Skip to main content
sharethis
 
17 มีนาคม 2557 หน้าศาลจังหวัดเลย ชาวบ้านวังสะพุง กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด จาก ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ประมาณ 400 คน เดินทางไปถึงศาลจังหวัดเลยแต่เช้า เพื่อรับฟังการไต่สวนสืบพยานโจทก์ จากคดีที่ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด (“ทุ่งคำ”) ฟ้อง นาย สุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ กับพวกอีก 7 คน คดีอาญา ข้อหาบุกรุก, ทำให้เสียทรัพย์ เลขที่คดีดำ 4217/2556
 
การไต่สวนในครั้งนี้ เป็นรอบที่ทนายของชาวบ้าวจะซักค้านพยานปากสำคัญขอทุ่งคำ คือ นายบัณฑิตย์ แสงเสรีธรรม กรรมการผู้จัดการของบริษัทฯ และศาลได้เปิดให้มีการถ่ายทอดการไต่สวนในห้องพิจารณาคดีมายังห้องประชุมใหญ่เพื่อให้ชาวบ้านทั้งหมดได้รับฟังด้วย
 
แต่เมื่อถึงเวลาพิจารณาคดี ศาลแจ้งว่าทนายของทุ่งคำยื่นจดหมายอ้างว่าทนายป่วยกระทันหันทำให้ไม่สามารถมาตามนัดได้ ศาลจึงเลื่อนนัดไต่สวนออกไปเป็นวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 นับเป็นการเลื่อนครั้งที่ 3
 
“บ่กล้ากินข้าวบ้านเจ้าของ” เพลงที่เด็กๆ และผู้ใหญ่ จากกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด และนักศึกษาดาวดิน ร่วมกันขับร้องที่หน้าศาล โดยตั้งชื่อกิจกรรมว่า “พาน้องร้องเพลง” ได้นำภาพผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังจากมีเหมืองทองคำเกิดขึ้นในตำบลเขาหลวง เสียงเพลงสะท้อนสะเทือนไปถึงหัวใจของชาวเลย แต่ไม่มีคนจากเหมืองที่จะมาได้ยิน
 
จากหน้าศาล ขบวนบทเพลงเดินเท้าผ่านเมืองไปถึงหน้า สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเลย และต่อไปถึง สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรจังหวัดเลย
 
ทั้งสองหน่วยงาน คือผู้อนุญาตให้ทุ่งคำเข้าไปทำเหมืองทองในที่ดินภายใต้ความรับผิดชอบของหน่วยงาน และเหมืองทองได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบมายาวนานนับ 10 ปี โดยมีข้อเท็จจริงจากผลการตรวจสอบและวิเคราะห์คุณภาพน้ำบริเวณรอบเหมืองหลายครั้ง ช่วงระหว่างปี 2547 – 2549, 2553 ที่พบว่ามีสารหนู แคดเมียม เหล็ก ตะกั่ว และแมงกานีส เกินเกณฑ์มาตรฐาน
 
มีการตรวจพบไซยาไนด์ในกากแร่ก่อนนำไปกักเก็บในบ่อกากแร่สูงถึง 62 ppm เกินกว่าค่าที่กำหนดไว้ในอีไอเอ ที่ไม่ให้เกิน 2 ppm ครั้งนั้นกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้ส่งหนังสือให้ อุตสาหกรรมจังหวัดเลย ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2550 ให้เปรียบเทียบปรับทุ่งคำ และสั่งให้บริษัทฯ ปรับปรุงแก้ไขภายในวันที่ 20 มีนาคม 2550
 
ต่อมา มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554 สั่งให้กระทรวงอุตสาหกรรมชะลอการขยายพื้นที่ใหม่หรือการขอประทานบัตรของทุ่งคำ แปลงที่ 104/2538 พื้นที่ประมาณ 291 ไร่ และแปลงอื่นๆ ไว้ก่อน จนกว่าจะได้ข้อสรุปของสาเหตุการเกิดสารปนเปื้อน
 
ให้จัดทำผลการประเมินความคุ้มค่าของฐานทรัพยากรธรรมชาติและค่าภาคหลวงแร่กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
 
ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีหน้าที่ตรวจสอบสารปนเปื้อน ดำเนินการตรวจสอบสารปรอทด้วย เนื่องจากมีการพบว่ามีปริมาณสารปรอทสูงมากเมื่อเทียบกับหมู่บ้านอื่นในสภาพปกติ
 
ตามมาด้วย มติของ คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดเลย ที่ให้หนังสือยินยอมให้เข้าใช้ที่ดินในเขต ส.ป.ก. ของทุ่งคำ 4 ฉบับ เป็นอันสิ้นสุดลงก่อนกำหนด และให้บริวารของบริษัทฯ ออกจากที่ดินพร้อมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่บริษัทฯ ได้รับหนังสือแจ้ง คือวันที่ 7 พฤษภาคม 2554 รวมทั้ง สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดเลย ได้แจ้งให้ทุ่งคำจ่ายหนี้ค่าตอบแทนการใช้ที่ดินระหว่างเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2550 ที่ค้างอยู่เป็นจำนวน 14,563,336 บาท ซึ่งต่อมากลายเป็นคดีความที่บริษัททุ่งคำยื่นฟ้อง ส.ป.ก. ต่อศาลปกครอง และชนะคดี
 
ผลของคำพิพากษาดังกล่าวทำให้ทุ่งคำมีสิทธิประกอบกิจการอยู่ในพื้นที่สัมปทาน และไม่ต้องชำระค่าการเข้าใช้ที่ดินให้แก่ ส.ป.ก.
 
รวมความเป็นไปจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา ข่าวคราวเหล่านี้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะไม่รับรู้ได้อย่างไร
 
แต่นอกจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะไม่ได้ดำเนินการตาม มติครม. 8 กุมภาพันธ์ 2554 และบริษัททุ่งคำยังคงดำเนินกิจการต่อไปได้ ทำให้เกิดเหตุร้ายขึ้นอีกครั้ง ในเดือนตุลาคม 2555 เมื่อสันเขื่อนบ่อเก็บกากแร่ของทุ่งคำพังทลาย โดย กพร. ได้เข้าไปตรวจสอบและมีหนังสือยืนยันว่าเป็นความบกพร่องที่ทุ่งคำไม่ได้อัดบดดินบริเวณสันเขื่อนตามเงื่อนไข และไม่ได้ปูพลาสติกที่พื้นบ่อ เป็นเหตุให้สารไซยาไนด์รั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะและที่นาของชาวบ้าน จากนั้น สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเลย จึงมีคำสั่งด่วนอีกครั้งในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2555 ให้บริษัทฯ หยุดการทำเหมืองทันทีและแก้ไขปัญหาจนกว่าจะยุติ
 
แต่ข้อมูลที่ย้อนแย้งกับการดำเนินกิจการของทุ่งคำมากขึ้นไปอีก คือ ไม่เพียงการทำเหมืองของบริษัทฯ จะไม่เคยหยุดชะงัก ทุ่งคำยังขอประทานบัตรขยายพื้นที่ทำเหมืองมากขึ้น โดยขั้นตอนผ่านมาถึงขั้นการจัดเวทีพับลิก สโคปปิง เพื่อจัดทำรายงาน EHIA ประกอบการขอประทานบัตร แปลงที่ 104/2538 (ภูเหล็ก) เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2555 และเวทีพับลิก สโคปปิง เพื่อจัดทำรายงาน EHIA ประกอบการขอประทานบัตร แปลงที่ 76/2539 เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2556
 
ในขณะที่ใบอนุญาตประกอบโลหะกรรม ซึ่งตั้งอยู่บริเวณภูทับฟ้าหมดอายุไปเมื่อ 12 สิงหาคม 2555
 
ส่วนใบอนุญาตสำหรับการเข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ (แปลงภูทับฟ้า) ประทานบัตรเลขที่ 26968/15574 (ประทานบัตรมีพื้นที่ทั้งหมดอยู่ในเขตป่าสงวน), 26969/15575, และ 26970/15576 อายุ 10 ปี อนุญาตเมื่อ วันที่ 27 ธันวาคม 2545 ได้หมดอายุไปเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2555
 
และแม้ทุ่งคำจะยื่นคำขออนุญาตใช้ที่ดินป่าสงวนแห่งชาติต่อจากกรมป่าไม้ แต่ก็ยังไม่ได้รับอนุญาต เนื่องจากตามระเบียบกรมป่าไม้ มีเงื่อนไขระบุว่า การเข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ผู้ขออนุญาตจะต้องไม่มีปัญหากับราษฎรในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง และต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาตำบล หรือ องค์การบริหารส่วนตำบลในท้องที่ที่ป่านั้นตั้งอยู่ ซึ่งการทำประชาคมที่ผ่านมาไม่เคยผ่านความเห็นชอบ
 
ส่วนการขอใช้พื้นที่ภูเหล็กเพื่อขยายเหมืองนั้น ตามคำขอประทานบัตร 104/2538 พื้นที่ 290 ไร่ 1 งาน 92 ตารางวา พื้นที่เปิดขุมเหมืองรวม 30 ไร่ มีที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าโคกภูเหล็ก และทับซ้อนอยู่กับพื้นที่ป่าหมายเลข 23 และเป็นพื้นที่ลุ่มนํ้าชั้น 1 เอ ซึ่งควรสงวนไว้เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารโดยเฉพาะ หากจะขอใช้พื้นที่ก็ต้องได้รับอนุญาตโดยผ่านมติ ครม.
 
คำถาม คือ ในช่วงเวลาเหล่านี้ ทุ่งคำสามารถดำเนินกิจการเหมืองแร่และขอขยายพื้นที่ทำเหมืองแปลงใหม่อย่างต่อเนื่องเป็นขั้นเป็นตอนมาได้อย่างไร
 
 
ประเภทที่ดินในพื้นที่คำขอประทานบัตร

 
เหตุอันเนื่องมาจาก ประทานบัตร 6 แปลง ของทุ่งคำ ตั้งอยู่ในที่ดินป่าสงวน และที่ดินที่มีเจตนารมณ์เพื่อให้เกษตรกรได้ทำการเกษตร ได้แก่
 
ที่ดินในป่าสงวนแห่งชาติ ป่าโคกภูเหล็ก 608 ไร่ 3 งาน 34 ตารางวา กรมป่าไม้โดยการอนุมัติของรัฐมนตรี เป็นผู้ออกใบอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ โดยอธิบดีกรมป่าไม้
 
แปลงภูซำป่าบอน ประทานบัตรเลขที่ 26973/15560 อายุ  10 ปี อนุญาตเมื่อ วันที่ 31 ธันวาคม 2543 ถึง 30 ธันวาคม 2553
 
แปลงภูทับฟ้า ประทานบัตรเลขที่ 26968/15574 (ประทานบัตรมีพื้นที่ทั้งหมดอยู่ในเขตป่าสงวน), 26969/15575, และ 26970/15576 อายุ 10 ปี อนุญาตเมื่อ วันที่ 27 ธันวาคม 2545 ถึง 26 ธันวาคม 2555
 
ส่วนประทานบัตรเลขที่ 26971/15558 กรมป่าไม้ให้รักษาสภาพเป็นป่าไม้ ไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมใดๆ ปัจจุบันใบอนุญาตทั้งหมดหมดอายุ
 
ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน 369 ไร่ 3 งาน 17 ตารางวา จังหวัดโดยสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัด อนุญาตให้ใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน ประทานบัตรเลขที่ 26970/15576, 26971/15558, 26972/15559, 26973/15560 มีกำหนด 10 ปี ออกให้เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2546 หมดอายุ 29 กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา
 
ที่ดินในเขตป่าตามมาตรา 4(1) แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 หมายถึงที่ดิน ที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน 312 ไร่ 2 งาน 13 ตารางวา จังหวัดโดย สำนักงานป่าไม้ เป็นผู้อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดได้ทำหนังสือทวงถามถึงใบอนุญาตไปยังสำนักงานป่าไม้หลายครั้ง แต่เจ้าหน้าที่อ้าง หนังสืออนุญาตตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน ยังหาไม่พบ
 
และ ที่ดิน น.ส.3 ก. เนื้อที่ 35 ไร่ บนภูทับฟ้าของทุ่งคำ อยู่ในบริเวณประทานบัตรที่ 26972/15559 เป็นที่ดินผืนเดียวของบริษัทที่ใช้เป็นที่ตั้งสำนักงาน โรงงานประกอบโลหกรรม โรงงานบำบัดน้ำเสีย และบ่อเก็บกากแร่จากโรงงาน แต่ก็มีคำถามว่าที่ดินบนยอดเขาภูทับฟ้า ป่าต้นน้ำ มีการออกเอกสารสิทธิ์ซื้อขายกันมาได้อย่างไร
 
           
1.
 
ย้อนกลับไปดูอีกครั้งถึงความเชื่อมโยงในประเด็นเรื่องที่ดิน การทำเหมือง อีไอเอเก่า-แก้ไขใหม่ และผลกระทบ
 
เขตอาชญาบัตรพิเศษแปลงที่ 4 เป็นหนึ่งในพื้นที่สำรวจแหล่งแร่ทองคำโครงการใหญ่ ซึ่งกรมทรัพยากรธรณี ได้นำออกประมูลให้เอกชนเข้าดำเนินการ โดยทุ่งคำได้ดำเนินการสำรวจแหล่งแร่มาตั้งแต่ปี 2535
 
ตาม สัญญาว่าด้วยการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ แปลงที่สี่ พื้นที่น้ำคิว-ภูขุมทอง วันที่ 5 พฤศจิกายน 2534 ระหว่างกรมทรัพยากรธรณี กับ บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด และกับ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ที่ให้ “เขตสิทธิ” ในการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงแร่อื่นๆ 545 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 340,605 ไร่ โดยไม่ระบุระยะเวลาสิ้นสุดในสัญญา
 
ทุ่งคำได้ทำการเจาะสำรวจในบริเวณนี้ไปแล้วทั้งหมดจำนวน 148 หลุม คิดเป็นระยะทั้งหมด 14,537 เมตร และยื่นคำขอประทานบัตรรวม 106 แปลง พื้นที่รวม 29,824 ไร่ 3 งาน 75 ตารางวา ปัจจุบันได้รับประทานบัตรแล้ว 6 แปลง พื้นที่รวม 1,291 ไร่ 62 ตารางวา คือ กลุ่มประทานบัตร 5 แปลง ซึ่งร่วมแผนผังโครงการเดียวกัน ได้แก่ ประทานบัตรที่ 26968/15574, 26969/15575, 26970/15576, 26971/15558, 26972/15559 มีเนื้อที่รวมกัน ทั้งหมด 1,080 ไร่ 56 ตารางวา เรียกว่า “โครงการเหมืองแร่ทองคำภูทับฟ้า” อยู่ในเขตอาชญาบัตรพิเศษที่ 119/2535 ของทุ่งคำ
 
ส่วนประทานบัตรที่ 26973/15560 บนภูซำป่าบอน เนื้อที่ 211 ไร่ 8 ตารางวา พื้นที่ทั้งหมดตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าโคกภูเหล็ก อยู่ในเขตอาชญาบัตรพิเศษที่ 120/2538 ของทุ่งคำ
 
จากการสำรวจ บริษัทฯ คาดว่าจะสามารถดำเนินการทำเหมืองโดยคิดเป็นผลผลิตทองคำประมาณ 25,700 ออนช์/ปี เป็นระยะเวลา 5 ปี จากปริมาณสำรองที่คาดไว้ประมาณ 2 ล้านตัน
 


 
ข้อมูลจาก รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ฉบับเพิ่มเติม) โครงการเหมืองแร่ทองคำ (คำขอประทานบัตรที่ 62-67/2538) ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด จัดทำโดย บริษัท เอส.พี.เอส.คอนซัลติ้ง เซอร์วิส จำกัด (บทความนี้ขอเรียกว่า “อีไอเอฉบับ เอส.พี.เอส.”) ได้รับความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในปี 2541 ระบุว่า ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปของพื้นที่คำขอประทานบัตรตั้งอยู่บนยอดเขาภูทับฟ้า มีลำห้วยที่เป็นลำนํ้าสาขาที่ 1/1 ของห้วยผุก ซึ่งลำนํ้าสายนี้เมื่อจัดเรียงลำดับของลำธาร (Stream Order) จัดได้ว่าเป็นลำนํ้าสาขาอันดับที่ 1 (first order) มีความยาวจากต้นนํ้าถึงปลายนํ้าประมาณ 1.50 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีลำธารเล็กๆ ที่เป็นทางนํ้าไหลชั่วขณะฝนตกในพื้นที่ตอนบนที่เป็นเนินเขาสูงมากมาย
 
บริเวณที่ตั้งนี้มีห้วยผุกสาขา 1/1 ไหลผ่านกลางพื้นที่จากทิศตะวันตกไปตะวันออกลงสู่ห้วยผุกและห้วยฮวย โดยลำนํ้านี้จะมีนํ้าไหลในช่วงฤดูฝนเท่านั้น และพื้นที่สองข้างลำนํ้าได้ถูกเปลี่ยนสภาพไปเป็นที่นาปลูกข้าวและฝายเก็บกักนํ้าเพื่อเกษตรกรรมหมดแล้วโดยการทำร่องขนาด 1.0-1.5 เมตร ให้นํ้าไหลผ่านและไม่มีที่ตั้งของชุมชนในบริเวณนี้
 
บริษัทฯ ได้ซื้อที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ (น.ส.3) ตามแนวทางนํ้านี้ไว้บางส่วน (35 ไร่) เพื่อใช้เป็นบริเวณก่อสร้างของโครงการฯ ส่วนพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ก็ได้จ่ายค่าชดเชยพืชไร่และค่าขนย้ายไปตลอดแนวจนถึงต้นนํ้า และวางแผนเพื่อใช้พื้นที่ในบริเวณต้นนํ้าเป็นสระเก็บกักกากแร่จากโรงงาน ซึ่งถัดลงมาทางปลายนํ้าจะใช้เป็นพื้นที่เก็บกักมูลดินทรายจากการทำเหมือง และพื้นที่โครงการเป็นบริเวณบำบัดนํ้าเสีย และพื้นที่ Engineered Wetland
 
ต่อมา ทุ่งคำได้ทำการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการบางส่วน จึงต้องทำการศึกษาทบทวนมาตราการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อประกอบการขออนุญาตการทำเหมืองอีกครั้งจาก สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
 
ดังนั้น ทุ่งคำจึงว่าจ้างให้ ศูนย์การจัดการสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ ศูนย์วิจัยน้ำบาดาล คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการเหมืองแร่ทองคำ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด แปลงประทานบัตรที่ 26968/15574, 26969/15575, 26970/15576, 26971/15558, 26972/15559 และ 26973/15560 (การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต) เดือนสิงหาคม 2552 (บทความนี้ขอเรียกว่า “อีไอเอฉบับ ม.ขอนแก่น”)
 
อีไอเอฉบับ ม.ขอนแก่น ระบุว่า ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปของพื้นที่กลุ่มประทานบัตรจำนวน 5 แปลง เป็นภูเขาสลับกับหุบเขา และทางนํ้าสายสั้นๆ ไหลจากหุบเขาลงสู่ทางนํ้าสายหลัก ส่วนลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปของพื้นที่ประทานบัตร 26973/15560 บนภูซำป่าบอน ประกอบด้วยภูเขาสลับซับซ้อน เป็นที่ราบหุบเขาและที่ราบลุ่มนํ้า มีทางนํ้าสาธารณะไหลผ่าน 1 สาย คือ ห้วยผุก สายน้ำทั้งหมดไหลลงสู่ ห้วยนํ้าฮวย
 
พื้นที่ประทานบัตรทั้ง 6 แปลงอยู่ในเขตชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 2 และ 3 โดยพื้นที่ในประทานบัตรส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ส่วนพื้นที่ประทานบัตรทั้งหมดที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าโคกภูเหล็ก มีความสมบูรณ์ของต้นไม้มีค่าน้อยมาก เนื่องจากมีชาวบ้านบางส่วนบุกรุกเข้าไปแผ้วถางป่าเพื่อการเกษตรกรรม ต้นไม้ที่เหลืออยู่เป็นพวกไม้ล้มลุกและป่าไผ่เป็นส่วนใหญ่
 
ส่วนการศึกษาสภาพอุทกธรณีวิทยาของพื้นที่โครงการ นํ้าบาดาลไหลจากทิศตะวันตกบริเวณที่จะก่อสร้างบ่อกักเก็บกากแร่ ไปยังทิศตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณที่จะก่อสร้างโรงแต่งแร่ นํ้าบาดาลจะไหลอยู่ในระดับตื้น และมีลักษณะไม่ต่อเนื่องกัน
 
ผลการจำลองระบบการไหลของนํ้าบาดาล พบว่า กระบวนการทำเหมืองและการแต่งแร่ มีผลต่อการไหลของนํ้าบาดาลในพื้นที่ศึกษา และมีการเปลี่ยนแปลงจากสภาพธรรมชาติเนื่องการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่ของโครงการ คือ มีการกักเก็บนํ้าทิ้งกากแร่และบ่อเก็บกักนํ้าใช้ในพื้นที่โครงการ
 
รวมทั้ง ผลการจำลองให้มีการกักเก็บกากแร่ในบ่อกักเก็บกากแร่ในระดับสงสุด (320 ม.รทก.) แสดงให้เห็นว่าทิศทางการไหลของนํ้าบาดาลมีการไหลเร็วขึ้นและมีทิศทางการไหลลงในแนวดิ่งมากขึ้น
 
ข้อมูลทั้งหมดนี้หากนำมาวิเคราะห์ตามลักษณะภูมิประเทศของพื้นที่ ซึ่งเป็นภูเขา สลับกับหุบเขา และทางนํ้าสาธารณะ รวมทั้งการที่ประทานบัตรทั้ง 6 แปลง อยู่ในที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน และที่ดินในเขตป่าตามมาตรา 4(1) ซึ่งการเข้าใช้ประโยชน์ต้องมีการอนุญาตจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ ก็ไม่แปลกใจที่อีไอเอฉบับ ม.ขอนแก่น จะระบุประเด็นสำคัญไว้อย่างชัดเจนในมาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการติดตามตรวจสอบว่า
 
เนื่องจากการทำเหมืองแร่จะก่อให้เกิดผลกระทบในระดับที่สูง โดยหากไม่มีมาตรการที่ดีเพียงพอแล้ว ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะมากกว่าผลตอบแทนที่ได้รับ ดังนั้น มาตรการที่เสนอจะเน้นในเรื่องของการป้องกันอย่างจริงจัง ในขณะเดียวกันการเสนอมาตรการ ได้พิจารณาถึงความป็นไปได้ในเชิงวิศวกรรมและการลงทุน โดยจะต้องไม่เป็นการเพิ่มภาระให้แก่ผู้ประกอบการมากจนเกินไป ในขณะเดียวกันจะได้พิจารณาถึงมาตรการที่เสนอว่าสามารถป้องกันความเสียหายที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมในด้านหนึ่ง แต่กลับไปเพิ่มปัญหาสิ่งแวดล้อมในอีกด้านหนึ่งหรือไม่
 
หัวใจสำคัญของข้อความตัวหนาที่ปรากฎในข้างต้นเหล่านี้ มีข้อโต้แย้ง ข้อสรุป และยังสะท้อนภาพข้อเท็จจริงหลายประเด็นที่ปรากฎในพื้นที่
 
อย่างไรก็ตาม บทความนี้ขอเสนอประเด็นแรกที่ผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ได้ร่วมกัน อธิบาย ตรวจสอบ และวิเคราะห์กันมาอย่างถี่ถ้วน
 
2.
 
อีกครั้งจากถ้อยคำในอีไอเอฉบับ ม.ขอนแก่น ที่สรุปได้ว่า พื้นที่ประทานบัตรทั้ง 6 แปลงอยู่ในเขตชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 2 และ 3 อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าโคกภูเหล็ก มีความสมบูรณ์ของต้นไม้มีค่าน้อยมาก เนื่องจากมีชาวบ้านบางส่วนบุกรุกเข้าไปแผ้วถางป่าเพื่อการเกษตรกรรม ต้นไม้ที่เหลืออยู่เป็นพวกไม้ล้มลุกและป่าไผ่เป็นส่วนใหญ่
 
กระบวนการทำเหมืองและการแต่งแร่ มีผลต่อการไหลของนํ้าบาดาลในพื้นที่ศึกษา และมีการเปลี่ยนแปลงจากสภาพธรรมชาติเนื่องการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่ของโครงการ คือ มีการกักเก็บนํ้าทิ้งกากแร่และบ่อเก็บกักนํ้าใช้ในพื้นที่โครงการ
 
การทำเหมืองแร่จะก่อให้เกิดผลกระทบในระดับที่สูง การพิจารณาถึงความป็นไปได้ในเชิงวิศวกรรมและการลงทุน โดยจะต้องไม่เป็นการเพิ่มภาระให้แก่ผู้ประกอบการมากจนเกินไป
 
และในอีไอเอฉบับ เอส.พี.เอส. ที่สรุปได้ว่า บนยอดเขาภูทับฟ้า มีลำห้วยที่เป็นลำนํ้าสาขาที่ 1/1 ของห้วยผุก ซึ่งเป็นลำนํ้าสาขาอันดับที่ 1 นอกจากนี้ยังมีลำธารเล็กๆ ที่เป็นทางนํ้าไหลชั่วขณะฝนตกในพื้นที่ตอนบนที่เป็นเนินเขาสูงมากมาย
 
บริเวณที่ตั้งนี้มีห้วยผุกสาขา 1/1 ไหลผ่านกลางพื้นที่จากทิศตะวันตกไปตะวันออกลงสู่ห้วยผุกและห้วยฮวย โดยลำนํ้านี้จะมีนํ้าไหลในช่วงฤดูฝนเท่านั้นและพื้นที่สองข้างลำนํ้าได้ถูกเปลี่ยนสภาพไปเป็นที่นาปลูกข้าวและฝายเก็บกักนํ้าเพื่อเกษตรกรรมหมดแล้ว
 
และ บริษัทฯ ได้ซื้อที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ (น.ส.3) ตามแนวทางนํ้านี้ไว้บางส่วน (35 ไร่) เพื่อใช้เป็นบริเวณก่อสร้างของโครงการฯ ส่วนพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ก็ได้จ่ายค่าชดเชยพืชไร่และค่าขนย้ายไปตลอดแนวจนถึงต้นนํ้า และวางแผนเพื่อใช้พื้นที่ในบริเวณต้นนํ้าเป็นสระเก็บกักกากแร่จากโรงงาน ซึ่งถัดลงมาทางปลายนํ้าจะใช้เป็นพื้นที่เก็บกักมูลดินทรายจากการทำเหมือง
 
สรุปแล้ว ภาษาวิชาการจากข้างต้นเหล่านี้ มีคำอธิบายลักษณะภูมิประเทศและอุทกธรณีวิทยาด้วยภูมิปัญญาที่สะสมมาหลายชั่วอายุคนของชาวบ้าน 7 คน มีเพียงประเด็นใหญ่ๆ 3 ประเด็นที่พวกเขานั่งกางแผนที่ และเขียนแผนที่ขึ้นมาเพื่ออธิบาย
 
ประเด็นที่ 1 คือ ภูเขา ป่าไม้ และหุบเขา ทั้งหมดในพื้นที่ประทานบัตร คือ “ซำน้ำ” ซึ่งจะมีการเรียกตามลักษณะอาการของน้ำตามธรรมชาติ เช่น น้ำซำ โป่งห้วย น้ำผุด น้ำซ่าง น้ำออกบ่อ ร่อง ที่ล้วนแสดงถึงความหมายในการเป็นแหล่งต้นน้ำ แหล่งน้ำ น้ำใต้ดิน ลุ่มน้ำ และทางน้ำไหลตามธรรมชาติ โดยภูเขาและป่าไม้ในพื้นที่จะทำหน้าที่ซึมซับน้ำฝนเอาไว้
 
ภูเขา ร่องเขาทุกร่อง น้ำใต้ดินและน้ำบนบกจะเชื่อมต่อถึงกันและมีการแผ่กระจายไหลไปตามระดับจากภูเขา ผ่านหุบเขา ร่องเขา ไปจนถึงที่ลุ่ม
 
ร่องน้ำตามธรรมชาติในหุบเขาจะมีน้ำไหลตลอดทั้งปี และมีปริมาณเพียงพอต่อการใช้ในครัวเรือนและการใช้น้ำในพื้นที่เกษตรกรรม
 
ผลผลิตจากป่าหากคำนวณหยาบๆ ใน 1 ฤดูกาล หนึ่งครัวเรือนจะเก็บหน่อไม้ 50 กิโลกรัม ผักหนาม 50 กิโลกรัม ใบตองจากกล้วยป่า น้ำผึ้ง ไข่มดแดง หรือปลา ปู สาหร่าย หอยในล้ำห้วยลำธาร ฯลฯ เพียงครัวเรือนทั้งหมดใน 6 หมู่บ้าน ก็ไม่สามารถประเมินมูลค่าเศรษฐกิจซึ่งเป็นความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืนนี้ได้ ซึ่งสภาพเช่นนี้ขัดแย้งกับ “สภาพป่ามีความเสื่อมโทรม” ที่อีไอเอพยายามกล่าวอ้างอย่างบิดเบือนไว้
 
และแม้ว่า พื้นที่ประทานบัตรทั้ง 6 แปลง จะถูกกำหนดให้อยู่ในเขตชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 2 และ 3 สามารถใช้พื้นที่ในการทำเหมืองแร่ได้ แต่ในมาตรา 6 ทวิ และมาตรา 6 จัตวา พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 พื้นที่ที่เป็นแหล่งต้นน้ำ หรือ “ป่าน้ำซับซึม” จะต้องคำนึงถึงการเป็นพื้นที่สงวนหวงห้ามก่อนเป็นอับดับแรก แม้จะปรากฏว่ามีแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงก็ตาม
 
“การที่อีไอเอเขียนว่า ป่ามีความเสื่อมโทรม หรือลำนํ้าได้ถูกเปลี่ยนสภาพไปเป็นที่นาปลูกข้าวและฝายเก็บกักนํ้าเพื่อเกษตรกรรมหมดแล้ว ไม่ใช่ความจริง
 
“ตั้งแต่เกิดมาผมไม่เคยเห็นน้ำในร่องห้วยแห้ง เพราะเป็นพื้นที่หุบเขา ฝนตก 30% ที่นี่ก็ทำนากันได้แล้ว เพราะภูเขาทั้งหมดจะอุ้มน้ำไว้” สมัย ภักมี ผู้เชี่ยวชาญจากบ้านนาหนองบงอธิบาย
 
ประเด็นที่ 2 รูปแบบของเกษตรกรรมในร่องห้วย หรือ หุบเขา คือ ภูมิปัญญาด้านการเกษตรในพื้นที่ภูเขาซึ่งมีที่ราบลุ่มน้อย ชาวบ้านจะทำนาปลูกข้าวในทุกหุบเขาที่มีทางน้ำไหลผ่าน โดยจะถมพื้นที่ตรงกลางระหว่างหุบเขาเพื่อทำนา โดยเบี่ยงทางน้ำธรรมชาติออกเป็นสองฝั่งให้ไหลขนาบไปตามแปลงนา และขุดฮองเหมือง เป็นร่องน้ำเล็กๆ แตกแขนงเป็นโครงข่ายไปยังแปลงนาทุกแปลงในหน้าฝน ส่วนฝายเก็บกักนํ้าจะทำไว้ในพื้นที่ที่มีความลาดเอียงสูง เพื่อหน่วงเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ดังนั้นไม่ได้เป็นการทำลายทางน้ำไหลให้เสื่อมสภาพ แต่เป็นระบบเหมืองฝายที่ดำรงอยู่คู่กับการเกษตรในพื้นที่มาจนปัจจุบัน
 
ประเด็นที่ 3 บนยอดเขาภูทับฟ้า ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการทำเหมืองอยู่  คือพื้นที่ “ซำน้ำ” ซึ่งเป็นต้นกำเนิดน้ำ ชาวบ้านเรียกบริเวณนั้นว่า “โป่งห้วยดินดำ”
 
แต่เขื่อนเก็บกากแร่ที่ปนเปื้อนไซยาไนด์และโลหะหนักชนิดต่างๆ สร้างขึ้นทับโป่งห้วยดินดำเต็มพื้นที่ ทำให้น้ำใต้ดินและน้ำบนบกจากบริเวณเขื่อนเก็บกากแร่ไหลตรงลงมาทางร่องห้วยเหล็กและร่องเขาอื่นๆ บนภูทับฟ้า ช่วงเวลาที่ผ่านมาแม้จะมีการตรวจสอบว่ามีการปนเปื้อนในห้วยเหล็กและการเกษตรในร่องห้วยเหล็กมากกว่าบริเวณอื่น แต่ระบบน้ำที่ไหลลงมาจากภูเขาทั้งหมดจะเชื่อมต่อถึงกันจากต้นน้ำบนภูเขา ลำห้วย ฮองน้ำในนา (เหมืองฝาย) และน้ำในพื้นที่ทั้งหมดจะไหลไปรวมกันในลำน้ำฮวย
 
ส่วนพื้นที่ทิ้งขยะจากการทำเหมือง ซึ่งประกอบไปด้วย หิน และมูลดินทราย (เรียกในอีไอเอว่า “มูลดินทราย”) 5 พื้นที่ และลานกองสินแร่ รวมถึงระบบบำบัดน้ำทิ้งและโรงประกอบโลหกรรม ก็สร้างขึ้นมาทับลำน้ำสาขาของห้วยผุกซึ่งเป็นทางน้ำสายหลักที่เชื่อมต่อกับ ซำน้ำโป่งห้วยดินดำ และปิดกั้นทางน้ำธรรมชาติที่ไหลลงจากภูทับฟ้า เรียกว่า “ร่องห้วยดินดำ” “ร่องห้วยลิ้นควาย” และ “ร่องนำซำ” โดยตรง
 
โอ คำไล้ ผู้เชี่ยวชาญจากบ้านห้วยผุก เล่าถึงความกังวลของผู้คนในพื้นที่ “หลังจากเหมืองเปิดกิจการ ร่องภูทับฟ้าทั้งหมดเคยเป็นป่าสมบูรณ์ ร่องนาซำเมื่อก่อนน้ำไหลตลอดทั้งปี แต่ 2 ปีหลังมานี้น้ำแห้ง ปลูกข้าวปีที่แล้วได้แค่ 3 กระสอบ ถั่วเหลืองที่ปลูกน้ำก็ไม่พอ เพราะร่องทั้งร่องเหมืองเอาหินมากองจนกลายเป็นภูเขาหินลูกใหม่ ปิดทางน้ำไปทั้งร่อง และยังเกิดปัญหาหินไสลด์ลงมาที่แปลงนาหลายครั้งในหน้าฝน น้ำที่ชะล้างมาจากภูเขาหินเราไม่เคยรู้เลยว่ามันปนเปื้อนไปด้วยสารเคมีอะไรบ้าง
 
“บ่อน้ำซ่าง 2 บ่อที่อยู่ใต้ลงมาจากภูเขาหินทิ้ง เมื่อก่อนชาวบ้านหลายหมู่บ้านในละแวกนี้จะมาตักกินแต่ปัจจุบันกินไม่ได้แล้ว เพราะไม่รู้ว่าปลอดภัยหรือไม่”
 
สำหรับยอดเขาภูซำป่าบอน ซึ่งเป็นพื้นที่ซำน้ำเช่นกัน ปัจจุบันกลายเป็นขุมเหมืองเก่าที่ผ่านการทำเหมือง ความเป็นแหล่งต้นน้ำตามธรรมชาติเสื่อมสภาพ ลานกองแร่ไม่สามารถฟื้นฟู มีการชะล้างหน้าดินพังทลาย ที่ดินเสื่อมสภาพจนพืชไม่สามารถเจริญเติบโต
 
ข้อสังเกตที่ผู้เชี่ยวชาญชาวบ้าน ได้อ่านจากอีไอเอฉบับ ม.ขอนแก่น ที่มีเปลี่ยนแปลงรายละเอียดและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตการทำเหมือง ด้วยการย้ายที่ตั้งของโรงแต่งแร่ และการย้ายที่กองหินทิ้งบนภูทับฟ้า ไปทางทิศเหนือประมาณ 200 เมตร นั่นคือ การยอมรับว่า กิจกรรมการทำเหมืองที่สร้างทับอยู่บนพื้นที่ต้นน้ำ ซึ่งภูเขา หุบเขา ร่องน้ำ น้ำใต้ดิน น้ำท่า และการเกษตรของชุมชนโดยรอบมีความสัมพันธ์กันทั้งระบบนั้นส่งผลกระทบรุนแรงมากกว่าที่คาดคิด
 
แต่หากพิจารณาถึงความป็นไปได้ในเชิงวิศวกรรมและการลงทุนที่อีไอเอเน้นว่า “จะต้องไม่เป็นการเพิ่มภาระให้แก่ผู้ประกอบการมากจนเกินไป”
 
ในสายตาของชาวบ้านรอบๆ เหมือง ทางแก้เหล่านี้คือการดิ้นรนเพื่อให้เหมืองสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้เท่านั้น
 
“การทำเหมืองบนภูซำป่าบอน อีไอเอให้ขุดร่องน้ำรอบขุมเหมือง แต่ทุ่งคำไม่ได้ทำตาม เหมืองบนภูทับฟ้ามีการขุดร่องน้ำไว้บ้าง แต่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีการปูผ้ายาง น้ำจึงซึมลงไปถึงน้ำใต้ดิน ฝนตกลงมาน้ำในร่องล้นก็ไหลชะล้างดินในบริเวณที่มีการทำเหมืองมาลงที่นา บ่อเก็บกากแร่ซึ่งปนเปื้อนสารพิษก็ไม่มีการขุดร่องน้ำโดยรอบ การทำเหมืองที่นี่ผู้ประกอบการทำไป แก้ไป ปัญหาเกิดแล้วเกิดอีก มันไม่ถูกต้อง เพราะถ้าคุณจะทำเหมืองที่มีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมร้ายแรงคุณจะต้องทำมาตรการในการปกป้องดูแลกิจการให้ดีตั้งแต่วันแรกก่อนที่จะดำเนินกิจการ” สมัย ภักมี กล่าว
 
3.
 
10 ปีผ่านไป ที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ ที่ดิน ส.ป.ก และที่ดินเขตป่าตามมาตรา 4(1) รวม 1,291 ไร่ 62 ตารางวา ที่เสื่อมสภาพ เพราะได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง และเป็นต้นเหตุของผลกระทบทั้งมวลที่สร้างความเดือดร้อนให้ชุมชนในพื้นที่โดยยังไม่มีการแก้ไข พร้อมทั้งความพยายามของทุ่งคำที่ต้องการจะขออนุญาตใช้พื้นที่ดังที่กล่าวต่อไป
 
ล่าสุดทุ่งคำได้ส่งแผนการฟื้นฟูพื้นที่ทำเหมืองแร่ ตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ฉบับปรับปรุงประจำปี 2556 ที่รายงานการใช้จ่ายเงินในการฟื้นฟูรวม 57,886,322 บาท ตามเงื่อนไขที่ผู้รับอนุญาตจะต้องจัดให้มีแผนบรรเทาผลกระทบที่มีต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อขอต่อใบอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว
 
แต่ข้อเท็จจริง คือ การฟื้นฟูที่ผ่านมาเหล่านั้นไม่ได้เกิดผลเป็นรูปธรรม
 
สุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ ให้เหตุผลที่ผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองในพื้นที่โดยรอบได้ทำหนังสือคัดค้านส่งไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบมาอย่างต่อเนื่อง
 
“ผมถามว่าที่ทุ่งคำได้ฟื้นฟู คือ ฟื้นฟูอะไร พื้นที่ป่าไม้ ส.ป.ก. ที่ป่ามาตรา 4 (1) มีขุมเหมืองแบ่งออกเป็น 3 บริเวณ รวม 6 แปลง 104 ไร่ เขื่อนเก็บกาก 94 ไร่ การฟื้นฟูที่ทุ่งคำทำเป็นแค่การสร้างภาพเพื่อเป็นข้ออ้างในการขออนุญาตใช้พื้นที่ต่อเท่านั้น นี่คือข้อเท็จจริงที่ปรากฎอยู่อย่างชัดเจนทั้งขุมเหมืองบนภูซำป่าบอน และผลกระทบต่างๆ ที่เกิดจากการทำเหมืองบนภูทับฟ้า
 
“เวลานี้เมื่อใบอนุญาตดังกล่าวทั้งหมดได้หมดอายุลงแล้ว เราจึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหยุดขั้นตอนและไม่ต่อใบอนุญาตให้ทุ่งคำใช้พื้นที่ ขอให้มีการปิดเหมือง ฟื้นฟู และขอคืนพื้นที่ป่าไม้ และ พื้นที่ ส.ป.ก. มาให้เกษตรกรและชาวเมืองเลยได้ใช้ประโยชน์ตามเจตนารมณ์ของการรักษาป่าและการให้ที่ดินเพื่อเกษตรกรได้ทำเกษตรต่อไป” สุรพันธ์ กล่าว  
 
สำหรับกิจกรรม “พาน้องร้องเพลง” ที่เป็นการส่งเสียงสะท้อนต่อปัญหาผลกระทบหลังจากมีเหมืองทองคำเกิดขึ้นในพื้นที่ ทั้งที่หน้าสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเลย และ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรจังหวัดเลย
 
อย่างน้อยที่สุด เสียงที่ตอบรับว่าได้ยินแล้ว หนึ่งในนั้นคือ วัชรินทร์ วากะมะนนท์ ปฏิรูปที่ดินจังหวัด ที่ประกาศกับชาวบ้านในทันทีว่า “ส.ป.ก. ไม่เคยรู้เห็นเป็นใจกับบริษัทเหมืองทองคำ และจะไม่ต่ออายุใบอนุญาตให้บริษัทฯ ใช้ที่ดิน ส.ป.ก. ต่อ ประเด็นปัญหาเรื่องที่ดินเหมืองทองจะรอเวลาให้คดีทั้งหมดถึงที่สุดแล้วจะดำเนินการจัดสรรที่ดิน ส.ป.ก. ให้กับประชาชนได้มีที่ดินทำกินตามนโยบายของ ส.ป.ก. ขอให้ทุกคนวางใจได้”
           
ที่นี่ เหมืองแร่ เมืองเลย ยังมีประเด็นปัญหาใหญ่ๆ อีกมากมายหลายเรื่องที่ชาววังสะพุงรอบเหมืองทองยังต้องต่อสู้และสะสางกันต่อไป ...โปรดติดตาม
 
 

 
เด็กๆ และผู้ใหญ่จาก 6 หมู่บ้านมารวมตัวกันซ้อมร้องเพลงก่อนจะเดินทางไปศาล
 

 
กิจกรรมร้องเพลงหน้าสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเลย
 

 

 
กิจกรรมร้องเพลงหน้าสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรจังหวัดเลย
 

 

 

 
ตุลาคม 2555 สันเขื่อนบ่อเก็บกากแร่ของทุ่งคำพังทลาย เป็นเหตุให้สารไซยาไนด์รั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะและที่นาของชาวบ้าน กพร. ออกคำสั่งให้ปรับทุ่งคำ และให้หยุดกิจการจนกว่าจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ภาพจาก วัชราภรณ์ วัฒนขำ
 

 
ผลกระทบจากการทำเหมืองบนพื้นที่ต้นน้ำภูทับฟ้า ภาพจาก บำเพ็ญ ไชยรักษ์
 

 

 
ผลกระทบจากการทำเหมืองบนพื้นที่ต้นน้ำภูซำป่าบอน
 

 
“ฮองน้ำ” ในนาข้าวบริเวณร่องนาดินดำ ระบบเหมืองฝายที่ชุมชนจัดการน้ำด้วยภูมิปัญญา
 

 
ภาพถ่ายจากร่องนาดินดำ ด้านบนคือเขื่อนไซยาไนด์ที่สร้างทับบนแหล่งต้นน้ำภูทับฟ้า บริษัททุ่งคำ ได้เสริมคันเขื่อนให้สูงขึ้นมาเป็นระยะ แต่ปัญหาของมาตรฐานในการก่อสร้างทำให้เกิดเหตุการณ์คันเขื่อนแตก และมีการตรวจพบไซยาไนด์และโลหะหนักปนเปื้อนในแหล่งน้ำและแหล่งอาหารของชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง
 

 
ภาพถ่ายจากร่องลิ้นควาย อยู่บริเวณด้านหลังของโรงประกอบโลหกรรมของเหมืองทอง แปลงนาในร่องนี้รับน้ำจากภูทับฟ้าเช่นกัน
 

 
นาข้าวในร่องห้วยเหล็ก ตั้งอยู่ในหุบเขาระหว่างภูทับฟ้ากับภูเหล็ก พื้นที่ที่มีการศึกษาและตรวจสอบว่าได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนของไซยาไนด์และโลหะหนักมาโดยตลอด เนื่องจากเป็นร่องเขาที่ต้นน้ำจากภูทับฟ้า (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของเขื่อนไซยาไนด์) จะไหลลงโดยตรงมาตามร่องหุบเขา
 

 
พื้นที่กองหินทิ้งจากการทำเหมือง ในอดีตเคยเป็นหุบเขา เรียกว่า “ร่องนาซำ” ปัจจุบันหมดสภาพของความหุบเขา ปิดกั้นทางน้ำที่เคยไหลตามธรรมชาติ เพราะถูกถมด้วยขยะหินจากเหมืองจนเต็มพื้นที่
 
 
หมายเหตุ: เนื้อหาในบทความ สรุปจากการประชุม “นักสะดำป่าและน้ำวิเคราะห์อีไอเอ” วันที่ 17 มีนาคม 2557 ณ หมู่บ้านาหนองบง ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ผู้ร่วมประชุม 1.นายสมัย ภักมี 2.นายโอ คำไล้ 3.นายประหยัด ศรสุภาพ 4.นายฉ่ำ คุณนา 5.นางใหม่ รามศิริ 6.นายศรีไพร คำไล้ 7.นางสาวภัทราภรณ์ แก่งจำปา
(นักสะดำ หมายถึง ผู้เชี่ยวชาญ)
 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net