พนักงานยื่นหนังสือถามเหตุผล 'หมอกฤษดา'นั่ง ผอ.ไทยพีบีเอส 'ณรงค์' งง 32 คนเข้าใจยาก

พนักงานไทยพีบีเอสยื่นหนังสือเรียกร้องให้มีการชี้แจงเหตุผล หมอกฤษดา ได้นั่ง ผอ.ไทยพีบีเอส ด้านสมบัติ บุญงามอนงค์ เสนอเปิดคลิปสอบสัมภาษณ์ลดความกังขา ขณะที่ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ประธานกรรมการนโยบายแจงไม่รู้จะแจงอย่างไร งง 32 พนักงานเข้าใจยาก กรรมการสรรหายืนยันแล้วว่าเหมาะสม

26 ม.ค. 2559 ความคืบหน้ากรณีคณะกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส ซึ่งมีนายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ เป็นประธานฯ ลงมติเสียงข้างมากเลือก ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ อดีตผู้จัดการกองสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นผู้อำนวยการไทยพีบีเอสคนใหม่ เมื่อวันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยมีพนักงานจำนวนหนึ่งเตรียมเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ผู้บริหารชี้แจงกรณีการสรรหาผู้เข้าดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการคนใหม่ (อ่านข่าวที่นี่)

ผู้สื่อข่าวรายงานข่าว บ่ายวันนี้ พนักงานกลุ่มดังกล่าว รวม 32 คนยื่นหนังสือที่ร่วมกันเข้าชื่อต่อ ประธานกรรมการนโยบาย กรรมการนโยบาย และกรรมการสรรหาฯ โดยเนื้อหาในจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้มีการชี้แจงกรณีการสรรหาผู้เข้าดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ต่อสาธารณะ เนื่องจากมองว่า คุณสมบัติของผู้บริหารองค์กรสื่อฯ ไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551

ด้าน สมบัติ บุญงามอนงค์ นักกิจกรรมทางสังคม ตั้งข้อสังเกตผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวต่อกรณีดังกล่าวว่า ส่วนตัวมองว่า นายกฤษดาเป็นผู้ที่มีศักยภาพสูง แต่เขาตั้งคำถามว่า จะมีความสามารถในระดับที่จะบริหาร TPBS หรือไม่ เนื่องจาก TPBS เป็นสื่อสาธารณะ แต่ในขณะที่การใช้สื่อของ สสส. ที่ผ่านมามีลักษณะการสั่งสอน ชี้นำ ซึ่งบุคลิกการสื่อสารเช่นนี้ ทำให้เขารู้สึกกังวลไม่น้อย พร้อมเสนอว่า จะเป็นสิ่งที่ดีมากๆ หากมีการนำคลิปการสอบสัมภาษณ์ของผู้สมัครแต่ละรายมาเผยแพร่ต่อสาธารณะ เพราะจะทำให้ความคลุมเครือต่อการสรรหาลดลง

‘ณรงค์’งงทำไม 32 พนักงานเข้าใจยาก คกก.สรรหายืนยันหมอกฤษดาเหมาะสม

หลังมีข่าวการยื่นหนังสือดังกล่าว นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ประธานกรรมการนโยบาย ส.ส.ท.ให้สัมภาษณ์เว็บไซต์ไทยพีบีเอส ว่าทางคณะกรรมการนโยบายทุกคนไม่ได้รังเกียจที่จะตอบคำถามตามที่จดหมายเปิดผนึกของพนักงานที่เรียกร้องมา แต่ไม่รู้ว่าจะชี้แจงอะไรเพิ่มได้อีก เนื่องจากที่ผ่านมาได้ออกเป็นเอกสารและประกาศตามขั้นตอนการสรรหา ผอ.ส.ส.ท.ไปหมดแล้ว อีกทั้งไม่เข้าใจว่า ทำไมพนักงาน 32 คนที่ลงชื่อไม่เข้าใจ แต่เพื่อนพนักงานอีกพันกว่าคนเข้าใจหมดถึงกระบวนการหา ผอ.ส.ส.ท.

"ในส่วนคำถามที่ระบุว่าคุณสมบัติของนายกฤษดาตรงตาม พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 หรือไม่นั้น ต้องเรียนว่าคณะกรรมการสรรหาทั้ง 5 คน ล้วนแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายระดับประเทศ รวมถึงด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งเมื่อทั้ง 5 คนตีความคุณสมบัติของนายกฤษดาว่าไม่มีปัญหา ทางกรรมการนโยบาย ส.ส.ท.จะบอกว่ามีปัญหาได้อย่างไรกัน" ประธานกรรมการนโยบาย ส.ส.ท.ชี้แจง

นายณรงค์กล่าวเพิ่มเติมว่าคณะกรรมการนโยบายจะประชุมกันอีกครั้งตามระเบียบวาระวันที่ 29 ม.ค.2559 ซึ่งอาจมีการหารือกันว่าจะมีการชี้แจงหรือไม่ อย่างไร ระหว่างนี้หากพนักงานคนใดมีข้อสงสัยขอให้ถามผู้อำนวยการสำนักของตนเองหรือหัวหน้างานตัวเองก่อน

จดหมายเปิดผนึกกรณีการสรรหาผู้เข้าดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ส.ส.ท.
เรื่อง ขอให้ชี้แจงกระบวนการสรรหาผู้อำนวยการส.ส.ท.ต่อสาธารณะ
เรียน ประธานกรรมการนโยบาย กรรมการนโยบาย กรรมการสรรหาฯ

การสรรหาผู้เข้าดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ซึ่งเป็นสถาบันสื่อสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทย ได้รับความสนใจจากสาธารณะ โดยเฉพาะเมื่อกรรมการสรรหาฯ พิจารณาคัดสรรผู้สมัครที่มีคุณสมบัติและวิสัยทัศน์รวม 5 คน จากผู้สมัครทั้งสิ้น 13 คน เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพิจารณาเมื่อวันที่ 7 มกราคม ที่ผ่านมา และในวันที่ 14 มกราคม กรรมการนโยบายมีมติเลือกผู้อำนวยการ ส.ส.ท.คนใหม่ ดังที่สื่อมวลชนเสนอข่าวไปแล้วนั้น

การสรรหาผู้บริหารไทยพีบีเอสครั้งนี้ ได้รับวิพากษ์วิจารณ์และตั้งข้อสังเกตจากสาธารณะ โดยเฉพาะประเด็นคุณสมบัติของผู้บริหารองค์กรสื่อฯ โดยเปรียบเทียบกับผู้สมัครที่ได้รับการคัดสรรว่าด้วยคุณสมบัติของผู้อำนวยการ ส.ส.ท.ตามมาตรา 32 วงเล็บ 3 ของพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551
ที่ระบุว่า “มีความรู้ความเข้าใจและมีความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ในกิจการวิทยุกระจายเสียงกิจการวิทยุโทรทัศน์หรือการสื่อสารมวลชน” ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากคุณสมบัติของผู้ผ่านการคัดสรรของกรรมการสรรหาฯ และได้รับการคัดเลือกจากกรรมการนโยบายฯ ทำให้เกิดความคลางแคลงสงสัยและไม่เข้าใจต่อเจตนารมณ์ของคณะกรรมการนโยบาย หรือกระทั่งตั้งคำถามถึงแนวทางขององค์กรสื่อสาธารณะแห่งนี้ได้

ไม่นับความกังวลจากประชาคมไทยพีบีเอส ซึ่งมีเจตจำนงเข้าไปมีส่วนร่วมและสร้างความโปร่งใสในกระบวนการสรรหาฯ ตั้งแต่ต้น เนื่องจากเห็นว่า องค์กรอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านในหลายประเด็น หากจะดำรงความเป็นสื่อสาธารณะ
ในสังคม จักต้องได้รับความยอมรับและเชื่อถือจากสังคมโดยเฉพาะในประเด็นความโปร่งใส ปราศจากคำถามในเรื่องการบริหารจัดการ ซึ่งความกังวลดังกล่าวยังปรากฏอยู่แม้ว่า กระบวนการสรรหาจะผ่านพ้นและได้ผู้เหมาะสมมาดำรงตำแหน่งแล้วก็ตาม

อย่างไรก็ดีอาจกล่าวได้ว่า ทัศนะสาธารณะเหล่านั้นถือเป็นความห่วงใยต่อสถาบันสื่อสาธารณะอย่างบริสุทธิ์ใจ โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่สังคมไทยต้องการสื่อสาธารณะที่ยืนหยัดอยู่บนความเป็นธรรม มีความเที่ยงตรง โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ คาดหวังให้ไทยพีบีเอสทำหน้าที่ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ขับเคลื่อนสังคมไปสู่เส้นทางประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงถือเป็นเพื่อนสื่อสาธารณะที่ต้องให้ความสำคัญและรับฟังอย่างมีนัยสำคัญ
 
ประการสำคัญ ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ในฐานะผู้กำหนดทิศทางย่อมถูกคาดหวังจากสังคมและประชาคมไทยพีบีเอสเองว่า จะสามารถนำพาสถาบันสื่อสาธารณะของประเทศไปในทิศทางที่ถูกต้อง ก่อเกิดประโยชน์ต่อสาธารณะตามเจตจำนงก่อตั้ง เป็นสื่อเพื่อสาธารณะที่สร้างสังคมเป็นธรรม ดังนั้นการขึ้นมาเป็นผู้นำองค์กรสื่อสาธารณะ จำเป็นต้องกระทำอย่างโปร่งใส ได้รับการยอมรับจากภาคส่วนของสังคม ผู้อำนวยการ ส.ส.ท.จึงถือเป็นบุคคลสาธารณะที่วิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างมีเหตุมีผล

ด้วยสถานการณ์และเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงไม่เห็นทางออกใดที่ดีไปกว่า ผู้มีส่วนรับผิดชอบเปิดใจรับฟังและชี้แจงข้อคลางแคลงในประเด็นดังกล่าวข้างต้นต่อสาธารณะและประชาคมไทยพีบีเอส เพื่อการเริ่มต้นศักราชใหม่อย่างมีทิศทาง ถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริหารและผู้กำหนดนโยบายของสื่อสาธารณะแห่งนี้

26 มกราคม 2559
ลงชื่อ  

 

สมบัติ บุญงามอนงค์  (ที่มา)

ผ.อ. TPBS คนใหม่
ผมรอจนกระแสการคัดเลือก ผอ TPBS คนใหม่จางลง จึงขอแสดงความเห็นดังนี้

1. ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ อดีตผู้จัดการ สสส. นั้นเป็นคนอัศจรรย์คนหนึ่งที่ผมเคยรู้จัก เขาเป็นคนรุ่นใหม่ที่ทันสมัย รับฟัง เฉลียวฉลาดและที่สำคัญเป็นคนอ่อนน้อมมากคนหนึ่ง ดังนั้นในทัศนะของผมในเชิงตัวบุคคลเขาเป็นคนมีศักยภาพระดับสูง

2. ในฐานะอดีตผู้บริหาร สสส. ซึ่งผมมั่นใจว่าเป็นองค์กรนวัตกรรม ประสบการณ์เรื่องการบริหารองค์กร ทพ. กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ เป็นต้นทุนสำคัญในการบริหารองค์กร

3. เขาเป็นคนที่มีความสนใจในเรื่องการใช้สื่อ ดังจะได้เห็นจากชิ้นงานจำนวนมากของ สสส. ที่ปรากฏอยู่ในทางสาธารณะ เป็นผู้สนับสนุนคนสำคัญต่อก่อตั้ง TPBS และยังสนับสนุนวิทยุครอบครัว และ วิทยุเพื่อการศึกษาของการศึกษานอกโรงเรียน แต่จะหมายถึงความสามารถในระดับที่จะบริหาร TPBS หรือไม่นั้นเป็นที่กังขาอยู่ไม่น้อย

เนื่องจาก TPBS เป็นสื่อสาธารณะ แต่ในขณะที่การใช้สื่อของ สสส. ที่ผ่านมามีลักษณะการสั่งสอน ชี้นำ พ่อคนดี บุคลิกการสื่อสารเช่นนี้ทำให้ผมรู้สึกกังวลอยู่ไม่น้อย เพราะทุกวันศุกร์เราก็มีรายการสั่งสอนประชาชนผู้อ่อนด้อยสติปัญญาอยู่ทุกสัปดาห์เป็นชั่วโมงอยู่แล้ว

สรุปคือ ผมแปลกใจเอามากๆ ที่กรรมการสรรหาฯ ได้ตัดสินใจเลือก ทพ.กฤษดา มาดำรงตำแหน่ง ผอ. TPBS และมิใช่เพียงแค่ผมคนเดียวคนในแวดวงสื่อหลายต่อหลายคนแปลกใจต่อการตัดสินใจครั้งนี้

แน่นอนว่า ทพ.กฤษดา มีความชอบธรรมอย่างสูงที่จะเสนอตัวเพื่อเข้ารับการคัดเลือก แต่กรรมการสรรหาต้องตอบคำถามนี้ต่อสังคม อาจเป็นไปได้ว่าระหว่างที่การสัมภาษณ์วิสัยทัศน์ของผู้สมัครแต่ละคน ทพ.กฤษดา ทำคะแนนและให้เหตุผลจนโน้มน้าวกรรมการสรรหาได้ แต่จะเป็นสิ่งที่ดีมากๆ หากนำคลิปการสอบสัมภาษณ์ของแต่ละท่านมาเผยแพร่ต่อสาธารณะ จะทำให้ความคลุมเครือเหล่านี้ลดลง

อย่างไรก็ตาม การคัดเลือกได้สิ้นสุดลงแล้ว คำถามทั้งหลายคงเป็นภาระของกรรมการสรรหา และผลงานจะเป็นเครื่องพิสูจน์ความสามารถของ ทพ.กฤษดา อดีต ผจก สสส. ในบทบาทใหม่ที่ท้าทายยิ่งกว่า สสส.

แม้ผมจะมีความกังขาต่อการสรรหา แต่ขอให้กำลังใจ ทพ.กฤษดา ในการทำหน้าที่นี้อย่างเต็มที่

หมายเหตุ มีการเพิ่มเติมเนื้อหา เวลา 21.00 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท