รอลงอาญาจำคุก 2 ปี 2 พ่อลูกคดีรุกป่า จ.ชัยภูมิ

ศาลฏีกาลดโทษให้ 1 ใน 4 โทษจำคุกรอลงอาญา 2 ปี คงปรับคนละ 4,000 บาท 2 พ่อลูก ชาวชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ คดีบุกรุกและทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต
 
 
 
 
สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสานรายงานว่าเมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2558 ที่ศาลจังหวัดภูเขียว อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษา คดีนายทอง และนายสมปอง กุลหงษ์  ศาลพิพากษาจำคุก 4 เดือน วางโทษปรับคนละ 6,000 บาท ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงสภาพความผิดรวมทั้งอายุ และด้วยเห็นว่าฏีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน จึงลดโทษให้ 1 ใน 4 โทษจำคุกรอลงอาญา 2 ปี คงปรับ คนละ 4,000 บาท
 
คดีดังกล่าวสืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2554 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ฝ่ายปกครอง ได้สนธิกำลัง ประมาณ 200 นาย เข้าควบคุมตัวชาวบ้านผู้เดือดร้อนกรณีสวนป่าโคกยาว จำนวน 10 คน ไปที่สถานีตำรวจภูธรห้วยยาง พร้อมแจ้งข้อหาบุกรุก แผ้วถาง ก่นสร้าง และทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต จำนวน 10 ราย 4 คดี
 
นางพัน กุลหงส์ วัย 74 ปี ชาวชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ บอกว่า นายทอง กุลหงส์ อายุ 75 ปี (สามี) และลูกชายคือนายสมปอง กุลหงส์ อายุ 51 ปี อยู่ในส่วนของคดีที่ 2 เมื่อครั้งวันที่ 13 มิ.ย.55 ศาลชั้นต้นพิพากษา จำคุก 4 เดือน โดยคดีนี้ศาลได้เพิ่มวงเงินประกันจากรายละ 100,000 บาท เป็นรายละ 200,000 บาท เป็นเหตุให้เงินที่เตรียมไว้ต้องถูกรวมมาประกันได้เพียงรายเดียว สามีจึงต้องยอมเสียสละนอนอยู่ในคุกตามคำสั่งของศาล เพื่อให้ลูกชายที่มีอาการพิการทางสมอง เป็นโรคประสาท ได้รับการประตัวออกมาก่อน ช่วงที่สามีตกเป็นผู้ต้องขัง ยายต้องเลี้ยงหลาน 6 คน พร้อมกับลูกชายที่มีอาการทางประสาท
 
ยายพัน บอกถึงชีวิตช่วงนั้น ว่า ลำพังจะหาเงินเลี้ยงครอบครัวยังลำบากแสนสาหัส ต้องแบกชีวิตหนักหน่วงขึ้นอีกหลายเท่าตัว เพื่อหารายได้เพิ่ม ด้วยการเดินป่า หาเก็บเห็ด หน่อไม้ หาปลาในลำห้วย หาหลายอย่างเท่าที่จะหามาได้ เพื่อนำไปขายให้ได้เงินมากขึ้น นำรายได้มาเลี้ยงครอบครัว และใช้เป็นค่าเดินทางไปเยี่ยมผู้เป็นสามี รวมทั้งเก็บออมไว้ใช้เป็นหลักประกันตัว กระทั่งวันที่ 28 มิ.ย.55 นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ใช้ตำแหน่งประกันตัวออกมา ต่อมาวันที่ 6 มี.ค. 56  ศาลจังหวัดภูเขียวนัดอ่านฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3  ยืนตามศาลชั้นต้นโดยไม่รอลงอาญา มีคำสั่งให้จำคุกลูกชายและสามี 4 เดือน อย่างไรก็ตามชาวบ้านในนามเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) ได้ช่วยกันประสานไปยังกองทุนยุติธรรม โดยทางกองทุนยุติธรรมของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งได้ทำเรื่องขอความช่วยเหลือแก่ชาวบ้านและได้ประกันตัวออกมาในวงเงิน คนละ 200,000 บาท เพื่อสู้คดีในชั้นฎีกาต่อไป
 
“ครอบครัวของยายเข้ามาอยู่ในพื้นที่นับแต่ปี พ.ศ.2511 มีหลักฐานการแจ้งการครอบครองก่อนการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนาม เมื่อปี พ.ศ.2516 แต่ต้องถูกขับไล่ออก เมื่อรวมตัวกันต่อสู้เพื่อทวงคืนสิทธิในที่ดินทำกินกลับคืนมา กลับต้องมาถูกดำเนินคดี มาถึงวันนี้ (19 ส.ค.58) ศาลฎีกาได้นัดฟังคำพิพากษา มีคำสั่งจำคุก 4 เดือน รอลงอาญา 2 ปี ปรับคนละ 4,000 บาท แต่ทั้งนี้ ศาลฎีกาแก้จากโทษจำคุก แก้เป็น เพิ่มโทษปรับคนละ 6,000 บาท โทษจำคุกรอลงอาญา 2 ปี ลดโทษ 1 ใน 4 คงปรับ คนละ 4,000 บาท ถือเป็นความกรุณาเมื่อศาลพิจารณาถึงสภาพความผิดรวมทั้งอายุ และด้วยเห็นว่าฏีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน จึงลดโทษให้ 1 ใน 4” ภรรยานายทอง กล่าวเพิ่มเติม
 
ทั้งนี้สวนป่าโคกยาวถูกประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม เมื่อปี 2516 ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2.9 แสนไร่ และมีโครงการปลูกสวนป่ายูคาลิปตัสทดแทนพื้นที่สัมปทาน เมื่อปี 2528 ก่อนที่จะมีมติ ครม.ปี 2553 เห็นชอบให้ชาวบ้านเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่สวนป่ายูคาลิปตัสได้โดยไม่มีการข่มขู่ กักขัง ดำเนินคดีในระหว่างการแก้ไขปัญหา
 
นอกจากนี้ เมื่อปี พ.ศ.2548 คณะทำงานตรวจสอบพื้นที่ที่มีนายธนโชติ ศรีกุล ปลัดอาวุโสอำเภอคอนสารเป็นประธาน ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการถือครองทำประโยชน์ที่ดิน และการสำรวจรังวัดพื้นที่ กระทั่งมีมติว่าสวนป่าโคกยาวได้สร้างผลกระทบต่อชาวบ้านที่ถูกอพยพ ขับไล่ออกจากพื้นที่จริง และให้ดำเนินการช่วยเหลือชาวบ้านผู้เดือดร้อน ต่อมาคณะอนุกรรมการสิทธิที่ดินและป่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้มีรายงานผลการละเมิดสิทธิ โดยมีมติว่าการปลูกสร้างสวนป่าโคกยาวได้ละเมิดสิทธิในที่ดินของผู้ร้อง และให้ยกเลิกสวนป่าโคกยาว ทั้งนี้ ในระหว่างการแก้ไขปัญหาจนกว่าจะได้ข้อยุติ ให้ราชการผ่อนผันให้ราษฎรผู้เดือดร้อน สามารถเข้าทำประโยชน์ที่ดินในพื้นที่พิพาท โดยทำกินในระหว่างร่องระหว่างแถวของสวนป่า ต่อมาชาวบ้านได้เรียกร้องให้ยกเลิกสวนป่าฯ และคืนสิทธิการจัดการที่ดินแก่ผู้เดือดร้อนในรูปแบบ “โฉนดชุมชน” ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ
 
ลำดับเหตุการณ์กรณีปัญหาสวนป่าโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ หลังรัฐประหาร คสช.
 
วันที่ 25 สิงหาคม 2557  เจ้าหน้าที่เข้ามาปิดประกาศ อาศัยอำนาจตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 64/2557 ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2557 ให้ผู้ถือครองออกจากพื้นที่และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งพืชผลอาสิน ภายใน 15 วัน หากพ้นกำหนดเวลา ทางราชการจะเข้าตรวจสอบพื้นที่และดำเนินการตามกฎหมายแก่ผู้กระทำผิดโดยเด็ดขาด
 
วันที่ 1 ตุลาคม  2557 เจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ชย.4 (คอนสาร) นำแผ่นป้าย "ยุทธการทวงคืนผืนป่า ตามประกาศจังหวัดชัยภูมิ ลงวันที่ 21 ส.ค.57 เรื่องการป้องกันและลักลอบตัดไม้และบุกรุกพื้นที่ป่าชัยภูมิ พื้นที่โคกยาว เนื้อที่ 80 ไร่ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม”
 
วันที่  7 ตุลาคม 2557 มีการประชุมหารือเพื่อแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ณ ห้องประชุมอรรถไกวัลวที ชั้น ๑ อาคารสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล กรณีชุมชนโคกยาว มติที่ประชุม มอบหมายให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมีหนังสือประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแก้ไขปัญหา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรต่อไป
 
วันที่ 8 ตุลาคม 2557 นายอำเภอคอนสาร ได้ประชุมวางแผนขอทวงคืนผืนป่าสงวนแห่งชาติภูมิซำผักหนาม และในที่ประชุมมีมติให้ให้ชาวชุมชนโคกยาว และชุมชนบ่อแก้ว รื้อถอนเองภายใน 19 วัน  หากไม่ดำเนินตาม จะเข้ามาดำเนินการรื้อถอนเอง
 
วันที่ 13 พฤศจิกายน 2557  นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 
หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อประชุมหารือ และติดตามการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเร่งด่วน ของสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.) ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชนใน ขปส.โดยในการประชุมหารือดังกล่าวหม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ได้แจ้งว่ารัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะลงมาพบกับภาคประชาชนในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2557
 
วันที่ 17 พฤศจิกายน 2557 พลเอกดาว์พงษ์  รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ ประชุมร่วมกับสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.) ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (PMOVE) และเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายการจัดการที่ดินและป่าไม้ ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ในวาระการประชุมที่ 3.2 พิจารณาการทบทวนแผนแม่บทในการแก้ไขปัญหาการทำลาย ทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยพลเอกดาว์พงษ์  รัตนสุวรรณ ประธานในที่ประชุมได้ยอมรับว่า จังหวัดชัยภูมิเป็นต้นเหตุของคำสั่งคสช.ที่ 66 /2557 หลังจากThai PBS นำเสนอข่าวแล้ว จึงได้มีคำสั่ง คสช.ที่ 66 / 2557 และที่ประชุมมีมติทบทวนแผนแม่บทในการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้
 
วันที่ 20 พฤศจิกายน 2557 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 216 / 2557 เพื่อเป็นกลไกในการกำกับเร่งรัดและติดตามการแก้ไขปัญหาโดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล) เป็นประธานกรรมการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและตัวแทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมร่วมเป็นคณะกรรมการ จำนวน 25 คน โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าว มีบทบาทหน้าที่ ในการกำหนดนโยบาย แนวทาง มาตรการ และงบประมาณในการดำเนินการแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอของ ขปส. อำนวยการ เร่งรัดการดำเนินงาน และติดตามผลการดำเนินการของส่วนราชการ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงาน เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานได้ตามความเหมาะสม เชิญผู้แทนส่วนราชการ หรือหน่วยงานของรัฐและบุคคล เข้าร่วมประชุมชี้แจงข้อเท็จจริง ให้ข้อมูล รวมทั้งจัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาแก้ไขปัญหา และปฏิบัติงานอื่นๆตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย
 
วันที่ 23 มกราคม 2558  เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมอรรถไกวัลวที ชั้น1 อาคารสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล
 
วาระที่ 3.1 กรอบแนวทางในการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ
 
มติที่ประชุม : เห็นชอบกรอบแนวทางในการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ ดังนี้
 
1) การพิจารณาให้ความช่วยเหลือประชาชน ควรคำนึงถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และข้อเท็จจริงเป็นที่ตั้ง 
2) แนวทางในการดำเนินการต้องไม่กระทบต่อวิถีชีวิตปกติของประชาชน ในระหว่างการแก้ไขปัญหาให้ยุติ ขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชะลอการดำเนินการใดๆ ที่อาจเป็นมูลเหตุ ให้เกิดความขัดแย้ง หรืออาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนในการดำเนินชีวิตตามปกติสุข และให้สามารถใช้ประโยชน์ ในที่ดินของรัฐตามวิถีปกติไปพลางก่อน จนกว่ากระบวนการพิจารณาของส่วนราชการหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่ตามแต่กรณีจะมีผลเป็นที่ยุติต่อไป
3) การดำเนินการหากติดขัดปัญหาเกี่ยวกับระเบียบ กฎหมาย ควรพิจารณาปรับปรุงแก้ไขระเบียบ กฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนตามความเหมาะสม 
4) การดำเนินการแก้ไขปัญหาต้องสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล เช่น คำแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยเฉพาะเรื่องที่ดิน กล่าวคือ เร่งรัดการจัดสรรที่ดินให้แก่
ผู้ยากไร้ ในลักษณะสิทธิร่วมในการจัดการที่ดินของชุมชน ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล เป็นต้น
5) ขอให้คณะกรรมการฯ คณะอนุกรรมการฯ คณะทำงานฯ ที่จะแต่งตั้งขึ้น
 
วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558  เจ้าหน้าทีสนธิกองกำลังทหาร ตำรวจ ป่าไม้ จำนวนประมาณ 100 นาย เข้ามาปิดป้ายหนังสือประกาศ โดยคำสั่งที่ ทส.1621.4/2404 ลงวันที่ 26 ม.ค.58 เรื่อง สั่งให้ผู้ถือครองพื้นที่ออกจากป่าสงวนแห่งชาติ หรืองดเว้นการกระทำใดๆ หรือรื้อถอน หรือแก้ไข ทำประการอื่นใดแก่สิ่งที่เป็นอันตราย หรือสิ่งที่ทำให้เสื่อมสภาพในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และให้รื้อถอนสิ่งปลุกสร้าง พืชผลอาสินทั้งหมดออกจากป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม  .ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่มีคำสั่ง อนึ่ง ผู้เดือดร้อนมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่ง ภายใน 15  วัน นับแต่วันได้รับคำสั่ง
 
23 เมษายน 2558 ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ ติดตามความคืบหน้าในการให้ภาครัฐเร่งแก้ไขปัญหาที่ยังไม่มีความคืบหน้า ทั้งในในสิทธิที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย โดย พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกรัฐบาล เป็นตัวแทนรัฐบาลมารับหนังสือจากทุกกลุ่มที่ชุมนุมอยู่บริเวณลานด้านหน้า ก.พ. จากนั้นประมาณ 13.00 – 18.00 น.ได้เข้าร่วมประชุมพร้อมกับนายกมล สุขสมบูรณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อร่วมกันติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหากับตัวแทน พีมูฟ ที่ชั้น 2 อาคาร สำนักงานข้าราชการพลเรือน(ก.พ.)
 
ที่ประชุมมีมติจะเร่งรัดการแก้ไขปัญหาของ พีมูฟ. โดยจะประสานให้นายกฯ เร่งรัดการดำเนินงาน พร้อมทั้งจะเร่งประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง และจะให้รัฐบาลทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมติในการคุ้มครองพื้นที่สมาชิก ขปส .ทั่วประเทศ และให้สำนักงานที่ดินจังหวัดให้เร่งรัดเรื่องการทำเอกสารอย่างเป็นทางการให้ชาวบ้านเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้อย่างปกติสุขและยั่งยืน และเร่งให้ที่ดินเดินหน้าส่งมอบพื้นที่โฉนดชุมชนตามแต่ละพื้นที่ที่ได้มีมติรับรองไว้แล้ว รวมทั้งเรื่องคำสั่งแต่งตั้งกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาพีมูฟ และอนุกรรมการอีก 8 ชุด โดยที่ประชุมมีมติให้คณะอนุกรรมการใหญ่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เช่น คณะอนุกรรมการโฉนดชุมชน จัดประชุมให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม และการประชุมกรรมการอำนวยการต้องแล้วเสร็จไม่เกิน 10 มิถุนายน 58 นี้
 
วันที่ 19 ส.ค.58 นายสมเจตน์ โรจน์พัฒนากุล ผู้ช่วยเลขานุการคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีผู้ได้รับผลกระทบจากแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ ฯ ได้รับมอบหมายจากสำนักปลัดนายกรัฐมนตรี ให้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ชุมชนโคกยาว เพื่อรับฟังข้อมูลที่ได้รับทราบจากการลงพื้นที่ นำไปเสนอต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ และเพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลร่วมพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องและเป็นธรรมตามที่ภาคประชาชนได้ร่วมกันร้องเรียนเป็นการต่อไป นอกจากนี้ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ทั้งหัวหน้าป่าไม้ ชย.4 แจ้งว่า ภายหลังได้มีหนังสือจากคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ไม่ให้ดำเนินการใดๆ อันจะก่อให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่ ปัจจุบันหน่วยงานผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ก็ยังไม่สามารถดำเนินการขับไล่ รื้อถอน หรือกระทำการใดๆได้ ตามนโยบาย จนกว่าจะได้รับคำสั่งที่ชัดเจน เป็นการต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท