Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ตลอดเวลาที่เราพูดถึงเวทีประกวดนางงาม เรามักจะพูดถึงเรื่องความสวย ความงาม และความเหมาะสมที่จะได้เป็นตัวแทนของประเทศนั้นๆ ท่ามกลางเสียงชมและเสียงด่าของแฟนคลับ ที่ส่วนใหญ่เรามักจะเห็นได้ชัดว่าจะเป็นกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะคนที่นิยามตนว่าเป็นเพศหญิง หรือคนข้ามเพศ และเกย์บางส่วนในสังคมไทยก็ได้ติดตามการประกวดอย่างใกล้ชิดเช่นกัน ปรากฏการณ์ทางสังคมหาได้เป็นสิ่งธรรมดาสามัญสำหรับพวกเขาว่าเกิดมาเป็นคนที่มีลักษณะชื่นชอบในความเป็นหญิงแล้ว ต้องชอบต้องอยากเป็นนางงามรักเด็กเท่านั้น   แต่มันกำลังสะท้อนวิธีคิดเรื่องการจัดบทบาททางเพศในสังคมที่กำลังครอบงำว่า เวทีนางงามคือสถานที่สำหรับคนกลุ่มนี้ และในขณะเดียวกันสิ่งที่น่าสะพรึงให้พึงตระหนักอีกอย่างคือ เรากำลังผลิตซ้ำภาพของมายาคติความงาม (Beauty Myth) ในสังคม ที่มันพ่วงมากับการประเมินและตัดสินคุณค่าความงามในรูปแบบอื่นที่ถูกมองว่าไม่ได้มาตรฐานให้ไม่มีที่ยืน และเป็นความงามที่ไม่พึงประสงค์  อันนำมาสู่คำถามที่ว่าอะไรคือความงาม และความงามที่แท้จริงมีอยู่หรือ?

เป็นอันทราบกันดีว่า ความงามเป็นเรื่องของปัจเจก หรือความงามนั้นเป็นเรื่องการรับรู้ส่วนบุคคล คนบางคนชอบคนผอม คนบางคนชอบคนอ้วน และหลายๆ รสนิยมที่เรามีแตกต่างหลากหลายกันในสังคม ทำให้คนในสังคมบางกลุ่มที่เชื่อว่ามันมีความจริงแท้แน่นอนเกี่ยวกับมาตรฐานความงามได้ก่อกำเนิด “การประกวดนางงาม” ขึ้น ซึ่งหากถามว่าในมุมประวัติศาสตร์และมานุษยวิทยามีการประกวดความงามเกิดขึ้นเมื่อไหร่ คงเป็นเรื่องยากที่จะค้นหาได้ แม้กระทั่งในเทพนิยายกรีกเราก็ยังมีคติของการตัดสินความงาม โดยมีชายหนุ่ม Paris เป็นผู้ตัดสินความงามของเทพธิดาทั้งสาม จนเกิดการแย่งชิง Helen  ที่เราเชื่อกันว่าเธอเป็นผู้หญิงที่งามที่สุดในโลก อันนำมาซึ่งสงครามกรุงทรอย และอีกหลายตำนานมากมาย ทำให้เห็นว่า เรื่องของความงามเป็นสิ่งที่มีอยู่ในทุกยุคทุกสมัย บางที่ในชนเผ่าต่างๆ ก็อาจมีการคัดเลือกคนงามที่แตกต่างกันไป ความงามในสังคมไทย ในพม่า ในยุโรป ในละตินอเมริกา ในอาฟริกา ก็แตกต่างกัน ดังนั้น รสชาติการรับรู้ความงามจึงเป็นเรื่องที่แตกต่างกันไป ไม่มีถูกหรือผิดโดยชัดเจน ความงามในวันนี้กับเมื่อวานก็อาจแตกต่างกันได้

แต่การประกวดความงามที่มาพร้อมกับความเป็นสมัยใหม่ที่พร้อมจะสร้างมาตรฐานสำเร็จรูปในการตัดสินและประเมินคุณค่าของความงาม ได้เกิดขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงมนุษย์ผู้หญิงให้กลายมาเป็นตุ๊กตาบาร์บี้ ที่พร้อมจะสอดรับกับมายาคติของความงามในยุคนั้นๆ อันมาพร้อมกับการออกแบบเรือนร่าง ตับไต ไส้พุง ของผู้หญิงว่าต้องมีลักษณะเช่นใดจึงจะเรียกว่าสวยและได้รับการยอมรับ ซึ่งความคิดเช่นนี้มักจะมาพร้อมกับการมองว่าผู้หญิงเป็นสัตว์ที่เกิดมาและพร้อมที่จะอยู่กับสิ่งสวยงาม บ้องแบ๊ว อันต่างจากผู้ชายที่เกิดมาต้องมีความทะมัดทะแมง กล้าหาญ แข็งแรง แข็งแกร่ง อันเป็นชุดความคิดแบบทวินิยมที่เราจะเห็นได้ชัดว่า การประกวดนางงาม (ทั้งของมิสยูนิเวิร์สและมิสทิฟฟานี่) กับชายงาม ที่มากับมายาคติเรื่องความงามของทั้งสองเพศนี้นั้นล้วนต่างกันโดยสิ้นเชิง ผู้หญิงจะต้องถูกวางบทให้มีกายสรีระอ้อนแอ้น ผอมแห้ง จนหนังแทบหุ้มกระดูก แต่ความอ่อนแอและน่าทะนุถนอมเช่นนี้นั้นถูกมองว่าเป็นความงามของผู้หญิงที่พึงประสงค์ ในขณะที่การประกวดชายงามนั้นมาพร้อมกับร่างกายที่กำยำ ยิ่งใครกล้ามใหญ่ ดูแข็งแรงเท่าไหร่ ก็ยิ่งสนองต่อความงามของผู้ชายเท่านั้น ซึ่งทุกวันนี้การประกวดนายแบบมีมากขึ้นกว่าแต่ก่อนซึ่งมาพร้อมกับการควบคุมเรือนร่างของผู้ชายให้ต้องกำยำแข็งแกร่ง อันสะท้อนคติของการจัดวางบทบาททางเพศให้ผู้หญิงต้องอ่อนแอ สวยงาม แต่ผู้ชายนั้นอยู่กับความแข็งแรง กล้าแกร่ง

ด้วยเหตุนี้เองความงามจึงไม่สามารถถูกนำไปตีความให้กับคนที่ไม่ได้อยู่ในมายาคติความงามเช่นที่สังคมไทยคาดฝัน เช่น คนอ้วน คนผิวดำ คนแคระแกร็นตัวไม่สูง โดยคนกลุ่มนี้ก็จะถูกขับไสไล่ส่ง ตราหน้า (stigmatize) ให้คนกลุ่มนี้รู้สึกว่า มันแย่มากที่ไม่สามารถมีความงามแบบที่คนส่วนใหญ่นั้นปรารถนา แน่นอนความรู้สึกอยากจะขาว อยากจะผอม มันไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่มันจะผิดก็ตรงที่ทัศนคติของคนในสังคมที่กำลังสถาปนาและผลิตซ้ำมาตรฐานความสวยความงามให้ไปกดทับกลุ่มคนกลุ่มอื่น และประเมินคุณค่าความงามในรูปแบบอื่นให้เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจจนถึงเหยียดชาติพันธุ์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมที่เห็นเพียงว่าความงามเป็นเรื่องของผู้หญิงเท่านั้น อันนำมาสู่การตัดสินว่า “ผู้หญิงที่พึงประสงค์” ต้องสวย ผอม ขาว แต่สังคมกลับลดทอนศักยภาพของคนกลุ่มนี้ในด้านอื่นๆ เช่น การมีสมอง การทำงาน และความสามารถด้านอื่นๆ ให้ผู้หญิงมีคุณค่าเหลือเพียงเปลือกอาภรณ์ภายนอกเท่านั้น ทั้งที่ผู้หญิงเอง กะเทยเอง ก็ล้วนเป็นคน เป็นมนุษย์ ที่ไม่ควรถูกสังคมจองจำให้อยู่ในกฎเกณฑ์ของความงามที่มองเราเพียงเปลือกนอก

และด้วยนิยามความงามที่มองผู้หญิงแต่เปลือกกายนั้น ทำให้บนเวทีการประกวดนางงามจึงรับไม่ได้ที่เราจะมีนางงามอ้วนเตี้ย จนต้องแยกให้คนกลุ่มนี้ไปประกวดกันเอง แถมแฝงไปด้วยความตลกเหยียดเพศ เช่น ใช้คำว่า “ธิดาช้าง” และคนกลุ่มอื่นๆ อย่าง ป้าแว่น ผู้หญิงห้าวๆ ผู้หญิงฉลาดตั้งคำถามทุกเรื่อง หรือคนอย่าง Lady Gaga, Miley Cyrus หรือใครก็ตามที่ไม่เข้าพวก จึงไม่สามารถถูกจัดหมวดหมู่ให้เข้ากับนิยามของความงามบนเวทีเช่นนี้ได้ เพราะตราบใดก็ตามที่เราเปลี่ยนนิยามของ “ความงาม” ให้เป็นเรื่องของการแสดงศักยภาพในด้านอื่นๆ ที่มนุษย์ผู้หญิงมี ให้ผู้หญิงแสดงอัตลักษณ์ของตนอย่างเต็มที่ นั่นเท่ากับว่าเรากำลังแหวกม่านประเพณี เปลี่ยนตุ๊กตาบาร์บี้ให้กลายมาเป็นมนุษย์ สังคมจึงรับกับความเป็นจริงไม่ได้ และอยากจะจองจำ “ผู้หญิง” ให้กลายเป็นสัตว์แห่งความงามต่อไป มากกว่าจะทำให้เธอมีความงามแบบที่คนทั่วๆ ไปมี ชื่อของเวทีประกวดความงามจึงเป็นการตั้งชื่อที่ผิด เพราะเราไม่ได้ประกวดความงาม แต่เราประกวดมายาคติความงาม (Beauty Myth Pageant)

จึงไม่ต้องแปลกใจที่เราจะเห็นกองเชียร์เวทีนางงาม ล้วนเป็นคนที่มีลักษณะความเป็นหญิงเสียส่วนมาก ด้วยปัจจัยที่กล่าวไปแล้วว่า เราถูกสั่งสอนเลี้ยงดูจนคิดว่าผู้หญิงต้องคู่กับความงามเท่านั้น คนกลุ่มนี้เลยจะมี passion มากเกี่ยวกับเรื่องนี้ และหากเป็นผู้ชายก็จะเป็นผู้ชายที่มองผู้หญิงคนนั้นเพื่อสนองต่ออารมณ์ความชอบของตน ด้วยเหตุนี้ ความงามที่เราเชยชมกันจากบนเวทีประกวดทั้งหลายจึงแฝงมากับความคาดหวังจากสังคมที่มีต่อความงามของผู้หญิง เสียมากกว่าความงามที่ผู้หญิงเป็นคนเลือกเอง เราเองก็จะสรรเสริญนางงามที่ผอมแห้ง ส่งเสริมการทำร้ายตนเอง อดข้าวอดน้ำ กินยาลดน้ำหนักอย่างนี้ต่อไป พร้อมกับรางวัลที่สังคมจะมอบให้เป็นการปลอบใจ นั่นก็คือ การได้เป็นนางงามมาตรฐานสากล อันเป็นความงามที่สังคมชี้ให้ควรเป็น โดยที่เราอาจจะไม่รู้ตัวว่า เราไม่ได้เลือกเองด้วยซ้ำ 

นอกจากนั้นแล้ว ความงามในฐานะของการเป็นตัวแทนของสังคมหรือประเทศนั้นๆ บางครั้งก็สะท้อนความคาดหวังบางอย่างให้กับคนที่จะไปเป็นตัวแทนนั้นๆ เช่น นางงามไทยก็ต้องมีความเป็นไทยสูง ต้องพกศีลธรรมอันดีงามแบบไทยๆ ไปเผยแพร่แม้ว่าคุณจะงามแค่ไหน แต่หากความงามแบบของคุณผิดแผกไปจากกรอบศีลธรรมแบบไทยๆ  ความงามนั้นก็จะมลายสิ้น เราเลยเห็นว่าการจะเป็นนางงามแบบไทยๆ นั้น ยิ่งต้องลดความเป็นมนุษย์ของตนเองลงอีก เช่น ห้ามใช้คำหยาบคาย เหี้ย กูมึง หรือห้ามบอกกับใครว่าไปมีอะไรกับใครมาบ้าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ในความเป็นมนุษย์ก็ไม่ควรใช้คำแห่งความเกลียดชัง (hate speech) อย่างเช่น คำที่ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เหยียดเพศผู้อื่น เช่นที่นางงามคนล่าสุดและกองเชียร์ของเธอ และคนที่ต่อต้านเธอได้ทำไว้ เพราะมันเป็นการแสดงว่าเรากำลังมองมนุษย์ด้วยกันไม่เท่ากันจากอคติทางความคิด พอเห็นคนที่เห็นต่าง มีรูปลักษณ์ที่ต่าง ก็ขับไสไล่ส่งเขาไป แต่อย่างไรก็ตาม สิทธิความเป็นที่นางงามควรจะได้เป็นคนใช้ชีวิตตีลังกาในแบบที่เธอเป็นก็หาใช่สิ่งที่ผิดไม่

ทั้งนี้ทั้งนั้นแล้วความรู้สึกอยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเองจึงไม่ใช่สิ่งที่ผิด การมีเวทีประกวดความงามจึงอาจไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาจริงๆ คือ ทัศนคติของสังคมเราที่กำลังสร้างและผลิตซ้ำคุณค่าของความงามเพียงรูปแบบเดียว เพื่อมาลดทอนคุณค่าของความงามอื่นๆ ที่มนุษย์คนอื่นในสังคมมีต่างออกไป ทำให้ความงามแบบที่ต่างต้องถูกประณามหยามเหยียดจากคนในสังคม และหากผู้หญิงยังไม่หันมาสนใจต่อปัญหาที่เราอาจจะถูกกดทับโดยไม่รู้ตัว ให้เราต้องทุกข์ทรมานจากการถูกสังคมกดดัน คาดหวังให้เป็น เราจะต้องรอให้มีอีกกี่ศพที่ฆ่าตัวตาย หรือต้องมาตายเพราะความรู้สึกว่าตนเองด้อยกว่า โดนกดดัน โดนด่า กลั่นแกล้ง เพราะหน้าตาไม่สวย ผู้หญิงหรือใครก็ตาม เพศใดก็ตาม ล้วนงามตรงที่เราเป็นคน มีความสามารถในการเลือกและตัดสินใจในตนเองได้ และในขณะเดียวกันเราก็ไม่ควรเอาความชอบ ความงามของเราไปตัดสินคนที่แตกต่างจากเราให้ต้องถูกกดขี่เพียงเพราะเขาไม่ได้สวยในแบบที่เราเข้าใจ

หวังว่าสักวันหนึ่งเราจะมีที่ยืนให้กับความงามแบบอื่นๆ ได้อย่างเท่าเทียมกัน บนสีสันของความงามที่หลากหลาย คือความงามในสังคมประชาธิปไตยที่ไม่ได้มีใครไม่สวยกว่าใคร เพราะตัวเตี้ยกว่า อ้วนกว่า แต่เราจะทำอย่างไรที่จะยอมรับความงามที่แตกต่างหลากหลายไปจากที่เรารับรู้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net