ภาคประชาสังคมเรียกร้องรัฐบาลไทยไม่ส่งกลับชาวอุยกูร์ที่เหลือไปเมืองจีน

องค์กรสิทธิฯ แถลงข่าวไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลไทยส่งกลับผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ 'สุณัย ผาสุข' ถามหาตัวผู้ตัดสินใจส่งผู้ลี้ภัยกลับจีนแบบไม่สมัครใจ และองค์กรระหว่างประเทศไม่มีส่วนรู้เห็น แสดงถึงความไม่โปร่งใสในการดำเนินนโยบายละเอียดอ่อน ด้านเครือข่ายภาคประชาสังคมมุสลิมเสียใจที่เกิดเหตุทำลายกงสุลไทยที่ตุรกี และหวังว่าจะไม่เกิดเหตุส่งกลับผู้ลี้ภัยอีก

สุณัย ผาสุข ฮิวแมนไรท์ วอทซ์ แถลงข่าวกรณีรัฐบาลไทยส่งกลับผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์จำนวน 109 คน

10 ก.ค. 2558 – เวลา 13.30 น. วันนี้ (10 ก.ค.) ที่มูลนิธิศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย ถ.รามคำแหง มีการแถลงข่าวโดยองค์กรสิทธิและภาคประชาสังคมหลายองค์กร ต่อกรณีที่กลางดึกคืนวันที่ 8 ก.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ส่งกลับผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ 109 คนกลับประเทศจีน

 

ิวแมนไรท์ วอซท์ ถามหาตัวคนตัดสินใจส่งผู้ลี้ภัยกลับจีนแบบไม่สมัครใจ
สะท้อนความไม่โปร่งใสในการดำเนินนโยบายละเอียดอ่อน

สุณัย ผาสุข จากฮิวแมนไรท์ วอซท์ ระบุว่า การส่งตัวชาวอุยกูร์กลับเช่นนี้ นอกจากจะละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว หากยึดตามข้ออ้างของไทยที่ระบุว่า จีนส่งหลักฐานยืนยันว่าเป็นคนกลุ่มที่กระทำความผิดในจีนนั้น ก็จะต้องเข้าสู่ขั้นตอนส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ไม่สามารถตัดสินใจและส่งตัวได้ทันที ทั้งนี้เป็นที่รับรู้ว่าชาวอุยกูร์เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในจีนที่ถูกเลือกปฏิบัติ การอ้างเพียงแค่กฎหมายคนเข้าเมืองเพื่อส่งกลับเป็นสิ่งที่นานาชาติไม่ยอมรับ

ทั้งนี้ ต่อให้รัฐไทยไม่ใช่ภาคีอนุสัญญาผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศ แต่รัฐไทยก็ต้องปฏิบัติตามจารีตระหว่างประเทศ อันเป็นจารีตเก่าแก่ คือหลักการไม่ส่งบุคคลกลับไปเผชิญที่ซึ่งอันตราย หรือ “Non-Refoulemont” นอกจากนี้ไทยเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการซ้อมทรมาน ชาวอุยกูร์ที่ทางการจีนถือเป็นศัตรูของรัฐนั้นเมื่อกลับไป ก็เสี่ยงที่จะถูกปฏิบัติอย่างทารุณ เท่ากับไทยผิดกฎหมายระหว่างประเทศไปด้วย

“ทั้งนี้เวลาผ่านมาแล้วกว่า 24 ชม. แต่ทางการจีนยังไม่ยอมรับว่าได้รับตัวชาวอุยกูร์ ขณะที่ไทยเสนอตัวรับประกันความปลอดภัยแทน จึงตกเป็นภาระของทางการไทย ที่จะถูกนานาชาติสอบถามเกี่ยวกับชะตากรรมของชาวอุยกูร์” สุณัยกล่าวตอนหนึ่ง

กรณีชาวอุยกูร์ที่ยังอยู่ในประเทศอีก 60 คน ท่าทีของฮิวแมนไรท์ วอทซ์ ตรงกับท่าทีขององค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศคือ ขออย่าส่งตัวกลับจีน ทั้งนี้เป็นเรื่องน่าเสียใจ และน่าเสียดาย ที่ไทยเคยมีจุดยืนด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ไม่กี่สัปดาห์ก่อน รัฐบาลไทยทำเรื่องที่น่าชื่นชม คือยอมอนุญาตให้ชาวอุยกูร์ที่เป็นผู้หญิงและเด็กไปตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ตุรกี ซึ่งรัฐบาลตุรกีเขาถือว่าชาวอุยกูร์เป็นญาติ ผู้ที่หนีการประหัตประหารจากจีนสามารถไปตั้งถิ่นฐานได้

อย่างไรก็ตาม ทางการไทยทำดีไม่ตลอด ไม่กี่สัปดาห์ก็เปลี่ยนท่าทีจากหน้ามือเป็นหลังมือ ส่งตัวชาวอุยกูร์ที่เป็นผู้ชาย โดยในจำนวนนี้มีผู้ที่ทางการจีนต้องการตัว กลับไปให้ทางการจีน ก็พอจะนึกได้ว่าเมื่อกลับไปจะเป็นอย่างไร กรณีนี้ไทยจึงถูกประณามจากทั่วโลกทั้งสหประชาติ, สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR), แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล รวมทั้งประเทศที่สนับสนุนสิทธิมนุษยชน

จึงขอให้เป็นบทเรียนที่สำคัญ เป็นการกระทำครั้งสุดท้าย ชาวอุยกูร์ซึ่งอยู่ในที่กักของสำนักงาน ตม. ขออย่าส่งตัวกลับ หากมีผู้ขอมาพึ่งพิงอีก ขอให้ทางการไทยปรับท่าที จากการขังในด่านกักของ ตม. ขอเสนอให้ UNHCR ซึ่งมีความชำนาญเฉพาะทาง ดูแลเรื่องผู้ลี้ภัย ซึ่งสามารถให้ความคุ้มครอง และจัดที่พักพิงได้ และการคุ้มครองของ UNHCR ไม่เป็นภาระของคนไทยเลย เพราะใช้งบประมาณขององค์กรระหว่างประเทศ ไม่ได้มาจากคนไทย นอกจากนี้ขอชื่นชมประชาคมมุสลิมในประเทศไทยที่ช่วยดูแลคนที่หนีร้อนมาพึ่งเย็นตลอดมา

สุณัยตั้งคำถามถึงรัฐบาลไทยว่า "ต้องตอบคำถามว่า ใครเป็นผู้ตัดสินใจนำผู้อพยพขึ้นเครื่องบินเพื่อกลับจีน และด้วยเหตุผลใดจึงเปลี่ยนท่าทีจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากเดิมเคยช่วยเหลือให้ผู้ลี้ภัยสามารถไปตั้งถิ่นฐานได้ใหม่ในตุรกี แต่กลับเปลี่ยนท่าที ซึ่งถูกตั้งคำถามจากองค์กรระหว่างประเทศ"

“นี่เป็นคำถามต่อผู้กำหนดนโยบายของรัฐบาล เพราะเป็นเรื่องแสดงความโปร่งใส โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการกำหนดนโยบายในเรื่องที่เป็นสิ่งอ่อนไหว ไม่ใช่แค่เรื่องสิทธิมนุษยชน แต่กระทบกับผลกระทบต่อสวัสดิภาพ และทรัพย์สิน ของคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศ อย่างกรณีการบุกสถานทูตที่อิสตันบุล และการประท้วงที่อังการา ขณะที่สถานทูตในเยอรมันก็ห้ามคนไทยมาที่สถานทูต เพราะชาวตุรกี และอุยกูร์ จะมาชุมนุมประท้วงที่หน้าสถานทูต นี่เป็นบรรยากาศระหว่างประเทศที่ไม่เกิดขึ้นมาก่อน”

สุณัย กล่าวถึงสิ่งน่ากังวล จากกรณีส่งตัวชาวอุยกูร์กลับประเทศจีน ได้แก่ หนึ่ง เป็นส่งกลับโดยชาวอุยกูร์ไม่สมัครใจ เป็นการบังคับส่งกลับ ทั้งนี้รัฐบาลตุรกรีออกหนังสือเดินทางให้ผู้ลี้ภัยแล้ว แต่รัฐบาลไทยกลับกักตัวไว้ สอง ขั้นตอนการส่งกลับกระทำโดยไม่มีส่วนร่วมขององค์กรระหว่างประเทศที่ดูแลช่วยเหลือผุ้ลี้ภัย และ UNHCR ไม่มีบทบาทใดๆ เลย สาม การบังคับส่งตัวชาวอุยกูร์กระทำยามค่ำคืน สะท้อนถึงความไม่โปร่งใส หรือกลัวว่าจะมีการเข้ามาระงับยังยั้งได้โดยองค์การระหว่างประเทศ

สุณัยเตือนด้วยว่า โดยการดำเนินงานของสหประชาชาติในปลายปีนี้จะมีการตรวจสอบการปฏิบัติของประเทศไทยว่าชอบด้วยพันธะกรณีระหว่างประเทศหรือไม่ เพราะไทยลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งต้องมีพันธะกรณีด้วย และประเด็นชาวอุยกูร์จะเป็นประเด็นสอบถามในเวทีสหประชาชาติ รวมทั้งมาตรการปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญาด้วย

 

มูลนิธิศักยภาพชุมชนขอให้รัฐบาลไทยอนุญาตให้หน่วยงานสิทธิมนุษชนเข้าไปดูแลผู้ลี้ภัยที่ยังอยู่ในไทย

ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ จากมูลนิธิศักยภาพชุมชน กล่าวว่า ไม่สามารถอยู่นิ่งเฉยกับการบังคับส่งกลับได้ ก่อนหน้านี้ไทยได้รับความชื่นชมที่ส่งผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ที่เป็นผู้หญิงและเด็ก 170 คนกลับไปที่ตุรกี แต่วันที่ 8 ก.ค. ที่ผ่านมา มีการส่งชาวอุยกูร์ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้ชาย 109 คนกลับไป โดยการส่งกลับชาวอุยกูร์เป็นการปฏิบัติในช่วงรัฐบาลทหาร เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศไม่ได้รับทราบด้วย แต่หลังส่งตัวกลับ และได้รับแรงกดดันจากต่างประเทศ รัฐบาลตอบไม่ได้ ก็โยนให้กระทรวงต่างประเทศ ซึ่งไม่รู้จะชี้แจงอย่างไร ชลิดาระบุว่าการส่งผู้ลี้ภัยซึ่งเป็นชาวมุสลิมในช่วงที่เป็น 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน ซึ่งมุสลิมต้องปฏิบัติศาสนกิจเข้มข้น ถือเป็นสิ่งที่น่าเสียใจเพราะเป็นการละเมิดศรัทธาอันสูงส่งในศาสนาอิสลาม เสียใจที่รัฐบาลไม่ได้ตระหนักในเรื่องความละเอียดอ่อนเรื่องศาสนา

ทั้งนี้รัฐบาลไทยมีพันธะผูกพันกับอนุสัญญาต่อต้านการซ้อมทรมาน หรือ CAT ซึ่งห้ามการส่งกลับผู้ลี้ภัย รัฐที่จะจะส่งกลับผู่ลี้ภัย ต้องนำข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐที่ร้องขอมาประกอบการตัดสินใจด้วย ทั้งนี้รัฐบาลจีนมีประวัติที่ไม่ดีในการปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยชาวอุยกูร์ กรณีนี้ไทยจึงละเมิดอนุสัญญาการซ้อมทรมาน ที่ไทยลงนามในอนุสัญญาไว้แล้ว

ส่วนเรื่องการเจรจาโครงการพัฒนาทั้งเรื่องเรือดำน้ำ และโครงการรถไฟนั้น การเจรจาควรเป็นไปอย่างโปร่งใส อยู่บนพื้นฐานของการเจรจากันทางธุรกิจ และไม่ควรจะเอาชีวิตชาวอุยกูร์ 190 คนไปเป็นสิ่งของแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ต้องการได้รับคำยืนยันจากรัฐบาลไทยว่าชาวอุยกูร์ 60 คนที่เหลือในประเทศไทยจะได้รับความปลอดภัย และหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนสามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือได้

 

ประชาสังคมมุสลิมเสียใจต่อเหตุการณ์ส่งกลับ และเหตุทำลายสถานกงสุลไทยในตุรกี
หวังจะทำงานร่วมกับรัฐบาลในอนาคต เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดแก้ปัญหาผู้อพยพอุยกูร์

อารี อารีฟ เครือข่ายภาคประชาสังคมมุสลิม กล่าวว่า จากกรณีที่เกิดขึ้นเครือข่ายภาคประชาสังคมมุสลิมมีทัศนะต่อไปนี้ ประการแรก จากเหตุการณ์ที่รัฐบาลไทยส่งตัวชาวอุยกูร์มุสลิม 172 คนไปยังตุรกี ขอชมเชยประเทศไทยที่ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม มีเมตตาธรรมต่อเพื่อนมนุษย์ แต่การส่งตัว 109 คน เมื่อคืนวันที่ 8 ก.ค. ทำให้ชาวอุยกูร์ไม่พอใจไปทำลายสถานกงสุลไทยในตุรกี พวกเรารู้สึกเสียใจแต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด

“ขอแสดงจุดยืน ยืนยันด้านมนุษยธรรม สนับสนุนให้มีการช่วยเหลือผู้แสวงหาที่พักพิง อย่างกรณีชาวอุยกูร์ 173 คน และเสียใจต่อกรณีส่งตัวชาวอุยกูร์ 109 คนกลับจีน ขอให้รัฐบาลไทยร่วมรับผิดชอบการส่งตัวกลับ”

ประการที่สอง ขอให้รัฐบาลไทยตรวจสอบว่ารัฐบาลจีนดูแลชาวอุยกูร์ที่กลับไปด้วย เพราะมีข้อกังวลต่อเรื่องการปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์ที่ผ่านมา

ประการที่สาม ขอให้มีการรับประกันจากรัฐบาลไทย และองค์กรที่ทำงานด้านนี้ เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะไม่มีการส่งชาวอุยกูร์ที่เหลืออีก 62 คนกลับไปจีน เพื่อให้มีการดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชน

เครือข่ายภาคประชาสังคมมุสลิม ขอให้รัฐบาลรักษาผลประโยชน์และดำรงความสัมพันธ์ที่ดีกับโลกมุสลิม ช่วงนี้เป็นช่วงรอมฎอน ทางการไทยต้องชี้แจงกรณีนี้ต่อนานาชาติมุสลิม และองค์กรความร่วมมือแห่งโลกอิสลาม แจ้งประชาคมโลกให้ทราบอย่างตรงไปตรงมา ทั้งสหประชาชาติ สหภาพยุโรป รวมไปถึงองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน

อารีย้ำด้วยว่า ไม่เห็นด้วย และเสียใจ ที่ชาวอุยกูร์ไปทำลายสถานกงสุลไทยที่ตุรกี ขอให้เป็นครั้งสุดท้ายเพื่อไม่ให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับตุรกี และสังคมมุสลิมเลวร้ายลง

เครือข่ายภาคประชาสังคมมุสลิมเผยว่า ขณะนี้กลุ่มพยายามขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อหารือหนทางแก้ปัญหาเพราะเจ้าหน้าที่คนอื่นไม่มีความรู้และไม่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ ในเรื่องของการส่งตัวไปจีนนั้นถือว่ากระบวนการนี้ผิดพลาด กลุ่มเรียกร้องให้ไทยและจีนรับผิดชอบในเรื่องการดูแลคนที่ส่งไปแล้ว ในขณะที่สำหรับอุยกูร์ที่ยังเหลืออยู่ขอให้ทางการไทยไม่ส่งตัวให้จีน และขอให้กลุ่มองค์กรต่างๆที่ทำงานด้านมนุษยธรรมได้เข้าให้การช่วยเหลือได้ โดยยืนยันว่าที่ผ่านมาดำเนินงานต่อเนื่องมากับรัฐบาล เพื่อหวังให้สามารถหาทางออกที่ดีที่สุด

 

ประธานฝ่ายกฎหมาย มุสลิมเพื่อสันติ ไม่ต้องการให้ส่งกลับไปโดยที่ไม่รู้ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร

สายัณห์ สุขยัน ประธานฝ่ายกฎหมาย มูลนิธิมุสลิมเพื่อสันติ กล่าวว่า ขอพูดในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่ทนเห็นไม่ได้ ที่มีมนุษย์ถูกฆ่า ทนเห็นคนถูกฆ่าไม่ได้ ประชาชนไทยออกมาต่อต้านการฆ่าสุนัขเพราะทารุณกรรมสัตว์ จนรัฐบาลแก้ไขกฎหมายปกป้อง แต่ก็กรณีนี้เราจะยอมให้เขาส่งกลับคนไปโรงเชือดหรือ ทั้งนี้เขาไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรม การกระทำของรัฐบาลจีนและไทย ที่ฝ่าฝืนกฎบัตรสหประชาชาติ อนุสัญญาผู้ลี้ภัยที่ไม่อนุญาตให้ส่งมนุษย์หรือผู้ลี้ภัย ที่ถูกเข่มฆ่าเพราะความเชื่อ ลัทธิ เผ่าพันธุ์ที่แตกต่าง โดยเขาหวังว่ารัฐบาลดูแลชาวอุยกูร์ที่เหลืออยู่ตามกฎหมายระหว่างประเทศ ตรวจสอบว่าผู้ที่ถูกส่งกลับไปแล้วเป็นตายร้ายดีอย่างไร

นอกจากนี้ กรณีโรฮิงญา รัฐบาลบอกว่าไม่สามารถรับเลี้ยงดูได้ ต้องหาประเทศที่รับไป กรณีชาวอุยกูร์ ประเทศตุรกียอมรับแล้ว ทำไมท่านไม่ส่งไป ทำไมกลับส่งไปให้เขาเชือดต่อ สมเหตุสมผลหรือไม่ สายันห์ตั้งคำถาม

 

กระทรวงการต่างประเทศชี้แจงกรณีส่งชาวอุยกูร์กลับประเทศจีน

ขณะเดียวกัน กระทรวงต่างประเทศ ออกแถลงการณ์ กรณีการส่งชาวอุยกูร์ไปประเทศจีน โดยระบุว่า

"1. ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2557 ชาวอุยกูร์ประมาณ 300 กว่าคน ได้หลบหนีเข้าประเทศไทย และรัฐบาลจีนได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยส่งบุคคลเหล่านี้กลับไปยังประเทศจีน เนื่องจากบุคคลเหล่านี้อาจมีความเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายในประเทศจีน รัฐบาลไทยได้ขอให้ฝ่ายจีนดำเนินการส่งหลักฐานการกระทำผิดและการพิสูจน์สัญชาติให้แก่ฝ่ายไทยพิจารณา ก่อนที่จะดำเนินการส่งตัวให้ฝ่ายจีนต่อไป

2. รัฐบาลไทยได้ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างรอบคอบโดยคำนึงถึงหลักมนุษยธรรมควบคู่ไปกับหลักสิทธิมนุษยชนและพันธกรณีระหว่างประเทศของไทย

3. รัฐบาลไทยได้พิจารณาอย่างรอบคอบจากหลักฐานของทุกฝ่าย สรุปว่าสามารถแยกชาวอุยกูร์ ดังกล่าวได้เป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกจำนวน 172 คน ไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับการกระทำผิดกฎหมาย และบุคคลดังกล่าวได้แสดงความประสงค์ที่จะเดินทางไปตุรกีและรัฐบาลตุรกีพร้อมที่จะรับ ในขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยได้รับหลักฐานการกระทำผิดและการพิสูจน์สัญชาติจากรัฐบาลจีนสำหรับชาวอุยกูร์ จำนวน 109 คน และยังมีอีกประมาณ 60 คนที่ยังอยู่ในความดูแลของไทย

4. จากข้อเท็จจริงข้างต้น รัฐบาลไทยจึงได้ดำเนินการดังนี้

4.1 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2558 รัฐบาลไทยได้ตัดสินใจส่งชาวอุยกูร์จำนวน 172 คน ให้กับรัฐบาลตุรกี ซึ่งได้รับบุคคลเหล่านี้ไปตั้งถิ่นฐานในตุรกีเรียบร้อยแล้ว

4.2 เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2558 รัฐบาลไทยได้ตัดสินใจส่งชาวอุยกูร์ จำนวน 109 คน ซึ่งรัฐบาลจีนได้ส่งหลักฐานการกระทำผิดและการพิสูจน์สัญชาติให้กับฝ่ายไทยแล้ว

4.3 ขณะนี้ยังมีชาวอุยกูร์ประมาณ 60 คน อยู่ในความดูแลของรัฐบาลไทยซึ่งยังไม่มีหลักฐานเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมาย รัฐบาลไทยจะพิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสมต่อไป

5. ตามที่หลายฝ่ายมีความห่วงกังวลว่าชาวอุยกูร์ที่ถูกส่งกลับไปยังประเทศจีนอาจถูกลงโทษอย่างรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตนั้น รัฐบาลจีนได้ยืนยันกับรัฐบาลไทยว่า จะปฏิบัติต่อบุคคลเหล่านี้ด้วยความเป็นธรรมและรับรองความปลอดภัย นอกจากนั้น ผู้ที่ไม่มีความผิดจะได้รับการดูแลให้กลับคืนสู่สังคมและรัฐบาลจีนจะจัดหาที่ทำกินให้ตามความเหมาะสมต่อไป

6. รัฐบาลจีนยินดีเชิญให้รัฐบาลไทยส่งผู้แทนไปติดตามผลการปฏิบัติ ซึ่งสภาความมั่นคงแห่งชาติจะจัดผู้เกี่ยวข้องจากหน่วยราชการต่างๆ รวมทั้งจะพิจารณาเชิญองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ ICRC เข้าร่วมกับฝ่ายไทย เดินทางไปตามคำเชิญของรัฐบาลจีนต่อไป" แถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศระบุ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท