‘สมชัย สุวรรณบรรณ’ ฟ้องไทยพีบีเอส-กก.นโยบาย เลิกจ้างไม่เป็นธรรม

อดีตทีมบริหารไทยพีบีเอส ยกเว้น ‘วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์’ ฟ้องศาลปกครอง กรณี ส.ส.ท.และกรรมการนโยบายทั้งคณะ เลิกจ้าง ‘สมชัย สุวรรณบรรณ’ เผยไม่ขอคุ้มครองชั่วคราวกลับเข้าทำงาน หวั่นสร้างความบอบช้ำให้องค์กร แต่ฟ้องคดีเพื่อความเป็นธรรม-ชื่อเสียงเสียหาย เตรียมทำหนังสือแจงกรณีถูกกรรมการนโยบายพาดพิงลับหลัง 

27 ต.ค. 2558 เว็บไซต์นักข่าวพลเมือง ไทยพีบีเอส รายงานว่า เวลาประมาณ 10.30 น. ที่ศาลปกครอง นายสมชัย สุวรรณบรรณ อดีตผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส และนายมงคล ลีลาธรรม รองผู้อำนวยการ ส.ส.ท.พร้อมทนายความ เข้ายื่นฟ้ององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) และคณะกรรมการนโยบาย (กนย.) ส.ส.ท.ทั้งคณะ กรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เรียกร้องให้เยียวยา

ทั้งนี้ การฟ้องคดีดังกล่าวมีโจทก์ร่วมคือกรรมการบริหารที่ถูกเลิกจ้างทั้งหมด ยกเว้นนายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ อดีตรองผู้อำนวยการ ส.ส.ท.

สืบเนื่องจากกรณีเมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุม กนย.มีมติเลิกจ้าง นายสมชัย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ทำให้รองผู้อำนวยการ 3 คน คือ นายมงคล ลีลาธรรม นายสุพจน์ จริงจิตร นายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ และกรรมการบริหารอีก 2 คนพ้นจากตำแหน่งตามไปด้วย โดย กนย.อ้างสิทธิ์เลิกจ้างโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่ต้องจ่ายค่าเสียหาย หรือค่าสินไหมทดแทนใดๆ

นายสมชัย กล่าวให้สัมภาษณ์ว่า จะดำเนินการต่อสู้คดีในประเด็นสัญญาเลิกจ้างผิดขั้นตอน และกระบวนการประเมินผิดขั้นตอน ซึ่งโดยขั้นตอนแล้วตนเองต้องยื่นผลการปฏิบัติงานก่อนจึงจะมีการประเมิน และในปีที่แล้วก็มีการประเมินผลช่วงเดือนพฤศจิกายน และตัดสินในเดือนธันวาคม ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าทำไมจึงมีการเร่งรีบประเมินไม่ทำตามขั้นตอน นอกจากนั้นในส่วนการประเมินผู้บริหารของพนักงานพบว่ามีความพึงพอใจเกินครึ่ง กรณีที่เกิดขึ้นจึงสร้างความมึนงงให้แก่พนักงาน

นายสมชัยกล่าวด้วยว่า จะมีการจัดทำหนังสือชี้แจงข้อมูลแก่พนักงานอีกครั้ง ในประเด็นการกระทำผิดสัญญาจ้างและการพาดพิงลับหลัง จากกรณีที่ กนย.ได้เปิดประชุมชี้แจงพนักงานเมื่อวันที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเป็นการให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่ง

ส่วนการขอคุ้มครองชั่วคราวเพื่อกลับเข้าทำงานในตำแหน่ง นายสมชัยกล่าวว่า ขณะนี้ได้เริ่มกระบวนการสรรหากรรมการบริหารชุดใหม่แล้ว ส่วนตัวไม่อยากแย่งอำนาจบริหารอีก เกรงว่าจะก่อให้เกิดความสับสนในการทำงานและสร้างความบอบช้ำมากขึ้นแก่องค์กร การฟ้องคดีเนื่องจากต้องการความเป็นธรรม และเรียกร้องให้เยียวยา เพราะได้รับความเสียหายจากการเลิกจ้างทั้งความสูญเสียเรื่องรายได้ ความสูญเสียจากภารกิจต่างๆ รวมทั้งชื่อเสียงของตนเองในฐานคนที่ทำงานในวงการสื่อมากว่า 40 ปี

“สิ่งที่เกิดขึ้น มันเป็นบาดแผลต่อองค์กรด้วย ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือ หลักธรรมาภิบาล และการกำกับดูแลองค์กรใหญ่ขนาดนี้ และขณะนี้องค์กรก็อยู่ในภาวะสับสนหลายๆอย่าง ก็มีความรู้สึกว่ากรรมการนโยบายเองไม่สามารถที่จะตอบคำถามหลายๆ อย่าง ทำให้เกิดความสับสน มีปัญหาเรื่องขวัญกำลังใจ” นายสมชัยกล่าว

ทั้งนี้ กนย.ให้เหตุผลการเลิกจ้าง ในวันเดียวกันที่มีมติเมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2558 ว่า นายสมชัยไม่ให้ความสำคัญกับข้อเสนอแนะ ไม่มีแผนบริหารความเปลี่ยนแปลงและแผนกลยุทธ์เพื่อการแข่งขัน และผิดสัญญาจ้าง กรณีอนุมัติโครงการที่มีวงเงินเกิน 50 ล้านบาท โดยไม่ได้รับอนุมัติจากกรรมการนโยบายถึง 4 ครั้ง

ต่อมาในช่วงบ่ายวันที่ 12 ต.ค.2558 พนักงานไทยพีบีเอส กลุ่มหนึ่ง ได้รวมตัวกันยื่นจดหมายถึงนายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ประธานคณะกรรมการนโยบาย (กนย.) ส.ส.ท. เพื่อให้ชี้แจงกรณีการเลิกจ้างผู้อำนวยการ ส.ส.ท.และคณะกรรมการบริหาร เนื่องจากพนักงานเห็นว่ามติดังกล่าวทำให้เกิดความสับสนในองค์กร และกระทบต่อภาพลักษณ์ของ ส.ส.ท.ในการทำหน้าที่สื่อสาธารณะ โดยขอให้ชี้แจงเหตุผลและตอบคำถามต่อพนักงานภายในวันดังกล่าว (12 ต.ค.)

จากนั้น กนย.ได้จัดการประชุมชี้แจงแก่พนักงานเมื่อเวลา 17.00 น. และในวันเดียวกันนั้น (12 ต.ค.) กนย. ออกประกาศ (ฉบับที่ 2) ชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้นว่า ตามที่มีการวิพากษ์วิจารณ์และตั้งข้อสงสัยกรณีที่คณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. มีมติเป็นเอกฉันท์เลิกจ้างผู้อำนวยการ ส.ส.ท.เมื่อวันที่ 9 ต.ค. โดยชี้แจงว่า ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ได้กระทำผิดสัญญาจ้างนั้น กนย.ขอชี้แจงว่าเป็นการกระทำตามอำนาจและหน้าที่ของ กนย.ตาม พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 โดยปราศจากการแทรกแซงจากภายนอกแต่อย่างใด

เหตุที่ต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว เพราะวันที่ 9 ต.ค. เป็นวันที่ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ทำงานตามสัญญาจ้างครบ 3 ปี และจะต้องถูกประเมิน

ทาง กนย.ได้ดำเนินกระบวนการประเมินอย่างละเอียดรอบคอบมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยมอบหมายให้ผู้แทนแจ้งผลการประเมินเบื้องต้นแก่ผู้อำนวยการ ส.ส.ท.ในเช้าของวันที่ 9 ต.ค. พร้อมทั้งเสนอทางเลือกในการตัดสินใจ ระหว่างการลาออก กับการประเมินไม่ผ่าน ซึ่งผู้อำนวยการ ส.ส.ท. แจ้งแก่ผู้แทนคณะกรรมการนโยบายว่าเลือกไม่ลาออก

อย่างไรก็ตามนอกจากการประเมินไม่ผ่านแล้ว ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ยังได้กระทำการผิดสัญญาจ้างอีกด้วย โดยกระบวนการประเมินผู้อำนวยการ ส.ส.ท.เป็นการประเมินตามสัญญาจ้าง และเอกสารแนบท้ายสัญญา ซึ่งเป็นการตกลงร่วมกันระหว่าง ส.ส.ท. ในฐานะผู้จ้าง กับผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ในฐานะผู้รับจ้าง

โดยการประเมินดังกล่าวประเมินจากความสามารถด้านการบริหารจัดการ รวม 6 หัวข้อ ได้แก่ การบริหารงานเชิงกลยุทธ์, การแก้ปัญหาและการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์,ความสามารถในการสื่อสาร, ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์, การบริหารความเปลี่ยนแปลง และคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล โดยมีเป้าหมายการประเมินที่ระดับดี ถึงดีเด่น ซึ่งปรากฏว่า กนย.มีมติเป็นเอกฉันท์ว่าผู้อำนวยการ ส.ส.ท. มีผลการปฏิบัติงานต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด

ทั้งนี้ ท้ายประกาศ กนย.ได้ชี้แจงว่าการดำเนินการทั้งหมดนี้มีความมุ่งมั่นที่จะรักษาองค์กรให้ดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า โปร่งใส และมีธรรมาภิบาล ตามเจตนารมณ์ของสื่อสาธารณะอย่างแท้จริง และกำลังอยู่ในกระบวนการสรรหาผู้อำนวยการ ส.ส.ท. คนใหม่ต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท