Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

 

ไม่น่าเชื่อว่า บทสมมติสนทนาในหนังสือ “ปรัชญาการเมือง” ของ มอริซ แคลนสตัน (แปลโดย ส. ศิวรักษ์) ที่ตีพิมพ์ปี 2510 ได้สะท้อนข้อถกเถียงหลายประการที่คล้ายกับปัญหา “การเมือง-ศาสนา” ที่กำลังวิกฤตในสังคมไทยปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาชนชั้นกลางคลั่งศีลธรรม การอ้าง “ศีลธรรมของบ้านเมือง”  และความเชื่อทางศาสนา จารีตประเพณีของสังคมเป็นกฎเกณฑ์จำกัดเสรีภาพของปัจเจกบุคคล โดยเฉพาะบทสนทนาระหว่าง จอห์น สจ๊วต มิลล์ นักปรัชญาเสรีนิยม และเซอร์ เจมส์ สตีเฟน นักทฤษฎีทางกฎหมายที่มีชื่อเสียง ตามเนื้อหาบางส่วนข้างล่างนี้

สตีเฟน: …คำสอนทั้งของพระเยซูคริสต์และของโสกราตีส ต่างกลายมาเป็นส่วนแห่งความนึกคิดของชาวยุโรปสมัยปัจจุบัน แต่ด้วยความสัตย์จริง ข้าพเจ้าไม่สามารถจะกล่าวได้ว่าตัวอย่างของท่านมีน้ำหนัก นอกเสียจากว่าท่านต้องการจะชี้ให้เห็นว่า คนซึ่งมีความเห็นขัดแย้งกับศีลธรรมจรรยาทั่วๆ ไปของยุคสมัยปัจจุบัน คือพระคริสต์กับโสกราตีสของศตวรรษนี้

มิลล์: ถ้าโสกราตีสและพระเยซูแห่งนาซาเรธเกิดขึ้นในอังกฤษอีกครั้งในยุคนี้ ก็จะไม่ได้อยู่ในสังคม ในฐานะที่ได้รับความนับถือตามจารีตนิยมทั่วๆไป ท่านทั้งสองนี้จะไม่ได้เป็นสมาชิกสโมสรอาเทเนียมอันสูงศักดิ์ โสคราตีสจะถูกกฎหมายลงโทษฐานสอนและปฏิบัติผิดศีลธรรมทางเพศ พระเยซูก็จะถูกกฎหมายลงโทษฐานที่ตำหนิว่าลัทธิศาสนาเดิมเป็นของปลอม ขอท่านสังวรไว้ว่าอังกฤษเป็นเมืองที่ถือคริสต์เพียงในนามเท่านั้น ทุกๆวันอาทิตย์ประชาชนไปวัด ปากก็ว่าเชื่อตามคำสอนของพระเยซูคริสต์ เช่นว่าผู้ที่จะไปอยู่กับพระเจ้าบนสวรรค์ คือพวกคนจนและคนที่ถ่อมตัว และว่าจะติใครอย่างไรก็ต้องติตนเช่นนั้น ถ้าใครเอาเสื้อครุยของเราไป ก็ให้เสื้อนอกไปด้วย เขาเหล่านั้นกล่าวว่าจะไม่คำนึงถึงวันพรุ่งและกล่าวว่าจะสมบูรณ์พูนสุขก็ย่อมจะขายทุกสิ่งทุกอย่างที่มีและให้เงินไปกับคนจน เขาพากันพูดสิ่งเหล่านี้ แต่ไม่เชื่อตามเลย เพราะว่าถ้าเชื่อตามนั้นก็อาจจะต้องทำตามนั้นด้วย และถ้าพระคริสต์มาปรากฏในหมู่ของพวกเรา แล้วก็เทศนาเราว่า ทำไมไม่เอาจริงเอาจังกับศีลธรรมที่ท่านสอน ไม่ถือเอามาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต พระเยซูก็ย่อมจะถูกจำคุกในฐานะสอนสิ่งที่ลบล้างลัทธิศาสนา ในฐานะเป็นผู้นำความทุกข์ยากมาสู่ประชาชน และเป็นปฏิปักษ์ต่อทรัพย์สินอันศักดิ์สิทธิ์ของชนชั้นกลาง

ข้อวิพากษ์ดังกล่าว สะท้อนมุมมองของมิลล์ที่ว่า “การกดขี่ ไม่ได้มาจากอำนาจรัฐเท่านั้น หากมาจากความเห็นของประชาชนหรือจากสังคมโดยตรงด้วย” ฉะนั้น การเรียกร้องเสรีภาพไม่สามารถจะหยุดอยู่เพียงแค่ต่อสู้กับการปกครองแบบกดขี่ของอำนาจรัฐเท่านั้น หากควรจะมีการป้องกันความโน้มเอียงของสังคมในอันที่จะกำหนดความเชื่อของสังคมให้เป็นกฎเกณฑ์ความประพฤติของปัจเจกบุคคล ถ้าใครไม่เห็นพ้องต้องด้วยกฎเกณฑ์อันนั้น ก็ลงโทษ โดยใช้วิธีที่ไม่เป็นการลงโทษตามแบบของทางราชการบ้านเมือง นอกจากนี้มิลล์ยังปฏิเสธสิ่งที่เรียกว่า “ศีลธรรมของบ้านเมือง” ที่อิงอยู่กับความเชื่อทางศาสนาหรือจารีตประเพณีเฉพาะของสังคมหนึ่งๆ (เปรียบเทียบกับบ้านเราก็เช่น “ค่านิยมหลัก 12 ประการ” เป็นต้น) สิ่งที่เป็นศีลธรรมต้องเป็นหลักการสากล เช่น การทำร้ายเพื่อนบ้านย่อมเป็นการกระทำที่ผิด ไม่ว่าจะเป็นการกระทำในสังคมใดๆ ก็ตาม

หากเราลองสมมติว่า ถ้าพุทธะมาอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน ซึ่งเป็น “ศูนย์กลางพุทธศาสนาโลก” แน่นอนว่าเราจะเห็นภาพปรากฏการณ์ไม่ต่างจากมุมมองของมิลล์ เช่น พุทธะคงไม่ได้อยู่ในสถานะอันทรงเกียรติตามโครงสร้างอำนาจทางพุทธศาสนาปัจจุบัน คงไม่ได้เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม เมื่อท่านได้เห็นบรรดาชาวพุทธพากันโหนเจ้ามาปกป้องสถาบันการศึกษาของตัวเองบ้าง เรียกร้องให้รัฐออกกฎหมายอุปถัมภ์และคุ้มครองพุทธศาสนาบ้าง เรียกร้องให้ใช้อำนาจรัฐปกป้องความถูกต้องของพระไตรปิฎกบ้าง ฯลฯ

พุทธะคงคัดค้านแน่ๆ ว่านั่นไม่ใช่การปฏิบัติตามแนวทางที่ท่านสอน และท่านก็ไม่เคยประสงค์ให้คณะสงฆ์ใช้อำนาจรัฐปกครองกัน อีกทั้งพุทธะยังเน้นการเปิดกว้างต่อการศึกษาตีความคำสอน ให้เสรีภาพปัจเจกบุคคลใช้ปัญญาของตนเองอย่างเต็มที่ และวิพากษ์วิจารณ์การใช้ความเชื่อทางศาสนา จารีตประเพณีครอบงำกดขี่ และสนับสนุนระบบชนชั้น อำนาจเผด็จการตามอำเภอใจ

แต่เมื่อพุทธะยืนยันว่า ไม่ต้องการให้คำสอนของท่านถูกปกป้อง ถูกผูกขาดการตีความ การสั่งสอนโดยระบบอำนาจใดๆ ที่ขัดกับคำสอนที่เปิดกว้างต่อเสรีภาพของท่าน และไม่ต้องการให้รัฐใด องค์กรใด คนกลุ่มใดผูกขาดการเป็นเจ้าของคำสอนของท่าน พร้อมๆกับกีดกันคนคิดต่าง ตีความคำสอนแตกต่างให้กลายเป็น “คนนอก” ให้ออกไปอยู่ข้างนอกความเป็นชาวพุทธที่สมควรได้รับการอุปถัมภ์จากรัฐ ฯลฯ แน่นอน ท่านอาจโดนข้อหา "ดูหมิ่นพุทธศาสนา" จากบรรดาชาวพุทธไทยผู้กระตือรือร้นปกป้องพุทธศาสนาในปัจจุบัน

ภาพสมมติดังกล่าว จินตนาการขึ้นจากสถานการณ์ปกป้องพุทธศาสนาในสังคมไทยปัจจุบันที่เผยให้เห็น “ความขัดแย้งในตัวเอง” ระหว่างสิ่งที่บรรดาผู้ปกป้องพุทธศาสนาอ้างว่าเป็น "ธรรมวินัยที่ถูกต้อง" กับโครงสร้างความสัมพันธ์ของพุทธศาสนากับรัฐ, ระบบปกครองสงฆ์แบบรวบอำนาจ, วิธีการปกป้องพุทธศาสนาที่เน้นการรักษา "สถานะเดิม" ของคณะสงฆ์ที่ขัดกับหลักการกระจายอำนาจของระบบสังฆะตามธรรมวินัยและหลักการของสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ ซึ่งล้วนแต่สวนทางกับ "ธรรมวินัยที่ถูกต้อง" ที่คนเหล่านั้นกล่าวอ้าง

การปกป้องพุทธศาสนา, สถาบันสงฆ์จึงขับเน้นให้เห็น "สภาวะขัดแย้งในตัวเอง" ระหว่างการอ้าง "ธรรมวินัยที่ถูกต้อง" กับสภาพความเป็นจริงเชิงปฏิบัติทั้งปวงภายใต้แนวทางการการปฏิรูปเพื่อปกป้องสถานะเดิมดังกล่าว

โดยเฉพาะในสถานการณ์ “วิวาทะ” เกี่ยวกับ “การปฏิรูปพุทธศาสนา” ยิ่งสะท้อนความไม่สง่างามของชาวพุทธอย่างชัดเจนยิ่งคือ ขณะที่พวกเขาเหล่านั้นต่างกล่าวอ้างมาตรฐานความสง่างามบนหลัก  "จริยธรรมแบบพุทธ" หรือ "วิชชา-จรณะ" (ความรู้ดีและความประพฤติดี) แต่จุดยืนปฏิรูปพุทธศาสนาของชาวพุทธกลุ่มต่างๆ กลับไม่สามารถ “สอบผ่าน” แม้แต่ “หลักจริยธรรมขั้นต่ำสุด” ของโลกสมัยใหม่เลย

เช่นกลุ่มพุทธอิสระ-นายไพบูลย์ นิติตะวัน ยืนยันการปฏิรูปพุทธศาสนาภายใต้อำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ขณะที่กลุ่มพระสงฆ์และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ ก็ไม่ได้ปฏิเสธ “ความไม่ชอบธรรม” ของการปฏิรูปพุทธศาสนาภายใต้อำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และยืนยันการปฏิรูปภายใต้รัฐบาลประชาธิปไตยเท่านั้น แต่กลับแสดงจุดยืนแบบ “เผด็จการก็ได้ ประชาธิปไตยก็ดี”

แปลว่า ในสถานการณ์ที่มีข้อเสนอการปฏิรูปพุทธศาสนาที่หลากหลาย แต่มาตรฐานความสง่างามของจริยธรรมพุทธไทย ไม่สามารถแม้กระทั่งแสดงจุดยืนปฏิรูปพุทธศาสนาบนหลักการที่ "free and fair" แก่ทุกความเห็น ทุกข้อเสนอที่แตกต่าง ซึ่งไม่ใช่เรื่องต้องแสดง "ความกล้า" อะไรเลย เพียงแค่ "คิด" ชัดเจนและ "ซื่อสัตย์" ต่อหลักการที่ยุติธรรมแก่ทุกคนมากที่สุดเท่านั้นเอง

สุดท้ายการปฏิรูปพุทธศาสนาแบบที่เถียงกันอยู่ ก็ไม่สามารถทำให้คำสอนพุทธศาสนาในมิติที่สนับสนุนเสรีภาพและการปลดปล่อยทำงานได้ เช่นเดียวกับการปฏิรูปประชาธิปไตยที่ไม่สามารถทำให้เสรีประชาธิปไตยทำงานได้นั่นเอง 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net