คำถาม/คำตอบ 10 ข้อ กรณีการรุกรานยูเครน: มุมมองกฎหมายระหว่างประเทศ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เกริ่นนำ

การรุกรานประเทศยูเครนโดยประเทศรัสเซียได้ก่อให้เกิดคำถามข้อสงสัยหลายประการเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศ ผู้เขียนลองประมวลคำถามที่สาธารณชนอยากรู้ โดยทำในรูปของคำถาม-คำตอบ ดังนี้

1. รัสเซียละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและกฎบัตรสหประชาชาติหรือไม่

ตำตอบ ใช่ ตามกฎบัตรสหประชาชาติข้อที่ 2 (4) ห้ามมิให้รัฐคุกคามหรือใช้กำลังทางทหารละเมิดบูรณาภาพแห่งดินแดน กล่าวอีกนัยหนึ่ง หลังจากที่กฎบัตรสหประชาชาติมีผลใช้บังคับ หลักก็คือ ห้ามรัฐใช้กำลังทางทหาร ส่วนข้อยกเว้นตามกฎบัตรมีอยู่สองกรณีเท่านั้น คือ การป้องกันตนเอง (self-defense)[1] และการใช้กำลังตามความเห็นชอบจากคณะมนตรีความมั่นคงตามหมวดเจ็ดของกฎบัตรสหประชาชาติเท่านั้น อนึ่ง ในร่างข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ (ซึ่งเพิ่งตกไปเพราะรัสเซียคัดค้าน) ยืนยันชัดเจนว่า รัสเซียละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติข้อ 2 (4)

2. ข้ออ้างของรัสเซียชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่

คำตอบ ฟังไม่ขึ้น ไม่มีกฎหมายระหว่างประเทศข้อใดที่อนุญาตให้รัฐใช้กำลังทางทหารเพื่อคุ้มครองคนชาติของตนในต่างแดน ประธานาธิบดีปูติน (รวมถึงผู้แทนรัสเซียในคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติคือนาย Vassily Nebenzia) อ้างว่า พลเมืองรัสเซียที่อยู่ใน Luhansk และ Donetsk (ซึ่งอยู่ในอาณาเขตของยูเครน) กำลังถูกทำลายล้างเผ่าพันธุ์ (genocide) และรัสเซียต้องการให้มีเขตปลอดทหาร/อาวุธ (demilitarization) และไม่ให้เกิดรัฐบาลนาซี (denazification) ในยูเครน ข้ออ้างของปูตินล้วนไม่มีเหตุผลและหลักฐานรองรับ เป็นที่ทราบกันดีว่า ประธานาธิบดี Volodymr Zelensky ผู้นำยูเครนเป็นชาวยิว ไม่ใช่ฝ่ายขวา Neo-Nazi

3. ยูเครนป้องกันตนเองได้หรือไม่

คำตอบ ได้ ตามกฎบัตรสหประชาชาติข้อ 51 รับรองสิทธิในการป้องกันเองของรัฐ  “หากว่ามีการโจมตีด้วยอาวุธบังเกิดขึ้น” (if an armed attack occurs) ขัดเจนแน่นอนว่า ยูเครนถูกโจมดีด้วยอาวุธจากฝ่ายรัสเซียก่อน ยูเครนจึงมีสิทธิป้องกันตนเองตามกฎหมายระหว่างประเทศ

4. ทำไมคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติป้องกันการใช้กำลังไม่ได้

คำตอบ คณะมนตรีความมั่นคง (Security Council) เป็นองค์กรหลักของสหประชาชาติก็จริงแต่ปฎิเสธไม่ได้ว่าเป็นองค์กรทางการเมือง ห้าประเทศมหาอำนาจมีสิทธิยังยั้ง (veto) ข้อมติใดที่ออกโดยคณะมนตรีความมั่นคงจะมีผลใช้บังคับได้ต้องไม่มีหนึ่งในห้าประเทศมหาอำนาจยับยั้ง (veto) กรณีนี้ รัสเซียเป็นคู่ขัดแย้งเสียเองก็ย่อมเป็นธรรมดาที่รัสเซียจะขัดขวางทุกวิถีทางที่จะให้คณะมนตรีความมั่นคงเข้ามายุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งครั้งนี้ ร่างข้อมติ[2]ประณามการรุกรานของรัสเซียจึงตกไป ตลกร้ายก็คือ ประธานคณะมนตรีความมั่นคงครั้งนี้คือประเทศรัสเซีย

5. ในกรณีเกิดทางตันในคณะมนตรีความมั่นคงไม่สามารถดำเนินการได้ สมัชชาใหญ่จะดำเนินมาตรการใช้กำลังได้หรือไม่

คำตอบ ได้ ในอดีตเคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อมีการเมืองในคณะมนตรีความมั่นคงแล้วเกิดการใช้สิทธิยับยั้งจนคณะมนตรีความมั่นคงไม่สามารถ take action อะไรได้ สมัชชาใหญ่สหประชาชาติซึ่งประกอบด้วยรัฐสมาชิกของสหประชาชาติทุกรัฐ (ซึ่งมีคะแนนเสียงเท่ากันทุกประเทศ ไม่มีรัฐใดใช้สิทธิยับยั้งได้) ได้ออกข้อมติที่ 337 ชื่อว่า Uniting For Peace ออกเมื่อค.ศ. 1950 ในช่วงสงครามเกาหลี โดยข้อมตินี้ยืนยันว่า คณะมนตรีความมั่นคงมีความรับผิดชอบหลักในการธำรงรักษาไว้ซึ่งสันติภาพระหว่างประเทศ อย่างไรก็ดี ในกรณีที่คณะมนตรีความมั่นคงล้มเหลวที่จะปฎิบัติหน้าที่ดังกล่าว สมัชชาใหญ่ก็มิได้ถูกตัดความรับผิดชอบในการธำรงรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศด้วยและสามารถปฎิบัติการทางทหารได้หากมีความจำเป็นเพื่อฟื้นฟูสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ขณะที่เขียนนี้ กำลังมีการประชุมวาระพิเศษเร่งด่วนของสมัชชาใหญ่ต่อสถานการณ์ในยูเครน คงต้องติดตามกันว่า เนื้อหาของข้อมติสมัชชาใหญ่จะเป็นอย่างไร

6. ฟ้องศาลโลกได้หรือไม่

คำตอบ ประเด็นนี้ค่อนข้างซับซ้อน ต้องใช้เวลาพิจารณาอย่างรอบคอบ ยังตอบตอนนี้ไม่ได้แน่ชัดว่าฟ้องได้หรือไม่ อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ยูเครนได้ยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลกที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ว่า รัสเซียได้กระทำอาชญากรรมการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide) พลเมืองชาวยูเครน ซึ่งละเมิดอนุสัญญาการป้องกันและการลงโทษอาชญากรรมการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ ค.ศ. 1948 ซึ่งทั้งยูเครนและรัสเซียต่างเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าว นอกจากนี้แล้ว ยูเครนยังได้ร้องขอให้ศาลโลกให้ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว (Provisional measures) โดยคำร้องได้ขอให้ศาลโลกมีคำสั่ง 4 ประการหนึ่งในนั้นคือ ให้รัสเซียยุติการปฎิบัติการทางทหารโจมตียูเครนโดยทันที[3]

อนึ่ง มีข้อควรระวังว่า การที่ศาลโลกออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวนั้น ไม่ได้หมายความว่า ศาลโลกจะมีเขตอำนาจพิจารณาข้อพิพาทที่เป็น merit ของคดีเสมอไป แต่จะต้องผ่านประเด็นเขตอำนาจศาล (jurisdiction) ของศาลก่อนว่าศาลมีเขตอำนาจหรือไม่ซึ่งเป็นไปได้สูงที่รัสเซียจะต่อสู้ว่าศาลโลกไม่มีเขตอำนาจ หลังจากนี้ เป็นที่น่าติดตามอย่างยิ่งว่าศาลโลกจะออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวอย่างไรและรัสเซียจะปฎิบัติตามหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนึ่งในองค์คณะของผู้พิพากษาศาลโลกมีผู้พิพากษาชาวรัสเซียร่วมอยู่ด้วยจะตัดสินอย่างไร

7. ฟ้องศาลอาญาระหว่างประเทศได้หรือไม่

คำตอบ ไม่ได้ เนื่องจากทั้งยูเครนและรัสเซียมิได้เป็นภาคีธรรมนูญกรุงโรมก่อตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court: I.C.C) เพียงแต่ยูเครนทำคำประกาศฝ่ายเดียวยอมรับเขตอำนาจศาล ICC เมื่อปี 2015[4] คำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศนี้ ใช้กับรัฐที่มิได้เป็นภาคีธรรมนูญกรุงโรม[5] Karim Khan หัวหน้าอัยการของ ICC ก็ยอมรับว่าศาลอาญาระหว่างประเทศไม่มีเขตอำนาจพิจารณาคดี[6] ส่วนอีกช่องทางหนึ่งคือให้คณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติเป็นผู้ส่งเรื่องอัยการสอบสวนแต่ช่องนี้ยากถึงยากที่สุดที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากรัสเซียเป็นสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติย่อมคัดค้านอย่างแน่นอน ขนาดคณะมนตรีความมั่นคงจะออกข้อมติประณามการรุกรานของรัสเซีย ผู้แทนของรัสเซียในคณะมนตรีความมั่นคงยังใช้สิทธิยับยั้ง (veto) แล้วการจะนำตัวประธานาธิบดีปูตินขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศยิ่งแทบไม่มีทางเป็นไปได้

อนึ่ง มีข้ออธิบายเพิ่มเติมว่า ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice: I.C.J.) และศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court: I.C.C.) ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเฮกทั้งคู่ เป็นคนละศาลกัน วัตถุประสงค์ต่างกัน ICJ นั้นมีเขตอำนาจระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับรัฐ ไม่เกี่ยวกับตัวบุคคลโดยตรง ขณะที่ ICC เป็นศาลที่พิจารณาความผิดอาญาร้ายแรงที่กระทำโดยบุคคลและลงโทษบุคคลหากศาลตัดสินว่ามีความผิด

8. ฟ้องต่อศาลระหว่างประเทศแบบเฉพาะกิจ (ad hoc international tribunal) ได้หรือไม่

คำตอบ ไม่ได้ เนื่องจากการตั้งศาลระหว่างประเทศเฉพาะกิจอย่าง ศาลอาญาระหว่างประเทศสำหรับรวันดา (International Criminal Tribunal for Rwanda: ICTR) และศาลอาญาระหว่างประเทศสำหรับอดีตยูโกสลาเวีย (The International Criminal Tribunal for the former Yugoslavia: ICTY) นั้น ตั้งโดยข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ[7]ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามหมวดเจ็ดของกฎบัตรสหประชาชาติ ความพยายามที่จะตั้งศาลระหว่างประเทศเฉพาะกิจเพื่อพิจารณาคดีต่อประธานาธิบดีปูตินข้อหากระทำอาชญากรรมการรุกรานนั้น ต้องถูกผู้แทนรัสเซียในคณะมนตรีความมั่นคงใช้สิทธิยับยั้ง (veto) อย่างแน่นอน

9. ถ้าฟ้องศาลโลก ศาลอาญาระหว่างประเทศและศาลเฉพาะกิจไม่ได้ ฟ้องศาลต่างประเทศอื่นได้หรือไม่

คำตอบ ไม่ได้ เนื่องจากมีหลักกฎหมายระหว่างประเทศอยู่ว่า ไม่มีรัฐใดที่ใช้อำนาจอธิปไตยเหนือรัฐอื่นได้ (par in parem non habet imperium: an equal has no power over an equal)[8] ในอดีตเคยมีคดีขึ้นสู่ศาลโลกชื่อว่า Arrest Warrant case ระหว่างประเทศคองโกกับเบลเยี่ยม โดยเบลเยี่ยมได้ออกหมายจับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของคองโกโดยอ้างว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ โดยหมายจับที่ออกโดยเบลเยี่ยมนี้ได้ส่งไปให้ INTERPOL ตำรวจสากลเพื่อเวียนให้ประเทศสมาชิกอื่นๆ ได้ทราบด้วย หากพบรัฐมนตรีต่างประเทศผู้นี้ให้ดำเนินการจับและส่งตัวให้รัฐบาลเบลเยี่ยม คองโกฟ้องต่อศาลโลกโดยอ้างว่า การออกหมายจับโดยศาลต่างประเทศเป็นการกระทำที่ขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศ ศาลโลกให้เหตุผลว่า ตามกฎหมายระหว่างประเทศ เจ้าหน้าที่ระดับสูงอย่างประมุขของรัฐ (Head of State) หัวหน้ารัฐบาล (Head of Government) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (Minister for Foreign Affairs) ได้รับความคุ้มกันจากศาลต่างประเทศ (enjoy immunities from jurisdiction) ทั้งทางแพ่งและทางอาญา[9] จากนั้นศาลตัดสินว่า การออกหมายจับโดยเบลเยี่ยมเป็นสิ่งที่ขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศ เนื่องจากรัฐมนตรีต่างประเทศย่อมได้รับความคุ้มกันจากอำนาจศาลและหลักความละเมิดมิได้ตามกฎหมายประเพณีระหว่างประเทศ[10]

ด้วยเหตุผลทำนองเดียวกัน การออกหมายจับประธานาธิบดีปูตินโดยศาลต่างประเทศย่อมทำไม่ได้เพราะสามารถอ้างหลักความละเมิดมิได้ในตัวบุคคลและความคุ้มกันจากเขตอำนาจศาล ในอนาคตนับจากนี้ เป็นไปได้ที่ศาลบางประเทศอาจออกหมายจับปูติน หากเดินทางออกนอกประเทศ แต่ก็อาจเป็นการหวังผลทางการเมืองมากกว่าทางกฎหมาย

10. รัสเซียใช้อาวุธนิวเคลียร์ตามกฎหมายระหว่างประเทศได้หรือไม่

คำตอบ ไม่ได้ เนื่องจาก ณ ตอนนี้รัสเซียมิได้ถูกภัยคุกคามอันใกล้จะถึง (imminent threat) จากอาวุธนิวเคลียร์แต่อย่างใด การที่ปูตินออกมาพูดว่าให้ทหารที่ดูแลอาวุธนิวเคลียร์มีความพร้อมขั้นสูงสุด เป็นคำขู่ที่จะใช้กำลังทางทหารอย่างหนึ่ง ซึ่งตามกฎบัตรสหประชาชาติข้อ 2 (4) ห้ามมิให้รัฐขู่ว่าจะใช้กำลังทางทหาร ในประเด็นนี้ศาลโลกเคยตัดสินว่า การขู่ว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ขัดกับข้อ 2 (4) ของกฎบัตรสหประชาชาติและหากไม่เข้าเงื่อนไขของการป้องกันตนเองตามข้อ 51 ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย[11]

สำหรับประเด็นความชอบด้วยกฎหมายของการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในกรณีของการป้องกันตนเองตามกฎหมายระหว่างประเทศนั้น คำถามนี้ตอบได้ยากมาก ถึงขนาดศาลโลกลงมติด้วยคะแนนเท่ากันคือ 7:7 โดยศาลโลกกล่าวว่า ศาลโลกไม่อาจสรุปได้อย่างแน่ชัดว่า การขู่ว่าจะใช้หรือการใช้อาวุธนิวเคลียร์เป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือผิดกฎหมาย ในกรณีของการป้องกันตนเองหากว่าความอยู่รอดของรัฐอยู่ในสถานการณ์อันตรายอย่างยิ่งยวด (at stake)[12] อย่างไรก็ตาม กรณีของรัสเซียยังไกลเกินกว่าที่ศาลโลกได้ให้ความเห็นไว้ เนื่องจากรัสเซียมิได้เผชิญภัยคุกคามจากอาวุธนิวเคลียร์แต่อย่างใด ประเด็นที่สมัชชาใหญ่ตั้งประเด็นถามศาลโลกในปี ค.ศ.1996 นั้นเป็นกรณีที่รัฐหนึ่งถูกคุกคามจากรัฐอื่นจนถึงขนาดกระทบต่อความอยู่รอดของรัฐนั้นๆจะใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อป้องกันตนเองได้หรือไม่ แต่กรณีนี้ รัสเซียเป็นผู้รุกราน ละเมิดอธิปไตยของยูเครนก่อน ศักยภาพทางทหารของยูเครนไม่มีทางที่จะส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของรัสเซียเป็นแน่ อีกประการหนึ่ง ยูเครนไม่ได้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์แล้ว

อนึ่ง มีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า ศาลโลกให้ความเห็นว่า ไม่มีกฎหมายประเพณีระหว่างประเทศและสนธิสัญญาที่อนุญาต (authorization) ให้ขู่หรือใช้อาวุธนิวเคลียร์ และขณะเดียวกันก็ไม่มีกฎหมายประเพณีระหว่างประเทศและสนธิสัญญาที่ห้าม (prohibition) การขู่หรือใช้อาวุธนิวเคลียร์[13] อย่างไรก็ดี กาลเวลาผ่านไปหลายทศวรรษนับจากที่ศาลโลกมีความเห็นเชิงปรึกษาหารือในค.ศ. 1996 ปัจจุบันนี้มีสนธิสัญญาล่าสุดที่ห้ามอาวุธนิวเคลียร์แล้วคือ the Treaty on the Prohibition of Nuclear Weapons (TPNW) ค.ศ. 2017[14] โดยข้อที่ 1 (d) ห้ามมิให้รัฐภาคีขู่ว่าจะใช้หรือใช้อาวุธนิวเคลียร์ อย่างชัดเจน อย่างไรก็ดี รัสเซียและประเทศที่ครอบครองนิวเคลียร์ต่างมิได้เป็นภาคีอนุสัญญานี้แต่อย่างใด

คำถามปิดท้าย จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 หรือไม่

คำตอบ ไม่ทราบ สงครามโลกครั้งที่ 1 ก็เริ่มจากกระสุนนัดเดียว[15] อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เคยพูดว่า “I do not know with what weapons World War III will be fought, but World War IV will be fought with sticks and stones.”

 

 

อ้างอิง

[1] ข้อ 51 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ

[2] เสนอโดยประเทศสหรัฐอเมริกาและอัลเบเนีย

[3] โปรดดูหนังสือของยูเครนที่มีไปยังศาลโลก ลงนามโดย Anton Olexandrovyh Korynevych ตัวแทนของยูเครนและ Okasana Zolotaryova ซึ่งดำรงตำแหน่ง Director, International Law Department กระทรวงการต่างประเทศของยูเครน

[4] รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยูเครนทำคำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2515

[5] ข้อ 12 (3) ของธรรมนูญกรุงโรม

[6] https://www.icc-cpi.int/Pages/item.aspx?name=20220225-prosecutor-statement-ukraine

[7] ข้อมติ 827 สำหรับตั้ง ICTY ในปี 1993 และข้อมติที่ 955 ปี 1994

[8]Beth Van Schaack, Par in Parem Imperium Non Habet Complementarity and the Crime of Aggression, Journal of International Criminal Justice 10 (2012),p.149

[9] Arrest Warrant of 1 I April2000 (Democratic Republic of the Congo v. Belgium), Judgment, I.C.J. Reports 2002, para 51

[10] Arrest Warrant of 1 I April2000 (Democratic Republic of the Congo v. Belgium), Judgment, I.C.J. Reports 2002, para.78

[11] ดู (2) (c)

[12] Legality of the Threat or Use of Nuclear Weapons, Advisory Opinion, 1. C.J. Reports 1996, para 105 2 (E)

[13] Legality of the Threat or Use of Nuclear Weapons, Advisory Opinion, 1. C.J. Reports 1996, para 105 2 (A) (B)

[14] ปัจจุบันมีรัฐภาคี 56 ประเทศ รวมประเทศไทยด้วย

[15] มือปืนนามว่า Gavrilo Princip ลอบสังหาร Archduke Franz Ferdinand จากนั้นชนวนความขัดแย้งก็ลุกลามบานปลายขยายวงจนนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท