Skip to main content
sharethis
เจ้าหน้าที่ป่าไม้ อ้างคำสั่ง คสช. ติดป้าย ให้ชาวบ้านบ่อแก้วออกจากพื้นที่ภายใน 30 วัน ขณะที่ชาวบ้านกรณีพิพาทสวนป่าโคกยาวโดนขีดเส้นย้ายออใน 15 วัน นับแต่วันที่ประกาศ หากพ้นกำหนดจะเข้าทำการรื้อถอน โดยเฉียบขาด
 
 
27 ส.ค.57 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 16.30 น.วันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา ชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ แจ้งว่า มีกำลังเจ้าหน้าที่ ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ ตำรวจ ออป. และฝ่ายปกครอง ประมาณ 20 คน เข้ามาติดป้ายประกาศขนาดใหญ่ พร้อมแจ้งให้ชาวบ้านบ่อแก้ว ออกจากพื้นที่ พร้อมทั้งรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างรวมทั้งพืชผลอาสินทั้งหมดออกไปภายใน 30 วัน นับแต่วันปิดประกาศ
 
ชาวบ้าน เล่าว่า ได้เข้าไปสอบถามถึงที่มา เจ้าหน้าป่าไม้อ้างว่าได้รับคำสั่งจากจังหวัดชัยภูมิ อาศัยอำนาจคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่า และคำสั่งของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ที่ 64/2557 ลงวันที่ 14 มิ.ย. 25557 เรื่องการเข้าไปบุกรุกยึดถือครอบครองในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม บริเวณสวนป่าคอนสาร ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เป็นการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ม.14 ฐานยึดถือครอบครองทำประโยชน์อยู่หรืออาศัยในที่ดิน ก่นสร้าง แผ้วถางฯ
 
นอกจากนั้น ชาวบ้าน ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ในพื้นที่กรณีพิพาทสวนป่าโคกยาว ได้รายงานงานข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2557 เวลาประมาณ 13.00 น. เจ้าหน้าที่ป่าไม้ พร้อมกับตำรวจและฝ่ายปกครองกว่า 10 นาย ได้เข้ามานำแผ่นป้ายเช่นเดียวกับที่บ้านบ่อแก้ว คือให้รื้อถอนออกจากพื้นที่ แต่ถูกขีดเส้นให้ออกจากพื้นที่ภายใน 15 วัน โดยประกาศดังกล่าว ลงนามเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2557
 
แม้ชาวบ้านจะพยายามอธิบายต่อเจ้าหน้าที่ว่า พื้นที่ทั้งสองมีกลไกในการตรวจสอบของคณะกรรมการร่วมว่าชาวบ้านอยู่มาก่อนการประกาศเขตที่ดินของรัฐ รวมทั้งได้มีนโยบายร่วมกับรัฐบาลมาหลายยุค โดยล่าสุดมีข้อตกลงร่วมว่าในระหว่างการแก้ไขปัญหาสามารถให้ประชาชนใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทำกินได้ อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่อ้างว่า พวกตนมีหน้าที่มาปฏิบัติตามคำสั่งเท่านั้น
 
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ระบุว่าทั้งสองพื้นที่หากไม่ทำความคำสั่ง เจ้าหน้าที่จะดำเนินการเข้ามารื้อถอนเอง พร้อมทั้งจะดำเนินการตามกฎหมายโดยเฉียบขาด ต่อไป
 
ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นชาวบ้านเริ่มวิตกกังวล ว่าเจ้าหน้าที่จะเข้ามาไล่รื้อ และทำลายทรัพย์สินของพวกตน เหมือนที่เกิดขึ้นแล้วในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ที่หน่วยงานราชการฉวยโอกาส มากลั่นแกล้งพวกเขา
 
 
 
 
กรณีพิพาทชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ
 
กำเนิดชุมชนบ่อแก้ว
 
ชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เป็นการปรากฏตัวของผู้ประสบปัญหาการสูญเสียที่ดินทำกิน ภายหลังจากที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้  (อ.อ.ป.)  ยึดที่ของพวกเขาไปปลูกยูคาลิปตัส เมื่อปี 2521 เนื้อที่ทั้งสิ้น 4,401 ไร่ ส่งผลให้หลายครอบครัวต้องถูกอพยพจากที่ดินทำกินเดิม บ้างไปอาศัยอยู่กับญาติ บางครอบครัวแตกสลาย กลายเป็นแรงงานรับจ้าง เพราะไม่มีที่ดินทำกิน
 
ตลอดระยะเวลา 30 กว่าปี พวกเขาต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อทวงคืนผืนแผ่นดินเดิม แต่ผลลัพธ์ที่ได้คือการข่มขู่ คุกคามจากผู้มีอิทธิพล ที่เจ้าหน้าที่ออป.ว่าจ้างมา การจับกุมดำเนินคดีโดยยัดเยียดข้อหาร้ายแรง เช่น มีอาวุธสงครามไว้ในครอบครอง ในกรณีนายวัก โยธาธรรม ที่ถูกกลั่นแกล้งโดยเจ้าหน้าที่ ในปี พ.ศ. 2529 เป็นต้น
 
ภายหลังปี พ.ศ. 2547 ชาวบ้านผู้เดือดร้อนในเขตอำเภอคอนสาร ได้รวมตัวกันในนาม “เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์ลุ่มน้ำเซิน (คอซ.)”  และทำการชุมนุมที่หน้าสำนักงานสวนป่าคอนสาร ในวันที่ 9 – 11 พฤศจิกายน 2547 ซึ่งถือเป็นปฐมบทของการต่อสู้รอบใหม่ ที่ประชาชนมีรูปการจัดตั้งอย่างเป็นแบบแผน
 
ช่วงปี พ.ศ. 2548 – 2552 พวกเขาผลักดันให้เกิดกลไกการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีกลไกรัฐร่วมกับฝ่ายประชาชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และหน่วยงานระดับท้องถิ่น ผลปรากฏว่า ทุกกลไกดังกล่าวข้างต้น มีความเห็นตรงกันว่า “สวนป่าคอนสารปลูกสร้างทับที่ดินทำกินของประชาชน ให้ยกเลิกสวนป่าแล้วนำที่ดินมาจัดสรรแก่ผู้เดือดร้อนต่อไป”  อย่างไรก็ตาม มติดังกล่าวไม่ได้รับการปฏิบัติจาก ออป.แต่อย่างใด และเป็นที่มาของการเข้ายึดพื้นที่ของชาวบ้านผู้เดือดร้อนในวันที่ 17 กรกฎาคม 2552
 
สู่การทวงคืน และพลิกฟื้นผืนแผ่นดิน
 
ปฏิบัติการเข้ายึดพื้นที่ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2552  ชาวบ้านผู้เดือดร้อนกว่า 200 คน ได้ปักหลักในพื้นที่พิพาท และจัดตั้ง “หมู่บ้านบ่อแก้ว”  ขึ้น เพื่อแสดงสัญลักษณ์ความเป็นเจ้าของพื้นที่ พร้อมกับประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน ในรูปแบบ “โฉนดชุมชน”  ตามที่ได้ผลักดันให้รัฐบาลสมัยนั้นมีมาตรการทางนโยบายเพื่อคุ้มครองสิทธิที่ดินดังกล่าว กระทั่งมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน ในเวลาต่อมา
 
ความไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม
 
คือบทเรียนแรกสุดของชาวชุมชนบ่อแก้ว โดยในวันที่ 27กันยายน 2552 ออป. ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องชาวบ้านรวม 31 ราย โดยโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยและบริวารได้กระทำการบุกรุกเข้าไปในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนามโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงขอให้ศาลได้มีมีคำสั่งขับไล่จำเลยและบริวารออกจากพื้นที่ พร้อมกับรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และไม้ผลไม้ยืนต้นที่ปลูกไว้
 
ปัญหาคดีความจึงเป็นโจทก์ท้าทายในช่วงแรกของการเข้ายึดพื้นที่ นอกจากปัญหาการข่มขู่ คุกคามของเจ้าหน้าที่ที่สนธิกำลังวันละประมาณ 100 นาย ตั้งจุดตรวจรอบบริเวณชุมชนบ่อแก้ว ชาวบ้านได้ประสานงานสภาทนายความในการให้ความช่วยเหลือเรื่องคดีความ และงบประมาณช่วยเหลือในการต่อสู้คดีจากกองทุนยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม
ปัจจุบัน สถานภาพของคดีอยู่ในชั้นการพิจารณาของศาลฏีกา โดยศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกจากพื้นที่ภายใน 30 วัน ตามฟ้องโจทก์ และออป. ได้แจ้งพร้อมกับวางเงินกับเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อดำเนินการปิดหมายบังคับคดี แต่ชาวบ้านได้เคลื่อนไหวโดยการเดินเท้าทางไกลจากคอนสารถึง กทม. ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ – 16 มีนาคม 2554 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลสั่งการให้ออป.ถอนการบังคับคดี และเร่งประกาศพื้นที่โฉนดชุมชนในพื้นที่พิพาทสวนป่าคอนสาร
 
การเจรจาระหว่างผู้แทนชาวบ้านกับ ออป. เกิดขึ้นในวันที่ 2 มีนาคม 2554 โดยบรรลุข้อตกลง 3 ข้อคือ ออป.จะไม่เร่งรัดบังคับคดี การนำพื้นที่จำนวนประมาณ 1,500 ไร่ ไปดำเนินการโฉนดชุมชน ให้ผู้แทนออป. สำนักนายกรัฐมนตรี และชาวบ้านผู้เดือดร้อน ลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกัน ส่วนการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าว ให้นำข้อกำหนดของออป.มาปรับปรุงให้เกิดการยอมรับร่วมกัน
 
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าทั้ง 3 หน่วยงานข้างต้นจะลงสำรวจพื้นที่ร่วมกัน โดยมีเนื้อที่ที่ชาวบ้านเสนอให้นำมาดำเนินการในช่วงฤดูการผลิตปี 2554 จำนวน 250 ไร่ แต่เมื่อชาวบ้านจะเข้าไปทำประโยชน์กลับมีป้ายตรวจยึด จับกุมของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ กระทั่งนำมาสู่สถานการณ์เผชิญหน้ากันอีกรอบหนึ่ง ในช่วงเดือน กรกฎาคม  2554
 
ปี พ.ศ. 2555 ชุมชนบ่อแก้วได้ยกระดับเป้าหมายไปสู่การพัฒนาระบบการผลิตในพื้นที่ชุมชน เนื้อที่ประมาณ 120 ไร่ โดยกำหนดเป็น “หมู่บ้านเกษตรกรรมอินทรีย์”  ทั้งพื้นที่แปลงรวม และพื้นที่สิทธิการใช้ส่วนบุคคล ทั้งนี้ เพื่อทำหน้าที่พัฒนาพลังการผลิตของสมาชิกให้สามารถพึ่งตนเองได้ จำหน่ายได้ในผลผลิตบางประเภท การฟื้นฟูระบบนิเวศ ซึ่งเปรียบเทียบกับสวนป่ายูคาลิปตัสของออป. จะเห็นว่ามีนัยที่แตกต่างกันมาก การสร้างความมั่นคงทางอาหาร และความร่วมมือของคนท้องถิ่น
 
 
กรณีพิพาทสวนป่าโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ
 
พื้นที่พิพาทดังกล่าว ถูกประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนามเมื่อปี 2516 ครอบคลุมพื้นที่ ต.ทุ่งลุยลาย ต.ทุ่งพระ ต.ทุ่งนาเลา ต.ห้วยยาง ต.ดงกลาง อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ประมาณกว่า 290,000 ไร่
 
ในส่วนพื้นที่ ต.ทุ่งลุยลาย ที่ยกกรณีของสวนป่าโคกยาวมานี้นั้น ปมที่มาจนเกิดข้อพิพาทและเป็นคดีความขึ้นมานั้น ได้มีโครงการปลูกสวนป่า ทดแทนพื้นที่สัมปทาน ด้วยการนำไม้ยูคาลิปตัสมาปลูกในพื้นที่เมื่อปี 2528 โดยเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และกองกำลังทหารพราน ได้อพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ทำกินเดิม โดยสัญญาว่าจะจัดสรรที่ดินแห่งใหม่ให้รายละ 15 ไร่ เมื่อชาวบ้านบางส่วนออกจากพื้นที่ เพื่อเตรียมการจะเข้ามาอยู่ตามพื้นที่จัดสรร กลับปรากฏว่าเป็นที่ดินผืนนั้นมีเจ้าของเป็นผู้ครอบครองอยู่แล้ว  ดังนั้นชาวบ้านจึงเสมือนตกอยู่ในสภาพถูกลอยแพ กลายเป็นคนไร้ที่ดินมานับแต่นั้น
 
การเรียกร้องต่อสู้เมื่อการดำเนินชีวิตของชาวบ้านถูกลอยแพ จึงเริ่มแต่บัดนั้น เมื่อปี พ.ศ.2548 คณะทำงานตรวจสอบพื้นที่ที่มีนายธนโชติ ศรีกุล ปลัดอาวุโสอำเภอคอนสารเป็นประธาน ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการถือครองทำประโยชน์ที่ดิน และการสำรวจรังวัดพื้นที่ กระทั่งมีมติว่าสวนป่าโคกยาวได้สร้างผลกระทบต่อชาวบ้านที่ถูกอพยพ ขับไล่ออกจากพื้นที่จริง และให้ดำเนินการช่วยเหลือชาวบ้านผู้เดือดร้อน
 
ต่อมาคณะอนุกรรมการสิทธิที่ดินและป่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้มีรายงานผลการละเมิดสิทธิ โดยมีมติว่าการปลูกสร้างสวนป่าโคกยาวได้ละเมิดสิทธิในที่ดินของผู้ร้อง และให้ยกเลิกสวนป่าโคกยาว ทั้งนี้ ในระหว่างการแก้ไขปัญหาจนกว่าจะได้ข้อยุติ ให้ราชการผ่อนผันให้ราษฎรผู้เดือดร้อน สามารถทำกินในระหว่างร่อง แถวของสวนป่าไปพลางก่อน จากนั้น นายก อบต.ทุ่งลุยลาย ได้มีหนังสือไปยังผู้อำนวยการสำนักบริหารทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 นครราชสีมา เพื่อขอให้ราษฎรผู้เดือดร้อนสามารถเข้าทำประโยชน์ที่ดินในพื้นที่พิพาท โดยทำกินในระหว่างร่องระหว่างแถวของสวนป่า จนกว่าการแก้ไขปัญหาจะได้ข้อยุติท้ายที่สุดกลับต้องตกเป็นจำเลยเป็นกรณีพิพาทที่ดินสวนป่าโคกยาว  ทั้งที่ก่อนหน้านั้นตามมติ ครม.ปี 2553 เห็นชอบให้ชาวบ้านสามารถเข้าทำประโยชน์ในสวนป่าได้โดยไม่มีการข่มขู่ กักขัง และดำเนินคดีในช่วงที่กำลังมีการแก้ไขปัญหา แต่ชาวบ้านในพื้นที่ยังคงประสบปัญหาถูกคุกคามและจับกุมอยู่สืบเนื่องเรื่อยมา
 
สถานการณ์ที่มาสู่ข้อพิพาท
 
เช้ามืดของวันที่ 1 ก.ค.54 ราวตี 5 ครึ่ง เจ้าหน้าที่นำโดยนายอำเภอคอนสาร (นายประทีป ศิลปะเทศ) สนธิกำลังของป่าไม้ ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ประมาณ 200 นาย นำกำลังเข้ามาในพื้นที่พิพาทที่ดินสวนป่าโคกยาว เขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ และจับกุมชาวบ้านรวม 10 ราย โดยต่อมามีการฟ้องรองคดีกับชาวบ้านโดยเจ้าหน้าที่ป้องรักษาป่าที่ ชย.4 คอนสาร เป็นโจทก์ โดยแยกเป็น 4 คดี รวม 10 ราย
 
ลำดับการอ่านคำพิพากษา ศาลจังหวัดภูเขียว อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ กรณีสวนป่าโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ
ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาชาวบ้าน (จำเลย)   โดยแยกเป็น 4 คดี 10 ราย  โดยมีเจ้าหน้าที่ป้องรักษาป่าที่ ชย.4 คอนสาร เป็นโจทก์
คดีที่ 1 วันที่ 22 พ.ค.55 จำคุก 4 เดือน ไม่รอลงอาญา
คดีที่ 2 วันที่ 13 มิ.ย.55 จำคุก 4 เดือน ไม่รอลงอาญา
คดีที่ 3 วันที่ 9 ส.ค.55 จำคุก 6 เดือน ไม่รอลงอาญา
คดีที่ 4 วันที่ 28 ส.ค.55 จำคุก 6 เดือน ไม่รอลงอาญา ส่วนจำเลย อีก 3 ราย ศาลยกฟ้อง
 
ลำดับการอ่านคำพิพากษาศาลชั้นอุทธรณ์ภาค 3
คดีที่ 1 วันที่ 6 มี.ค. 56  ที่ศาลจังหวัดภูเขียวนัดอ่านฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3  ยืนตามศาลชั้นต้น ให้จำเลย มีคำสั่งให้ จำคุก 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญา
คดีที่ 4 วันที่ 25 เม.ย. 56  ที่ศาลจังหวัดภูเขียวนัดอ่านฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3  ยืนตามศาลชั้นต้น ให้จำเลย จำคุก 6 เดือน ส่วนอีก 3 รายนี้ ศาลยกฟ้อง
ได้ประสานไปยังกองทุนยุติธรรม โดยทางกองทุนยุติธรรม ของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งได้ทำเรื่องขอความช่วยเหลือแก่ชาวบ้านและได้ประกันตัวออกมา เพื่อสู้คดีในชั้นฎีกาต่อไป
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net