Skip to main content
sharethis
กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) ปฏิเสธคำเชิญประชุมกลุ่มย่อยเพื่อพิจารณาข้อบทด้านทรัพย์สินทางปัญญาตามความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (CPTPP) เกรงเข้าไปร่วมประชุมแม้เพียงครั้งเดียวก็อาจถูกเหมารวมว่าเป็นการรับฟังความคิดเห็นของภาคส่วนต่างๆ แล้ว 
 
 
15 ก.ค. 2561 กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) ได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ระบุว่าตามที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้จัดการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อพิจารณาข้อบทด้านทรัพย์สินทางปัญญาตามความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (CPTPP) กับหน่วยงานภาครัฐ-ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ช่วงบ่ายวันจันทร์ที่ 16 ก.ค. 2561 นี้
       
ทางกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) ในฐานะภาคประชาสังคมที่ติดตามการเจรจาการค้าเสรีที่จะมีผลกระทบต่อสังคมไทยในด้านต่างๆ ขอแสดงความขอบคุณที่ได้เชิญให้เรามีส่วนร่วมในการพิจารณาครั้งนี้ 
      
อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มเอฟทีเอ ว็อทช์พิจารณาแล้วว่าเรายังไม่เห็นความตั้งใจและจริงใจของรัฐบาล คสช.ในการที่จะใช้ข้อมูลความรู้และความคิดเห็นของภาคส่วนต่างๆประกอบการพิจารณาเข้าร่วมความตกลง CPTPP มากพอ มีเพียงให้ทุกหน่วยงานรัฐเดินหน้าเตรียมความพร้อมเพื่อเป็นเข้าสู่ความตกลงฯ ที่เจรจาเสร็จสิ้นแล้ว ตามคำสั่งของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์รองนายกรัฐมนตรีที่ระบุให้เข้าร่วมให้ได้ในสิ้นปีนี้ และท่าทีของผู้บริหากระทรวงพาณิชย์ทั้งรัฐมนตรีว่าการ รัฐมนตรีช่วย และปลัดกระทรวงที่ได้กล่าวต่อหน้าการประชุมหน่วยงานรัฐที่ให้เดินหน้าตามนโยบายดังกล่าว ทำให้ทางกลุ่มเอฟทีเอ ว็อทช์เกรงว่า การเข้าไปร่วมประชุมแม้เพียงครั้งเดียวก็อาจถูกเหมารวมว่า เป็นการรับฟังความคิดเห็นของภาคส่วนต่างๆ แล้ว ซึ่งนั่นไม่อาจยอมรับได้
      
สำหรับข้อบททรัพย์สินทางปัญญาในความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (CPTPP) นั้น แม้จะมีการละไว้หลายประเด็นอ่อนไหว เมื่อสหรัฐฯถอนตัวออกไปจากความตกลงฯ แต่ยังคงมีประเด็นที่จะกระทบต่อการเข้าถึงยาของประชาชน และส่งผลกระทบต่อหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องความเชื่อมโยงของระบบทรัพย์สินทางปัญญากับการขึ้นทะเบียนยาหรือที่เรียกว่า Patent Linkage, การบังคับใช้กฎหมาย หรือ Enforcement  ซึ่งเกินไปกว่าความตกลงทริปส์ในองค์การการค้าโลก นอกจากนี้ยังมีบทที่นอกเหนือจากบททรัพย์สินทางปัญญาแต่มีความเชื่อมโยงกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ใช้ชื่ออย่างดูดีว่า บทว่าด้วยความโปร่งใส (Transparency) ความสอดคล้องกันของระเบียบ (Regulatory Coherence) บทว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (Government Procurement) บทว่าด้วยรัฐวิสาหกิจ (State Owned Enterprises) และบทที่ว่าด้วยการคุ้มครองการลงทุน (Investment and ISDS)  ล้วนแล้วแต่จะมีผลกระทบโดยตรงต่อระบบการจัดซื้อและคัดเลือกยา รวมทั้งต่อรองราคายา แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการศึกษาเรื่องนี้อย่างละเอียดมากพอ ซึ่งในที่สุดอาจจะพบว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในด้านต่างๆในระยะยาวจะมีผลเสียหายรุนแรงมากกว่าผลประโยชน์ที่กลุ่มทุนไทยจะได้รับในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ก็เป็นได้
      
ดังนั้นแม้ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะมีความตั้งใจและจริงใจในการจัดการประชุมเพื่อพิจารณาข้อบทและการเตรียมพร้อม ก็ยังไม่อาจทำให้ภาคประชาสังคมมั่นใจได้ในภาวะอำนาจที่นิยมเช่นนี้ว่า ข้อห่วงใยที่มีหลักฐานของภาคสังคมจะถูกรับฟังและนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง เมื่อผู้กำหนดนโยบายของรัฐบาล คสช. ต้องการเร่งให้เห็นผลทางเศรษฐกิจระยะสั้นๆ และเพื่อเอาใจกลุ่มทุนไทยและต่างชาติดังที่ปรากฏในการออกนโยบายตลอด 4 ปีนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net