Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ปรากฏการณ์ความพยายาม ban หนังเรื่อง “อาบัติ”ของรัฐบาลไทยขณะนี้ ต้องนับว่ามีแรงกระเพื่อมเชิงการต่อต้านในระดับมากพอสมควร หากเทียบกับการไม่มีการ ban หนังในอเมริกา เพราะวัฒนธรรมอเมริกัน ให้ความเคารพในเรื่องเสรีภาพของปัจเจกและเสรีภาพในการสื่อสารค่อนข้างสูง ดังนั้นจึงแน่นอนว่าหากหนังเรื่องนี้ หรือแนวนี้เข้าฉายในอเมริกานอกจากรัฐบาลอเมริกันจะไม่ ban หนังแล้วหนังเรื่องนี้ ยังมีสิทธิทำกำไรและเรตติ้งจากคนดูอเมริกันได้อีกเป็นจำนวนมากด้วย

ทำไมถึงเป็นเช่นนี้

วัฒนธรรมเสรีภาพเชิงปัจเจกของอเมริกันชนสูงมากเท่ากับการการเคารพในความเห็นของแต่ละคนเชื่อว่าพลเมืองอเมริกันทุกคนสามารถใช้วิจารณญาณพิจารณารับสารต่างๆได้ โดยไม่ต้องมีใครหรือหน่วยงานไหนมาคอยชี้แนะ หากเป็นวัฒนธรรมพุทธแบบไทยที่เรียน “กาลามสูตร 10 ข้อ” กันมาเมื่อครั้งชั้นประถม เสียด้วยซ้ำที่กระทำการควบคุมการใช้วิจารณญาณของผู้ชม ทำยังกะ พลเมืองผู้ชมเล่านั้นไร้ซึ่งความคิดคือ ไม่สามารถใช้วิจารณญาณในการพิจารณาว่าอะไรเป็นอะไรในหนัง (ภาพยนตร์) ได้

พูดง่ายๆ ก็คือ คณะกรรมการเซ็นเซอร์ หรือ banหนังมองว่าผู้ชมเหล่านั้นโง่เง่าเต่าตุ่น ไม่รู้จักแยกแยะว่า อะไรคือสิ่งผิดหรือถูกในพระพุทธศาสนาหรือตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา

ตามคำกล่าวที่ว่า “ผม (หรือฉัน)ไหว้ผ้าเหลืองนะ ไม่ได้ไหว้คน” ที่แสดงให้เห็นว่าคนพูดสามารถวิเคราะห์แยกแยะออกได้ว่าที่ไหว้อยู่นั้น เป็นการไหว้หลักการตามหลักพุทธธรรมหรือเป็นการไหว้บุคคล

ในโลกเผด็จการนั้นการเซ็นเซอร์หรือ ban หนังหรือbanสื่ออื่นๆ ไม่ใช่เรื่องแปลก หากที่น่าแปลกก็คือหนังหรือสื่อที่ถูกban นั้นมักได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและคนต่างชาติเชิงวัฒนธรรมมากกว่าหนังหรือสื่อธรรมดาๆ ที่ไม่มีปัญหาถูก ban โดยทั่วไป

การถูก ban จึงมีความสำคัญมากขึ้น ซึ่งจะสังเกตเห็นว่าในช่วงหลังคือสมัยโลกาภิวัตน์ การ ban หนังหรือ ban สื่อต่างๆ เกิดขึ้นน้อย ยิ่งสื่อที่สื่อเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาด้วยแล้วการที่จะให้คนเข้าใจว่า พระสงฆ์คือผู้บริสุทธิ์ผุดผ่องเหนือคนธรรมดา ย่อมเป็นไปโดยยากเสียด้วยซ้ำ หลักการนี้ดูจะเป็นที่เข้าใจกันมากในบรรดาคนของรัฐ ดังนั้น การ ban ดังกล่าวจึงอาจตีความได้ว่า เป็นการกระทำนอกเหนือไปจากสิ่งที่ควรจะเป็นตามกระแสโลกาภิวัตน์ นอกเหนือไปจากความล้าหลังเชิงวัฒนธรรมและกฎหมาย รวมถึงอีกประการหนึ่งก็คือการต้านหรือขัดขืนพลังที่กำลังโลกนำไปสู่ความกลมกลืนมากขึ้นระหว่างโลกของบรรพชิตกับโลกของคฤหัสถ์ตามการวิเคราะห์ของ Peter L. Berger ที่มองว่า แนวโน้มการมองภาพพระสงฆ์ในยุคโลกาภิวัตน์ของประชาชนได้เปลี่ยนไป ทั้งด้านการศึกษา การปฏิบัติและเผยแผ่

แม้ทฤษฎีของ Berger จะผูกติดกับสถานการณ์ของคริสตศาสนาเป็นสำคัญ  แต่นัยยะเดียวกันก็กำลังเกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนาด้วยเช่นกัน ทั้งนี้งานวิจัยที่ยืนยันถึงเรื่องนี้ในด้านพระพุทธศาสนาอีกชิ้นหนึ่งก็คือ งานวิจัยของพระไพศาล วิสาโล ในชื่อว่า “พุทธศาสนาไทยในอนาคต แนวโน้มและทางออกจากวิกฤต

หรือแม้แต่งานวิจัยของกาญจนา แก้วเทพ เรื่อง เส้นทางงานศึกษา “การสื่อสารกับศาสนา” ในสังคมไทย ที่วิเคราะห์โดยอิงทฤษฎีของ Berger เช่นกันว่า ปัจจุบันได้เกิดกระบวนการทำให้โลกเป็นฆราวาส (secularization) ซึ่งสรุปใจความสำคัญก็คือ โลกาภิวัตน์ทำให้สถานภาพของพระสงฆ์กับฆราวาสอยู่ในลักษณะใกล้เคียงหรือเท่าเทียมกันมากขึ้น แสดงให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของบทบาทฆราวาสที่มีต่อศาสนาในทุกๆด้าน

ดังนั้น ไม่เพียงแต่หนังเรื่อง “อาบัติ” สมควรฉายในโรงเท่านั้น หากเนื้อหาของหนังเรื่องดังกล่าวสมควรถูกนำไปวิเคราะห์วิจารณ์ในห้องเรียนพระพุทธศาสนาในประเทศไทยเสียอีกด้วยซ้ำ

พระสงฆ์เองเป็นสื่อมวลชนในพระพุทธศาสนาที่อยู่ในวิถีชีวิตและสังคมที่มีความสำคัญ กลายเป็นสื่อมวลชนเคลื่อนที่มิได้หยุดอยู่ที่ใดที่หนึ่ง มีสารคือพระธรรมวินัยโดยพระสงฆ์รูปนั้นๆ เป็นผู้ส่งสาร ช่องทางในการส่ง (สื่อ) สารมีทั้งวัตรปฏิบัติ การที่พระสงฆ์รูปนั้นแสดงธรรมหรือสอนด้วยการปฏิบัติให้ดู สอนโดยคำพูดหรือเทศนารวมทั้งผ่านประเพณีพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งผู้รับสารเองก็มิได้รับสารทางเดียว หากยังสามารถสื่อความเห็นของตนด้วยการตอบโต้ซักถามแลกเปลี่ยนความเห็นด้วยการสื่อสารสองทาง (two-way communication) อีกด้วย ซึ่งนี่เป็นเรื่องของโลกสมัยใหม่ ที่สื่ออย่างโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลสูง โดยเฉพาะในด้านการวิจารณ์แสดงวามเห็น
 
พระสงฆ์เองได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนาในกาลต่อมา ภายหลังการสังคายนาพระธรรมวินัยในแต่ครั้ง และยังได้ทำหน้าในการส่งทอดพระพุทธศาสนาสู่รุ่นต่อรุ่นนั่นคือการบวชพระภิกษุใหม่เพื่อสืบทอดพระธรรมวินัย การดำรงอยู่ของพระสงฆ์สะท้อนให้เห็นแบบอย่างอย่างเป็นรูปธรรมของการปฏิบัติตามพระธรรมวินัย
 
ขณะที่ในบางประเทศ เช่น ประเทศไทย ภิกษุณีได้ปลาสนาการไป พระสงฆ์จึงนับว่ามีบทบาทอย่างสำคัญในฐานะแห่งแบบอย่างการประพฤติพรหมจรรย์ในพระพุทธศาสนา เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนาจากความเป็นเพศนักบวช และการเป็นสื่อมวลชนผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนา ซึ่งสำหรับพระสงฆ์แล้วการครองเพศนักบวชที่มีเครื่องแบบเฉพาะคือเครื่องแบบสงฆ์นั้นยังเป็นรูปแบบการสื่อสารถึงมวลชนอยู่ในตัวอีกทางหนึ่งด้วย
 
เพราะเมื่อผู้คนพบเห็นพระสงฆ์ก็ย่อมทราบว่าเป็นตัวแทนหรือสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา รวมถึงถูกกระตุ้นให้เกิดความสนใจพระพุทธศาสนา แต่ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภิกษุณี ตลอดถึงอุบาสก อุบาสิกาต่างมีส่วนต่อการเผยแผ่พระศาสนาอย่างสำคัญมานับแต่ครั้งพุทธกาลแม้บทบาทจะไม่มากเท่าบทบาทของพระภิกษุสงฆ์ก็ตาม
 
Radhakrishnan S.  กล่าวไว้ใน Indian philosophy (volume1) ว่า การเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยการสื่อสารพระสัทธรรม (พระธรรมวินัย) ของพระพุทธองค์และพระสาวกในสมัยพุทธกาลยังส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมของชมพูทวีปในสมัยนั้นอีกด้วย ความเปลี่ยนแปลงที่ว่าเกิดจากความสำเร็จของการเผยแผ่พระธรรมวินัยแรกเริ่มที่มีพุทธดำรัสให้ภิกษุกลุ่มแรกจาริกไปทุกทั่วดินแดนและเผยแผ่คำสอน หลักการสำคัญประการหนึ่งของพระธรรมวินัยแสดงให้ผู้คนในสมัยนั้นเห็นว่าความยากจน ความต่ำต้อย ความร่ำรวยและความสูงส่งของสถานะล้วนเป็นสิ่งเดียวกัน คือเป็นสิ่งสมมติ ในขณะที่พุทธธรรมถูกเผยแผ่ออกไปถึงที่สุดชนชั้นวรรณะในขณะนั้นได้ถูกหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวอยู่ในพระพุทธศาสนาเสมือนน้ำจากแม่น้ำสายต่างๆ ไหลรวมลงสู่ทะเลฉันนั้น
 
การนำเนื้อหาหนังมาวิพากษ์วิจารณ์ก็เพื่อให้เกิดการพัฒนาองค์กรหรือสถาบันพระพุทธศาสนาไปในทางที่ก้าวหน้า ชาวพุทธหรือผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาจึงควรแสดงความคิดเห็นและวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ รวมถึงเสนอแนะทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้น 
 
ในส่วนของนักวิชาการหรือปราชญ์ด้านพระพุทธศาสนาทั้งพระสงฆ์และฆราวาสต้องกล้าพูดตรงๆ ถึงปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาจากกรณีเหตุการณ์ต่างๆ แม้สื่อประเภทต่างๆ ในประเทศไทยจะถูกกำกับโดยหน่วยงานภาครัฐ  (หนังเรื่อง อาบัติคือตัวอย่าง) ก็ตามแต่ก็ยังมีช่องทางในการแสดงความคิดผ่านสื่อประเภทอื่นได้ (เช่น สื่อออนไลน์)
 
การปิดโอกาสในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา นับว่าไม่ได้ช่วยรังสรรค์เติมเต็มพัฒนาการเชิงการสร้างสรรค์ให้กับพระพุทธศาสนาในยุคสมัยใหม่เอาเลย
 
การเปิดกว้างในแง่ของการวิพากษ์ต่างหากที่จะช่วยให้บุคคลทั่วไปและสื่อมวลชนสามารถนำความคิดเห็นไปนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ ได้กว้างขวางมากขึ้น

 
ขณะที่วัฒนธรรมของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาในประเทศไทยจัดเป็นวัฒนธรรมแนวจารีตอยู่  คือไม่ชอบแสดงความเห็น (ไยจะพูดถึงการวิพากษ์) เนื่องจากหวั่นเกรงอำนาจจากสายบังคับบัญชา เช่น มีคำพูดที่ว่า “กลัวพระผู้ใหญ่เพ่งเล็ง” ที่หมายถึง หากพระสงฆ์ชั้นผู้น้อยแสดงความเห็นผ่านสื่อมวลชนในเนื้อหาที่ไม่ใช่ประเด็นธรรมะโดยตรง เช่น การพูดถึงการบริหารองค์กรพระพุทธศาสนา เป็นต้น ก็อาจโดนพระสงฆ์ผู้บังคับบัญชาตำหนิเอาได้ เป็นต้น

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net