Skip to main content
sharethis
22 ส.ค. 2558 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเปิดเผยว่าในวันที่ 24 สิงหาคม 2558  เวลา 13.30 น. ศาลจังหวัดปราจีนบุรี  กำหนดนัดไต่สวนมูลฟ้อง คดีอาญาหมายเลขดำที่ 925/2558 กรณีนายฤทธิรงค์ ชื่นจิตร เป็นโจทก์ยื่นฟ้องตำรวจ 7 นาย ฐานร่วมกันกระทำความผิดในข้อหา ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ความผิดต่อร่างกาย และความผิดต่อเสรีภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157,  200,  295,  305,  310, 391 ประกอบมาตรา 83,  91  มีระวางโทษสูงสุดจำคุกตลอดชีวิต  ซึ่งขณะเกิดเหตุในปี พ.ศ. 2552  ตำรวจทั้ง 7 นาย ปฏิบัติหน้าที่ราชการตำรวจ สังกัดอยู่ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองปราจีนบุรี 2 นาย และตำรวจชุดสืบสวนภูธรจังหวัดปราจีนบุรี 5 นาย การที่ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องเนื่องจากเป็นคดีที่ผู้เสียหายฟ้องคดีเอง ศาลจะได้พิจารณาพยานหลักฐานที่ฝ่ายโจทก์นำสืบ ถ้าเห็นว่ามีมูลเพียงพอก็จะรับฟ้องเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีต่อไป  
 
คดีนี้สืบเนื่องมาจาก การที่นายฤทธิรงค์ ชื่นจิตร และนายสมศักดิ์ ชื่นจิตร (บิดา) ภูมิลำเนาอยู่อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี ได้ร้องขอความเป็นธรรมต่อองค์กรภาครัฐและองค์กรอิสระจำนวนมาก ตลอดระยะเวลากว่า 6 ปีแล้ว ในการเรียกร้องให้มีการตรวจสอบและดำเนินคดีเอาผิดเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในเมืองปราจีนบุรี 7 นาย ที่จับกุมและทำร้ายร่างกายด้วยการทรมานนายฤทธิรงค์ ขณะเป็นเยาวชนอายุ 18 ปี และเป็นนักเรียนอยู่ เพื่อบังคับให้รับสารภาพว่ากระทำความผิดวิ่งราวทรัพย์  ทั้งที่นายฤทธิรงค์ไม่ได้กระทำความผิด  และต่อมาได้มีการจับกุมดำเนินคดีบุคคลที่เป็นผู้กระทำความผิดตัวจริงไปแล้ว  เหตุเกิดเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2552 ที่อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี เมื่อการเรียกร้องต่อองค์กรภาครัฐและองค์กรอิสระไม่เป็นผล  ต่อมาในวันที่ 1 ธันวาคม 2557 นายฤทธิรงค์ และนายสมศักดิ์  จึงได้ร้องขอความช่วยเหลือต่อมูลนิธิผสานวัฒนธรรมซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่ไม่แสวงหากำไร ดำเนินกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนเพื่อเข้าถึงความยุติธรรมตามหลักการแห่งรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน ทางมูลนิธิฯ จึงได้จัดหาทีมทนายความให้ความช่วยเหลือนายฤทธิรงค์ในการดำเนินคดี จนนำมาซึ่งการฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2558
 
นับว่าเป็นคดีสำคัญ พฤติการณ์แห่งคดีเป็นกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงต่อประชาชน นอกจากจะเป็นความผิดต่อกฎหมายอาญาและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว ยังเข้าข่ายผิดต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีของอนุสัญญานี้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 อันมีผลผูกพันให้ประเทศไทยต้องดำเนินการเพื่อป้องกันและต่อต้านการทรมาน รวมทั้งดำเนินคดีนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษให้บังเกิดผลจริงจังด้วย   แต่กรณีนี้ผู้เสียหายและบิดาของผู้เสียหายได้ฝ่าฟันอุปสรรคปัญหาในการใช้สิทธิเรียกร้องขอความเป็นธรรมต่อหน่วยงานต่าง ๆ มากมาย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา โดยหวังว่าหน่วยงานของรัฐจะได้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามกฎหมายของไทย แต่ก็ไม่เป็นผล จนกระทั่งผู้เสียหายต้องยื่นฟ้องคดีเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net