Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ความโกลาหลหรืองานฉลองในระยะสั้น จะเสียโอกาสกันทั้งหมดหรือเป็นประตูสู่ความรุ่งโรจน์ของชาติต่างๆ ที่เคยอยู่ร่วมสหราชอาณาจักรด้วยกันในระยะยาว เป็นประเด็นถกเถียงไม่รู้จบทั้งบนหน้าหนังสือพิมพ์ รายการโทรทัศน์ และสื่อสังคมออนไลน์ แต่อย่างน้อยดูจะมีสิ่งหนึ่งที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกันก็คือ คนสกอตแลนด์มีสิทธิในการตัดสินใจเรื่องของตัวเอง และไม่ว่าผลการลงคะแนนในวันที่ 18 กันยายนนี้จะเป็นอย่างไร ทุกฝ่ายจะยอมรับผลดังกล่าว

บทความนี้จะลองเล่าสิ่งที่ผู้เขียนสังเกตเห็นระหว่างที่มา “เดินเล่น” ในสหราชอาณาจักร ในช่วงเวลาเกือบสองสัปดาห์ก่อนจะลงประชามติ ผู้เขียนไม่ได้เป็นนักรัฐศาสตร์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการปกครองหรือประวัติศาสตร์การเมืองของสหราชอาณาจักร เพียงแต่ติดตามการเมืองของสกอตแลนด์อยู่บ้าง ตั้งแต่สมัยไปเรียนหนังสืออยู่ที่เอดินบะระ เมืองหลวงของสกอตแลนด์ ระหว่างปี 2003 ถึง 2004 ด้วยว่า “เดินเล่น” ไปเจอไซต์ก่อสร้างที่ปลายถนนท่องเที่ยวสายหลัก แล้วพบว่ามันจะเป็นที่ตั้งของรัฐสภาสกอตแลนด์ (ซึ่งคนสกอตในตอนนั้นด่ากันทั่วบ้านทั่วเมืองว่าเปลืองตังค์ สร้างไม่เสร็จเสียที แถมหน้าตาก็น่าเกลียด) ก็เลยไปหาข้อมูลเพิ่มเติมและสนใจเรื่องดังกล่าวมานับแต่นั้น

บรรยากาศทั่วไปตามท้องถนนในลอนดอน เมืองหลวงของสหราชอาณาจักรนั้นไม่ได้มีอะไรให้สังเกตเห็นได้นัก ถึงเหตุการณ์ที่อาจจะเป็น “ครั้งหนึ่งในชีวิต” ที่กำลังจะเกิดในสหราชอาณาจักร ไม่ว่าจะเป็นการที่สกอตแลนด์จะเป็นประเทศเอกราช (อีกครั้ง) หรือความเปลี่ยนแปลงของสหราชอาณาจักรที่จะเหลือเพียงสาม “ชาติ” (อังกฤษ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ) ที่พอจะสังเกตได้บ้างก็คือพาดหัวหนังสือพิมพ์ที่มีประเด็นเรื่องการลงประชามติตลอด ไม่ว่าจะเป็นความเห็นจากคนดัง (รวมทั้งพระราชินี) ภาพการรณรงค์จากฝ่ายต่างๆ เนื่องจากลอนดอน (และเมืองในสหราชอาณาจักรโดยรวมๆ) มีแผงขายหนังสือพิมพ์หรือร้านขายของชำที่โชว์พาดหัวหนังสือพิมพ์ไว้หน้าร้านแบบเด่นๆ อยู่เยอะ ถ้าเดินไปตามถนน แม้ในฐานะนักท่องเที่ยว ก็พอจะเห็นความเคลื่อนไหวนี้ได้บ้าง ถ้าสังเกตเสียหน่อย

ผิดกับเมืองใหญ่ในสกอตแลนด์อย่างกลาสโกว์ ที่ตามท้องถนนจะมีสติกเกอร์ “Yes” “No” หรือ “Aye” “Naw” ในภาษาสกอต ธงชาติกากบาทขาวบนพื้นน้ำเงิน และป้ายเกี่ยวกับการลงประชามติอยู่ทั่วไป แม้หลายป้ายจะเป็นการหยิบเอาการลงประชามติมาล้อเพื่อโฆษณาสินค้าหรือบริการของตัวเองก็ตาม แต่ก็ถือว่าอยู่ในกระแส

เหมือนๆ กับเมืองไทย ที่บางครั้งเราจะเห็นป้ายหรือสติกเกอร์บางส่วนถูกทำลาย ขีดฆ่า หรือปิดทับด้วยป้ายจากอีกฝั่งฝ่าย หรือมีป้ายล้อเลียนเสียดสีตลกๆ

ข้างล่างที่ถูกฉีกนี่ เป็นโปสเตอร์หน้านาย Alex Salmond รัฐมนตรีคนที่หนึ่ง (First Minister - ชื่อเรียกตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลของสกอตแลนด์) และหัวหน้าแคมเปญ Yes ที่ถูกล้อว่าจะตั้งตัวเป็นประธานาธิบดี

อ่านต่อที่ http://blogazine.in.th/blogs/bact/post/5041

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net