Skip to main content
sharethis
เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมานานว่าการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องจักรจะเข้ามาแทนแรงงานคนจนกลายเป็นเข้ามาแย่งงานคนหรือไม่ นักเศรษศาสตร์จากบริษัทตรวจสอบบัญชีทำวิจัยข้อมูลเชิงสถิติในอังกฤษและเวลส์พบว่าเทคโนโลยียิ่งเป็นการเพิ่มความต้องการแรงงานมากกว่าจะแย่งงาน แม้จะมีบางสายงานที่มีจำนวนความต้องการลดลง

(ที่มาของภาพประกอบ: Flickr/darkday/CC BY 2.0)

20 ส.ค. 2558 สำนักข่าวเดอะการ์เดียน เผยแพร่รายงานการวิจัยของกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์จากบริษัท ดีลอยต์ บริษัทให้คำปรึกษาและตรวจสอบบัญชี จากข้อมูลสำมะโนประชากรของอังกฤษและแคว้นเวลส์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2414 ถึงปัจจุบันพบว่าโดยรวมแล้วการพัฒนาเทคโนโลยีและเครื่องจักรกลไม่ได้ทำให้งานลดลงแต่เป็นการสร้างงานมากขึ้น

จากที่มีข้อถกเถียงมานานตั้งแต่ยุคศตวรรษที่ 18 แล้วว่าเครื่องจักรจะเข้ามาแทนที่แรงงานคนทำให้คนไม่มีงานทำ ในเรื่องนี้นักวิจัยจากบริษัทดีลอยด์นำเสนอข้อมูลให้เห็นมุมมองในอีกแง่มุมหนึ่ง

โดยผู้เขียนงานวิจัย 3 คนคือ เอียน สจ๊วต, เดบาปราทิม เด และ อเล็ก โคล ระบุในรายงานการวิจัยว่า ถึงแม้เครื่องจักรจะมาแทนที่งานที่ใช้แรง งานที่ทำแบบซ้ำซาก และงานอันตราย แต่ก็ไม่ได้มากพอจะทำให้ความต้องการแรงงานมนุษย์หมดไปจากข้อมูลตลอดช่วง 150 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีการเติบโตเพิ่มขึ้นของงานสายอื่น เช่น งานสายการดูแลผู้คน, งานเชิงความคิดสร้างสรรค์, งานด้านเทคโนโลยี และงานบริการภาคธุรกิจ

นักวิจัยระบุว่าแม้เทคโนโลยีจะทำให้งานบางสายลดลงไปจริง เช่น งานที่ต้องใช้แรงงานกล้ามเนื้อของมนุษย์ ซึ่งการใช้เครื่องจักรเข้ามาแทนทำให้มีงานจ้างงานลดลงและมีผลผลิตมากขึ้น สำหรับอังกฤษแล้วเครื่องจักรทำให้งานด้านการเกษตรลดลงเป็นอย่างแรก ซึ่งเมื่อเทียบจากปี 2414 ถึงปัจจุบันแล้วงานด้านการเกษตรของอังกฤษและแคว้นเวลส์มีการจ้างแรงงานคนลดลงจากร้อยละ 6.6 เหลือร้อยละ 0.2 คิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 95 ตัวอย่างอีกสายงานหนึ่งที่มีการใช้แรงงานคนจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัดคือสายงานซักรีด

อย่างไรก็ตามในเชิงสถิติแล้วสายงานการดูแลผู้คนเพิ่มขึ้นมากในอังกฤษ งานด้านการพยาบาลและผู้ช่วยพยาบาลเพิ่มมากถึงร้อยละ 909 งานด้านการสอนและผู้ช่วยเหลือด้านการศึกษาเพิ่มมากขึ้นร้อยละ 580 นอกจากนี้ยังมีงานด้านสวิสดิการ ชุมชน เยาวชน งานดูแลจัดการบ้านเพิ่มมากขึ้นด้วย ขณะที่งานเย็บปักถักร้อย งานพิมพ์ดีด และเลขานุการบริษัทมีจำนวนลดลง

ในขณะที่เทคโนโลยีทำให้บางสายงานอาศัยแรงคนลดลงขณะที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น แต่ในบางสายงานก็เพิ่มขึ้นทั้งแรงงานคนและผลผลิตไปพร้อมๆ กัน เช่นในสายงานการแพทย์ งานด้านการศึกษา และงานบริการวิชาชีพ โดยในรายงานการวิจัยระบุว่าความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้นและการสื่อสารที่ฉับไวมากขึ้นทำให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ต้องอาศัยความรู้เป็นพื้นฐานโดยส่วนใหญ่

รายงานของสจ๊วตและเพื่อนนักวิจัยยังระบุถึงอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความต้องการแรงงานเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีทำให้ราคาอาหารและเครื่องใช้ต่างๆ ถูกลง ทำให้ผู้คนมีเงินจับจ่ายใช้สอยในสิ่งสันทนาการอื่นๆ ซึ่งทำให้เกิดความต้องการหรือ 'ดีมานด์' เพิ่มมากขึ้น เลยทำให้มีงานมากขึ้นไปด้วย เช่น ตำแหน่งพนักงานในบาร์อังกฤษมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น 4 เท่า เทียบระหว่างปี 2494 ถึง 2554

นักเศรษฐศาสตร์ยังต้องข้อสังเกตอีกว่าในบางสายงานก็มีจำนวนคนทำงานขึ้นๆ ลงๆ ไม่แน่นอน เช่น สายงานช่างทำผม ซึ่งพวกเขาตั้งสมมุติฐานว่าน่าจะมาจากสาเหตุเรื่องรายได้ของผู้คน ในยุคสมัยที่ผู้คนมีรายได้มากพวกเขาจะใช้เงินไปกับบริการที่เป็นส่วนตัวอย่างการแต่งหน้าทำผมเช่นนี้ได้ทำให้มีปริมาณช่างทำผมเพิ่มขึ้น

เรียบเรียงจาก

Technology has created more jobs than it has destroyed, says 140 years of data, The Guardian, 18-08-2015 http://www.theguardian.com/business/2015/aug/17/technology-created-more-jobs-than-destroyed-140-years-data-census

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net