'บอร์นฟรี' การเลือกตั้งครั้งแรกสำหรับผู้เกิดหลังยุคแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้

ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันพุธในแอฟริกาใต้ จะเป็นครั้งแรกสำหรับผู้เกิดหลังสิ้นสุดการแบ่งแยกสีผิวปี 2537 ทำให้มุมมองของพวกเขาต่อพรรคเอเอนซีซึ่งเคยอยู่ใต้การนำของเนสสัน แมนเดลา เปลี่ยนไปจากยุคก่อน แต่ก็ดูเหมือนเรื่องอื้อฉาวต่างๆ จะยังไม่ทำให้พรรคนี้สูญเสียคะแนนนิยมไปโดยสิ้นเชิง

7 พ.ค. 2557 เมื่อวันที่พุธที่ผ่านมาชาวแอฟริกาใต้หลายล้านคนตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อต่อคิวเข้าคูหาเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งถือเป็นครั้งแรกสำหรับผู้ที่เกิดหลังยุคที่มีการยกเลิกกฎหมายแบ่งแยกสีผิวตั้งแต่ปี 2537 ที่เรียกว่า 'บอร์นฟรี' (Born free) หรือ "ผู้ที่เกิดมาพร้อมอิสรภาพ"

เดอะการ์เดียนระบุว่า ผู้มีสิทธิลงคะแนนอายุ 18-19 ปีในแอฟริกาใต้มีอยู่ 1.9 ล้านคน แต่มีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่ไปใช้สิทธิ โดยมีคนหนุ่มสาวบางคนรู้สึกยินดีกับการได้ใช้สิทธิครั้งแรก แต่ก็มีบางคนที่รู้สึกว่าไม่รู้จะเลือกใคร

ลินด์เว ซูลู หญิงอายุ 20 ปีบอกว่าเธอรู้สึกดีมากที่ได้เลือกตั้งเป็นครั้งแรก เธอบอกว่าเธอเลือกพรรคสภาแห่งชาติแอฟริกันหรือเอเอนซี (ANC) เพราะเธอคิดว่าพรรคการเมืองนี้เป็นพรรคแรกที่เปิดโอกาสให้ประชาชน

"ฉันมีโอกาสที่จะเป็นอิสระและได้พูดในสิ่งที่อยากจะพูด ฉันมีเสรีภาพในทุกด้าน ไม่ใช่แค่ด้านวัฒนธรรม แต่ยังมีเสรีในการแสดงความคิดเห็นของฉันเองด้วย ประเทศนี้ให้อะไรกับพวกฉันมากนักโดยเฉพาะในช่วงยุค 2537"

ในช่วงที่มีการใช้กฎหมายแบ่งแยกสีผิว มีการลิดรอนสิทธิและอำนาจทางการเมืองของคนผิวดำซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในแอฟริกาใต้ จนกระทั่งหลังจากสิ้นยุคแบ่งแยกสีผิว ก็มีการเลือกตั้งซึ่งประชาชนหลายเชื้อชาติมีสิทธิเท่าเทียมกันในปี 2537 โดยพรรคเอเอนซีได้รับชัยชนะ ซึ่งในขณะนั้นพรรคเอเอนซีมีผู้นำคือ เนลสัน แมนเดลา หนึ่งในผู้นำการต่อต้านแบ่งแยกสีผิวซึ่งต่อมาได้รับการยกย่องเป็นรัฐบุรุษ

หลังจากนั้นเป็นต้นมาพรรคเอเอนซีก็ได้รับคะแนนเสียงข้างมากในการเลือกตั้ง ส.ส. มาโดยตลอด อย่างไรก็ตามในยุคหลังๆ พรรคเอเอนซีก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในหลายเรื่อง โดยเฉพาะกับผู้นำพรรคคนปัจจุบัน ยาคอบ ซูมา ซึ่งเคยต้องคดีทุจริตการค้าอาวุธ นอกจากนี้ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการปราบปรามคนงานเหมืองลอนมินในเมืองมาริคานา และการพยายามผ่านร่างกฎหมายคุ้มครองข้อมูลรัฐในแง่ที่ลิดรอนเสรีภาพสื่อ ซึ่งแม้แต่เนลสัน แมนเดลา ก็แสดงความผิดหวังต่อพรรคที่พยายามออกกฎหมายนี้ด้วย

เดอะการ์เดียน ระบุว่า มีคนหนุ่มสาวบางคนในแอฟริกาใต้ที่รู้สึกไม่รู้ว่าจะลงคะแนนให้ใคร เช่น โฟ มาซากุ กล่าวว่าเขาไม่รู้สึกว่ามีพรรคไหนที่อยากโหวตให้ เขาคิดว่าพรรคเอเอนซีเป็นอาชญากรทำให้เขาไม่ชอบ อีกทั้งเขารู้สึกว่าผู้นำซูมาเป็นผู้ที่ขูดรีดคนจน ขณะเดียวกันก็มองว่าพรรคอีเอฟเอฟ (EFF) ที่เรียกตัวเองว่าเป็น 'ฝ่ายซ้าย' นำโดยจูเลียส มาเลมา ดูสุดโต่งและหัวรุนแรงเกินไปจนถึงขั้นอาจฟังดูเหยียดเชื้อชาติ "พวกเขาฟังดูเหมือนอยากจะฆ่าคนผิวขาว" มาซากุกล่าวถึงพรรคอีเอฟเอฟ

จากการสำรวจโพลล์เมื่อเดือน เม.ย. ดูเหมือนว่าประชาชนส่วนมากยังคงเทคะแนนให้กับพรรคเอเอนซีโดยได้รับความนิยมร้อยละ 63.9 รองลงมาคือพรรคดีเอ (DA) ซึ่งเป็นพรรคเสรีนิยมสายกลาง ได้รับความนิยมร้อยละ 23.7 ส่วนอีเอฟเอฟได้รับความนิยมร้อยละ 4.7

นักการเมืองจากพรรคฝ่ายค้านแอฟริกาใต้แสดงความกังวลว่า คนหนุ่มสาวในยุค "ผู้ที่เกิดมาพร้อมอิสรภาพ" ไม่ค่อยสนใจการเลือกตั้งจะส่งผลอย่างไรต่ออนาคตพวกเขา

มูซี ไมมาเน นักการเมืองจากพรรคดีเอกล่าวว่า "มันเป็นเรื่องน่าผิดหวัง นี่คืออนาคตของพวกเขา ผมสะท้อนถึงเรื่องนี้มานานและด้วยความยากลำบาก พวกเราคงต้องถามว่าทำไมคนหนุ่มสาวถึงไม่รู้สึกมีส่วมร่วม แล้วก็หาทางทำให้พวกเขามีส่วนร่วมให้ได้ในอนาคต"

ไมมาเนถูกวิจารณ์ว่าพยายามเลียนแบบประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ จากการพยายามเรียกร้องคะแนนเสียงของคนหนุ่มสาวจากจังหวัดเคาเท็ง แต่ไมมาเนก็โต้ตอบคำวิจารณ์ว่าพรรคเอเอนซีก็วิจารณ์เขาได้เท่านี้ ซึ่งยังดีกว่าถูกวิจารณ์เรื่องทุจริตเช่นที่พรรคเอเอนซีโดน ไมมาเนกล่าวอีกว่าเขาคิดว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคเอเอนซีจะบอบช้ำและไม่ได้คะแนนนำมากเท่าที่คิดไว้

คะแนนความนิยมของพรรคเอเอนซีจากการสำรวจลดลงจากช่วงเลือกตั้งในปี 2552 เดอะการ์เดียนระบุว่า โปสเตอร์รณรงค์หาเสียงของพวกเขามีการอ้างถึงเนลสัน แมนเดลา เพื่อเรียกความนิยม เช่น โปสเตอร์ที่มีข้อความว่า "ทำเพื่อมาดิบา เลือกเอเอนซี!" ซึ่ง "มาดิบา" เป็นคำใช้เรียกแมนเดลาด้วยความยกย่อง แต่ก็มีนักวิจารณ์บางคนมองว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เอเอนซีได้รับความนิยมลดลงมาจากการเสียชีวิตของแมนเดลาด้วยวัย 95 ปี เมื่อเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว

แอฟริกาใต้มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 25 ล้านคน คิดเป็นราวครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรทั้งหมด มีการเปิดคูหาเลือกตั้ง 22,263 แห่ง ตั้งแต่ช่วง 7 โมงเช้า และมีการวางกำลังทหาร 1,850 นายเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อย

เดอะการ์เดียนระบุว่า ซูมา เดินทางไปลงคะแนนในจังหวัดบ้านเกิดของตนและแม้ว่าจะมีเรื่องอื้อฉาวอยู่มากแต่ก็ยังคงมีฝูงชนพยายามเข้าไปทักทายหรือส่งเสียงเรียกเขาอย่างกระตือรือร้น

แม้ว่าจะมีเหตุวุ่นวายช่วงก่อนการเลือกตั้งในเมืองเบกเกอร์สดาล โดยมีผู้ประท้วงขว้างปาก้อนหินและจุดไฟเผาคูหาเลือกตั้ง แต่ในช่วงวันพุธ ผู้คนก็ยังคงมีความมุ่นมั่นออกไปเลือกตั้ง โดยผู้ใช้สิทธิรายหนึ่งชื่อ โนซิเล ซิคาลาลา บอกว่าเขาไปเลือกตั้งเพื่ออนาคต เขาไม่สนใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อวานและไม่ยอมให้สิ่งที่เกิดขึ้นผลักเขาออกไป

เรียบเรียงจาก

South Africans vote in first election for 'born free' generation, The Guardian, 07-05-2014
http://www.theguardian.com/world/2014/may/07/south-africans-first-election-born-free-born-after-apartheid

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

http://en.wikipedia.org/wiki/South_African_general_election,_2014
http://en.wikipedia.org/wiki/African_National_Congress
http://en.wikipedia.org/wiki/Apartheid

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท