Skip to main content
sharethis

ครบรอบ 10 ปีรัฐประหาร คสช. 22 พ.ค. 2557 ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ คาดหวังเป็นรัฐประหารครั้งสุดท้าย หากเกิดรัฐประหารอีกในอนาคตจะสร้างความเสียหายทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมรุนแรงเกิดความเสี่ยงและความไม่แน่นอนสูงมาก อาจเปิดโอกาสนำไปสู่การแทรกแซงทางการเมืองของมหาอำนาจ การแก้ปัญหาทางการเมืองด้วยวิถีทางประชาธิปไตยและระบอบการปกครองโดยกฎหมาย ยึดหลักนิติธรรมจะนำประเทศไทยไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วใน 10-15 ปีข้างหน้า


ที่มาภาพ: Takeaway (CC BY-SA 3.0)

22 พ.ค. 2567 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ และ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงความเห็นในโอกาสครบรอบ 10 ปีรัฐประหาร คสช. 22 พ.ค. 2557 ว่าคาดหวังเป็นรัฐประหารครั้งสุดท้าย หากเกิดรัฐประหารอีกในอนาคตจะสร้างความเสียหายทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมรุนแรง พัฒนาทางการเมืองหลังเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองตั้งแต่ปลายปี 2548 จนกระทั่งเกิดการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ได้เกิดพลังที่ไม่ยอมรับความชอบธรรมของรัฐบาลที่ได้ชัยชนะมาอย่างท้วมท้นจากการเลือกตั้ง โดยพลังนี้พยายามจะทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และ พลังที่เป็นอุปสรรคอย่างแท้จริงต่อการพัฒนาการเมืองแบบเลือกตั้ง คือ พลังที่ไม่ค่อยพอใจกับการเมืองแบบเลือกตั้ง และ พลังดังกล่าวนี้อาจถึงกับยอมรับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแบบไม่เป็นประชาธิปไตย เช่น การรัฐประหาร เมื่อการเมืองแบบเลือกตั้งส่งผลกระทบต่ออำนาจและผลประโยชน์ของพวกเขา อย่างไรก็ตาม เวลาเราต้องการทำให้เกิดประชาธิปไตยที่มั่นคง (Democratic Consolidation) นั้น เราไม่ได้ต้องการเพียงรัฐบาลจากการเลือกตั้งเท่านั้น เราต้องการรัฐธรรมนูญกติกาสูงสุดที่เป็นประชาธิปไตย ระบบการเลือกตั้งที่เปิดเผย เป็นกลางและเที่ยงธรรม เราต้องการระบบราชการและระบบการเมืองที่มีธรรมภิบาล มีประสิทธิภาพ รวมทั้ง ความมีระเบียบและเสถียรภาพอีกด้วย

รัฐประหารเมื่อ 10 ปีที่แล้วได้นำประเทศไทยกลับไปสู่ระบอบการปกครองแบบเผด็จการทหารอีกครั้งหนึ่ง แต่มีลักษณะที่ผ่อนคลายกว่า เผด็จการทหารในยุค 2500-2516 เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากและไม่เกื้อหนุนต่อระบอบอำนาจนิยมที่ใช้อำนาจอย่างเด็ดขาดรุนแรง รัฐบาล คสช ใช้อำนาจปกครองยาวนานเกือบ 5 ปี จึงยอมให้มีการเลือกตั้งได้ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาใหม่ในปี 2560 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาคล้ายรัฐธรรมนูญปี 2521 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยครึ่งใบ

ต่อมา คณะกรรมการเลือกตั้งได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค. 2562 โดยใช้ระบบการเลือกตั้งแบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” (Mixed-Member Appointment System – MMA) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการใช้ระบบเลือกตั้งแบบนี้ในประเทศไทย การเลือกตั้งในครั้งนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศว่า ไม่มีความบริสุทธิ์ยุติธรรม มีความล่าช้าและความคลาดเคลื่อนในการประกาศผลคะแนนเกือบทุกเขตเลือกตั้ง การคำนวณ สส. ในระบบจัดสรรปันส่วนผสมของแต่ละพรรคและการนับคะแนนเสียงผลการเลือกตั้งก็ไม่มีมาตรฐาน มีข้อสงสัยเรื่องความโปร่งใส ความเป็นกลางและประสิทธิภาพในการทำงานของคณะกรรมการเลือกตั้งในการจัดการเลือกตั้งก็ถูกตั้งคำถามอย่างมาก อย่างไรก็ตาม รัฐบาลประยุทธ์ ก็ได้รับการจัดตั้งขึ้นจากเสียงของสมาชิกวุฒิสภา 250 เสียง และ คะแนนเสียงจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จาก พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และ พรรคขนาดกลางและขนาดเล็กอีกจำนวนหนึ่ง

รัฐธรรมนูญปี 2560 และ การเลือกตั้งปี 2562 นั้นเป็นไปเพื่อรองรับการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร คสช. และสร้างความชอบธรรมให้การสืบทอดอำนาจของระบอบคณาธิปไตย มากกว่าการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยที่คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพและอำนาจของประชาชนอย่างแท้จริง อำนาจของระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบนี้ถูกท้าทายด้วยกระแสประชาธิปไตยที่แพร่ขยายด้วยพลังของสื่อสังคมออนไลน์และกระแสโลกาภิวัตน์ที่สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยเป็นค่านิยมสากลของทั่วโลก ต่อมาได้มีการยุบพรรคอนาคตใหม่โดยศาลรัฐธรรมนูญ ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงผลการตัดสินที่ไม่เป็นธรรม นำมาสู่การชุมนุมประท้วงโดยมีการจัดกิจกรรมเฟลชม็อบอย่างต่อเนื่อง การเคลื่อนไหวแบบแฟลชม็อบของนิสิตนักศึกษากว่า 50 สถาบันการศึกษาในประเทศไทย เป็นไปในลักษณะการรวมตัวแบบรวดเร็วและสลายตัวเร็ว การส่องแสงแฟลช (Flash) ผ่านมือถือเสมือนเป็นการแสดงออกถึงความมีตัวตนและการแสดงความไม่พอใจต่อการสืบทอดอำนาจของ คสช ผ่านการเลือกตั้ง การใช้อำนาจจำกัดสิทธิเสรีภาพ มีการเรียกร้องประชาธิปไตยและตั้งคำถามต่อระบบความยุติธรรมและระบบนิติรัฐนิติธรรมในประเทศไทย มีการใช้สื่อสังคมออนไลน์หรือโชเชียลมีเดียอย่างมีประสิทธิภาพในการรณรงค์ประชาธิปไตย มีการสร้างคำเพื่อติด “แฮชแท็ก” (hashtag) ต่างๆ เพื่อแสดงจุดยืนทางการเมืองและเอกลักษณ์ของแต่ละสถาบันด้วย ปรากฎการณ์ของแฟลชม็อบบ่งชี้ว่า เยาวชนคนหนุ่มสาวได้กลับมาตื่นตัวและต้องการการมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้นอย่างชัดเจนเช่นเดียวกับพลังของนิสิตนักศึกษาในช่วงเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 – 6 ต.ค. 2519

การชุมนุมประท้วงแฟลชม็อบของนักศึกษาข้างต้นจึงสะท้อนความคับข้องใจต่อสภาวะความอยุติธรรมในสังคม การเรียกร้องทวงคืนประชาธิปไตยที่แท้จริงกลับคืนมา และ ความไม่พอใจต่อการถูกทำลายเสียงของพวกตน รวมทั้งพื้นที่ทางการเมืองของพวกตนจากการถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและตั้งคำถามและการยุบพรรคอนาคตใหม่ที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ต่อมา ในการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 14 พ.ค. 2566 ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้แสดงจุดยืนต้องการให้มีการจัดตั้งรัฐบาลจากพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยด้วยคะแนนเสียงรวมมากกว่า 70% แต่ก็ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลขั้วประชาธิปไตยได้ด้วยเสียงของวุฒิสมาชิกเป็นอุปสรรค จึงได้มีการจัดตั้งรัฐบาลผสมข้ามขั้วแทน เสถียรภาพของรัฐบาลผสมข้ามขั้วยังคงอยู่ภายใต้อำนาจขององค์กรอิสระที่ถูกแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร คสช. และ บทบาทการเคลื่อนไหวล่าสุดของวุฒิสมาชิกชุดแต่งตั้ง สว. รักษาการกลุ่มหนึ่งได้เคลื่อนไหวยื่นถอดถอนนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ขณะที่จะมีการพิจารณายุบ พรรคก้าวไกล ในช่วงเวลใกล้เคียง การรัฐประหารโดยตุลาการหรือองค์กรอิสระ หรือ การรัฐประหารโดยกองทัพ ล้วนทำให้พัฒนาการประชาธิปไตยต้องสะดุดลง สร้างความเสี่ยง ความไม่แน่นอนต่อระบบการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศ

หากเกิดรัฐประหารโดยเฉพาะการรัฐประหารโดยกองทัพขึ้นอีกในอนาคต ย่อมเกิดความเสี่ยงและความไม่แน่นอนสูงมาก อาจเปิดโอกาสนำไปสู่การแทรกแซงทางการเมืองของมหาอำนาจได้ ภูมิภาคนี้และประเทศไทยเป็นพื้นที่ช่วงชิงอำนาจนำ (Hegemony) ของมหาอำนาจอย่างจีน สหรัฐอเมริกา และ อียู อยู่แล้ว การสร้างความมั่นคงให้กับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้นมีความสำคัญอย่างมากต่ออนาคตของรัฐชาติ และ ลดความเสี่ยงของการเข้าแทรกแซงของมหาอำนาจ หากเกิดการรัฐประหารโดยองค์กรอิสระหรือตุลาการ อาจต้องมีการจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นมาใหม่ หรือ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนอกวิถีทางประชาธิปไตยที่เปิดช่องเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ  

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่าการแก้ปัญหาทางการเมืองด้วยวิถีทางประชาธิปไตยและระบอบการปกครองโดยกฎหมาย ยึดหลักนิติธรรมจะนำประเทศไทยไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วใน 10-15 ปีข้างหน้า ประชาธิปไตยแบบผู้แทน (Representative Democracy) จำเป็นต้องมีระบบสถาบันพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง ประชาชนเลือกผู้แทนผ่านระบบพรรคการเมืองเพื่อเข้าทำหน้าที่บริหารประเทศผ่านนโยบายสาธารณะต่างๆ ที่พรรคการเมืองให้สัญญาประชาคมเอาไว้ ผู้ได้รับเลือกตั้งจะทำหน้าที่นิติบัญญัติ บริหาร และในบางประเทศจะมีกระบวนการเลือกตั้งผู้ทำหน้าที่ทางด้านตุลาการ สิทธิในการจัดตั้งหรือเข้าร่วมพรรคการเมืองได้รับการรับรองไว้ในระดับสากล คือ มาตรา 20 ของคำประกาศสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) “บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพที่จะชุมนุมและสมาคมโดยสันติ” ในกติกาว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights, ICCPR) รับรองสิทธินี้ไว้เช่นกันในมาตรา 22 “บุคคลย่อมมีสิทธิในเสรีภาพในการสมาคมกับผู้อื่น รวมถึงสิทธิในการจัดตั้งและเข้าร่วมสหภาพแรงงานเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเขาเอง การจำกัดสิทธินี้จะกระทำมิได้ นอกจากจะกำหนดโดยกฎหมายและเพียงเท่าที่จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงของชาติหรือความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย การสาธารณสุขหรือศีลธรรมของประชาชน หรือ การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น”

ความขัดแย้งและวิกฤตการณ์ทางการเมืองในปี 2549 ได้นำมาสู่จุดเริ่มต้นของการยุบพรรคการเมืองโดยคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ การดำเนินการยุบพรรคการเมืองได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า เป็นการยุบพรรคการเมืองเพื่อจำกัดคู่แข่งทางการเมืองของผู้มีอำนาจรัฐหรือไม่ และ ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของหลักประชาธิปไตยป้องกันตนเอง (Militant Democracy) ไม่ว่าจะเป็นหลักเกณฑ์เป้าหมายที่ต้องมุ่งไปที่การรักษาสิทธิ เสรีภาพ และ หลักการประชาธิปไตยต่างๆ ไม่ใช่เพื่อปิดกั้นหรือทำลายเสรีภาพในการรวมกลุ่มหรือสมาคม และ หลักเกณฑ์ว่า การดำเนินการของพรรคการเมืองมีลักษณะใช้ความรุนแรงเพื่อโค่นล้มระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญภายใต้การแต่งตั้งของคณะรัฐประหารได้ยุบพรรคการเมืองขนาดใหญ่และขนาดกลางจำนวนมาก เริ่มจาก การยุบพรรคไทยรักไทย (2550) พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย (2551) พรรคไทยรักษาชาติ (2562) พรรคอนาคตใหม่ (2563) พรรคการเมืองเหล่านี้ล้วนเป็นคู่แข่งทางการเมืองของผู้มีอำนาจรัฐ และ ผู้มีอำนาจรัฐมองว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อกลุ่มของตน การยุบพรรคการเมืองตามมาด้วยความตึงเครียดทางการเมือง และ ค่อยๆสะสมสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองในแต่ละช่วงเวลา กฎหมายยุบพรรคการเมืองและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของไทยถูกวิจารณ์ในแง่ความชอบธรรมเนื่องจากเป็นผลพวงของรัฐประหารปี 2549 และปี 2557 หลายกรณีเป็นการกระทำของบุคลากรบางคนของพรรคการเมือง ไม่ใช่การกระทำขององค์กร เกิดข้อสงสัยเรื่องความเป็นกลางและเป็นอิสระ  

สถาบันพรรคการเมืองเป็นตัวกลางเชื่อมต่อระหว่างประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย กับ องค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐ ทั้งทางด้านนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหลายฉบับให้ความสำคัญต่อพรรคการเมืองโดยกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะต้องสังกัดพรรคการเมืองตลอดจนการกำหนดกติกาหลายประการเพื่อให้พรรคการเมืองมีความเป็นสถาบันทางการเมือง พรรคการเมืองจึงเป็นองค์กร กลไกและองค์ประกอบสำคัญของระบอบประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือเถลิงอำนาจของกลุ่มอำนาจนิยม และ อาจใช้อำนาจนั้นล้มล้างระบอบประชาธิปไตยได้เช่นเดียวกัน หากพรรคการการเมืองใช้สิทธิเสรีภาพของตนเองเพื่อล้มล้างระบอบประชาธิปไตย ย่อมมีความชอบธรรมในการดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อยุบพรรคการเมืองนั้น อันเป็นไปตามหลักประชาธิปไตยป้องกันตนเอง (Militant Democracy) มาตรการยุบพรรคการเมืองจึงถูกระบุไว้ใน รัฐธรรมนูญปี 2540 ปี 2550 และปี 2560 ประเทศไทยเองมีกฎหมายควบคุมพรรคการเมืองและยุบพรรคการเมืองค่อนข้างเข้มงวดเนื่องจากผู้ร่างรัฐธรรมนูญมีทัศนคติไม่ไว้วางใจนักการเมือง มาตรการเข้มงวดเกินพอดีเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นมาตรการรุนแรงเกินกว่าเหตุ อาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสถาบันพรรคการเมืองและระบอบประชาธิปไตยได้ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้ขยายเหตุแห่งการยุบพรรคกว้างขวางมากกว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา นอกจากนี้ หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญจนถึงปัจจุบัน มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคไปแล้วถึงสองพรรคการเมืองคือ พรรคอนาคตใหม่ และ พรรคไทยรักษาชาติ จนเกิดตั้งคำถามในสังคมโดยเฉพาะในแวดวงวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ว่า ตกลง การยุบพรรคการเมืองตามหลักคิดประชาธิปไตยป้องกันตนเอง (Militant Democracy) ของไทยทำลายหรือปกป้องประชาธิปไตยกันแน่ มาตรการยุบพรรคการเมืองนั้นเชื่อมโยงกับประสบการณ์สมัยสงครามครั้งที่สอง ในช่วงการมีการขยายบทบาทของพรรคการเมืองแนวฟาสซิสต์อำนาจนิยม และ ได้ทำลายระบอบประชาธิปไตยลง ฉะนั้นจึงมีพัฒนากลไกให้ระบอบประชาธิปไตยปกป้องตัวเองด้วยการให้อำนาจในการยุบพรรคการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยได้ มาตรการยุบพรรคนี้เป็นมาตรการที่ผลรุนแรงต่อพัฒนาการประชาธิปไตยและการพัฒนาสู่ความเป็นสถาบันของพรรคการเมือง เป็นมาตรการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและมักถูกตั้งคำถามในความชอบธรรมและผลกระทบที่มีต่อระบอบประชาธิปไตย และ มักเกิดขึ้นในประเทศด้อยพัฒนาทางด้านประชาธิปไตยหรือเป็นระบอบอำนาจนิยมที่มีการเลือกตั้ง  

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net