Skip to main content
sharethis

แรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะจากพม่ากว่าสองหมื่นคนเข้ามาทำงานด้านกิจการประมงในขนอมเป็นจำนวนมาก พวกเขาทำงานที่นี่กันหลายปีและพาครอบครัวมาด้วย เราพาสำรวจความเป็นอยู่ การทำงาน โอกาสทางการศึกษาและความฝันของเด็กๆ เหล่านี้ 

การเข้าถึงการศึกษาของเด็กข้ามชาติ #1 ภาพรวมในระดับประเทศและที่ อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช

การเข้าถึงการศึกษาของเด็กข้ามชาติที่ อ.ขนอม #2 โรงเรียนในระบบ และผลกระทบเมื่อไม่เข้าเรียน

การเข้าถึงการศึกษาของเด็กข้ามชาติที่ อ.ขนอม #3 ศูนย์การเรียนรู้ที่แพปลา จุดเด่นและข้อเสีย

 

000

โรงรียนชุมชมบ้านท่าม่วง ต.ท้องเนียน อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช

ตาชิ (ขวา) นั่งกับเพื่อนๆ ร่วมชั้นเรียนในโรงเรียนชุมชนบ้านบางโหนด ต.ท้องเนียน อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ตาชิเป็นผู้ติดตามครอบครัวชาวพม่า โดยเขาเกิดที่ จ.กาญจนบุรี ปัจจุบันเรียนชั้น ป.2 ที่โรงเรียนแห่งนี้ และใช้เวลาหลังเลิกเรียนช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน 

เสียงกริ่งยาวบอกเวลาเลิกเรียนคาบสุดท้ายของสัปดาห์ เป็นเวลาบ่ายสามโมงแล้ว ที่หน้าโรงเรียนชุมชนบ้านท่าม่วง ตำบลท้องเนียน อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช เต็มไปด้วยร้านขายลูกชิ้น น้ำอัดลม รอคอยลูกค้าอย่างเด็กนักเรียนหลายร้อยที่กำลังเข้าแถวรอกลับบ้าน ครูยืนที่ประตูโรงเรียนรับไหว้เด็กนักเรียนที่มีผู้ปกครองมารอรับกลับบ้าน เด็กนักเรียนจะกลับมาใหม่ในวันเปิดเรียนวันจันทร์ และในบรรดาเด็กนักเรียนที่รอกลับบ้านนั้น ยังมีเด็กๆ ลูกหลานของครอบครัวแรงงานข้ามชาติ ก็รอผู้ปกครองมารับกลับบ้านเช่นกัน

ที่อำเภอขนอม มีแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา เข้ามาทำงานเช่นเดียวกับเมืองชายทะเลอื่นๆ ในประเทศไทย ข้อมูลจากสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ระบุถึงสถิติแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ว่า จากปี พ.ศ. 2550 ถึง เดือนมกราคม พ.ศ. 2559 พบว่าเฉพาะใน จ.นครศรีธรรมราช มีประชากรแรงงานข้ามชาติเข้ามาใช้แรงงานอย่างถูกกฎหมายจำนวน 21,048 คน เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2550 ที่เมื่อก่อนมีเพียง 1,223 คน หรือ 17 เท่าภายในเวลา 9 ปี ทั้งนี้ส่วนใหญ่นายทุนในพื้นที่เป็นคนไทยนิยมว่าจ้างแรงงานข้ามชาติมาประกอบอาชีพประมง และอีกสาเหตุหนึ่งเป็นผลมาจากแนวนโยบายการรับจดทะเบียนแรงงานรอบใหม่ในปี พ.ศ. 2557 ทำให้จำนวนแรงงานที่จดทะเบียนมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 14,600 คน ในเดือนมกราคมปี พ.ศ.2557 เป็น 17,480 คน ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2558

ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ของอำเภอขนอมที่อยู่ติดริมฝั่งทะเลเหมาะสำหรับการทำกิจการด้านประมง เป็นแหล่งเศรษฐกิจขนาดใหญ่ถือว่าเป็นแหล่งกระจายรายได้หลัก ทำให้แรงงานข้ามชาติเลือกเข้ามาทำงานเพื่อใช้แรงงานประกอบอาชีพประมง ซึ่งแรงงานข้ามชาติมักจะเข้ามาแบบจดทะเบียนแรงงานถูกกฎหมายและมีผู้ติดตามเข้ามาอยู่อาศัยร่วมด้วยในพื้นที่มีทั้งเด็กที่ติดตามมาด้วยจำนวนมากกว่า 100 คน เกินครึ่งของเด็กเหล่านี้ก็จะไม่ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนเรียนรัฐและศูนย์การเรียนรู้ในพื้นที่

000

“ดาว” เป็นหนึ่งในครอบครัวที่มีผู้ติดตามมาจากประเทศพม่า เธอมีลูกสาววัยเด็กอายุ 12 ปีติดตามมาในที่ทำงานด้วย ดาวเล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า ตัวเธอมาทำงานในพื้นที่กว่า 10 ปีแล้ว โดยที่แพปลาในชุมชนท้องเนียน ดาวมีอาชีพรับจ้างตัดหัวปลาเป็ด ปลากระบอก และปลาไส้ตัน โดยมีผู้ว่าจ้างเป็นคนไทยอย่างถูกกฎหมาย ดาวเล่าว่า การที่ให้ลูกของเธอออกมาทำงานนั้นถือว่าสามารถแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายภายในบ้าน และยังถือว่าเป็นการช่วยสร้างรายได้ให้กับครอบครัว จึงเลือกให้ลูกสาวมาช่วยทำงานตัดหัวปลา แทนที่จะให้ลูกสาวไปเรียนหนังสือ เพราะด้วยฐานะทางบ้านยากจนที่ต้องพึงตนเองหาเช้ากินค่ำ

"เข้ามาถูกต้องตามกฎหมาย เวลาสื่อสารกับชาวบ้านก็จะให้ชาวบ้านในละแวกช่วยสอนให้พูด แต่ไม่ได้ส่งลูกสาวเรียนในโรงเรียน ไม่มีความจำเป็นเพราะลูกเรียนหนังสือจากประเทศพม่ามาแล้ว พอที่จะอ่านออกเขียนได้ ก็เลยพาลูกเข้ามาที่นี้เพื่อมาใช้แรงงานแลกเงินเพียงอย่างเดียว" ดาว หนึ่งในผู้ปกครองที่ไม่ยอมส่งให้ลูกเข้าเรียนหนังสือ กล่าว

 

โอกาสและข้อจำกัดของโรงเรียนรัฐ ในการจัดการเรียนการสอนเด็กข้ามชาติ

ทั้งนี้ มติคณะรัฐมนตรี เมื่อปี พ.ศ. 2548 อนุมัติให้เด็กไร้สถานะสามารถเข้าเรียนในโรงเรียนรัฐบาลที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ ขณะที่ในพื้นที่อำเภอขนอมมีโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาของเด็กที่เป็นผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติ 3 แห่ง 2 แห่งแรกเป็นโรงเรียนในสังกัดกระทรวง ได้แก่ โรงเรียนบ้านท่าม่วง โรงเรียนชุมชนบ้านบางโหนด และอีก 1 แห่งเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ไม่ได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ รับผิดชอบโดยอดีตผู้ประสานงานมูลนิธิรักษ์ไทย

แต่มีเพียงเด็กผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติบางส่วนที่เข้ารับการศึกษา โดยในปีการศึกษา 2558 มีเด็กผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติเข้ารับการศึกษารวม 49 คน จากเด็กผู้ติดตามทั้งหมดเกือบ 100 คน ประกอบด้วย นักเรียนที่โรงเรียนบ้านท่าม่วง 7 คน นักเรียนที่โรงเรียนชุมชนบ้านบางโหนด 6 คน และนักเรียนที่ศูนย์การเรียนรู้ 36 คน ในปีการศึกษา 2558 โรงเรียนบ้านท่าม่วง มีนักเรียนชาย ป.1 จำนวน 1 คน นักเรียนชาย ป.2 จำนวน 3 คน และนักเรียนชาย ป.4 จำนวน 1 คน โรงเรียนชุมชนบ้านบางโหนด มีนักเรียนอนุบาล จำนวน 1 คน ชั้น ป.1 มีนักเรียนหญิง จำนวน 1 คน ชั้น ป.2 มีนักเรียนหญิง 2 คน และชั้น ป.3 มีนักเรียนชาย 1 คน นักเรียนหญิง 2 คน ทั้งสองโรงเรียนยังไม่มีเด็กผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เพราะเพิ่งเปิดรับนักเรียนตั้งแต่ปีการศึกษา 2556 ส่วนศูนย์การเรียนรู้เป็นชั้นเรียนคละ

เมื่อเทียบเคียงสถิติการเข้าเรียนหนังสือของเด็กผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติที่ขนอม พบว่าใกล้เคียงกับชุมชนแรงงานข้ามชาติอื่น โดยในงานวิจัย “สถานการณ์ของเด็กข้ามชาติและแรงงานเด็กข้ามชาติ ในเขตอำเภอเมืองจังหวัดสมุทรสาคร” ของมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายนปี 2558 (อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง) พบว่าที่อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร หรือที่เรียกว่า “ย่านมหาชัย” มีเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี จากการขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2557 ในอำเภอเมืองสมุทรสาคร จำนวน 5,500 คน และจากการสอบถามกลุ่มตัวอย่าง786 คน เด็กส่วนใหญ่ศึกษาอยู่ในโรงเรียนรัฐบาลร้อยละ 56 ที่เหลือไม่ได้เข้าเรียน และไม่ได้ทำงาน ขณะที่อาชีพของบิดา มารดา ที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพในอุตสาหกรรมต่อเนื่องประมงมีแนวโน้มเป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่การกลายเป็นแรงงานเด็กของบุตรหลาน

ส่วนภาพรวมในประเทศ จากรายงาน "สถานการณ์ทางด้านการศึกษา สำหรับเด็กข้ามชาติ และแรงงานข้ามชาติ พ.ศ. 2558" นำเสนอโดย เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) ในช่วงวันผู้อพยพย้ายถิ่นสากล เมื่อธันวาคม 2558ที่่ผ่านมา (อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง) พบว่าในภาพรวมของเด็กข้ามชาติที่สำรวจได้ราว 300,000 ราย พบว่า ได้รับการศึกษาในระบบ 138,724 ราย หรือ 46% เรียนในศูนย์การเรียนรู้ 17,161 หรือ 6% เรียนผ่านการศึกษานอกระบบ 5,126 ราย หรือ 2% และไม่อยู่ในระบบการศึกษา 138,989 ราย หรือ 46% ซึ่งนับว่าเป็นเป้าหมายที่สูง เมื่อพิจารณาจากเป้าหมาย การศึกษาเพื่อปวงชนของกระทรวงศึกษาธิการ

โดยสาเหตุของการเข้าไม่ถึงการศึกษาคือ โรงเรียนบางส่วนยังไม่รับเด็กเนื่องจากข้อจำกัดเรื่องจำนวนครู จำนวนห้องเรียน กรรมการโรงเรียนไม่เห็นด้วย ความวิตกกังวลเรื่องผลการเรียนโดยรวม ขณะที่ผู้ปกครองแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการเรียนไม่ไหว เนื่องจากรายได้ที่ได้รับไม่สอดคล้องกับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น

 

เอกสารแสดงสถานะบุคคล: บันไดหลายขั้นตอนสำหรับเด็กข้ามชาติ

 

บรรยากาศของชั้นเรียนที่โรงเรียนบ้านท่าม่วง ต.ท้องเนียน อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช "ตะเซอู้" อายุ 8 ปี ชั้น ป. 2/1 (นั่งแถวหน้าที่สองจากซ้าย) กำลังนั่งอ่านหนังสือ

"ตะเซอู้" อายุ 8 ปี นักเรียนชั้น ป.2/1 โรงเรียนบ้านท่าม่วง พ่อแม่ทำงานรับจ้างอยู่ที่แพปลา ตะเซอู้ชอบเรียนวิชาภาษาไทยกับคณิตศาสตร์ เพราะเรียนง่าย คุณครูใจดี โตขึ้นอยากเป็นหมอ ตะเซอู้บอกว่าที่โรงเรียนมีเพื่อนเยอะ เพื่อนนิสัยดี เมื่อเลิกเรียนก็กลับบ้านช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน พี่สาวของตะเซอู้ไม่ได้เรียนหนังสือแล้ว แต่ทำงานบ้านญาติ ทำงานบ้าน ตะเซอู้อยากไปเที่ยวพม่าแต่ก็ไม่มีโอกาสได้กลับไปสักที

อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG)

ถึงแม้ว่า มติ ครม. ปี พ.ศ. 2548 อนุมัติให้เด็กไร้สถานะสามารถเข้าเรียนสถานศึกษาได้ แต่ในทางปฏิบัติโรงเรียนในพื้นที่ก็ยังต้องการเอกสารเพื่อแสดงสถานะบุคคล

โดย อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) นักวิจัยด้านประชากรข้ามชาติ พูดถึงข้อจำกัดในการคัดเลือกให้ผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติสามารถเข้าเรียนสถานศึกษาไว้ว่า “ในทางปฏิบัติก็แล้วแต่พื้นที่ของสถานศึกษาว่าพร้อมจะยอมรับให้เข้าเรียนได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับนโยบายโรงเรียนในท้องถิ่นที่ต้องการทราบรายละเอียด ‘ข้อมูลแจ้งประวัติบุคคล’ แต่ว่าก็ยังคงมีอีกหลายโรงเรียนที่ต้องการให้นักเรียนมีเอกสารแสดงสถานะทางบุคคลก่อนจะขึ้นทะเบียนนักเรียน”

เกรียงศักดิ์ ประสิทธิ์ ครูชำนาญการพิเศษโรงเรียนชุมชนบ้านบางโหนด กล่าวว่า "โรงเรียนชุมชนบ้านบางโหนด มีนโยบายรับนักเรียนที่เป็นเด็กผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติเข้าศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2556 มีนักเรียนที่เป็นลูกแรงงานข้ามชาติเข้าศึกษาได้รับสิทธิ์ และปฏิบัติเหมือนกับเด็กไทยทุกประการ และใช้แผนการเรียนรู้เหมือนเด็กไทยเรียนครบ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ แต่จะไม่มีคุณครูที่มาจากประเทศพม่ามาสอนโดยตรง"

"ถ้าคุณมีหลักฐานพร้อมที่จะให้ลูกเข้าเรียน หมายถึงให้มีใบสูติบัตรหรือหลักฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทางโรงเรียนก็พร้อมรับเด็กเข้าเรียน " เกรียงศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) เคยมีข้อเสนอเชิงนโยบาย นำเสนอในช่วงวันผู้อพยพย้ายถิ่นสากล เมื่อ 18 ธันวาคม 2558 เพื่อแก้ไขปัญหาให้เด็กไม่มีสถานะบุคคลได้เข้าเรียนว่า กรณีเด็กนักเรียนที่ไม่มีเลขประจำตัว 13 หลัก หรือเด็กติด G สถานศึกษาควรจะต้องรวบรวมข้อมูลของเด็กนักเรียน และประสานงานไปยังฝ่ายทะเบียนในท้องที่ เพื่อจัดทำทะเบียนประวัติสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ตาม มาตรา 38 ของ พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร และประสานงานให้สำนักทะเบียนราษฎร กรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย จัดทำหนังสือสั่งการ และแนวปฏิบัติในเรื่องการจัดทำทะเบียนประวัติสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย กรณีนักเรียนในสถานศึกษา เพื่อให้เกิดแนวปฏิบัติร่วมกันทั้งประเทศต่อไป

นอกจากนี้ยังเสนอให้สำนักงานการศึกษา สพฐ.ส่งเสริมและสนับสนุนให้สถานศึกษาจัดการศึกษาให้กับเด็กทุกคนตามมติคณะรัฐมนตรี 5 กรกฎาคม 2548 อย่างแท้จริงและเป็นจริง โดยให้มีกลไกการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติในทุกระดับ

และขอให้ยกเลิกคุณสมบัติของนักเรียนที่ระบุไว้ตามข้อ 6(3) ค. ที่ระบุว่า “เป็นนักเรียนที่มีเลขประจำตัวประชาชนที่ออกโดยกระทรวงมหาดไทย” ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยมาตรการการช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียนเอกชนเป็นเงินอุดหนุนรายหัว พ.ศ. 2558 และดำเนินการจัดสรรงบรายหัวให้แก่นักเรียนทุกคนที่เรียนอยู่จริงในโรงเรียน

 

เด็กโข่งกับเพื่อนต่างวัย: การปรับตัวเมื่อเข้าเรียนช้า

นอกจากขั้นตอนของการยื่นเอกสารแล้ว นักเรียนที่เป็นเด็กข้ามชาติยังคงมีปัญหาเรื่องการปรับตัวด้วย เนื่องจากพวกเขาเข้าเรียนช้าหลายปี เมื่อเรียนร่วมกับเด็กไทย พวกเขาก็กลายเป็นเด็กที่อายุมากกว่า ทั้งตัวใหญ่กว่า ทำให้ถูกเพื่อนล้อ แต่จากที่ผู้สื่อข่าวสังเกต เด็กนักเรียนลูกหลานแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ก็กระตือรือร้น ขวนขวายในการเรียน

ธนาภร เอี่ยมทรัพย์ ครูประจำชั้นที่มีนักเรียนของผู้ติดตามแรงงานต่างด้าวเข้าศึกษาอยู่ที่โรงเรียนชุมชนบ้านบางโหนด กล่าวถึงอุปสรรคส่วนใหญ่ที่พบเจอจากการเรียนการสอนของนักเรียนของผู้ติดตามแรงงานต่างด้าวที่ว่า "พัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนของผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติก็เป็นไปตามสมวัย อาจจะช้าว่านักเรียนไทยที่เข้าเรียนตามปกติบ้างเล็กน้อย แต่ตอนนี้ก็สามารถอ่านออกเขียนได้ภาษาไทยได้คล่องมากขึ้น แต่ยังมีเรื่องการปรับตัวอยู่บ้างที่ต้องค่อยดูกันต่อไป"

"ส่วนใหญ่แล้วเด็กที่เป็นลูกหลานต่างด้าวเขาจะเข้ามาเรียนภายหลังแล้ว นี้หมายถึงจะมีอายุมากกว่าเพื่อนคนอื่นๆ ในชั้นเรียน มีเพียงเรื่องการสื่อสารที่ต้องพูดคุยกับคุณครูและเพื่อนในชั้นเรียน และการปรับตัวเข้าหาเพื่อบางเล็กน้อยแต่ทั้งหมดก็จะอยู่ในการดูแลของคุณครู" ภาวิณี โชติมณี คุณครูประจำชั้นที่มีนักเรียนของผู้ติดตามแรงงานต่างด้าวเข้าศึกษาอยู่ที่โรงเรียนท่าม่วง กล่าว

ภายโรงเรียนชุมชนบ้านบางโหนด ห้องเรียนมีป้ายระบุว่าเป็นชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ของเด็กนักเรียนผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติที่กำลังนั่งเรียนวิชาคณิตศาสตร์คละกับเพื่อนๆหลายคนในห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆบรรยากาศในห้องเรียนเต็มไปด้วยความสนุกสนาน ปะปนกับเสียงหัวเราะของคุณครูผู้สอนและนักเรียน

เด็กหญิงเจนจิรา หรือ “น้องโม” หนึ่งในของเด็กของผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติที่ได้เข้าเรียนโรงเรียนบ้านท่าม่วง อายุ 9 ขวบ เรียนอยู่ชั้นป.3/1 พ่อแม่ทำงานรับจ้างกรีดยางพารา เดินทางมาเรียนโดยติดรถโดยสารของเพื่อนบ้าน ออกจากบ้านมาเรียนตั้งแต่เวลา 07.00-17.00 น. เวลาว่างหลังจากกลับจากโรงเรียนก็จะช่วยแม่ทำงานบ้าน กวาดขยะ ล้างจาน และทบทวนบทเรียน ส่วนเสาร์-อาทิตย์ก็จะช่วยพ่อแม่เข้าไปถางหญ้าในสวนยางพารา

น้องโมเล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า น้องชอบเรียนวิชาภาษาไทย เพราะสามารถเขียนและอ่านออกเสียงให้เพื่อนๆ ฟังได้ โตขึ้นมีความฝันว่าอยากประกอบอาชีพคุณครูสอนวิชาภาษาไทยและกลับมาสอนให้กับเด็กๆที่เป็นผู้ติดตามแรงงานต่างด้าวต่อในพื้นที่อำเภอขนอม และน้องโมเคยได้รับรางวัลชนะเลิศจากการเขียนเรียงความเนื่องในวันแม่เมื่อปี พ.ศ.2557 และเคยได้รับเกียรติบัตรจากการแข่งขันคัดลายมืออีกด้วย

"รู้สึกดีใจที่ได้เรียนโรงเรียนนี้เพราะทำให้หนูมีเพื่อนเพิ่มขึ้น เพื่อนๆมีนิสัยน่ารัก ทำให้อยากมาโรงเรียนทุกวัน คุณครูก็ใจดี เวลาพักเที่ยงก็มีเพื่อนๆจากห้องอื่นมาชวนไปเล่นด้วย" น้องโม กล่าวด้วยท่าทียิ้มแย้มแจ่มใส

"น้องเป็นเด็กที่ตั้งใจเรียนดีมาก ขยันอ่านหนังสือและทำการบ้านที่ครูมอบหมายได้เป็นอย่างดี มีความรับผิดชอบ และชอบทำกิจกกรม หลังจากเลิกเรียนก็จะมีเรียนพิเศษต่อจากครูท่านอื่น" คุณครูภาวิณี โชติมณี คุณครูประจำชั้นน้องโม กล่าว

วันโน เอ เอย นักเรียนของผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติ ที่เข้าเรียนในโรงเรียนชุมชนบ้านบางโหนดได้เกือบหนึ่งปีแล้ว อายุ 8 ขวบ เรียนอยู่ชั้นป.2 เล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า พ่อทำอาชีพนักการภารโรงช่วยงานอยู่ที่โรงเรียนแห่งนี้ หลังจากที่แม่ได้ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตเมื่อปีที่ผ่านมา และพี่ชายทำงานรับจ้าง น้องวันโนอาศัยอยู่ที่บ้านพักในเขตบริเวณโรงเรียนห่างกันไม่ไกลหนัก และได้รับเงินมาใช้จ่ายตอนมาเรียนวันละ 20 บาท

"ผมอยากช่วยพ่อทำงาน อนาคตอยากทำงานเหมือนพ่อเพราะไม่อยากเห็นพ่อเหนื่อย" น้องวันโน กล่าว

ลักษณะนิสัยตามคำบอกเล่าของเพื่อนๆ น้องวันโนในชั้นเรียน ที่พูดกับผู้สื่อข่าวเล่าว่า วันโนเป็นเด็กขยัน ชอบอ่านหนังสือ ตั้งใจเรียน ชอบคุยกับคุณครู คอยช่วยเหลือเพื่อน อยู่บ่อยครั้ง เป็นเด็กที่มีนิสัยสนุกสนาน ร่าเริง และชอบพูดคุยกับเพื่อนๆ คนอื่นๆ

น้องทวง หนึ่งในนักเรียนของผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติที่เคยได้เข้ารับการศึกษาจากศูนย์การเรียนรู้ที่ตั้งอยู่ที่อาคารแพปลาหลังเก่า ที่มีอดีตผู้ประสานงานมูลนิธิรักษ์ไทยเป็นผู้ดูแล เล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า น้องได้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่จำความได้ และเริ่มเข้าเรียนตอนอายุ 10 ขวบ ตอนนั้นเรียนอยู่ชั้นป.2 ที่โรงเรียนสอนคละกันทุกชั้นปีมีเพียงครูพม่าเพียงคนเดียวที่เป็นผู้สอน ซึ่งภายหลังก็ย้ายมาศึกษาต่อที่โรงเรียนชุมชนบ้านบางโหนด

ครอบครัวของน้องทวงทำอาชีพรับจ้าง พ่อทำงานแบกกระสอบข้าวสาร รับจ้างที่ร้านขายของชำอยู่ในตัวเมืองของอำเภอขนอม ส่วนแม่รับจ้างเป็นแม่บ้านทำความสะอาดให้กับร้านอาหารแห่งหนึ่งอยู่ในตัวเมืองของอำเภอขนอมเช่นกัน ตั้งแต่ตอนเช้าน้องทวงจะโดยสารรถจักรยานยนต์มากับพ่อแม่เพื่อเข้ามาเรียนหนังสือตั้งแต่เวลา 07.30-17.00น. เป็นประจำทุกวัน และได้รับเงินค่าขนมมาใช้จ่ายในโรงเรียนวันละ 40 บาท น้องเล่าว่าตนเองอยากจะช่วยพ่อแม่ทำงาน แต่พ่อกับแม่ไม่ยอมให้ทำเลยตัดสินใจส่งมาเรียนที่ศูนย์การเรียนรู้ เพราะเนื่องจากพ่อแม่รู้จักและไว้วางใจครูผู้สอนที่นี้

"พ่อกับแม่ทำงานรับจ้างในตัวเมืองอำเภอขนอม ผมอยากทำงานแบกกระสอบข้าวสารเหมือนพ่อ แต่พ่อไม่ให้ทำ เพราะไม่อยากเห็นผมเหนื่อย เลยส่งผมมาเรียนกับครูที่นี้ ส่วนพี่ชายอายุ 15 เขาไม่อยากเรียนก็เลยไปช่วยพ่อทำงานที่ร้านค้าที่เดียวกับพ่อ" น้องทวง กล่าว ด้วยแววตาเศร้าและหม่นหมอง

ทางคุณครูประจำชั้นของน้องทวง นางธนาภา เอี่ยมทรัพย์ ได้เล่าว่า ทราบเรื่องทางบ้านของน้องทวงเป็นอย่างดี ว่าเขาเป็นแรงงานข้ามชาติมากจากประเทศพม่า เข้ามาทำงานในพื้นที่อำเภอขนอมเกือบ 10 ปีแล้ว ฐานะทางบ้านค่อนข้างที่จะยากจน พ่อ แม่พี่ชายก็ช่วยกันหารายได้ และตัดสินใจส่งน้องทวงมาเรียนที่นี้ได้เกือบปีแล้ว

 

โรงเรียนของหนูคือศูนย์การเรียนรู้ที่แพปลา

นักเรียนที่ศูนย์การเรียนรู้ของเด็กผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติ ที่ ต.ท้องเนียน อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช เดิมสถานที่แห่งนี้เคยเป็นแพปลา โดยมี "คุณที" อดีตผู้ประสานงานมูลนิธิรักษ์ไทย ดัดแปลงสภาพของแพปลาให้เป็นห้องเรียนสำหรับนักเรียน 30 กว่าคน

ช่วงนอนกลางวันของนักเรียนเด็กเล็กที่ศูนย์การเรียนรู้ที่่ ต.ท้องเนียน อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช

ถึงแม้ว่าจะมีโรงเรียนที่สอนนักเรียนของผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติอยู่ 2 แห่ง ที่เป็นโรงเรียนรัฐบาลที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ แต่ยังมีบางส่วนที่พ่อแม่เลือกที่จะส่งลูกมาเรียน อีกทางเลือกหนึ่งที่เป็นศูนย์การเรียนรู้ขยายโอกาสให้กับเด็กของผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติอยู่ 1 แห่ง ที่เมื่อก่อนเคยอยู่ในความดูแลของมูลนิธิรักษ์ไทย ภายหลังไม่มีงบประมาณเมื่อปี พ.ศ.2557 แต่ปัจจุบันก็ยังคงมีการจัดการเรียนการสอนอยู่ตามปกติ โดยมีเพียงอดีตผู้ประสานงานมูลนิธิรักษ์ไทยและคุณครูชาวพม่าเป็นผู้ดูแล

สถานที่แห่งนี้ซึ่งเคยเป็นแพปลาเก่ามาก่อน ได้ถูกดัดแปลงสภาพให้กลายเป็นของห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆที่มีนักเรียนราว 30 กว่าชีวิต อาศัยทำกิจกกรมอยู่ภายใน บรรยากาศการเรียนการสอนที่เกิดขึ้นภายในห้องเรียนแห่งนี้จะถูกคละรวมกันของนักเรียนลูกหลานแรงงานข้ามชาติ มีคุณครูชาวพม่าเพียงคนเดียวที่เป็นคุณครูประจำและคุณครูประจำรายวิชาไปพร้อมกัน ถึงแม้ว่าภายในจะดูเหมือนอึดอัดที่เกิดขึ้นจากอากาศร้อน แต่ที่นี้ก็คลาคล่ำไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของนักเรียนและคุณครูเคล้ากันไป ในทุกบ่ายของวันพฤหัสบดีจะมีครูชาวไทยจากสถานศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) มาสอนภาษาไทยสัปดาห์ละ 1-2 ชั่วโมง

ข้อมูลจากอดิศร เกิดมงคล ระบุว่า การจัดระบบการศึกษาของผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยแบ่ง 4 ประเภท ประกอบด้วย 1.โรงเรียนรัฐบาลที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ 2.การศึกษานอกระบบและสถานศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) 3.ศูนย์การเรียนรู้ที่จัดขึ้นเองโดยคนในชุมชนที่ไม่ได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ และ 4.ศูนย์การเรียนที่จัดร่วมกับโรงเรียนรัฐ ตัวอย่าง โรงเรียนรัฐบาลที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการทำ MOU ร่วมกัน และมีการมาสอบเทียบวุฒิการศึกษาในภายหลัง

เช่นเดียวกับศูนย์การเรียนรู้ในพื้นที่อำเภอขนอม คุณที คืออดีตผู้ประสานงานมูลนิธิรักษ์ไทย ที่ปัจจุบันยังคงดูแลรักษาความเรียบร้อยของศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ เพื่อหวังว่าลูกผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติได้มีทางเลือกในการศึกษาเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งช่องทาง เธอเล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า ตัวเธอเป็นคนสัญชาติพม่าโดยกำเนิด เข้ามาทำงานในพื้นที่อำเภอขนอมได้เกือบสิบปีแล้ว อยากให้ลูกหลานของผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติได้มีที่เรียนกันทุกคน ไม่อยากให้ลูกหลานต้องมาใช้แรงงานในพื้นที่ถ้ายังไม่สามารถรับผิดชอบอะไรได้

"ตอนแรกที่เข้ามาก็ทำงานดูแลประสานงานให้กับมูลนิธิรักษ์ไทย ภายหลังไม่มีงบประมาณ ก็ถูกยกเลิกสำนักงานไป แต่ด้วยความเอ็นดูเด็กก็ทำให้ดูแลพื้นที่ให้เด็กได้มีที่เรียนอยู่ต่อไปในแพปลานี่แหละ" คุณที กล่าว

หลักสูตรการเรียนการสอนของศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ ต่างจากโรงเรียนรัฐบาลที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ เพราะเนื่องจากครูผู้สอนเป็นชาวพม่า สามารถอ่านออกเขียนได้พม่าเป็นอย่างดี ส่วนใหญ่แล้วจะสามารถสื่อสารกันเข้าใจได้ง่ายขึ้น มีเรียนวิชาพื้นฐานที่ทำให้ให้นักเรียนสามารถอ่าน ออก เขียนภาษาไทยได้ และการเพิ่มเติมกิจกรรมระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนก็ปรากฏให้เห็นในช่วงเวลากลางวัน เพราะด้วยชั้นเรียนที่มีนักเรียนสอนคละกัน ต้องทำให้เด็กน้อยอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ได้นอนหลับพักผ่อนกลางวัน ทำให้นักเรียนในชั้นก็สามารถมีเวลาทำงานอดิเรกที่ตนเองชอบ อาทิ เป็นช่วงเวลาวาดรูประบายสี เล่นกีฬากลางแจ้ง หรือแม้กระทั่งสามารถเดินกลับบ้านไปช่วยดูแลงานบ้านก็ยังสามารถทำได้ แล้วค่อยกลับมาเรียนอีกครั้งในช่วงบ่าย

"ตั้งแต่เช้านักเรียนต้องเข้าแถวเคารพธงชาติ สวดมนต์ เข้าชั้นเรียนวิชาต่างๆ อย่าง วิชาภาษาไทย วิชาภาษาพม่า วิชาภาษาอังกฤษ วิชาวิทยาศาสตร์ และวิชาคณิตศาสตร์ ช่วงพักเที่ยงถ้ากินคนไหนพาปิ่นโตมากินเอามากินที่โรงเรียน ถ้าไม่มีก็เดินกลับบ้านไปกินข้าว ก่อนจะเข้าเรียนอีกทีช่วงบ่าย " คุณที กล่าว

ข้อมูลในเดือนมกราคมปี พ.ศ. 2559 ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้มีนักเรียนอยู่ 36 คน ครูทีเล่าว่าสาเหตุทีทำให้โรงเรียนแห่งนี้มีนักเรียนมากกว่าโรงเรียนรัฐอาจเป็นเพราะสถานที่อยู่ไม่ไกลจากบ้านพักของแรงงานข้ามชาติ และมีค่าเทอมที่ต้องจ่ายเพิ่มเดือนละ 250 บาท ซึ่งถ้านักเรียนคนไหนที่ทางบ้านยากจนก็ให้เขาเข้ามาเรียนฟรีได้เลย และตอนเข้ามาเรียนก็ไม่มีการขอเอกสารใดๆ ไว้เพื่อเป็นหลักฐานอะไรทั้งสิ้น ทราบเพียงแค่พ่อแม่ของนักเรียนชื่ออะไร ทำงานที่ไหน นักเรียนก็สามารถเข้ามาเรียนได้

"ส่วนใหญ่พ่อแม่ที่ส่งลูกมาเรียนหนังสือที่นี้จะทำรับจ้างประมงกันทั้งนั้น มีเพียงบางส่วนที่อยู่บ้านไม่ได้ทำงานอะไร แต่จะอาศัยอยู่ในละแวกนี้ ถ้าหากนักเรียนคนไหนที่ทางบ้านยากจนก็จะให้เขาเข้ามาเรียนฟรีได้เลย" ที กล่าว

ซึ่งความต่างระหว่างโรงเรียนรัฐบาลที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ กับศูนย์การเรียนรู้ที่จัดขึ้นเองโดยคนในชุมชนที่ไม่ได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ ขึ้นอยู่กับคุณภาพของการศึกษา ด้วยปัจจัยที่ว่า 1.เมื่อเรียนจบมาจากโรงเรียนรัฐบาลได้รับวุฒิการศึกษา 2.ความเกี่ยวข้องกับนโยบายที่สนับสนุนการศึกษา 3.บุคลากรคุณครูที่มีความเชี่ยวชาญด้านภาษาพม่า และรวมถึงงบประมาณการส่งเสริมให้ผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติได้เข้าเรียน ส่วนแผนการเรียนการสอนของโรงเรียน จากประเทศต้นทางที่มีลักษณะการศึกษาที่แตกต่างกันจากการแบ่งช่วงชั้น ทำให้เกิดอุปสรรค์เมื่อต้องการจะสอบเทียบวัดระดับการศึกษา

ในบ่ายวันหนึ่งที่ศูนย์การเรียนรู้ที่อำเภอขนอม นักเรียนคละชั้นร่วมกันซักซ้อมการแสดง เพื่อที่วันรุ่งขึ้นพวกเขาจะได้จัดแสดงเพื่อขอบคุณมูลนิธิรักษ์ไทยที่เคยให้ความสนับสนุนศูนย์การเรียนรู้บ้านบางโหนดแห่งนี้ และจากนี้ไป แม้จะไม่มีผู้สนับสนุนศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้แล้ว แต่ครูทีก็ยังคงขวนขวายหาแหล่งรายได้เข้ามาชดเชยศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ต่อไป

ทั้งนี้ศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กข้ามชาติที่อำเภอขนอม ก็ประสบปัญหาเสี่ยงต่อการปิดตัวเช่นเดียวกับศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กข้ามชาติหลายแห่งทั่วประเทศ โดยในรายงาน "สถานการณ์ทางด้านการศึกษา สำหรับเด็กข้ามชาติ และแรงงานข้ามชาติ พ.ศ. 2558" นำเสนอโดย เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) ในช่วงวันผู้อพยพย้ายถิ่นสากล เมื่อธันวาคม 2558 ระบุว่ามีศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กข้ามชาติ 19 แห่ง ที่เสี่ยงต่อการปิดตัว เนื่องจากเงินทุนสนับสนุนจากองค์กรเอกชนลดน้อยลง ทำให้เด็กนักเรียน 5,500 คน เสี่ยงต่อการไม่มีที่เรียนหากศูนย์การเรียนรู้ปิดตัวลงกลางคัน

และแม้ว่าศูนย์การเรียนรู้ที่อำเภอขนอม จะขยายโอกาสทางการศึกษาที่ทำให้เด็กนักเรียนผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติได้เข้าถึงมากขึ้น แต่ยังคงมีเด็กที่เป็นผู้ติดตามของแรงงานข้ามชาติอีกเป็นจำนวนส่วนมากในพื้นที่เลือกที่จะไม่เรียนหนังสือเมื่อเทียบกับจำนวนนักเรียนที่เข้ารับการศึกษา 3 ใน 4 กลับมาใช้แรงงานแลกกับเงิน นั่นก็หมายถึงการเรียนเพื่อให้รู้หนังสือเบื้องต้นและออกจากโรงเรียนกลางคันเพื่อไปทำงาน

 

แพปลา: เมื่อเด็กไม่ได้อยู่ในโรงเรียน

น้องอุ๊บอิ๊บ อายุ 12 ปี เคยเรียนหนังสือที่ศูนย์การเรียนรู้ ใน อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช เป็นเวลา 1 ปี ก่อนออกจากโรงเรียนมาช่วยแม่ทำงานที่แพปลา

 

ข้อมูลจากนักวิชาการแรงงานชำนาญการ รักษาราชการแทน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดนครศรีธรรมราช จิตร์เจริญ จันทร ได้กล่าวถึงข้อมูลในส่วนของสิทธิการคุ้มครองแรงงานต่างด้าวไว้ว่า "แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงาน ซึ่งมีความสิทธิเท่าเทียมกัน มีความเสมอภาค แต่ต้องมีอายุตั้งแต่15 ปีขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือแรงงานต่างด้าวก็สามารถทำงานทั่วไปได้ทั้งหมด ส่วนที่อำเภอขนอมส่วนใหญ่เป็นแรงงานประมงทำงานในทะเลถ้าเป็นแรงงานทะเลไม่ว่าจะเป็นคนไทย หรือต่างด้าวจะต้องมีอายุ18 ปีขึ้นไป ต่ำกว่า18 ปีไม่ได้แยกเป็น 2 กรณี"

เมื่อผู้สื่อข่าวเดินสำรวจในพื้นที่ยังคงพบเห็นแรงงานเด็กส่วนหนึ่งของผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติรับจ้างอยู่ในร้านขายของชำในย่านนั้น ที่นั่งเฝ้าร้านอยู่ และกำลังจะเดินไปจัดของที่ชั้นวางสินค้าภายในร้าน

น้องแป้ง อายุ14 ปี หนึ่งในแรงงานข้ามชาติที่ทำงานตั้งแต่อายุยังน้อย พ่อทำอาชีพประมง ส่วนแม่ทำอาชีพรับจ้าง ภายหลังพ่อกับแม่แยกทางกัน พ่อเลือกที่จะสร้างครอบครัวใหม่ในพื้นที่ ส่วนแม่เลือกที่จะเดินทางกลับประเทศพม่า ทำให้น้องแป้งต้องต้องอาศัยอยู่กับเพื่อนบ้านในละแวกใกล้เคียงเป็นบ้านเช่าราคาถูกที่อยู่ติดกับท่าเรือและแพปลา ทุกๆ วันน้องแป้งจะต้องตื่นนอนตั้งแต่เช้า เพื่อออกไปทำงานที่แพปลาบริเวณใกล้เคียง

น้องแป้งเล่าว่า ตัวเธอเคยได้เรียนโรงเรียนรัฐตั้งแต่ตอนที่พ่อแม่ไม่ได้แยกทางกัน ตอนนั้นเรียนได้เพียงระดับชั้นอนุบาล 1 ใช้เวลาเรียนอยู่เกือบ 1 ปี ที่โรงเรียนบ้านท่าม่วง แต่ปัจจุบันนี้ไม่ได้เรียนแล้วเพราะต้องการทำงานเพียงอย่างเดียว เนื่องจากตัวเธอพอที่จะสื่อสารพูดภาษาไทยกับคนในพื้นที่ได้อยู่บ้างเล็กน้อย

"ต้องการเลือกที่จะมาใช้แรงงานมากกว่าจะเข้าเรียนหนังสือโดย เหตุผลเพราะว่าต้องการทำงานเก็บเงินส่งกลับไปให้แม่ในประเทศพม่า แค่อ่านออกเขียนภาษาไทยได้ก็ให้เพื่อบ้านช่วยสอน เมื่อเวลาไปติดต่อราชการก็พาเพื่อนที่พูดไทยได้ไปเป็นเพื่อน" น้องแป้ง กล่าว

แต่เมื่อผู้สื่อข่าวเดินไปสอบถามกับเจ้าของร้านที่ว่าจ้างน้องแป้ง ก็แสดงท่าทีไม่พอใจและตะโกนไล่ให้ออกจากร้านทันที

เช่นเดียวกับน้องอุ๊บอิ๊บ ลูกสาวของคุณดาว ที่มีอายุ 12 ปี ที่กำลังนั่งตัดหัวปลาอยู่หน้าบ้านของนายจ้างรายหนึ่ง เล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า น้องเป็นผู้ติดตามมากับพ่อแม่ที่เป็นแรงงานข้ามชาติมาเมื่อสามปีที่แล้ว พ่อทำงานประมงชายฝั่ง ส่วนแม่ก็รับจ้างตัดหัวปลาอยู่ที่นี้ เข้ามาตอนแรกก็เข้าได้เรียนหนังสือที่ศูนย์การเรียนรู้แต่ได้เรียนเพียง 1 ปี เท่านั้น หลังจากที่พ่อกับแม่ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม ซึ่งในขณะที่น้องเรียนหนังสือนั้นก็ทำให้น้องรู้สึกว่ามีเพื่อนเยอะขึ้นและสามารถสื่อสารกับเพื่อนๆ เป็นภาษาไทยได้ด้วย

"ตั้งแต่ไม่ได้เรียนหนังสือ และมาทำงานกับแม่ก็ไม่ค่อยมีเพื่อน ไม่ชอบคุยกับใคร ไม่มีเพื่อนเล่น หลังจากทำงานเสร็จก็เดินกลับบ้าน" น้องอุ๊บอิ๊บ กล่าว

นายจ้างผู้ว่างจ้างน้องอุ๊บอิ๊บ อายุ 27 ปี ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า น้องอุ๊บอิ๊บเป็นเด็กน่ารักชอบช่วยเหลือแม่ หลังเห็นมานั่งรอแม่ทำงานที่บ้านเลยว่าจ้างให้น้องตัดหัวปลาเป็ด ปลากระบอก และปลาไส้ตัน ได้รับค่าตอบแทนวันละ 150 บาท เริ่มทำงานตั้งแต่เช้าตรู่จนถึงเย็น

"ก็เห็นน้องตามแม่มาทำงานทุกวัน เราเห็นว่าน้องพอจะทำงานได้ก็เลยว่าจ้างให้น้องตัดหัวปลา ได้มีเงินไปซื้อขนม ของเล่นที่เด็กมันอยากได้ ส่วนพ่อแม่เด็กก็เห็นไม่ห้ามอะไร ก็เลยจ้าง "  นายจ้างผู้ว่าจ้างน้องอุ๊บอิ๊บ กล่าวด้วยท่าทีโต้แย้ง

เมื่อสอบถามความจำเป็นของครอบครัวน้องอุ๊บอิ๊บที่ไม่ยอมส่งลูกให้ไปเรียนหนังสือ ระบุว่าปัจจัยมาจากความยากจนของครอบครัวที่ไม่สามารถส่งค่าเทอมของลูก และมองว่าลูกเคยเรียนหนังสือชั้นอนุบาลมาแล้ว ก็พอที่จะอ่านออกเขียนได้ภาษาไทยได้อยู่บ้าง และอีกอย่างคือครอบครัวเองก็ไม่ได้ตั้งใจจะตั้งหลักปักฐานอยู่ที่ประเทศไทย เลยไม่มีความจำเป็นต้องเรียนก็ได้

"จะกลับประเทศพม่าทุกปี ปีละหลายๆ ครั้ง ถ้ามีตังค์เยอะก็กลับบ้าน เพราะยังมีครอบครัวที่ต้องดูแลอยู่ทางโน้นเหมือนกัน แต่ถ้าไม่มีตังค์ก็หาตังค์อยู่ที่นี้ก่อน" คุณดาว ผู้ปกครองของน้องอุ๊บอิ๊บ กล่าว

ในขณะที่น้องดาว อายุ15 ปี คือหนึ่งในเด็กที่เข้ามาใช้แรงงานข้ามชาติที่เดินทางมาจากด่านเจดีย์สามองค์ ของอำเภอพญาตองซู ประเทศพม่า เคยเรียนหนังสือตั้งแต่ตอนที่ยังอยู่ในประเทศพม่า และเข้าประเทศมาอย่างถูกกฎหมายโดยระบุว่าเป็นผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติเมื่อหลายปีก่อน ปัจจุบันน้องดาวเข้าประเทศไทยมานานกว่า 4 ปี

ครอบครัวของน้องดาวได้มีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกกฎหมายจากนายจ้าง พ่อทำงานประมง ส่วนแม่ก็ทำงานค้าขาย และเธอเองก็ทำงานรับจ้างตามแพปลาที่อยู่ใกล้บริเวณบ้านเช่าที่เธออาศัยอยู่

"ที่เข้ามาในที่นี้เป็นเพราะต้องการเข้ามาหางานทำ ที่นี้มีงานให้ทำเยอะแยะและได้เงินมากกว่าอยู่ที่พม่า ตื่นเช้ามาก็เดินเข้าไปทำงานในแพปลาได้เลย" น้องดาว กล่าว

 

สิ่งที่ต้องทบทวนและความหวังให้น้องได้เรียนหนังสือ

อดิศร เกิดมงคล ระบุว่าสาเหตุที่ผู้ปกครองในพื้นที่ที่ไม่ยอมส่งลูกที่เป็นผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติเข้าเรียนในสถานศึกษาเมื่อเปรียบเทียบจากภาพรวมทั้งประเทศทั้งโรงเรียนรัฐบาลที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ และ ศูนย์การเรียนรู้ที่จัดขึ้นเองโดยคนในชุมชนที่ไม่ได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ ขึ้นเกิดจาก 2 ปัจจัย ได้แก่ 1.ภาระที่จะตามมาภายหลังของผู้ปกครองที่จะแบกรับหลังจากที่ส่งให้ลูกได้เรียนหนังสือ จะเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือน และการคำนึงถึงความปลอดภัยของการเดินทางจากบ้านไปยังโรงเรียน เนื่องจากโรงเรียนระยะทางห่างจากชุมชน และความเสี่ยงที่จะโดนจับกุมเพราะยังคงมีแรงงานข้ามชาติบางส่วนที่เข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมาย

อดิศร ยังแสดงความกังวลหากเด็กข้ามชาติไม่ได้รับการศึกษา ไว้ว่า “จะขาดทักษะการใช้ชีวิต ขาดโอกาสในการพัฒนาอาชีพให้พ้นจากแรงงานระดับล่าง ไม่สามารถที่จะตัดสินใจในบางเรื่องได้โดยเด็ดขาด และรวมไปถึงการเสียโอกาสในการพัฒนาตนเองจากการจ้างงานที่ต้องอาศัยทักษะในการสื่อสาร”

ในส่วนของแนวโน้มด้านการเข้าถึงการศึกษาภาพรวมของประเทศไทยในอนาคต เปรียบเทียบกับที่อำเภอขนอม อดิศรเสนอว่าหากมีเด็กข้ามชาติได้เข้าถึงการศึกษาได้เพิ่มขึ้นจะสามารถประกอบอาชีพได้หลากหลายขึ้น เช่น ภาคธุรกิจ ร้านชำขนาดเล็ก ภาคบริการการท่องเที่ยวเชิญร้านนวดแผนไทย ร้านอาหาร รีสอร์ท ไม่เพียงแค่เป็นแรงงานระดับล่างในภาคประมงหรือภาคเกษตรเท่านั้น โดยในพื้นที่อำเภอขนอม เขาเสนอว่าเมื่อดูจากศักยภาพของพื้นที่หลายฝ่ายควรส่งเสริมให้เด็กข้ามชาติมีโอกาสเข้าเรียนเกิน 60% หรือเอาเข้าจริงแล้วควรมีเด็กที่ไม่ได้เข้าโรงเรียนน้อยกว่า 20% ด้วยซ้ำไป

000

ในห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ ที่เด็กๆ มาเรียนรวมกันในศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบ้านท้องเนียน ที่อำเภอขนอมแห่งนี้ ครูชาวพม่าเขียนกระดานดำ เริ่มต้นบทเรียนวิชาสังคม หลังจากนี้เมื่อสอนเสร็จก็ได้เวลาพักเที่ยง ที่เด็กจะได้นอนกลางวัน และเมื่อถึงเวลาบ่ายสามแล้ว พวกเด็กๆ ก็จะตื่นขึ้นมาล้างหน้า ทาแป้งทะนะคาพอกสองแก้ม และเริ่มทำกิจกรรมสันทนาการ เสมือนเป็นการเรียนคาบสุดท้ายของวันนี้ นักเรียนโบกมือลาผู้สื่อข่าวด้วยรอยยิ้ม พวกเราหวังว่าจะได้กลับมาใหม่อีกครั้งเพื่อติดตามว่าบรรยากาศการเรียนการสอนของศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้จะดำเนินต่อไปได้หรือไม่

 

เกี่ยวกับผู้เขียน

พิกุลทิพย์ ยุระพันธุ์ และวิมลรัตน์ ธัมมิสโร เป็นนักศึกษาสำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์
หลักสูตรนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

รายงานข่าวนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการทุนเพื่อทำข่าวสืบสวนสอบสวน กลุ่มเยาวชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net