Skip to main content
sharethis

รองนายกฯ ‘ภูมิธรรม’ อภิปรายร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ฉบับ ครม. แก้กฎหมายจัดออกเสียงวันเดียวกับวันเลือกตั้งท้องถิ่นได้ หวังลดภาระงบประมาณ และประชาชน ขอสภาฯ ดันผ่านวาระแรก

 

18 มิ.ย. 2567 ยูทูบ TP channel ถ่ายทอดสดออนไลน์ ณ รัฐสภา แยกเกียกกาย กรุงเทพฯ ในการประชุมสภาสมัยวิสามัญ เป็นพิเศษ โดยมี วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่…) พ.ศ. … จำนวน 4 ฉบับ คือของคณะรัฐมนตรี (ครม.) พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และพรรคภูมิไจไทย โดยจะพิจารณารวมทั้ง 4 ฉบับ เนื่องจากมีเนื้อหาในทำนองเดียวกัน

ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาที่เห็นแตกต่างในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จากการที่ ครม.ได้เสนอ พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ …) พ.ศ. … ระบุถึงเหตุผลและความจำเป็นในการเสนอ พ.ร.บ.

พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 กำหนดให้การออกเสียงประชามติ ที่จะถือว่ามีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีเสียงออกเสียง และมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามติ ซึ่งการกำหนดให้การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติ มีจำนวนคะแนนการออกเสียงมากเกินไป จะทำให้ได้ข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติยากขึ้น การออกเสียงในแต่ละครั้งอาจไม่ประสบความสำเร็จ ประกอบกับ การจัดให้มีการออกเสียงประชามติในแต่ละเรื่อง แต่ละครั้ง ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก

แต่เดิม การออกเสียงประชามติไม่ได้กำหนดให้การออกเสียงเป็นวันเดียวกันกับวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรณีการเลือกตั้งทั่วไป หรือวันเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น เนื่องจากดำรงตำแหน่งครบวาระ ทำให้ต้องแยกจัดวันออกเสียงประชามติกับวันเลือกตั้งในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ย่อมเป็นการเพิ่มภาระงาน และงบประมาณแผ่นดินในการจัดการออกเสียง และเป็นภาระประชาชนที่ต้องมาออกเสียงหลายครั้ง

ประการต่อมา วิธีการออกเสียงเดิมกำหนดให้ การออกเสียงกระทำโดยบัตรออกเสียงเท่านั้น ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากมีการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือเทคโนโลยีสารสนเทศ ในการช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการเข้าถึงการออกเสียงได้โดยสะดวก รวดเร็ว และลดภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น

ประการสุดท้าย กฎหมายจัดให้มีการแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่จะจัดให้มีการออกเสียงอย่างรอบด้าน อย่างเท่าเทียมกันเท่านั้น ซึ่งอาจไม่ชัดเจนว่า ความเห็นของผู้ที่ไม่เห็นชอบการจัดทำประชามติ จะได้รับการรับฟังอย่างทั่วถึงหรือไม่ และอาจนำไปสู่การโต้แย้งผลการทำประชามติได้ ครม.จึงเห็นว่า มีความจำเป็นที่ต้องแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ฉบับที่ พ.ศ. ของ ครม. โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

แก้ไขอะไรบ้าง

ข้อ 1 ชื่อร่างพระราชบัญญัติ

ข้อ 2 วันใช้บังคับ กำหนดให้พระราชบัญญัตินี้บังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศตามราชการ ราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไปในร่างมาตรา 2

ข้อ 3 แก้ไขในร่างมาตรา 10 (3) กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กำหนดให้หากมีการกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ เป็นการเลือกตั้งทั่วไปที่หากมีการกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น เนื่องจากดำรงตำแหน่งครบวาระในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการออกเสียง อาจกำหนดให้วันออกเสียงเลือกตั้งเป็นวันเดียวกันกับวันเลือกตั้งตามร่างมาตรา 3

ข้อ 4 แก้ไขเพิ่มมาตรา 11 วรรค 3 กำหนดให้หากมีการกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ เป็นการเลือกตั้งทั่วไป หรือหากมีการกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น เนื่องจากดำรงตำแหน่งครบวาระในช่วงเวลาใกล้เคียงกันกับการออกเสียง อาจกำหนดวันออกเสียงเป็นวันเดียวกับวันเลือกตั้ง ตามร่างมาตรา 4

ข้อ 5 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 12 กำหนดให้การออกเสียงให้กระทำโดยใช้ ‘บัตรออกเสียง’ หรือออกเสียงทางไปรษณีย์ หรือออกเสียงด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือโดยวิธีการอื่น โดยวิธีการนั้นสามารถป้องกันการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนเข้าถึงได้โดยสะดวก และอาจใช้วิธีลงคะแนนวิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธี และใช้ในเขตออกเสียงหนึ่ง หรือหลายเขตออกเสียง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขตามที่กรรมการกำหนด ตามร่างมาตรา 5

ข้อ 6 แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 13 กำหนดให้การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติ ให้ถือเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง โดยคะแนนเสียงข้างมากต้องมีจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียง และต้องสูงกว่าคะแนนเสียงของผู้ไม่แสดงความคิดเห็น ในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น ตามร่างมาตรา 6

ข้อ 7 แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 16 วรรค 1 กำหนดให้ เมื่อได้ประกาศวันกำหนดวันออกเสียงแล้ว ให้คณะกรรมการเผยแพร่กระบวนการและขั้นตอนให้ผู้มีสิทธิออกเสียงได้รับอย่างทั่วถึง และให้คณะกรรมการจัดให้มีการจัดให้มีการแสดงความคิดเห็นโดยอิสระ และเท่าเทียมกัน ทั้งผู้ที่เห็นชอบ และไม่เห็นชอบ ในเรื่องการจัดทำประชามติ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการประกาศกำหนดร่างมาตรา 7

ข้อ 8 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 18 กำหนดให้การออกเสียง จะใช้เขตประเภทประเทศ เขตจังหวัด เขตอำเภอ เขตเทศบาล เขตตำบล หรือเขตหมู่บ้าน หรือเขตอื่นเป็นเขตออกเสียงก็ได้ ดังนี้ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดตามร่าง  มาตรา 8

ข้อ 9 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 19 วรรค 1 กำหนดให้มีการกำหนดหน่วยออกเสียง และที่ออกเสียง ตามให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด ในกรณีที่พื้นที่ใดมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ เป็นการเลือกตั้งทั่วไปหรือเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น เนื่องจากดำรงตำแหน่งครบวาระ ในวันเดียวกันกับการออกเสียง ให้ถือว่าหน่วยเลือกตั้งและที่เลือกตั้งของการเลือกตั้งนั้นเป็นหน่วยออกเสียง หรือที่ออกเสียงตาม พ.ร.บ.นี้ในพื้นที่ดังกล่าว ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการฯ กำหนดในร่างมาตรา 9

“การแก้ไขพระร่างบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการทำประชามติ ทำให้ประชาชนเกิดความสะดวก ประหยัดค่าใช้จ่าย และเป็นการประหยัดงบประมาณ รวมทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในการทำประชามติอย่างเป็นอิสระได้มากขึ้น จึงหวังว่าสภาแห่งนี้จะให้การสนับสนุนการแก้ไขร่าง พระราชบัญญัติ ฉบับนี้เป็นอย่างดี” ภูมิธรรม กล่าว 
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net