อวัตถุศึกษากับอธิป: เปิดตัว Academic Torrents เว็บบิตทอร์เรนต์เพื่อนักวิชาการ

อวัตถุศึกษากับอธิปสับดาห์นี้นำเสนอข่าวสารด้านลิขสิทธิ์ทั่วโลก: ข่าวเว็บไซต์บิตทอร์เรนท์ใหม่เพื่องานวิชาการ, Mein Kampf บันทึกของฮิตเลอร์กลับมาเป็นหนังสือขายดีอีกครั้ง ฯลฯ

Immaterial Property Research Center ตั้งขึ้นในวันที่ 18 มกราคม หรือ "วันเสรีภาพอินเทอร์เน็ต" เพื่อเป็นศูนย์ข่าว ศูนย์ข้อมูล และศูนย์วิจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุ (หรือที่เป็นที่รู้จักทั่วไปว่าทรัพย์สินทางปัญญา) ต่างๆ อย่างสัมพันธ์กับระบบกฎหมาย ระบบเศรษฐกิจ และระบบการเมืองในโลก ทางศูนย์ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่างานของศูนย์ฯ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุที่เอื้อให้เกิดเสรีภาพในเชิงบวกไปจนถึงความเท่าเทียมกันของผู้คนในโลก
 

 

Academic Torrents เว็บบิตทอร์เรนต์เพื่อนักวิชาการ

โดยทั่วไปแล้วเว็บ "บิตทอร์เรนต์" ทั้งหลายมักจะเป็นที่รู้จักกันในฐานะของสถานที่ที่ผู้คนไปหา "โหลด" หนัง เพลง ไปจนถึงโปรแกรม

อย่างไรก็ดีด้วยระบบ "การแลกเปลี่ยนไฟล์ระหว่างบุคคล" ของทอร์เรนต์ทั้งระบบ ไม่จำเป็นจะต้องใช้ไปเพื่อบรรดาสิ่งบันเทิงเท่านั้น แต่มันสามารถใช้เพื่อหาความรู้ได้ด้วย

Academic Torrents ถูกสร้างมาเพื่อตอบโจทย์ตรงนี้ โดยจะเป็นเว็บทอร์เรนต์กลางที่รวม "แทร็คเกอร์" ที่ชี้ทางนำไปสู่การโหลดสิ่งต่างๆ ในเครือข่ายทอร์เรนต์ทั้งระบบ

ทั้งนี้ก็ต้องกลับไปดูจุดแข็งของระบบทอร์เรนต์อีกครั้ง

จุดแข็งของระบบทอร์เรนต์คือมันไม่ต้องการเซิร์ฟเวอร์กลางเพื่อเอาไฟล์ทั้งหมดมากองรวมกันไว้ (ซึ่งเป็นระบบแบบ Napster เว็บแบ่งปันไฟล์ชื่อดังสมัยก่อน) มันต้องการแค่เว็บกลางที่ใช้ชี้ทางว่ามีไฟล์อยู่ ณ ที่ใดในคอมพิวเตอร์ในระบบอินเทอร์เน็ตทั้งหมดที่เปิดโปรแกรมตระกูลทอร์เรนต์อยู่เท่านั้น และระบบการดาวน์โหลดมันก็จะเอื้อให้เกิดการดาวน์โหลดจากคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องโดยตรง กล่าวง่ายๆ คือนาย A สามารถโหลดทอร์เรนต์จากเครื่องนาย B ได้โดยตรง โดยมีเว็บ C แค่เป็นตัวบอกว่ามีไฟล์อยู่ในเครื่องนาย B

นอกจากนี้สิ่งที่พิเศษพอสมควรที่ทำให้ระบบทอร์เรนต์สามารถอำนวยความสะดวกในการ "แบ่งปัน" ไฟล์ได้ดีขึ้นไปอีกระดับจากเทคโนโลยีทำนองเดียวกันรุ่นก่อนๆ ก็คือทอร์เรนต์เอื้อให้มีการดาวน์โหลดจากคนอื่นๆ ในเครือข่ายการแบ่งปันไฟล์ขณะที่เขากำลังดาวน์โหลดไฟล์ได้ด้วย กล่าวคือคนที่ยังเริ่มโหลดก็สามารถโหลดจากคนที่โหลดไป 50% หรือกระทั่งแค่ 10% ได้ นี่เป็นระบบที่ทำให้การแบ่งปันไฟล์ทำได้เร็วขึ้นกว่าเทคโนโลยียุคก่อนที่ทุกๆ คนในระบบต้องไปแย่งกัน "ดูด" ไฟล์จากผู้ที่มีไฟล์เต็มๆ แล้วพร้อมๆ กันเท่านั้น พูดให้ง่ายที่สุดคือทอร์เรนต์เอื้อให้คนโหลดเร็วขึ้นกันระดับโครงสร้างทีเดียว ยิ่งคนโหลดเยอะ ก็ยิ่งโหลดเร็ว

ข้อได้เปรียบที่ไม่ต้องมีเซิร์ฟเวอร์และโหลดพร้อมกันได้อย่างรวดเร็วนี้สามารถใช้กับงานวิชาการได้เช่นเดียวกับงานชนิดอื่นๆ

ในทางปฏิบัติคือนักวิชาการก็ต้องการแชร์งานก็ไปสร้างไฟล์ทอร์เรนต์บนเว็บ Academic Torrents แล้วก็ทิ้งไฟล์ค้างไว้ในเครื่องพร้อมเปิดโปรแกรมบิตทอร์เรนต์ทิ้งไว้ ผู้อื่นที่เข้ามาในเว็บก็จะสามารถโหลดไฟล์ในเครื่องได้เพราะตัวไฟล์ทอร์เรนต์บนเว็บคือ "แทร็คเกอร์" ที่ชี้มายังเครื่องที่มีไฟล์ และคนโหลดต่อๆ ไปก็จะโหลดจากคนที่โหลดไปแล้วได้อีก และตัว “แทร็คเกอร์” นี้เองก็จะเป็นตัวชี้ว่าไฟล์นั้นๆ ไปอยู่ในส่วนไหนของคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่อง เพื่อเอื้อให้ไฟล์สามารถผลิตซ้ำตัวเองไปได้เรื่อยๆ แม้ว่าคน “ปล่อย” ไฟล์คนแรกจะหายไปจากสารบบแล้ว

สำหรับนักโหลดทั้งหลาย นี่อาจดูไม่ต่างจากเดิมนัก แต่สำหรับผู้วางระบบนี่ต่างจากเดิมอยู่โข เพราะการแบ่งบันไฟล์งานวิชาการในแบบเดิมๆ นั้นเว็บกลางต้องมีงบประมาณและต้นทุนสูงเพราะเป็นตัวกลางในการเก็บไฟล์ให้คนโหลด (ซึ่งนี่รวมถึงแบนด์วิธที่ต้องรองรับการอัฟโหลดข้อมูลปริมาณมากไปให้เหล่านักดาวน์โหลดด้วย)

แต่เว็บแบบทอร์เรนต์ไม่ต้องการอะไรแบบนั้นเลย เว็บทั้งเว็บสามาระจะมีขนาดเล็กมาก ขนาด The Pirate Bay เว็บชื่อก้องของโลกนั้นยังมีขนาดทั้งเว็บไม่ถึง 90 MB เท่านั้น ขนาดเล็กกว่าอัลบั้มดนตรีสักอัลบั้มหนึ่งในรูปแบบ mp 3 ความละเอียด 320 kbps เสียอีก (อย่างไรก็ดีนี่คือตอนที่ The Pirate ay เปลี่ยนการเข้าถึงไฟล์ส่วนใหญ่มาเป็น Magnet Link แล้ว ซึ่งทำให้เว็บ "เบา" กว่าเดิมมาก)

ซึ่งนี่เป็นการประหยัดต้นทุนที่มีนัยยะมากๆ สำหรับผู้ทำเว็บไซต์ และทำให้เว็บอย่าง Academic Torrents โผล่ขึ้นมาได้

ทั้งนี้ ตอนนี้ Academic Torrents ก็ไม่ได้มีแค่งานวิจัยและงานวิชาการ แต่ยังมีข้อมูลสถิติทางวิชาการอีกสารพัด ซึ่งทางเว็บก็อ้างว่าเป็นหนทางไปสูงไฟล์ถึง 1.5 PB หรือ 1,500 TB หรือ 1,500,000 GB เลยทีเดียว

ไม่ต้องสงสัยว่าปริมาณข้อมูลขนาดนี้นั้นถ้าเว็บทำตัวเป็น "เว็บฝากไฟล์" ทางวิชาการ เว็บย่อมทำไม่ได้ในงบประมาณที่ใช้อยู่แน่ๆ และงบก็ไม่น่าจะใกล้เคียงกันด้วยซ้ำ

Source: http://torrentfreak.com/academics-launch-torrent-site-to-share-papers-and-datasets-140131/

 

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทอร์เรนต์ไฟล์ในบน The Pirate Bay ในรอบ 10 ปี

ปีที่แล้วเป็นปีเฉลิมฉลองครบรอบ 10 ปีของ The Pirate Bay เว็บทอร์เรนต์ในตำนาน ซึ่งตอนนี้ก็ได้กลายเป็นเว็บทอร์เรนต์ที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังไม่โดนปิดทั้งทางตรงและทางอ้อมไปเรียบร้อยแล้ว (หลังจากการปิดตัวของเว็บ Isohunt ดั้งเดิมซึ่งเป็นเว็บทอร์เรนต์เดียวที่ยังหลงเหลืออยู่และแก่กว่า The Pirate Bay ตอน The Pirate Bay มาอายุครบ 10 ปี)

ทางเว็บ TorrentFreak ที่เป็นทั้งสำนักข่าวและสำนักวิจัยทอร์เรนต์ก็ได้เก็บข้อมูลของ The Pirate Bay มาตลอด และก็ได้นำข้อมูลโครงสร้างทอร์เรนต์บน The Pirate Bay มาเผยแพร่

สถิติที่รวบรวมมาชี้ให้เห็นว่าในยุคแรกสุดของ The Pirate Bay องค์ประกอบหลักของไฟล์ทอร์เรนต์ในสารบบ The Pirate Bay เป็นงานบันทึกเสียงดนตรีและงานวีดีโอที่ไฟล์แต่ละประเภทคิดเป็นสัดส่วนราวๆ 1 ใน 3 ของไฟล์ทั้งระบบของ The Pirate Bay

แต่เวลาผ่านมาเรื่อยๆ 10 ปีโครงสร้างไฟล์ทอร์เรนต์ในสารบบเปลี่ยนไปมากๆ งานดนตรีในปัจจุบันลดเหลือเพียงไม่ถึง 1 ใน 10 ของไฟล์ในทั้งสารบบด้วยซ้ำ ซึ่งก็เป็นภาพสะท้อนหนึ่งของบทบาทที่ลดลงในฐานะของสิ่งให้ความบันเทิงมวลชนของดนตรี ซึ่งพร้อมกันนั้นไฟล์ทอร์เรนต์จำพวกวีดีโอกลับเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 4 ใน 10 ของไฟล์ในทั้งสารบบ แสดงให้เห็นถึงสถานะที่มั่นคงของสิ่งบันเทิงทางสายตา (ซึ่งที่สถานะมันมั่นคงเช่นนี้ส่วนสำคัญก็น่าจะเป็นเพราะการขยายตัวของไฟล์ทอร์เรนต์บรรดาซีรีส์สารพัดในรอบหลายปีที่ผ่านมาด้วย)

และสิ่งที่เพิ่มมาอย่างมีนัยยะสำคัญคือไฟล์จำพวกหนังโป๊ที่มีราวๆ 1 ใน 3 ของไฟล์ทั้งหมด นับเป็นสัดส่วนพอๆ กับงานดนตรีใน The Pirate Bay ยุคบุกเบิก

ซึ่งถ้านับรวมไฟล์ทอร์เรนต์จำพวกวีดีโอทั้งหมดทั้งโป๊และไม่โป๊ ก็จะพบว่ามันเป็นไฟล์กว่า 8 ใน 10 ของไฟล์ทั้งสารบบ

และที่น่าสนใจคือไฟล์ทอร์เรนต์ทั้งซอฟต์แวร์และเกมกลับเป็นแค่ส่วนเสี้ยวเล็กๆ ที่รวมกันน่าจะไม่ถึง 10% ด้วยซ้ำของทอร์เรนต์ไฟล์ทั้งสารบบ (หรืออาจไม่ถึง 5% ด้วยซ้ำก็ได้เพราะตอนนี้ทั้งสองหมวดหมูรวมกันก็น่าจะไม่ถึง 5%)

Source: http://torrentfreak.com/35-of-all-pirate-bay-uploads-are-porn-140124/

 

Mein Kampf ของ Hitler กลับมาเป็นหนังสือขายดีในสารบบอีบุ๊ก

ช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมามีปรากฎการในตลาดอีบุ๊กที่น่าสนคือคืออยู่ดีๆ หนังสือกึ่งอัตชีวประวัติกึ่งคำประกาศทางการเมืองของ Adolf Hitler นามว่า Mein Kampf (ที่น่าจะแปลไทยได้ว่า การต่อสู้ของข้าพเจ้า - และก็มีการแปลไทยมาแล้วในชื่อนี้) กลับมาขายดี

หนังสือ Mein Kampf ในเวอร์ชั่นอีบุ๊กมีทั้งหมด 6 เวอร์ชั่น และในจำนวนเวอร์ชั่นนั้นมันก็มาติด Top 20 ของหนังสือการเมืองและเหตุการณ์ปัจจุบันใน iTunes ถึงสองอันดับและ ติดอันดับหนังสือการเมืองและโฆษณาชวนเชื่อในอันดับของ Amazon

แน่นอนว่านี่สร้างความประหลาดใจปนตระหนก เพราะเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้คือการแสดงออกซึ่งความเกลียดยิวอย่างเข้มข้นและเป็นคำประกาศอุดมการณ์ของพรรคนาซีดีๆ นี่เอง ซึ่งก็ไม่แปลกที่มันเคยเป็นหนังสือขายดีในอาณาจักรไรช์ที่สาม

มีการคาดเดากันไปต่างๆ นาๆ ว่าทำไมมันถึงขายดีได้ แน่นอนปัจจัยพื้นฐานก็อาจเป็นเพราะการซื้ออีบุ๊กมันทำให้ไม่ต้องอายเวลาไปซื้อหนังสือเล่มนี้ที่ร้าน ไปจนถึงตอนถืออ่านไปมา

แต่นั่นก็ยังไม่ตอบอยู่ดีว่าใครเป็นคนซื้อหนังสือเล่มนี้

ด้วย "สามัญสำนึก" รวมสมัยทั่วไป หลายๆ คนคาดเดาว่าพวกฝ่ายขวาใหม่ๆ ที่ปรากฎกายขึ้นทั่วโลกตะวันตกในรูปของเหล่านีโอนาซีและสกินเฮดได้ซื้อมันไปอ่านเป็นคัมภีร์ แต่ทางสำนักพิมพ์กลับคาดว่ามันขายดีเพราะมันมีความสนใจในทางวิชาการเกี่ยวกับฮิตเลอร์และนาซีมากกว่า

ซึ่งแม้ทางสำนักพิมพ์จะไม่ได้บอกชัดเจนว่าทำไมอยู่ดีๆ ความสนใจทางวิชาการของหนังสือเล่มนี้จะโผล่มาดุ่มๆ แต่ด้วยปรากฎการณ์ของการผงาดขึ้นของฝ่ายขวานีโอนาซีทั้งหลาย ก็น่าจะอนุมานได้ว่าจะมีคนสนใจอ่านหนังสือเกี่ยวกับนาซีต้นตำรับมากขึ้น ซึ่งผู้อ่านเหล่านี้ก็ไม่ใช่นาซีทั้งเก่าและใหม่แต่เป็นนักอ่านที่อ่านเพื่อหาความรู้ หากผู้อ่านเป็นคนกลุ่มนี้จริงก็สอดรับกับคำอธิบายที่ว่าทำไมเขาเหล่านี้ต้องแอบซื้อและแอบอ่านหนังสือเล่มนี้เพื่อไม่ให้คนเข้าใจผิด เพราะคนเป็นนีโอนาซีน่าจะยืดอกพกหนังสือเล่มนี้ไปไหนมาไหนอย่างภาคภูมิมากกว่าจะแอบอ่านแบบหลบๆ ซ่อนๆ

ทั้งนี้ ปัจจุบันลิขสิทธิ์หนังสือเล่มนี้เป็นของรัฐบาวาเรีย ซึ่งทางรัฐก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์เต็มที่ทางลิขสิทธิ์ด้วยความเกรงใจบรรดาเหยื่อของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เหลืออยู่ ไปจนถึงบรรดาญาติพี่น้องของพวกเขา

Source:

 

Prince ฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์กับ "แฟนเพลง" 22 คนผู้นำคลิปการแสดงสดอย่างไม่เป็นทางการไปเผยแพร่ (ก่อนจะระงับการฟ้องอย่างรวดเร็ว)

เอาจริงๆ มีนักดนตรีในโลกตะวันตกไม่กี่คนนักที่จะวางตัวเป็นไม้เบื่อไม้เมากับอินเทอร์เน็ตแบบสุดๆ และ Prince ก็เป็นหนึ่งในนั้น

นักดนตรีฟังค์ในตำนานผู้นี้เคยฟ้อง Pirate Bay แต่คดีก็ไม่ไปไหน และก็เคยออกมาส่งจดหมายเพื่อให้เว็บ Vine ลบคลิปวีดีโอ "บูทเล็ก" ที่ยาวเพียง 7 วินาที (Vine คือ Twitter เวอร์ชั่นวีดีโอ ถ้าจะให้อธิบายสั้นๆ) โดยอ้างว่าละเมิดลิขสิทธิ์มาแล้วก่อนหน้านี้

ล่าสุด เขากลับมาฟ้อง "แฟนเพลง" 22 คนที่มีส่วนเผยแพร่บันทึกการแสดงสดแบบที่บันทึกโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือบันทึกแบบ "บูทเล็ก" (Bootleg) ของเขา หลังเขาพบว่า Blog จำนวนหนึ่งและแฟนเพลงอีกจำนวนหนึ่งมีส่วนในการเผยแพร่คลิปดังกล่าวบนเว็บเครือข่ายสังคมอย่าง Facebook (เข้าใจว่าน่าจะหมายถึงการโพสต์ลิงค์ด้วยซ้ำ)

โดย Prince ได้เรียกค่าเสียหายถึงกรณีละ 1 ล้านดอลลาร์เป็นอย่างต่ำ เนื่องจากแต่ละผู้ละเมิดไม่ได้ละเมิดเพียง 1 การละเมิด (ค่าเสียหายสูงสุดตามกฎหมายของสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 150,000 ดอลลาร์ต่อการละเมิด ในกรณีนี้การละเมิดที่เกิดขึ้นคือการละเมิดบทประพันธ์เพลงของ Prince เอง ซึ่งหากจะให้ยกตัวอย่าง งานบันทึกเสียงการแสดงสดใน 1 คอนเสิร์ต ถ้ามี 10 เพลง ก็น่าจะนับเป็น 10 การละเมิดหมายถึง Prince จะเรียกร้องค่าเสียหายได้สูงสุด 1.5 ล้านดอลลาร์ ต่อผู้เผยแพร่ไฟล์คอนเสิร์ตนั้น เป็นต้น)

อย่างไรก็ดี ไม่นานหลังจากสื่อสำนวนมากลงข่าวการฟ้องของ Prince เขาก็ถอนฟ้องไปอย่างเงียบๆ ไม่มีคำอธิบายใดๆ

Source:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท