอดถอนหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะพิพากษาซึ่งต้องมีการแต่งตั้งบุคคลหรือคณะบุคคลมาทำหน้าที่เช่นเดียวกัน...”  ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

เหล่านี้เป็นคำอธิบายที่ตีความกฎหมายอย่างสอดคล้องกับแนวทางการเคลื่อนไหวในขณะนี้ พร้อมๆ กันนี้ก็ยังมีนักวิชาการอีกหลายคนที่อธิบายความชอบธรรมของการเรียกร้องสภาประชาชน ผ่านมาตรา 3 และมาตรา 7 อาทิ กิตติศักดิ์ ปรกติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีนิด้า ฯลฯ

'สภาประชาชน' หลายเวอร์ชั่น บนรากฐานแนวคิด 'คนดี'

การเคลื่อนไหวในนามคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) ประกอบด้วยบุคคลสำคัญที่คุ้นหน้าคุ้นตากันดี หลังกปปปส.เคลื่อนไหวยึดสถานที่สำคัญและกดดันสื่อมวลชนไม่นานหนัก ก็มีการประกาศ ไม่เอายุบสภา ไม่เอาลาออก และข้อเรียกร้องคือ “สภาประชาชน”

ตามแนวทางที่ประกาศไว้ สภาประชาชนของสุเทพจะทำหน้าที่กำหนดแนวนโยบาย ทำหน้าที่สภานิติบัญญัติ ดูแลการตรากฎหมาย ต่อต้านการทุจริต และตรากฎหมายการเลือกตั้งให้เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม ที่สำคัญ สภาประชาชนของสุเทพจะเป็นผู้คัดเลือก “คนดี” ที่ไม่ใช่คนของพรรคการเมืองใดขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ประกอบกับตำแหน่งอื่นเป็นคณะรัฐมนตรีชั่วคราว ตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ รัฐบาลประชาชนจะเร่งรัดปฏิบัติงานตามแนวนโยบายสภาประชาชนให้เสร็จสิ้นในเวลาที่สั้นที่สุด ก่อนจะจัดการเลือกตั้งตามปกติต่อไป

แนวทางสภาประชาชนของสุเทพ อาจกล่าวได้ว่าต่อยอดมาจากสิ่งที่ก่อตัวมาก่อนหน้านี้ไม่นาน นั่นคือ สภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) ก่อตั้งอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย. 56 ก่อนที่การชุนนุมนำโดยสุเทพจะเกิดขึ้น

สปท ประกอบด้วยแนวร่วมประชาชนกว่า 45 องค์กรจากหลายสาขา อาทิ วิชาการ กฎหมาย กลุ่มวิชาชีพ นักธุรกิจและนักศึกษา มีโครงสร้างองค์กรประกอบด้วย คณะกรรมการมาดำเนินการโดยที่ไม่มีผู้นำ ทำงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนการปรับโครงสร้างทางการเมือง และมุ่งขจัดนายทุนทางการเมืองแบบรวมศูนย์ผูกขาด กระจายอำนาจให้แก่ประชาชน ที่นำไปสู่การปฏิรูปประเทศ 5 ด้าน คือ 1.ปฏิรูปการเมืองเเละอำนาจรัฐธรรมนูญ 2.ปฏิรูปการบริหารประเทศ 3.ปฏิรูปคุณธรรมจริยธรรมเเละยุติธรรม 4.ปฏิรูปการศึกษา 5.ปฏิรูปเศรษฐกิจที่นำไปสู่คุณภาพชีวิตของประชาชน

สำหรับรายชื่อคณะกรรมการสปท.ชั่วคราวมีจำนวนทั้งสิ้น 16 คน ได้แก่ 1.นายบรรเจิด สิงคะเนติ 2.นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ 3.นายอนุสรณ์ ศรีแก้ว 4.นายคมสัน โพธิ์คง 5.นายสุริยะใส กตะศิลา 6.นายยรรยง เสรีรัตน์ 7.ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ 8.นายชัยพันธ์ ประภาสวัสดิ์ 9.นางอําภา สันติเมทนีดล 10.นายระวี มาศฉมาดล 11.นายสุริยนต์ สุวรรณวงศ์ 12.นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต 13.นายอัษฎายุทธ คุณวิเศษพงษ์ 14.นายอุทัย ยอดมณี 15.นายสมเกียรติ หอมละออ 16.นายสุพา ค้าสุจริต

นอกจากนี้ยังมีที่ปรึกษากลุ่ม เช่น พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นายพิภพ ธงไชย นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ นพ.วิชัย โชควิวัฒน นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ

ต่อมาวันที่ 12 พ.ย.56 กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ กองทัพธรรม และภาคีเครือข่ายประชาชน 77 จังหวัด นำโดย พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ เดินเท้าออกจากสถานที่ชุมนุมบริเวณสะพานผ่านฟ้า ไปสำนักพระราชวังเพื่อถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอทูลเกล้าฯ จัดตั้งสภาประชาชน และให้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยุติบทบาท

เป้าหมายของทั้ง สปท. และสภาประชาชนของสุเทพ ต้องการปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา สุเทพยกตัวอย่างรูป เช่น การกระจายอำนาจการปกครอง เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด การปฏิรูปโครงสร้างตำรวจ ฯลฯ

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นไอเดียซึ่ง “ภาคประชาชน” นำเสนอมาแล้วพักใหญ่และพยายามเข้าไปมีบทบาทในการผลักดัน “ภายใต้โครงสร้างทางการเมืองแบบปกติ” โดยเฉพาะการกระจายอำนาจนั้น มีเจ้าภาพทำเรื่องนี้อยู่หลายเจ้า ประเวศ วะสี และองค์กรอย่าง สสส.เองก็ผลักดันเรื่องนี้อย่างหนัก ด้วยเชื่อว่าอำนาจรวมศูนย์ไม่ตอบสนองประชาชนอย่างแท้จริง หรืออย่างไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เมื่อครั้งที่เคยเป็น รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สมัยรัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่แต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร ก็ผลักดัน พ.ร.บ.องค์กรชุมชนท้องถิ่น จนสำเร็จ โดยกำหนดให้มีบทบาทคล้ายสภาที่ปรึกษของแต่ละตำบล ปัจจุบันทั่วประเทศมีอยู่ราว 4,317 แห่ง  มีหน้าที่ตามกฎหมายคือ อนุรักษ์ ฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น, ร่วมมือกับหลายสวนจัดการ บำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน, เสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาและการพัฒนากับ อปท., ปรึกษาหารือกับประชาชน ส่งเสริมการมีส่วนร่วม

นั่นเป็นระดับของตำบล ในระดับของจังหวัดนั้น แนวคิด “จังหวัดจัดการตนเอง” ก็ริเริ่มดำเนินการแล้ว โดยมีโมเดล “เชียงใหม่มหานคร” เป็นต้นแบบ เอ็นจีโอหลายองค์กรร่วมกันล่าชื่อประชาชนเสนอกฎหมายฉบับนี้แล้วและอยู่ระหว่างการตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อ ในกฎหมายดังกล่าวมีสิ่งที่คล้ายสภาประชาชนคือ “สภาพลเมือง”

ในโมเดลนี้ จังหวัดสามารจัดการตนเองได้ทุกเรื่อง ยกเว้นหน้าที่ของส่วนกลาง 4   เรื่องคือ ความมั่นคง, การต่างประเทศ, ระบบเงินตรา, ระบบยุติธรรม ส่วนเรื่องอื่นๆ ให้โอนงบประมาณและหน้าที่ให้ท้องถิ่นทำทั้งหมด ทั้งนี้ นอกจากจะมีฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติแล้ว ยังมี “สภาพลเมือง” เข้าไปเป็นอีกลไกหนึ่ง ซึ่งจะทำงาน 2-3 เรื่องคือ 1.เสนอนโยบายการพัฒนา 2.ตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของฝ่ายการเมืองและฝ่ายบริหาร 3.สนับสนุนความเข้มแข็งของภาคประชาชน

อย่างไรก็ตาม องค์กรต่างๆ ที่ผลักดันเรื่องทำนองนี้ก็ได้แถลงแนวทาง “สภาประชาชน” ตามแนวตนเอง เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสสภาประชาชนของสุเทพที่กำลังเป็นที่กล่าวขวัญถึง แนวทางของภาคส่วนนี้ไม่ “ฮาร์ดคอร์” เท่าของกำนันสุเทพ แต่มุ่งให้เกิดการปฏิรูปในระบบ มันจึงต่างจากสภาประชาชนของสุเทพในแง่ของการไม่ล้มโครงสร้างเดิม แต่เพิ่มโครงสร้างใหม่ของ “ประชาชน” เข้าไปในระบบ ผ่านการเลือกคนดีเข้าไป ขณะเดียวกันก็ต้องการให้มีกฎหมายรองรับ มีอำนาจหน้าที่ชัดเจน อาจเพราะพิสูจน์แล้วว่านวัตกรรมในการสร้างพื้นที่ภาคประชาชน ไม่ว่าจะเป็น สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาองค์กรชุมน ฯลฯ นั้นไม่เวิร์คสักเท่าไร

แต่ถึงที่สุด โมเดลใหญ่ระดับประเทศและถอนรากถอนโคนแบบสุเทพนั้น ก็อาจเป็นความหวังให้ภาคประชาสังคมจำนวนไม่น้อยเช่นกัน  หลายคนสนับสนุนสุดตัว หลายคนนิ่งๆ รอดูผลลัพธ์ มีน้อยคนนักที่จะคัดค้านแนวทางของสุเทพ เพราะทั้งหมดต่างก็มีจุดร่วมอยู่บนแนวทางของ “คนดี” และความต้องการถ่วงดุลกับทุนใหม่ที่เข้ามาสู่อำนาจรัฐและผลักดันนโยบายการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เบ็ดเสร็จ   

แม้ยังไม่เห็นหนทางที่ชัดเจนว่าสิ่งที่เรียกว่า “สภาประชาชน” จะเกิดขึ้นได้อย่างไร  “สุญญากาศ” ที่ต้องการจะเกิดไหม เมื่อไร ทหารจะยอมเคลื่อนไหวอีกครั้งหรือไม่ แต่แนวคิดเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างทางการเมืองลักษณะนี้นั้นมีรากฐานที่แน่นหนา ได้รับการสนับสนุนจากหลายด้าน อาจเป็นเจตนาดีที่ต้องการพัฒนาระบบการเมืองให้พัฒนาก้าวหน้า แต่เปลี่ยนตัวเองจากการเป็นส่วนเสริมความสดุลในระบมาเป็นตัวล้ม ตั้ง และรันระบบเสียเอง มันเป็นการต่อสู้ในนามของคุณธรรมความดี ผลประโยชน์ของชาติและประชาชน ขณะเดียวกันก็ละเลยกติกาและอาจรวมถึงประชาชนอีกไม่น้อยที่สนับสนุนสิ่งที่เรียกว่าทุนสามานย์ คำถามพื้นฐานที่สุดคือจะนับเสียงของเขาไหม จะนับเขาเป็นประชาชนหรือไม่   

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท