Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

กลายเป็นเรื่องราวขึ้นมาได้ เมื่อมีรายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อเวลา 10.00 น. ของวันที่ 22 ธันวาคม เจ้าหน้าที่ทหารชุดมวลชนสัมพันธ์ กองกิจการพลเรือน ทหารมณฑลทหารบก (มทบ.) ที่ 15 ได้รับแจ้งว่า มีการสร้างรูปปั้นหนุมานยักษ์ที่วัดไร่ดอน(เขากิ่ว) อ.เมือง จ.เพชรบุรี โดยรูปปั้นดังกล่าวมีลักษณะชูนิ้วสามนิ้ว คือ นิวชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง คล้ายเป็นสัญลักษณ์การต่อต้านคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)จึงเข้าไปตรวจสอบ


เมื่อไปถึงที่วัด ฝ่ายทหารก็พบรูปปั้นหนุมานขนาดใหญ่มีลักษณะหมอบคลาน ทำด้วยปูนซีเมนต์ มือขวาถือตรีเพชรเป็นอาวุธ ส่วนมือซ้ายชูสามนิ้ว ช่างปั้น คือ นายสำรวย เอมโอษฐ อธิบายว่า ที่หนุมานชูสามนิ้วไม่ได้แสดงการสนับสนุนการต่อต้านรัฐประหาร หรือเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านที่ทหารเข้ามาควบคุมประเทศแต่อย่างใด แต่เป็นสัญลักษณ์ที่เชิดชู 3 สถาบันหลักของชาติ คือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ส่วนพระครูศรีธรรมรัตน์ เจ้าคณะตำบลไร่ส้ม เจ้าอาวาสวัดไร่ดอน กล่าวว่า นอกเหนือการยกย่องเชิดชู 3 สถาบันหลักของชาติแล้ว ในทางพุทธศาสนายังหมายถึง ไตรลักษณ์ คือธรรมะที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ 3 อย่าง คือ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา “รูปปั้นหนุมานจึงเป็นสิ่งย้ำเตือนให้ผู้ที่มาพบเห็นตั้งมั่นกระทำความดี”


สรุปแล้วการตรวจสอบครั้งนี้มาจากความหวาดระแวงเกินจริงของฝ่ายทหาร คสช.ว่า ใครก็ตามสร้างสัญลักษณ์ชูสามนิ้วจะต้องหมายถึงการต่อต้านทหารที่ยึดครองประเทศ แต่ก็เป็นการย้ำอีกครั้งว่า การชูสามนิ้วของประชาชนได้กลายเป็นสัญลักษณ์ ที่ฝ่ายทหารเผด็จการนั้นหวาดกลัวและวิตก ซึ่งดูเป็นสิ่งเหลือเชื่อที่ว่า การชูสามนิ้วจะสามารถไปสร้างผลสะเทือนหรือล้มล้างเผด็จการที่มีอำนาจกองทัพสนับสนุนอย่างมั่นคงได้


ความจริงสัญลักษณ์การชูสามนิ้วนั้น มีที่มาจากภาพยนตร์เรื่อง เกมล่าเกม หรือ The Hunger Games ซึ่งเปิดฉายครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2555 ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างจากนิยายวิทยาศาสตร์ชื่อเดียวกัน ที่เล่าถึงรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จ ชื่อ พาเน็ม มีคาปิตอลเป็นเมืองหลวง ปกครองดินแดนอีก 13 เขตอย่างกดขี่ ประชาชนต่างพากันหวาดกลัวไม่กล้าแสดงการต่อต้าน ทางคาปิตอลได้สร้างเกมล่าชีวิตขึ้นเป็นสัญลักษณ์เพื่อแสดงอำนาจการควบคุมของศูนย์กลาง โดยให้แต่ละเขตส่งตัวแทนเขตละ 2 คนไปเล่นเกมสังหารกันเองจนเหลือผู้ชนะคนเดียว เพื่อให้ประชาชนแต่ละเขตเกลียดชังกันร่วมมือกันต่อต้านศูนย์กลางไม่ได้ จนกระทั่งแคตนิส เอฟเวอร์ดีน เด็กสาววัย 16 ปี จากเขต 12 ถูกส่งเข้าไปแข่งขัน และได้รับชัยชนะโดยการช่วยเหลือกัน ไม่ได้มุ่งเข่นฆ่าตามแนวคิดของผู้สร้างเกม ในขณะที่อยู่ในเกม แคตนิสได้ชูสามนิ้ว ซึ่งหมายถึง “ยกย่อง ขอบคุณ และ ลาก่อน” แต่การแสดงสัญลักษณ์นี้ได้ถูกสื่อความหมายเป็นการต่อต้านแนวคิดในการเข่นฆ่าปราบปราม และการกดขี่ทารุณของคาปิตอล ในที่สุด การชูสามนิ้วที่เริ่มโดยแคตนิสจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ในการต่อต้านอำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จในเนื้อเรื่อง และความสำเร็จของภาพยนตร์นี้ นำมาซึ่งการสร้างภาคต่อมาจนถึงขณะนี้อีก 2 ภาค คือ ปีกแห่งไฟ2556) และ ม็อกกิ้งเจย์ภาค 1(2557)


สัญลักษณ์ชูสามนิ้วที่สร้างขึ้นในขณะที่ภาพยนตร์นี้ฉายไปทั่วโลก ไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประเทศใดเป็นพิเศษ แม้กระทั่งในประเทศไทย ความเข้าใจเดิมการชูสามนิ้วเช่นนี้ คือ การปฏิญาณตัวของลูกเสือสามัญ 3 ข้อ คือ 1. จะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ 2. จะช่วยเหลือและบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น และ 3. จะปฏิบัติตามกฎของลูกเสือ จนกระทั่งเกิดการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 โดยคณะ คสช.ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ความหมายของการชูสามนิ้วจึงได้เปลี่ยนไป เพราะหลังจากการรัฐประหาร ได้มีการรื้อฟื้นอำนาจเผด็จการทหารย้อนยุคอย่างไม่น่าเชื่อ มีการตั้งรัฐบาลทหารและสภานิติบัญญัติทหารขึ้นปกครองประเทศ และมีการใช้อำนาจในการควบคุมประชาชนไม่ให้ต่อต้านคณะ คสช. อย่างไรก็ตาม การปกครองเผด็จการทหารในลักษณะเช่นนี้ ไม่เป็นที่ยอมรับของนักศึกษาประชาชนจำนวนไม่น้อย จึงได้มีความพยายามในการสร้างสัญลักษณ์ในการต่อต้านเผด็จการไทย ตั้งแต่การแต่งชุดขาว การจุดเทียนต้านรัฐประหาร การกินแซนด์วิช อ่านหนังสือ 1984 ในที่สาธารณะ และ ที่มีบทบาทมากที่สุด ก็คือการใช้สัญลักษณ์ชูสามนิ้ว


เอเอสทีวีผู้จัดการ( 7 มิถุนายน 2557)เคยเสนอความเห็นเรื่องนี้ไว้ว่า การชูสามนิ้วต้านรัฐประหารเป็นการออกแบบโดยกลุ่มคนเสื้อแดง และถูกปั่นกระแสในโซเชียลเน็ตเวิร์คของเครือข่ายเสื้อแดง ทั้งที่การกระทำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จอมเผด็จการไทยไม่ได้โหดเหี้ยมแบบในภาพยนตร์ การเคลื่อนไหวเช่นนี้จึงมีเป้าหมายเพื่อคืนอำนาจให้กับระบบทักษิณ ซึ่งจะต้องตกจากกระแสไป เพราะไม่มีใครให้ราคา ความเห็นของเอเอสทีวีผู้จัดการเกือบถูก ถ้าไม่มีใครให้ราคาจริง แต่กลับกลายเป็นว่า สัญลักษณ์นี้กลายเป็นกระแสสำคัญ เพราะฝ่ายเผด็จการทหารให้ค่ากับสัญลักษณ์นี้เอง


เหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในวันที่ 19 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ไปเปิดงานกิจกรรมที่จังหวัดขอนแก่น ได้มีนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นทั้ง 5 คนบุกเข้ามาถอดเสื้อคลุม เผยให้เห็นตัวอักษรคำว่า "ไม่-เอา-รัฐ-ประ-หาร" บนเสื้อยืดสีดำ พร้อมชู 3 นิ้วต้านรัฐประหาร นักศึกษาทั้งหมดถูกฝ่ายทหารควบคุมตัวไปปรับทัศนคติ แม้ว่าจะถูกปล่อยตัว แต่ก็ทำให้สัญลักษณ์การชูสามนิ้วของนักศึกษาไทยเป็นข่าวไปทั่วโลก แต่ต่อมา ในวันที่ 1 ธันวาคม พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ แม่ทัพภาคที่ 1 ได้กล่าวหาว่า จากการที่ตนได้ดำเนินการหาข่าวพบว่า กลุ่มนักศึกษาดังกล่าวถูกว่าจ้างมา เพื่อต้องการแย่งชิงพื้นที่สื่อของนายกรัฐมนตรี โดยได้รับการว่าจ้างมาจำนวน 50,000 บาท จากนักการเมืองในพื้นที่ แต่ก็เป็นที่น่าแปลกใจว่า แม่ทัพภาคที่ 1 ก็ไม่ได้แสดงหลักฐานเพื่อยืนยันคำกล่าวหา หรือมีการจัดการให้มีการดำเนินคดีเรื่องนี้ต่อไปแต่อย่างใด


กรณีนี้กระทบกับการฉายหนัง เพราะกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย ได้จัดกิจกรรมเชิญชวนผู้สนใจ ชมภาพยนตร์เรื่อง เดอะ ฮังเกอร์เกมส์ : ม็อคกิ้งเจย์ พาร์ท 1 ในวันที่ 20 พฤศจิกายน รอบ 12.00 น. ที่โรงภาพยนตร์สกาล่า โดยจัดกิจกรรม ในแคมเปญที่ใช้ชื่อว่า "ชูสามนิ้ว หิ้วป๊อบคอร์น เข้าโรงหนัง" ปรากฏว่า โรงภาพยนตร์เครือเอเพ็กได้ยกเลิกการฉายภาพยนตร์รอบดังกล่าว และถอดภาพยนตร์เรื่องออกจากโปรแกรม เพราะมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปพูดคุยกับทางโรงภาพยนตร์แสดงความกังวลใจต่อกิจกรรมเช่นนั้น และต่อมาตำรวจก็ยังได้ควบคุมตัวนักศึกษา 3 คน ที่ชูสามนิ้วในวันเปิดฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ที่โรงภาพยนตร์สยามพารากอน


สรุปแล้ว สัญลักษณ์จากชูสามนิ้วจากภาพยนตร์ กลายเป็นสัญลักษณ์ที่มีพลัง ส่วนหนึ่งเพราะความหวาดระแวงของฝ่ายทหารนั่นเอง ทำให้หนุมานก็ต้องสงสัยว่าจะต่อต้านเผด็จการ แต่ถ้ากล่าวในอีกด้านหนึ่ง ตราบเท่าที่ระบอบเผด็จการยังคงมีอยู่ การต่อต้านก็จะมีต่อไป ตราบเท่าที่ยังมีมนุษย์ที่รักเสรีภาพ และประชาธิปไตย การทำลายความหมายของสัญลักษณ์ชูสามนิ้วที่ดีที่สุด ก็คือการคืนระบอบประชาธิปไตยให้กับประเทศ และจะเป็นวิธีเดียวในการคืนความสุขให้กับสังคมไทยอย่างแท้จริง

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ 496 วันที่ 27 ธันวาคม 2557

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net