Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

อาจมีคำถามว่าทำไมผมเปรียบเทียบพุทธะกับซาตร์, พุทธะกับคานท์, พุทธะกับมิลล์ (และอื่นๆ) ที่จริงแล้วมีงานวิชาการตะวันตกมากมายที่เปรียบเทียบพุทธปรัชญากับปรัชญาตะวันตกโบราณและปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่ การเปรียบเทียบไม่ใช่เพื่อโปรฯ พุทธ แต่เพื่อเรียนรู้ให้เห็นแง่มุมที่ลึกและกว้างมากขึ้น ซึ่งเราอาจมองไม่เห็นจากการเรียนรู้เฉพาะในมุมมองของตัวเอง ขณะเดียวกันก็อาจทำให้เราเห็นข้อด้อยหรือข้อควรปรับปรุงบางอย่างที่มีอยู่ในความเชื่อเดิมของตนเอง และอาจปรับใช้ความเชื่อที่เรามีอยู่ก่อนมาสนทนากับปัญหาสังคมร่วมสมัยอย่างมีความหมายหรือมีชีวิตชีวามากขึ้น

ความคิดพื้นฐานหลักๆ ของจริยศาสตร์แบบอิมมานูเอล คานท์, จอห์น สจ๊วต มิลล์ และฌอง-ปอล ซาตร์นั้นต่างกัน และมีบางแง่มุมที่ขัดแย้งกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีความคิดพื้นฐานบางอย่างที่สอดคล้องไปกันได้ เช่น ทั้งคานท์, มิลล์ และซาตร์เห็นว่า “เสรีภาพคือสิ่งจำเป็นต้องมี” แต่ด้วยเหตุผลต่างกัน สำหรับคานท์เสรีภาพจำเป็นต้องมี เพราะเสรีภาพคือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือเป็นสิ่งบ่งบอกว่าเรายังคงมีความเป็นมนุษย์ที่มี “กระดูกสันหลัง” หรือมีจุดยืนจากเหตุผลและเจตจำนงอิสระของตนเองได้ สำหรับมิลล์เสรีภาพจำเป็นต้องมี เพราะมันเป็นเงื่อนไขที่ขาดไม่ได้ของการมีชีวิตที่ดีของปัจเจกบุคคล, ประโยชน์สุขส่วนรวม และความก้าวหน้าของมนุษยชาติ และสำหรับซาตร์ “มนุษย์คือเสรีภาพ” หรือ “มนุษย์ถูกสาปให้มีเสรีภาพ” ดังนั้น เราจึงปฏิเสธเสรีภาพไม่ได้จริง การปฏิเสธเสรีภาพเป็นแค่การหลอกตัวเองของผู้มี “ศรัทธาที่เลว” (bad faith) หรือ “ไม่ซื่อตรง” ต่อตัวเอง และไม่กล้าใช้เสรีภาพเลือกใช้ชีวิตตามความต้องการที่แท้จริงของตนเอง

แน่นอนว่าความหมายของเสรีภาพตามแนวคิดของนักปรัชญาทั้งสามนั้นมีแง่มุมหรือรายละเอียดต่างกัน แต่ก็มี “สาระสำคัญ” พ้องกันคือ ทั้งคานท์, มิลล์ และซาตร์เห็นว่าปัจเจกบุคคลจะสามารถมีชีวิตที่ดีได้จริง ก็ต่อเมื่อเขามีเสรีภาพในการเลือกความหมายของชีวิตด้วยตนเองได้, สังคมจะเป็นสังคมที่มีศีลธรรมที่ดีได้ต้องเป็นสังคมที่มีอิสรภาพทางศีลธรรม (moral autonomy) และการเมืองจะเป็นการเมืองที่ดีได้ต้องมีเสรีภาพทางการเมือง (political freedom) เป็นแกนหลักที่ขาดมิได้

เฉพาะมิลล์นั้นชัดเจนว่าเขายืนยันเสรีภาพของปัจเจกบุคคลในการเลือกชีวิตที่ดีของตนเอง เพราะมันจะเกิดประโยชน์กับตัวเขาเองและสังคมมากกว่า หากปล่อยให้ปัจเจกแต่ละคนเลือกใช้ชีวิตในแบบที่เขาเห็นว่าดี แทนที่จะถูกบังคับใช้ชีวิตตามกรอบที่คนอื่นหรือสังคมกำหนดให้ ขณะเดียวกันมิลล์ก็ยืนยันเสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออก หรืออการอภิปรายสาธารณะอย่างหนักแน่น นั่นคือ ถ้ามีคนเพียงหนึ่งคนเห็นต่างจากมวลมนุษย์ทั้งหมด เขาก็ต้องมีเสรีภาพที่จะแสดงความเห็นนั้นได้ คนที่เหลือทั้งหมดไม่มีสิทธิ์ใช้อำนาจเผด็จการปิดปากเขา ในทางกลับกัน ถ้าคนหนึ่งคนนั้นกลายเป็นผู้มีอำนาจ (ทางการเมืองหรือทางใดๆ) เขาก็ไม่มีสิทธิ์ใช้อำนาจนั้นปิดปากคนทั้งหมดที่เห็นต่างจากเขาได้ เพราะมีแต่การยอมรับให้ความเห็นต่างได้แสดงออกอย่างเสรีเท่านั้น จึงเป็นไปได้ที่เราจะมองเห็นความจริงทุกด้านมากที่สุด และเป็นไปได้ที่จะแก้ไขข้อบกพร่องของความคิด ความเชื่อ คุณค่า ความรู้ หรือระเบียบทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองที่เรามีอยู่เดิม หรือเปิดรับและสร้างสรรค์ความคิด ความเชื่อ คุณค่า ความรู้ หรือระเบียบทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองใหม่ๆ ที่ก้าวหน้ากว่า

พุทธะเห็นพ้องกับมิลล์ว่าปัจเจกบุคคลต้องมีเสรีภาพในการเลือกชีวิตที่ดีด้วยตนเอง ส่วนปัญหาว่าสังคมจำเป็นต้องมีเสรีภาพทางศีลธรรมหรือไม่ พุทธะเห็นว่า “จำเป็น” เห็นได้จากการปฏิเสธ “ระบบศีลธรรมแบบวรรณะ” ที่กำหนดตายตัวว่าปัจเจกบุคคลมีศีลธรรมเพื่อชีวิตที่ดีของตนเองได้บนเงื่อนไขของชาติกำเนิดเท่านั้น แล้วเสนอว่าไม่ว่าคนในวรรณะไหน รวมทั้งพวกนอกวรรณะอย่างจัณฑาล ก็สามารถมีศีลธรรมเพื่อชีวิตที่ดีของตนเองได้เท่าเทียมกัน เช่น ทุกคนเลือกทำดีในระดับศีลธรรมพื้นฐานได้เท่าเทียมกัน และมีสิทธิเท่าเทียมกันในการเลือกเส้นทางชีวิตสู่การมีอิสรภาพทางจิตใจ (หรือการบรรลุธรรม)

ปัญหาสำคัญอีกอย่างคือ ในความเป็นจริงเรามีชีวิตอยู่ท่ามกลางความเชื่อและคุณค่าที่หลากหลาย แล้วเราจะมีหลักการในการตัดสินใจเลือกอย่างไร พุทธะให้หลักการตัดสินใจเลือกไว้ใน “กาลามสูตร” ว่า ปัจเจกแต่ละคนควรเลือกด้วยการใช้ปัญญาของตนเองอย่างเป็นอิสระจากอิทธิพลครอบงำของคัมภีร์ สังคม ครูอาจารย์ หรือระบบตรรกะ และระบบความเชื่อหรือคุณค่าต่างๆ นั่นคือ เมื่อใช้ปัญญาของตนเองรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ดี มีประโยชน์แก่ตนเองและคนอื่นก็เลือกสิ่งนั้น อะไรเป็นโทษหรือเป็นอันตรายแก่ตนเองและคนอื่นๆ ก็หลีกเลี่ยงหรือไม่ทำสิ่งนั้น

มีประเด็นเกี่ยวกับกาลามสูตรคือ บางคน “ตีความอย่างแคบ” ว่าในที่สุด “ทางเลือกที่ถูก” ก็คือทางเลือกบนกรอบศีลธรรมแบบพุทธเท่านั้น เช่น การเลือกเส้นทางไตรสิกขา หรือมรรคมีองค์ 8 และอื่นๆ ในกรอบคิดทางศีลธรรมแบบพุทธ แต่ผมคิดว่ากาลามสูตรสามารถ “ตีความอย่างกว้าง” ได้อย่างสมเหตุสมผลมากกว่า เพราะกาลามสูตรไม่ได้สรุปว่า “ต้องเลือกศีลธรรมแบบพุทธเท่านั้น” จึงจะถูกต้อง แต่ให้ “หลักการที่เปิดกว้าง” ว่าเมื่อเราเห็นว่า “สิ่งใด” มีประโยชน์ก็ควรเลือกสิ่งนั้น ดังนั้น “สิ่งใด” ในที่นี้ย่อมหมายถึงสิ่งใดๆ หรือคุณค่าแบบใดๆ ก็ได้ ที่ปัจเจกบุคคลใช้ปัญญาของตนแล้วเห็นว่ามีประโยชน์ เขาย่อมมีสิทธิ์เลือกคุณค่าเช่นนั้นได้ ไม่ว่าจะเป็นคุณค่าตามความเชื่อของศาสนา และปรัชญาอื่นๆ ที่มีอยู่ในบริบทชุมชนชาวกาลามะตามเรื่องเล่าในกาลามสูตร หรือคุณค่าตามความคิดปรัชญาโบราณต่างๆ และปรัชญาสมัยใหม่แบบคานท์, มิลล์, ซาตร์ เป็นต้นก็ตาม

ประเด็นสำคัญของกาลามสูตรจึงได้แก่ การที่พุทธะเสนอ “หลักการทั่วไป” ในการเลือกจากการใช้ปัญญาของตนเองโดยปัจเจกแต่ละคน อันเป็นการยืนยัน “อิสรภาพทางปัญญา” คือยืนยันการใช้ปัญญาอย่างเป็นตัวของตัวเอง ไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลครอบงำของสิ่งอื่น, คนอื่นๆ หรือสังคม และอิสรภาพทางปัญญาก็เชื่อมโยงกับ “อิสรภาพทางศีลธรรม” ในแง่ที่ถือว่าทางเลือกที่ดี การกระทำที่ดี หรือการมีชีวิตที่ดี ต้องมาจากการตัดสินใจเลือกด้วยการใช้ปัญญาของตนเอง

การยืนเสรีภาพของปัจเจกบุคคลในการเลือกชีวิตที่ดีของตนเอง ที่เชื่อมโยงกับอิสรภาพทางปัญญาและอิสรภาพทางศีลธรรมแบบพุทธะ ย่อมมีนัยสำคัญสอดคล้องกับความคิดคานท์, มิลล์ และซาตร์ดังกล่าวแล้ว แต่ปัญหาคือพุทธะไม่ได้พูดถึง “เสรีภาพทางการเมือง” ไว้โดยตรง เพียงแต่ให้ข้อเสนอว่าถ้ายึดถือธรรมะในการปกครองจะดีกว่า “การใช้อำนาจตามอำเภอใจ” ในการปกครอง และยังพูดถึงหายนะต่อสังคมที่ตามมาจากการใช้อำนาจตามอำเภอใจของผู้ปกครองที่ขาดธรรมะไว้ด้วย (ดังเห็นได้ในจักกวัตติสูตร เป็นต้น)

แต่ปัญหาคือ ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาคือประวัติศาสตร์ศาสนาที่ยึดโยงกับ “ระบบการเมืองแบบพิชิตอำนาจ” ที่มีความคิดพื้นฐานว่าผู้มีอำนาจเหนือกว่าคือผู้พิชิต ซึ่งอำนาจที่เหนือกว่าคืออำนาจในการปกครองแบบเผด็จการ (despotism) ที่สามารถควบคุมกองกำลังและกลไกต่างๆ ในโครงสร้างระบบอำนาจทางการเมืองเช่นนั้นได้อย่างเข้มแข็ง ดังนั้น ภายใต้ระบบการเมืองแบบพิชิตอำนาจ ผู้ที่แข็งแรงกว่าคือผู้ชนะ และเพื่อให้ได้มาหรือรักษาไว้ซึ่งอำนาจเช่นนั้นจำเป็นต้องต่อสู้เพื่อ “ชิงอำนาจ” ด้วยความรุนแรง ฆ่าได้แม้กระทั่งญาติมิตร พ่อ แม่ และลูกของตนเองโดยมีทฤษฎีรองรับ เช่น คัมภีร์อรรถศาสตร์, ปรัชญาภควัทคีตาเป็นต้น พระเจ้าอโศกมหาราชก็ต่อสู้ชิงอำนาจกับญาติพี่น้องของตนเอง และขยายอำนาจด้วยการทำสงครามที่มีคนตายเป็นแสนๆ อเล็กซานเดอร์มหาราช หรือระบบกษัตริย์ของทุกสังคมในโลก ก็ล้วนแต่ใช้วิธีการพิชิตอำนาจด้วยกองกำลังที่เหนือกว่าเช่นกัน หลังจากขยายอำนาจด้วยกองกำลังแล้วพระเจ้าอโศกจึงหันมาใช้แนวคิด “ธรรมวิชัย” หรือ “การปกครองโดยธรรม” แต่ต่อมาพระเจ้าอโศกก็ถูกชิงอำนาจในที่สุด เพราะนี่คือ “วงจรอุบาทว์” ในระบบการเมืองแบบพิชิตอำนาจที่มีมายาวนาน

มีคำถามว่าแนวคิดการปกครองโดยธรรมจะทำให้ระบบการเมืองแบบพิชิตอำนาจเป็นระบบการเมืองที่ดีได้อย่างไร ไม่มีหลักฐานชี้ชัดเลยว่าทำได้จริง เพราะในระบบพิชิตอำนาจ กลุ่มชนชั้นปกครองคือ กษัตริย์ เชื้อพระวงศ์ ขุนนาง และพระสงฆ์ราชาคณะเป็นกลุ่มผูกขาดอำนาจในการตีความธรรมะ ดังนั้น จึงเกิดเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เช่นพระศรีศิลป์ที่บวชพระอยู่วัดระฆัง ได้สมณฐานันดรเป็นพระพิมลธรรม สึกออกมานำกองกำลังเข้าวังยึดอำนาจและฆ่ากษัตริย์ (พระศรีเสาวภาคย์) แล้วปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์นามว่า “สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงธรรม”  แถมยังมีเกียรติประวัติเป็นผู้แตกฉานพระไตรปิฎก และทำนุบำรุงพุทธศาสนาในรุ่งเรืองอีกด้วย

ประเด็นคือ ถ้าปฏิบัติตามหลักการปกครองโดยธรรมจริง ย่อมจะใช้ความรุนแรงในการพิชิตอำนาจไม่ได้ เพราะหลักทศพิธราชธรรม, หลักจักกวัตติวัตรเป็นต้นปฏิเสธการใช้ความรุนแรง แต่ทำไมแนวคิดการปกครองโดยธรรมจึงอยู่ได้ด้วยดีในระบบการเมืองแบบพิชิตอำนาจมายาวนานร่วมพันปี ก็เพราะชนชั้นปกครองและคณะสงฆ์ร่วมกันทำให้แนวคิดการปกครองโดยธรรมมีความหมายเป็นเพียง “ธรรมะเฉลิมพระเกียรติ” ของกษัตริย์เป็นด้านหลัก ไม่ใช่ธรรมะที่ใช้เป็นหลักการในการตรวจสอบการใช้อำนาจของกษัตริย์แต่อย่างใด แม้ในสังคมไทยปัจจุบันก็ยังยึดถือประเพณีเช่นนั้น

ตัวอย่างเช่น บทเทศนา “วชิโรปมกถา ว่าด้วยปัญญาประดุจเพชร” ที่ “คณะสงฆ์” หรือมหาเถรสมาคมมีมติให้พระไทยทุกวัดทั้งในและนอกราชอาณาจักรใช้เป็นบทเทศนาเฉลิมพระเกียรติ ร.10 ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบที่ผ่านมานั้น เนื้อหาของธรรมเทศนาทั้งหมดคือการนำเอาคำสอนพุทธะและเรื่องเล่าในคัมภีร์พุทธศาสนามามาใช้สรรเสริญพระราชจริยวัตรและพระราชกรณียกิจต่างๆ ของกษัตริย์ว่าเป็นไปตามหรือตรงตามคำสอนพุทธะและหลักการที่ดีงามของพุทธศาสนาทุกประการ (ดู https://www.dailynews.co.th/news/3510923/)

ประเพณีการใช้ธรรมะเฉลิมพระเกียรติได้อย่างเดียว แต่ใช้เป็นหลักการในการตั้งคำถามและวิจารณ์ตรวจสอบไม่ได้เช่นนี้ ย่อมสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาตามหลักการที่ว่า “เมื่อการวิจารณ์เป็นเรื่องต้องห้าม การสรรเสริญย่อมไร้ความหมาย” หรือขัดหลักการที่ว่า “ทองแท้ไม่กลัวไฟ” หรือหลัก “ทนต่อการพิสูจน” ที่พุทธศาสนายืนยัน

คำถามคือ ทั้งๆ ที่แนวคิด “อิสรภาพทางปัญญา” และ “อิรสภาพทางศีลธรรม” แบบพุทธปรัชญาสามารถตีความได้ว่ามีสาระสำคัญสอดคล้องหรือไปกันได้กับแนวคิดเสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด และการแสดงออกของมิลล์ แต่ทำไมจึงไม่สามารถนำมาใช้ได้จริงในสังคมไทยที่คนส่วนใหญ่ถือพุทธศาสนา

คำตอบตรงไปตรงมาคือ คณะสงฆ์หรือมหาเถรสมาคมซึ่งเป็น “ศาสนจักรของรัฐ” ที่ขึ้นตรงต่อพระราชอำนาจของกษัตริย์ในการแต่งตั้งและถอดถอนสมณศักดิ์ และแต่งตั้งตำแหน่งบริหารระดับสูงต่างๆ เช่น สมเด็จพระสังฆราช คณะกรรมการมหาเถรฯ พระราชาคณะชั้นต่างๆ กระทั่งเจ้าอาวาสพระอารามหลวงสำคัญๆ เป็นต้น เป็นคณะสงฆ์ที่มีอำนาจทางกฎหมายในการกำหนดให้พระสงฆ์ไทยทุกวัดทั้งในและนอกราชอาณาจักรมี “หน้าที่” สอนธรรมะเฉลิมพระเกียรติแก่ประชาชน และสอนประชาชนให้จงรักภักดีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และยังมีมติ, คำสั่ง, ประกาศของมหาเถรฯ ห้ามพระภิกษุสามเณรสอนธรรมะสนับสนุนการต่อสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตยของประชาชนอีกด้วย การบังคับเรียน “วิชาพระพุทธศาสนา” ในหลักสูตรการศึกษาของชาติและกิจกรรมทางศาสนาในสถาบันการศึกษาของรัฐ ก็ควบคู่ไปกับการปลูกฝังความจงรักภักดีชาติ ศาสน์ กษัตริย์ด้วยเช่นกัน

ทั้งหมดนั้นดำเนินไปภายใต้ “ระบบการเมืองแบบไทย” ที่ยังคงเป็น “ระบบการเมืองแบบพิชิตอำนาจ” ก่อน 2475 ย้อนไปในอดีตเป็นการพิชิตอำนาจภายในกลุ่มชนชั้นปกครองด้วยกันเองเป็นด้านหลัก แต่หลัง 2475 ถึงปัจจุบันเป็นการเมืองที่ชนชั้นปกครองและเครือข่าย “พิชิตอำนาจของประชาชน” ผ่านการทำรัฐประหารครั้งต่างๆ มาจนถึงปัจจุบัน จึงทำให้สถาบันพุทธศาสนายังคงมีบทบาทรักษาประเพณีสอนธรรมเฉลิมพระเกียรติตอบสนองระบบการเมืองเช่นนั้นอยู่

ทำอย่างไรเราจึงจะนำ “พุทธปรัชญา” หรือแนวคิดอิสรภาพทางปัญญาและอิสรภาพทางศีลธรรมแบบพุทธะมาใช้ได้จริงในสังคมไทยยุคนี้ “ฝ่ายก้าวหน้า” บางคนอาจบอก “ไม่จำเป็น” ถ้าเราต้องการ “ประชาธิปไตยโลกวิสัย” ก็อย่าเอาศาสนาหรือตีความศาสนามาเกี่ยวข้องกับการเมืองเลยจะดีกว่า เพราะจะนำไปสู่การโปรฯ ศาสนาเหนือคุณค่าแบบโลกวิสัยในที่สุด ซึ่งอาจกลายเป็น “กับดัก” อีกแบบ

แต่ถ้าเราดูประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงเป็นสังคมโลกวิสัย จะพบว่ามีการตีความศาสนาสนับสนุนสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคอย่างมีนัยสำคัญ เช่น การตีความแบบจอห์น ล็อกที่ว่าพระเจ้าไม่ได้มอบ “อำนาจเทวสิทธิ์” แก่กษัตริย์ แต่มอบ “สิทธิตามธรรมชาติ” แก่ปัจเจกบุคคลทั้งหลาย และมอบหมายให้ปัจเจกบุคคลทั้งหลายมีหน้าที่ปกป้องรักษาสิทธิตามธรรมชาติเช่นนั้นด้วยการเลือกรัฐบาลตัวแทนอำนาจอธิปไตยของประชาชนขึ้นมาทำหน้าที่ดังกล่าว แนวคิดนี้ปรากฎใน “คำประกาศอิสรภาพ” อเมริกา และยังปรากฏในการรณรงค์เลิกระบบทาส, การต่อสู้เพื่อสิทธิเท่าเทียมของคนผิวดำ เป็นต้น ในอินเดียก็มี ดร.ภิมราว รามยี อัมเบดการ์ ประธานร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของอินเดียตีความพุทธศาสนาสนับสนุนเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ ประชาธิปไตย และสิทธิสตรี อีกทั้งยังอ้างหลักการพุทธดังกล่าวปลุกระดมชาวจัณฑาลลุกขึ้นต่อสู้รณรงค์ยกเลิกระบบวรรณะ เป็นต้น

ยังมีงานปรัชญาการเมืองของจอห์น รอลส์ ชื่อ “เสรีนิยมทางการเมือง” (Political Liberalism) ที่เสนอว่าในรัฐเสรีประชาธิปไตยโลกวิสัย เราอาจนำความเชื่อทางศาสนาและแนวคิดทางปรัชญาต่างๆ มาใช้กับเรื่องสาธารณะทางการเมืองได้ แต่ต้องตีความให้เป็น “เหตุผลสาธารณะ” (public reason) คือเหตุผลที่ “สมเหตุสมผล” ให้พลเมืองเสรีและเสมอภาคทุกคนที่มีความเชื่อทางศาสนาและอื่นๆ ต่างกันสามารถยอมรับร่วมกันได้ เช่น การตีความว่าพระเจ้าสร้างมนุษย์มาให้มีเจตจำนงเสรี, มนุษย์ทุกคนเสมอภาคกันในสายตาพระเจ้า, หรือพระเจ้าสร้างมนุษย์มาให้มีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกัน ย่อมใช้เป็นเหตุผลสาธารณะได้ แต่การเสนอว่าสถาบันการศึกษาของรัฐต้องสอนให้ประชาชนทุกคนปฏิบัติตามบัญญัติ 10 ประการ เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงสวรรค์ของพระเจ้า ย่อมใช้เป็นเหตุผลสาธารณะไม่ได้ (ใครจะเชื่อเช่นนั้นก็ได้แต่ควรเป็นความเชื่อส่วนบุคคล) เพราะ “ไม่สมเหตุสมผล” ที่จะให้พลเมืองที่ถือศาสนาอื่นๆ และผู้ที่ไม่ถือศาสนายอมรับร่วมกันได้ 


John Rawls 
ที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/File:John_Rawls_%281971_photo_portrait%29.jpg

ทำนองเดียวกัน งานชื่อ “แนวคิดโลกวิสัยกับเสรีภาพทางความคิดเห็น” (Secularism and Freedom of Conscience) ของชาร์ลส์ เทย์เลอร์ก็สนับสนุนไอเดียแบบรอลส์ โดยเทย์เลอร์ยกตัวอย่างว่า แนวคิดจริยศาสตร์คานท์ที่เน้นเสรีภาพควบคู่กับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์, จริยศาสตร์ประโยชน์นิยมที่เน้นเสรีภาพควบคู่กับประโยชน์สุขส่วนรวม, จริยศาสตร์พุทธที่เน้นความเมตตาและอหิงสา รวมทั้งแนวคิดนิเวศวิทยาเชิงลึกที่มองว่าระบบนิเวศในธรรมชาติมีมิติของการพึ่งพากัน และความเชื่อชนเผ่าที่มองว่ามนุษย์ทั้งหลายมีสายสัมพันธ์เชิงเครือญาติระหว่างกัน เป็นต้น ล้วนมีนัยสำคัญที่ “เหลื่อมซ้อน” (overlap) หรือสอดคล้องไปกันได้กับ “เหตุผลสาธารณะ” ที่ยึดโยงกับ “คุณค่าแกนกลาง” (core values) ของระบอบประชาธิปไตย อันได้แก่หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และอำนาจอธิปไตยของประชาชน

ดังนั้น การตีความศาสนาให้เป็นเหตุผลสาธารณะที่ยึดโยงกับคุณค่าแกนกลางของประชาธิปไตย จึงไม่ใช่การมุ่งโปรฯ ศาสนา แต่เป็นการนำสาระสำคัญบางอย่างของศาสนามาสนับสนุนศักดิ์ศรีความเป็นคนของประชาชนขณะเดียวกันก็เป็นการตั้งคำถาม วิพากษ์โต้แย้ง และปฏิเสธการใช้ศาสนาสนับสนุนระบบการเมืองแบบพิชิตอำนาจที่กดทับความเป็นมนุษย์ และละเมิดหลักเมิดสิทธิ เสรีภาพ และอำนาจอธิปไตยของประชาชนด้วย


ที่มา https://mgronline.com/politics/detail/9660000086883

เช่น ถ้าเรานำแนวคิดอิสรภาพทางปัญญาและอิสรภาพทางศีลธรรมแบบพุทธะ ซึ่งมีนัยสำคัญสอดคล้องกับแนวคิดเสรีภาพทางความคิดเห็นแบบมิลล์มาตั้งคำถามกับการขังคุก “อานนท์ นำภา” และนักโทษการเมืองหรือนักโทษ 112 คนอื่นๆ รวมทั้งการวินิจฉัย “ยุบพรรคก้าวไกล” (?) โดยศาลรัฐธรรมนูญ เราจะพบว่าการต่อสู้ของอานนท์และพื่อนพ้อง รวมทั้งการเสนอแก้กฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยพรรคก้าวไกล ล้วนเป็นการกระทำที่สอดคล้องกับการใช้อิสรภาพทางปัญญา, อิสรภาพทางศีลธรรมแบบพุทธะ และเป็นการใช้เสรีภาพทางความคิดเห็นแบบมิลล์ ซึ่งมีสาระสำคัญสอดคล้องกับการปกป้องรักษา “คุณค่าแกนกลาง” ของระบอบประชาธิปไตยอย่างชัดแจ้ง

ระบบการเมืองแบบพิชิตอำนาจที่สืบทอดจากจากยุคเก่าที่กำหนดให้มี “นักโทษทางความคิด” (prisoner of conscience) แบบอานนท์และผองเพื่อน หรือยุบพรรคเพื่อไทย, อนาคตใหม่ และก้าวไกลต่างหากที่ขัดกับหลักอิสรภาพทางปัญญา, อิสรภาพทางศีลธรรมแบบพุทธะ และขัดกับหลักเสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออกของมิลล์ แต่น่าเศร้าที่พุทธศาสนาไทยยังเป็นเครื่องมือรับใช้ระบบการเมืองแบบพิชิตอำนาจเช่นนั้น

ดังนั้น บทบาทพุทธศาสนาไทยที่ทำหน้าที่สนับสนุนระบบการเมืองแบบพิชิตอำนาจ จึงสวนทางกับเส้นทางอิสรภาพแบบพุทธะ และเส้นทางเสรีภาพแบบมิลล์ ซึ่งเท่ากับสวนทางกับคุณค่าแกนกลางของประชาธิปไตยโลกวิสัยอย่างชัดแจ้ง

 


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net