Skip to main content
sharethis


ในการประชุมสัมมนาแก้ไขปัญหาการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ที่โรงแรมอโนมา เมื่อวันที่ 12-13 ก.พ. 2558 อภินันท์ โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า จุดมุ่งหมายในการจัดสัมมนาครั้งนี้ เพื่อระดมความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา สมาคม มูลนิธิและบุคคลทั่วไป เกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคจากการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ซึ่งได้ประกาศใช้มาเป็นเวลากว่า 7 ปี ประกอบกับในปัจจุบันสถานการณ์ต่างๆ ทั้งในด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทั้งยังมุ่งแสวงหาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาในการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งจะนำข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะในที่ประชุม ไปเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการภาพยนตร์และวิดีทัศน์แห่งชาติ เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขปัญหาการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป 

สรุปปัญหาการอุทธรณ์ พร้อมแนวทางแก้ไข
เริ่มด้วยสัมมนา เรื่อง การแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ที่เกี่ยวข้องกับการอุทธรณ์ การแก้ไขพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 และการอุทธรณ์โดย คณะอนุกรรมการพิจารณาและให้ความเห็นด้านกฎหมายและด้านวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่ง ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 โดยมีพันตำรวจเอกดนุ กล่ำสุ่ม ผู้กำกับการกลุ่มงานสัญญา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อนุกรรมการพิจารณาและให้ความเห็นด้านกฎหมายฯ และ นายเชลียง เทียมสนิท ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม อนุกรรมการและเลขานุการฯ เป็นวิทยากรนำเสนอรายงานผล ด้านวิทยากรผู้ให้ข้อมูลประกอบการอภิปรายและซักถาม ประกอบด้วยนายพงศกร จันทรศัพท์ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ อนุกรรมการพิจารณาและให้ความเห็นด้านกฎหมายฯ, นายวิโรจน์ ใจอารีรอบ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม

ปัญหาการอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ประกอบด้วย
1.องค์กรผู้พิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ เป็นองค์กรกลุ่มประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่งและผู้ทรงคุณวุฒิรวม 27 คน (มาตรา 7) บทบัญญัติมาตรา 9 (6) แห่งพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 กำหนดให้คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติและคำสั่งของนายทะเบียนมาตรา 66 วรรคสอง และมาตรา 67 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 กำหนดให้คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติพิจารณาอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ ถ้าพิจารณาไม่เสร็จภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวให้ถือว่าเห็นด้วยกับคำอุทธรณ์

2.กระบวนการพิจารณาอุทธรณ์ คำสั่งของคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ตามมาตรา 66 (คำสั่งไม่อนุญาต คำสั่งเพิกถอนการอนุญาต หรือคำสั่งห้ามสร้างภาพยนตร์) คำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา 67 (คำสั่งไม่ออกใบอนุญาต คำสั่งไม่อนุญาตให้ต่อใบอนุญาต คำสั่งให้ชำระค่าปรับทางปกครอง คำสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต) เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ ที่มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลถือเป็นคำสั่งทางปกครอง พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 กำหนดให้มีการตรวจสอบและทบทวนภายในฝ่ายปกครองด้วย โดยให้คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติเป็นผู้ควบคุมตรวจสอบว่า คำสั่งที่ออกจากเจ้าหน้าที่มีความชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ การตรวจสอบจึงต้องกระทำโดยละเอียดรอบคอบและอยู่บนหลักความชอบด้วยกฎหมาย โดยต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงข้อกฎหมาย และความเหมาะสมของการทำคำสั่งทางปกครอง

3.เนื่องจากคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติเป็นองค์กรกลุ่ม ประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่งและผู้ทรงคุณวุฒิรวม 27 คน การพิจารณาอุทธรณ์ต้องทำให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 30 วันดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาด้านองค์ประชุม และเนื่องจากเป็นคณะกรรมการระดับชาติ จึงควรพิจารณาด้านนโยบายแผน และยุทธศาสตร์ด้านภาพยนตร์เป็นหลัก และเห็นควรให้มีคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แยกต่างหากจากคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ เพื่อพิจารณาอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาและให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย จึงควรแก้ไขพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ให้มีคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แยกต่างหากเพื่อพิจารณาอุทธรณ์

4.องค์ประกอบของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เห็นว่า ควรประกอบด้วยคณะกรรมการไม่เกินเก้าคนมีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ด้านกฎหมาย ด้านภาพยนตร์ วีดิทัศน์ ศิลปวัฒนธรรม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือการคุ้มครองผู้บริโภค ในจำนวนนี้ให้แต่งตั้งจากเอกชนไม่น้อยกว่าสองคนเป็นกรรมการ เพื่อพิจารณาการอุทธรณ์ตามาตรา 66 และมาตรา 67 แทนคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ
 

เสนอแนะกระทรวงวัฒนธรรมตัดเรตติ้ง 13+ ทิ้ง
ต่อมา ในการสัมมนา เรื่อง การจัดระดับความเหมาะสม (Rating) ของภาพยนตร์และวีดิทัศน์ รายงานผลการศึกษาการจัดระดับความเหมาะสม (Rating) ของภาพยนตร์และวีดิทัศน์ โดย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม มีนายวิภาส สระรักษ์ รองอธิบดีสำนักวิชาการ กรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ , นายสุรศักดิ์ สรรพิทักษ์เสรี เป็นวิทยากรผู้นำเสนอรายงานผล

แนวทางการพิจารณาการจัดระดับภาพยนตร์ฯ มีดังนี้
1.ควรเอาร่างกฎกระทรวงฯ ที่คณะทำงาน ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมมีมติแต่งตั้ง เป็นหลักในการพิจารณาหรือไม่
2.ระดมความคิดเห็นจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์โดยแบ่งเป็น 6 กลุ่ม
3.นำข้อสรุปความคิดเห็นจาก 6 กลุ่ม มาปรับปรุงจากร่างที่ใช้เป็นหลักในการพิจารณา

การประชุมเกี่ยวกับกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของประเภทภาพยนตร์
ผลการประชุมโดยสรุป (ครั้งแรก)
มีดังนี้
1.การจัดประเภทของภาพยนตร์จะต้องผสมผสานระหว่างการจัดเรตติ้ง (Rating) และการควบคุม (Ban)
2.ปรับปรุงกฎหมายให้แยกการควบคุม (Ban) ออกมาจากระบบการจัดเรตติ้ง (Rating) อย่างชัดเจน
3.ให้ความสำคัญเรื่องความรุนแรงเพราะมีผลกระทบต่อสังคมยิ่งกว่าเรื่องเพศ
4.เรื่องของภาษาเนื่องจากภาพยนตร์บางเรื่องมีเนื้อหาดี แต่ภาษาพูด (คำพูด) หยาบคาย
5.เมื่อมีการแบน (Ban) ควรมีการประชาสัมพันธ์ (PR) เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ถึงสาเหตุของการแบน (Ban) และต้องมีเหตุผลประกอบอย่างชัดเจน
6.ภาพยนตร์ตัวอย่างควรมีการจัดเรตติ้ง (Rating) หรือไม่ เนื่องจากในรอบที่ฉายนั้นเป็นภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับบุคคลทั่วไปแต่ภาพยนตร์ตัวอย่างจัดอยู่ใน Rate 18
7.แต่ละเรต มีความคลุมเครือในด้านต่างๆ
8.ถ้อยคำในกฎหมายไม่สามารถระบุได้ชัดเจน เช่น ศีลธรรมอันดี ความสงบเรียบร้อย

ผลการประชุมโดยสรุป (ครั้งที่ 2) มีดังนี้
1.กำหนดคำนิยามไว้ในกฎกระทรวง
2.รายละเอียดปรากฏตามร่างกฎกระทรวงฯ ที่คณะทำงานฯลงมติ
3.เสนอแนะให้กระทรวงวัฒนธรรมแก้ไข พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 26 โดยให้มีเพียง 5 ประเภท โดยตัดประเภทภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป เพราะผู้มีอายุระหว่าง 13 ปี ถึง 15 ปี มีวุฒิภาวะใกล้เคียงกัน และภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักรไม่ควรกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติฯ เพราะมาตรา 29 ให้อำนาจไว้แล้ว กรณีที่มีเนื้อหาที่เป็นการบ่อนทำลาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐ หรือเกียรติภูมิของประเทศไทย คณะกรรมการฯ จะมีคำสั่งไม่อนุญาต

ผลของการจัดอยู่ในภาพยนตร์ประเภทที่ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีดู
1.ห้ามผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงภาพยนตร์ฯ ยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้ผู้ซึ่งมีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีเข้าไปในโรงภาพยนตร์ในระหว่างที่ทำการฉายภาพยนตร์
ฝ่าฝืน ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท
2.ห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์ฯให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์แก่ผู้ซึ่งมีอายุตำกว่ายี่สิบปีดู
ฝ่าฝืน ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท
3.ห้ามฉายในสถานที่ที่บุคคลทั่วไปสามารถดูได้
ฝ่าฝืน ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท

แนะแบ่งโซนประเภทการให้บริการอย่างชัดเจน
ในการสัมมนาเรื่อง การจัดโซนนิ่ง (Zoning) ร้านเกม และร้านคาราโอเกะ รายงานผลการศึกษาฯ การจัดโซนนิ่ง (Zoning) ร้านเกม และร้านคาราโอเกะ โดย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม มีนายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว กรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์, นายธเนศ จิตต์สว่าง กรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เป็นผู้นำเสนอรายงานผล

สรุปประเด็นสำคัญการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การจัดโซนนิ่งร้านเกม มีรายละเอียดดังนี้
1.การจัดพื้นที่ในการให้บริการ ควรแยกพื้นที่เป็นสัดส่วนในการให้บริการ โดยกำหนดพื้นที่และจำนวนคอมพิวเตอร์ตามประเภทของการให้บริการ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ให้บริการเล่นเกม, เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ให้บริการค้นคว้าข้อมูล, เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ให้บริการติดต่อสื่อสาร
2.ผู้ดูแลสถานประกอบกิจการ ควรสำรวจสถิติเกี่ยวกับจำนวนผู้ที่ดูแลร้านว่าเป็นเจ้าของร้าน ดูแลเองหรือจ้างบุคคลอื่นเป็นผู้ดูแลร้านแทน รวมทั้งสำรวจปัญหาและอุปสรรคในการประกอบกิจการ, ควรออกใบอนุญาตหรือใบประกอบวิชาชีพให้แก่เจ้าของร้านหรือผู้ดูแลร้านเกม, ปีงบประมาณ 2557 กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้ออกตรวจเฝ้าระวังร้านเกมจำนวน 414 ร้าน พบว่า โดยมีสัดส่วนผู้ดูแลฯ ที่เป็นเจ้าของกิจการ:เป็นบุคคลอื่น 312:102 คน
3.ร้านเกมที่เป็นเป้าหมายในการดำเนินการ ควรจัดโซนนิ่งร้านเกมให้ครอบคลุมทั้งร้านเดิมและร้านที่ขอนุญาตใหม่
4.อาคารหรือสถานที่ตั้งร้าน ร้านเกมไม่ควรอยู่ไกลจากโรงเรียนหรือวัด เนื่องจาก การที่เด็กต้องเข้าใช้บริการร้านเกมเพราะพ่อแม่ไม่มีเวลาดูแล หากอยู่ในที่ลับตาอาจทำให้สอดส่องดูแลพฤติกรรมได้ยาก
5.การกำหนดมาตรการในการควบคุมดูแล ควรมีการควบคุมการเข้าใช้บริการร้านเกม โดยกำหนดให้มีเวลาในการเปิด-ปิด ร้านเกม, ควรมีการติดต่อสื่อสารกับร้านเกม โดยการใช้โปรแกรมที่สามารถส่งข้อมูลข่าวสารจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรมและกระทรวงวัฒนธรรมให้กับร้านเกมได้ เพื่อประโยชน์ในการติดต่อสื่อสาร และเผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ภารกิจของกรมส่งเสริมวัฒนธรรมและกระทรวงวัฒนธรรม
6.การสนับสนุนจากหน่วยงานราชการ หน่วยงานราชการอาจสนับสนุนในรูปแบบของการ ให้สิทธิพิเศษต่างๆ กับทางร้าน เช่น ขอรับการสนับสนุนจากบริษัทผู้ผลิตหรือผู้ให้บริการโปรแกรมหรือซอฟต์แวร์ต่างๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการร่วมมือกับทางราชการ
7.การแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ควรแก้กฎกระทรวง เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการแยกพื้นที่การให้บริการ คือ แยกประเภทการให้บริการให้ชัดเจนว่าเครื่องใดใช้ทำอะไร และมีจำนวนเท่าใด, ใช้โปรแกรมในการควบคุมเข้าถึงข้อมูลหรือเว็บไซต์ ว่าจะให้เข้าถึงเว็บไซต์ใดได้บ้าง ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมกำหนด, หากร้านใดไม่ประสงค์เข้าร่วมการจัดโซนนิ่ง ให้ยื่นความจำนงว่าขอให้บริการเฉพาะการเล่นเกมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
 

นพดลแจง รับ 3 ข้อเสนอหลักจากที่ประชุม
นายนพดล กตญาณยุทธ์ ผู้ช่วยเลขานุการในคณะอนุกรรมการกล่าวถึง บทสรุปเรื่องการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ในเรื่องบทบัญญัติเกี่ยวกับการอุทธรณ์ว่า ในมาตรา 66 และ 67 กำหนดพิจารณาอุทธรณ์ไว้ 30 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่จำกัด จึงมีการเสนอให้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จำนวนหลายคณะขึ้นมา ต่อไปคือควรกำหนดระยะเวลาการพักใช้ใบอนุญาตให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ เรื่องนี้เหมือนเป็นการกำหนดกรอบในการลงโทษ หรือเป็นประเด็นที่ว่าเมื่อมีผู้อุทธรณ์ขอยื่นอุทธรณ์เข้ามายอมรับว่ากระทำความผิดจริง แต่อ้างเหตุผลที่จะขอทุเลา ขอพัก เนื่องจากมีความจำเป็นอะไรต่างๆ ก็ได้มีการชี้แจงไว้ในที่ประชุมคือ เป็นเรื่องของดุลพินิจของนายทะเบียนประจำจังหวัด ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยในแต่ละพื้นที่ว่าจังหวัดแต่ละจังหวัดมีนโยบายกวดขันในเรื่องของการประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์เป็นอย่างไร

บทสรุปจากที่ประชุม
1.ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอุทธรณ์ระดับจังหวัด เพื่อแก้ไขปัญหากรอบระยะเวลา 30 วัน โดยให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน
2.ให้คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาการอุทธรณ์โดยเฉพาะ
3.ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อการอุทธรณ์ในระดับจังหวัด และพื้นที่แต่ละพื้นที่
 

เลขาฯ สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติเสนอผู้ประกอบการจัดเรตหนังเอง
ด้านนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ ได้แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าวว่า ถ้าตนเองเป็นกระทรวงวัฒนธรรมปรับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ จะปรับไม่มากมาตรา แต่เปลี่ยนความคิดและหลักการของมันเป็นว่าที่นี่กำลังจะเป็นสถานีบริการเติมการส่งเสริม กำกับเพื่อการเลือกสรรและส่งเสริม ถ้าหลักการนี้เป็นสิ่งที่สังคมรับได้เรารับได้ มันจะทำให้เราทำงานได้ง่าย เรื่องการยกเลิกใบอนุญาตโรง-ร้าน มีการพูดถึงเรื่องอบรมคนเพื่อที่จะให้สามารถรู้เรื่องจิตวิทยาการพัฒนาการของสมองเด็กและเยาวชนและของผู้คนต่างๆ เพราะถ้าเกิดเราบอกว่าใครจะเปิดร้านก็เปิด แต่ถ้าจะเปิดแล้วต้องมีผู้จัดการ และผู้จัดการต้องไปอบรมอย่างนี้มา แบบนี้จะทำให้ร้านท่านสมบูรณ์ ก็เป็นการกำกับแบบหนึ่ง แต่ไม่ได้เป็นการกำกับที่ร้าน เป็นการกำกับที่ระบบการจัดการ ส่วนเรื่องของคาราโอเกะเสนอว่า คาราโอเกะนั้นมีแบบพวกหยอดเหรียญและพวกที่อยู่ตามร้าน คาราโอเกะที่อยู่ตามร้านนั้นเข้าข่ายพระราชบัญญัติสถานบริการ ก็ย้ายคาราโอเกะที่อยู่ตามร้านไปไว้ในพระราชบัญญัติสถานบริการ เหลือไว้เพียงแค่ตู้คาราโอเกะแบบหยอดเหรียญหรือห้องคาราโอเกะ

“เรื่องของเรตติ้ง ขณะนี้เกิดกิจกรรมอาชีพดูหนัง ไม่ต้องทำอะไรคือดูหนังกำหนดเรตติ้ง ตามสถิติที่ส่งเข้ามาปีหนึ่งประมาณ 3,000 เรื่อง เรามีข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และบุคลากรเครือข่ายของกระทรวงวัฒนธรรมเพื่อดูหนัง แต่นั่งดูหนังเฉพาะสิ่งที่เราไปกวักมือให้มาส่งให้ดู แต่เราไม่สามารถไปกวักเรียกอะไรจากยูทูบมาให้เราดูได้เลย เขาจะส่งก็ส่งเขาไม่ส่งก็ไม่ต้องส่งเพราะมีคนดูเป็นล้านวิว เราจะเปลี่ยนไหม เปลี่ยนเป็นว่า ให้อุตสาหกรรมและประชาสังคมไปทำระบบเรตติ้งของท่านกันเอง แต่ถ้านำมาให้ตรวจก็จะตรวจให้ และถ้าได้ตราไป ตรานั้นจะการันตีหลายอย่าง การันตีว่าจะไม่ผิดกฎหมายอะไรทั้งสิ้นเลย เพราะจะตรวจให้อย่างละเอียด”

วีระศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องอนาจาร อนาจารเป็นกริยา แต่ถ้าลามกจะผิด ม.281 ลามกเป็นปัญหามานานแล้วว่าแค่ไหนลามก ไม่มีใครรู้ สมัยตอนอยู่กระทรวงวัฒนธรรมเรื่องหนังแผ่นกำลังมีปัญหา เขาก็ถามว่าแค่ไหนลามก ผมก็ตอบไม่ได้ เขาใช้วิญญูชนพิจารณาเอา วิญญูชนคืออะไร วิญญูชนคือศาล ศาลเขาก็ว่าตามแบบของเขา ไปอ่านฎีกาเอาแล้วกัน แต่ ณ เวลานี้มันอาจจะถึงเวลาแล้วที่เราจะบอกว่าความแตกต่างระหว่างศิลป์กับลามกนั้นมันเป็นปัญหาใหญ่ขนาดนั้นของประเทศจริงๆ หรือเปล่า หรือว่าเราจะสนในเรื่องของการทำให้บุคลากรทางวัฒนธรรมและเครือข่าย เป็นผู้วางระบบเรตติ้งไม่บังคับ แต่ถ้ามาให้ตรวจก็จะการันตีให้ในระดับหนึ่ง ไม่ถึงขนาดไปปิดปากศาลหรอก จนกว่าจะมีการแก้กฎหมายอาญา ตรามันมีความหมายอะไรหลายอย่าง ผู้ที่มาเสนอเข้าตามเรตติ้ง แทนที่จะมาวัดดวงเอาว่าส่งหนังมาและมันจะถูกส่งไปที่คณะไหนก็ไม่รู้ เพราะต่างคณะก็มีมาตรฐานที่แตกต่างกัน เจ้าของหนังต้องรู้เองว่าหนังตัวเองนั้นน่าจะเป็นเรตติ้งประมาณเท่าไหร่ บอกมาเลย แล้วคณะกรรมการจะค่อยๆ พิจารณา มีหนังที่บังคับให้เขาไปดูอาจจะน้อยลง เพราะไม่บังคับแล้ว แล้วถ้าเขาได้ผ่านเรตติ้งนั้นที่เขาเสนอ และมาเสนอผ่านระบบของพระราชบัญญัตินี้ซึ่งก็คือกระทรวงวัฒนธรรม ก็แปลว่าเขาจะได้กำลังใจให้ทำหนังเรื่องถัดไปที่มีพัฒนาการดีขึ้นอีก คนสร้างจะได้รู้สึกทันทีว่าไม่ได้เพียงเพื่อว่าจะได้รับอนุญาตไปฉาย แต่ส่งแล้วได้มีโอกาสในการเติมน้ำ พรวนดิน เติมปุ๋ย ทำให้ตัวเองที่สนใจทำเรื่องแบบนี้อยู่แล้วทำให้มันดียิ่งขึ้น
 

ผอ.สำนักพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์แนะเพิ่ม คกก.พิจารณาอุทธรณ์
นายประดิษฐ์ โปซิว ผู้อำนวยการสำนักพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวถึงเรื่องของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ว่า ปัจจุบันศูนย์วัฒนธรรมมีปัญหาเรื่องการพิจารณาอุทธรณ์ การตั้งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ควรมีหลายคณะ แล้วกระทรวงวัฒนธรรมต้องดูแลงานตรงนี้ทั่วประเทศ การที่มีคณะเดียวมันไม่เป็นการสะดวกทั้งของประชาชนในการยื่นอุทธรณ์รวมทั้งเป็นภาระกับกระทรวงวัฒนธรรมในการพิจารณาอุทธรณ์ค่อนข้างมาก ชัดเจนว่าเราควรจะมีคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์โดยเฉพาะ และจำเป็นจะต้องมีหลายคณะ ในรายละเอียดแล้วถ้ามีคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์หลายคณะ ต้องมีการกำหนดขอบเขตหน้าที่ของกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แต่ละคณะด้วย ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวจะมีการอุทธรณ์ข้ามคณะกันและจะเกิดปัญหา

เรื่องของเรตติ้ง มติของที่ประชุมกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ 6 คณะ ขอให้แก้กฎกระทรวง และอยากจะขอให้แก้ไขประเภทภาพยนตร์ ซึ่งมี 7 ประเภท มันมากเกินไปควรจะลดลง ตรงนี้คงให้ทางคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ดูเอาเองว่าควรจะลดหรือไม่ ฉะนั้นส่วนที่มีปัญหาในกฎกระทรวงปัจจุบันทีทำอยู่ก็คือภาพยนตร์ที่แถมไปกับหนังสือในตลาดเสือป่า เป็นนางแบบเดินไปเดินมา ไม่มีลักษณะของเพศสัมพันธ์ มาตรฐานควรจะอยู่ที่ประมาณผู้ที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป
ส่วนอนาจารจะไม่เข้าข่ายกับภาพยนตร์เพราะอนาจารเป็นกริยา แต่คำว่าลามก ศาลได้มีคำตัดสินมาแล้วว่าเรื่องของสื่อลามก ที่ผ่านมาเราก็พบปัญหากันอยู่พอสมควร ครั้งแรกเมื่อหนังเซ็กแอนด์เซ็นได้ฉาย คำถามกลับมาเยอะแยะว่าหนังเรื่องนี้ออกมาได้อย่างไร มันเข้าข่ายสื่อลามก ถ้าเราหันกลับไปดูประเทศเพื่อนบ้านแม้แต่มาเลเซีย สิงคโปร์ ยังฉายได้ ประเทศไทยซึ่งเป็นประชาธิปไตยทำไมจึงฉายไม่ได้ บางครั้งกรรมการก็ต้องถามตัวเองด้วยเหมือนกันว่าการที่จะไม่อนุญาต เราไปละเมิดสิทธิมนุษยชนของเขามากแค่ไหน พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์อยู่ในมาตรา 9 กำหนดให้มีการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ มันเป็นอุตสาหกรรมแห่งการสร้างสรรค์ เพราะฉะนั้นความคิดสร้างสรรค์อะไรไม่ควรถูกปิดกั้น ยกเว้นว่ามันจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อประเทศชาติอย่างรุนแรง

“ด้านการควบคุมร้านเกมหรือที่ตัวเกม มันไม่ใช่การแก้ไขที่ต้นเหตุ เป็นการแก้ไขที่ปลายน้ำ ต้นน้ำนี่อยู่ที่คน เพราะฉะนั้นปัจจัยจริงๆก็คือ เราจะทำไงที่จะพัฒนาคน สร้างศักยภาพให้กับคนที่อยู่ในวงการตรงนี้ รวมทั้งประชาชนทั่วไปให้มีความรู้ความเข้าใจในสิ่งนี้ ผมมองว่าต่อไปไม่ว่าจะหนัง เกม มันย้ายไปอยู่ในมือถือหมด ต่อไปไม่ต้องไปร้านเกมแล้ว นั่งอยู่ที่ไหนก็เล่นเกม ดูหนังได้หมด”
 

แก้ พ.ร.บ. พร้อมมองเผื่ออนาคต สร้างภูมิคุ้มกันเพื่อเด็ก-เยาวชน
ทางด้านนางศศิสุภา สังวริบุตร คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ แสดงความคิดเห็นว่า อยากฝากในฐานะคนภาพยนตร์ ได้โปรดให้ความแฟร์กับคนภาพยนตร์ด้วย สื่อไม่ได้หมายความว่าข้อเท็จจริงทั้งหมด สื่อทำมาเพื่อความบันเทิง เพราะฉะนั้นอย่าอินมากเกินไปในบางครั้งที่เราไปดูหนัง เราก็จะอินเกินไปว่านั่นคือชีวิตจริง สื่อมีทั้งดีและไม่ดี แต่สิ่งหนึ่งที่คิดว่าพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ หรือไม่ว่าจะพระราชบัญญัติใดๆก็ตามในประเทศนี้ ควรจะมีการบอกว่าคุณต้องการให้พระราชบัญญัตินี้เป็นเครื่องมือในการทำอะไร และทำไปเพื่อประโยชน์ส่วนไหน จะได้มีเนื้อหาที่แก้ไขและสอดคล้องกัน พระราชบัญญัติเมื่อมีการแก้ไขกว่าจะแก้ได้มันยุ่งยาก ดังนั้นเราควรจะตั้งประเด็นด้วยว่าเราจะแก้ไขมันไปเพื่ออีกกี่ปีข้างหน้า เพราะว่าเทคโนโลยีเจริญมากมาย และจะเจริญจนบางทีเราตามไม่ทัน เราควรจะต้องดูตัวอย่างคนอื่นที่เขาเจริญ เราอยากให้ประเทศเรามีฟอร์แมตไปแบบไหน เราจะเป็นเกาหลี อังกฤษ จะเป็นอะไร เราก็อาจจะดึงสิ่งเหล่านั้นมาแล้วก็อาจจะเอาตัวนี้มาเป็นการคาดการณ์ได้ด้วยในเรื่องของการตัดสินใจ เพราะว่าภาพยนตร์เป็นเรื่องของอารมณ์ ทุกคนก็จะอินในแต่ละจุด เพราะฉะนั้นต้องดึงตัวเองให้เป็นกลาง เพราะว่าพระราชบัญญัตินี้ไม่ได้ทำเพื่อพวกเรา พระราชบัญญัตินี้ทำเพื่อเด็กและเยาวชนที่อยู่ข้างหน้า และที่สำคัญที่สุดพระราชบัญญัติควรเป็นพระราชบัญญัติของการสร้างภูมิคุ้มกัน


จี้เร่งจัดเรตติ้งเกม คุ้มกันเด็ก
ด้านผู้เข้าร่วมประชุมอีกรายคือ นางธิดารัตน์ ธนภรรคภวิน นายกอุตสาหกรรมเกมแห่งประเทศไทย แสดงความคิดเห็นว่า ตอนนี้ในเรื่องเรตติ้งของเกมยังไม่มี ถามทางฝั่งผู้ประกอบการเห็นว่าเรตติ้งทางด้านเกมควรจะมีและรีบมีที่สุด เพราะเกมเป็นอะไรที่แตะต้องโดยตรงกับเด็ก เป็นกลุ่มบุคคลที่เราเชื่อมั่นว่ายังไม่มีภูมิคุ้มกันเพียงพอในการดูแลตัวเอง และจะทำให้เกิดปัญหาตามมาถึงสังคมที่เราพูดกันว่าเป็นเด็กติดเกมหรือเปล่า หรือว่าไปผลักภาระให้เป็นเรื่องของร้านค้าว่าห้ามเด็กเข้าก่อน-หลัง เวลาที่กำหนด แต่ความจริงแล้วถ้าเราดูตามสิ่งที่เป็นในต่างประเทศ เขาจะใช้เรื่องเรตติ้งเป็นกลไกในการดูแลเด็ก ไม่ใช่ในเรื่องว่าเกมนี้ดีหรือไม่ดี เกมก็เหมือนกับภาพยนตร์ว่าทำมาให้เด็กอายุเท่าไหร่ๆ ถ้าเราให้เด็กอายุที่ต่ำกว่านั้นไปเล่นก็ไม่ควร ส่วนเรตติ้งควรจะรวมหรือแยกกับทางภาพยนตร์ อันนี้ก็ต้องแล้วแต่แนวทางของกระทรวงวัฒนธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net