Skip to main content
sharethis

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมเสนอนำรัฐธรรมนูญ 40 กลับมาบังคับใช้อีกครั้ง โดยให้เหลือรักษาการ ครม.อยู่ จัดเลือกตั้งในช่วงเปลี่ยนผ่านเท่านั้น ย้ำประชาชนมีสิทธิแสดงออกว่าไม่ยอมรับการรัฐประหารและการดำเนินการใดๆ ที่สืบเนื่องโดยสันติ

5 ก.ย. 2558 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนออกความเห็นทางกฎหมายต่อร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่สภาปฏิรูปแห่งชาติจะลงมติรับหรือไม่รับร่างในวันที่ 6 กันยายน นี้ โดยศูนย์ทนายความฯ ระบุว่า ที่มาและขั้นตอนการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย มีเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญที่แสดงออกถึงความพยายามลดทอนอำนาจของประชาชน และไม่สอดคล้องกับอุดมการณ์รัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตย รวมถึงที่มาและอำนาจของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ขัดต่อหลักประชาธิปไตยและนิติรัฐ (อ่านรายละเอียดที่ลิงก์ด้านล่าง)

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุจุดยืนไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญและกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมเสนอให้มีการนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 กลับมาบังคับใช้อีกครั้ง ให้คงเหลือรักษาการคณะรัฐมนตรีอยู่ทำหน้าที่เพียงบริหารให้เกิดการเลือกตั้งในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านเท่านั้น รวมถึงเสนอว่า ประชาชนมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะแสดงออกว่าไม่ยอมรับการรัฐประหารและการดำเนินการใดๆ ที่สืบเนื่องจากรัฐประหารในวิธีทางที่เป็นไปโดยสันติ


ความเห็นและข้อเสนอศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
ประการที่ 1  ที่มาและขั้นตอนการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย – ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นผลโดยตรงจากการรัฐประหาร ในทางกฎหมายถือว่าการกระทำรัฐประหารเป็นความผิดตามกฎหมาย และเป็นการใช้กำลังเข้าถือครองอำนาจรัฐโดยวิถีทางที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตย และในขั้นตอนการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่มีความชอบธรรม เนื่องจากองค์กรที่เข้ามามีส่วนร่วมในการยกร่าง ไม่มีองค์กรใดที่มีจุดเชื่อมโยงกับประชาชน รวมถึงขั้นตอนการนำลงประชามติยังขัดกับหลักการลงคะแนนเสียงโดยเสรี

ประการที่ 2  ความบกพร่องทางเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ – ความบกพร่องที่สำคัญในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่แสดงออกถึงความพยายามลดทอนอำนาจของประชาชน ผ่านเนื้อหาที่การกำหนดให้นายกรัฐมนตรีสามารถมาจากบุคคลที่ไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ เพิ่มจำนวนสมาชิกวุฒิภาที่มาจากการสรรหาให้มากว่าจำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน รวมถึงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการโดยระบบคุณธรรมทำให้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจลดลงในการบังคับบัญชาข้าราชการให้ปฏิบัติไปตามนโยบาย

ประการที่ 3 ร่างรัฐธรรมนูญไม่สอดคล้องกับอุดมการณ์รัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตย – ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ไว้วางใจต่อการตัดสินใจของประชาชน ผ่านกระบวนการสามขั้นตอน ได้แก่ ขั้นแรก ออกแบบระบบทางการเมืองทำให้ผู้แทนประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งให้ไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองและไร้อำนาจ ขั้นที่สอง สร้างขึ้นมาเป็นกลไกในการควบคุมผู้แทนของประชาชนขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง เพื่อตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายและความเหมาะของนโยบายทางการเมืองอย่างเข้มงวด และขั้นที่สาม ให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติให้เป็นองค์กรที่ถืออำนาจรัฐเหนือผู้แทนประชาชนในการกำหนดนโยบายการบริหารประเทศและออกกฎหมายโดยอาศัยข้ออ้างในการสานต่อการปฏิรูป

ประการที่ 4 คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ – ที่มาและอำนาจของคณะกรรมการขัดต่อหลักประชาธิปไตยและนิติรัฐ เพราะ เนื่องจากกรรมการจำนวน 20 คนจาก 23 คน ขาดจุดเชื่อมโยงกับประชาชน ผ่านการเลือกตั้งหรือการแต่งตั้งจากผู้แทนประชาชน  รวมถึงการใช้อำนาจของคณะกรรมการในสถานการณ์พิเศษขัดต่อหลักนิติรัฐ เพราะมีการรวมอำนาจนิติบัญญัติและบริหารเบ็ดเสร็จไว้ให้กับองค์กรเดียวและมีการรับรองให้การกระทำของคณะกรรมการเป็นที่สุด อันชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งตัดสิทธิบุคคลที่จะฟ้องร้องต่อศาลเพื่อให้ตรวจสอบการกระทำของคณะกรรมการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและก่อให้เกิดความเสียหาย ทำให้สิทธิเสรีภาพที่ถูกรับรองไว้ไม่สามารถประกันคุ้มครองประชาชนจากการใช้อำนาจรัฐได้

 

1. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีจุดยืนไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญและกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557

2. เสนอให้มีการนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 กลับมาบังคับใช้อีกครั้ง เนื่องจากเป็นรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อเป็นประชาธิปไตยและกระบวนการร่างที่มีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวางแต่กลับถูกยกเลิกโดยการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อนำประเทศไทยกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด

3. ในการคืนอำนาจให้กับประชาชนและจัดให้มีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เพื่อให้อยู่ภายใต้บรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตยและมีสิทธิเสรีภาพที่สุดเสนอให้องค์กรรัฐที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งมีที่มาจากการรัฐประหารได้แก่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติและสภาปฏิรูปแห่งชาติ สิ้นสภาพลงทันทีรวมถึงประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติทั้งหมดในฐานะสิ่งแปลกปลอมในระบบกฎหมายต้องถูกยกเลิกทั้งหมด
ทั้งนี้ ให้คงเหลือรักษาการคณะรัฐมนตรีอยู่ทำหน้าที่เพียงบริหารให้เกิดการเลือกตั้งในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านเท่านั้น

4. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเสนอว่าประชาชนที่ตระหนักถึงคุณค่าของระบอบประชาธิปไตยมีสิทธิอันชอบธรรมตามธรรมชาติที่จะแสดงออกว่าไม่ยอมรับการรัฐประหารและการดำเนินการใดๆ ที่สืบเนื่องจากรัฐประหารในวิธีทางที่เป็นไปโดยสันติ ไม่ว่าจะผ่านการไม่รับรองร่างรัฐธรรมนูญและเรียกร้องการให้มีการคืนอำนาจให้กับประชาชน รวมถึงช่วยกันออกแบบกติกาประชาธิปไตยสำหรับประเทศต่อไป
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net