รายงานเสวนา: มองร่าง รธน. ฉบับมีชัย จากสายตาสื่อ-นักวิชาการ-กสทช.

พิรงรองถามเขียน รธน.รัดกุมมาก ขัดหลักนิติรัฐหรือไม่ บุญเลิศมองร่าง รธน.ไม่ได้ประกันหลักสิทธิเสรีภาพจริง ขณะ สุภิญญายัน ต้องคงหลักการปฏิรูปสื่อใน รธน.

26 ก.พ. 2559 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดเสวนาสาธารณะ “ทางเลือกในการปฏิรูปสื่อ กับ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ที่โรงแรมสวิสโอเต็ล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ โดยก่อนการเสวนา เป็นการนำเสนอผลการศึกษาเรื่อง "การกำกับดูแลสื่อในยุคหลอมรวม" โดย สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI (อ่านที่นี่)

ในการเสวนา พิรงรอง รามสูต ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งข้อสังเกตต่อมาตราที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปสื่อในร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ มีชัย ฤชุพันธุ์  (ดูเอกสารประกอบที่นี่) ว่า มีการเพิ่มข้อจํากัดการใช้สิทธิและเสรีภาพ ว่า ต้อง “ไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ” ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 ซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกตั้งข้อสังเกตอย่างกว้างขวางว่าอาจนำไปสู่ปัญหาการตีความการใช้สิทธิและเสรีภาพโดยรวมทั้งหมด

นอกจากนี้ ยังรอนสิทธิการสื่อสารของประชาชน โดยปรับหมวดเรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่จาก "หมวดสิทธิและเสรีภาพของ(ปวง)ชนชาวไทย" เป็น "หมวดหน้าที่ของรัฐ" ซึ่งเปลี่ยนหลักการสำคัญจากเดิมที่เป็น "สิทธิของประชาชน" เป็น "รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่ และสิทธิในวงโคจรของดาวเทียมอันเป็นทรัพยากรของชาติ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐในการควบคุมดูแล" (ม.56)

พิรงรอง ระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังปรับลดอำนาจของ กสทช. และอาจปรับรูปองค์กร กสทช. จากองค์กรอิสระเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ และรอนสิทธิประชาชนโดยจากเดิมที่กำหนดให้ "ต้องจัดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการสื่อมวลชนสาธารณะ" เป็น "การให้ประชาชนมีส่วนได้ใช้ประโยชน์ด้วย ตามที่กฎหมายบัญญัติ"

พิรงรองชี้ว่า เมื่อดูกระบวนทัศน์ของร่างฉบับนี้แล้ว จากเดิมในรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่เน้นการกระจายอำนาจสู่ประชาธิปไตยทางการสื่อสาร การเข้าถึง-ใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ กลายเป็นการหวนคืนสู่การควบคุมโดยรัฐ พร้อมชี้ว่า จากรัฐธรรมนูญ 2540 มา 2550 และร่างล่าสุดในปี 2559 เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญมีความรัดกุมและมีข้อจำกัดมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในฉบับ 2559 มีข้อปลีกย่อยต่างๆ ระบุชัดเจนมาก

พิรงรอง ตั้งคำถามด้วยว่า ถ้ากำหนดไว้รัดกุมอย่างนี้ว่าใครทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ จะเป็นไปตามหลักนิติรัฐ (rule of law) หรือไม่ หรือกลายเป็นว่าเมื่อบัญญัติไว้ในกฎหมายแล้ว ทำให้การปกครองหรือควบคุมโดยรัฐมันชอบธรรม เพราะกฎหมายเขียนไว้แล้ว (rule by law)

บุญเลิศมองร่าง รธน.ไม่ได้ประกันหลักสิทธิเสรีภาพจริง

บุญเลิศ คชายุทธเดช ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)  อดีตบรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์มติชน กล่าวว่า เมื่ออ่านหมวดสิทธิเสรีภาพในร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ไม่น่าจะสร้างหลักประกันให้กับประชาชนในการได้รับการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพตามที่พึงปรารถนา โดยมาตรา 25 ซึ่งระบุว่า การใช้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกต้อง "ไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ" เมื่อบัญญัติแบบนี้ อาจต้องตรากฎหมายว่า การพูด การเขียนที่กระทบกระเทือนหรืออันตรายต่อความมั่นคงของรัฐนั้นหมายถึงอย่างไร พร้อมชี้ว่า ในอดีต มักมีการตีความว่า ผู้เข้ามามีอำนาจในการปกครองประเทศหรือหน่วยงานด้านความมั่นคงคือรัฐ ซึ่งประชาชนที่ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมเพื่อประชาธิปไตยมองว่าไม่ใช่ และสื่อมองว่าเป็นสิทธิเสรีภาพที่ต้องวิจารณ์และตรวจสอบ

ส่วนกรณีมาตรา 34 เรื่องเสรีภาพในการแสดงความเห็น ซึ่งมีการระบุเงื่อนไขจำกัดสิทธิเสรีภาพเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ โดยเพิ่มเรื่อง "เพื่อป้องกันมิให้เกิดความแตกแยก หรือเกลียดชังในสังคม" เข้ามา เขามองว่า แม้ว่าวิกฤตการณ์ที่ผ่านมา มีการใช้เสรีภาพของสื่อในลักษณะเกินเลย ก่อความขัดแย้ง เกลียดชัง แต่ประเด็นนี้ต้องอยู่ในจริยธรรมสื่อ ไม่ใช่เปิดช่องให้ตราลงในกฎหมาย และปัจจุบัน เรามีกฎหมายเรื่องความมั่นคงของรัฐจำนวนมากอยู่แล้ว ทั้ง กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.ความมั่นคง และประกาศคำสั่งของ คสช. ซึ่งไม่รู้จะยกเลิกเมื่อไหร่ด้วย

บุญเลิศ กล่าวต่อว่า ในมาตรา 34 ยังระบุเรื่องเสรีภาพทางวิชาการ ว่าต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยหรือศีลธรรมอันดี ซึ่งเมื่อกลับไปดูหน้าที่ของปวงชนชาวไทย ก็มีการระบุว่า ต้องไม่ก่อให้เกิดความแตกแยกหรือเกลียดชังในสังคม เช่นนี้เท่ากับไม่มีเสรีภาพ เพราะเสรีภาพทางวิชาการ คือ การเรียนการสอน ค้นคว้า ซึ่งต้องมีความกล้าหาญ เช่น กล้าวิจารณ์คำตัดสินของศาล หากกระทำตามหลักวิชาการควรทำได้

ทั้งนี้ บุญเลิศ ระบุว่า เรื่องจริยธรรมสื่อนั้น สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยคณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้ข้อสรุปว่า การกำกับดูแลด้านจริยธรรม โดยเฉพาะด้านเนื้อหา ต้องมีกฎหมายมารองรับ จึงเกิดการจัดทำร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริม จริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน หรือร่างกฎหมายสภาวิชาชีพสื่อมวลชนขึ้น โดยเสนอให้มีกลไกกำกับด้านจริยธรรม ในส่วนกลาง ภูมิภาคและตามจังหวัดต่างๆ เพื่อกำกับดูแลสื่อทุกประเภท รวมถึงยกระดับมาตรฐานจริยธรรมรวมถึงดูแลสวัสดิภาพความปลอดภัยในการทำงาน และความเป็นอยู่ของสื่อด้วย

 

สุภิญญายัน ต้องคงหลักการปฏิรูปสื่อใน รธน.

สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า แม้การทำงานของ กสทช. จะยังมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ควรเปลี่ยนหลักการสำคัญในรัฐธรรมนูญ พร้อมชี้ว่า สถานการณ์ปฏิรูปสื่อปัจจุบัน แม้ กสทช. มีอำนาจเต็มในการเรียกคืนคลื่นความถี่มาจัดสรรใหม่ แต่ก็ยังเรียกคืนได้ไม่เต็มที่ แม้อาจมีคนมองว่ามีการจัดประมูลคลื่นหลายครั้ง แต่ก็ยังเหลือคลื่นอีกมาก ในอนาคต หากมีการแก้หลักการให้คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรของชาติ ตั้งคำถามว่าจะทำให้กลับไปสู่จุดเดิมหรือไม่ รวมถึงอาจจะอลหม่านพอสมควร โดยเฉพาะในภาวะที่คลื่นความถี่มีมูลค่าสูงมากขึ้นในปัจจุบัน

สุภิญญา มองว่า สองทศวรรษที่ผ่านมา เริ่มมีการสถาปนาหลักการบางอย่างขึ้น เช่น การประมูลที่โปร่งใส ประชาชนฟ้องร้องได้ มีคนรับผิดชอบชัดเจน ขณะที่ระบบสัมปทานแบบเดิม หาตัวกลางรับผิดชอบยากและเปลี่ยนไปมาตามการเมือง

สุภิญญา ชี้ว่า ดังนั้น จึงควรแก้ในส่วนที่เป็นปัญหา เช่น ประเด็นธรรมาภิบาล การใช้งบ การไม่มีส่วนร่วมของภาคประชาชน อาทิ กำหนดให้เปิดเผยรายได้ต่อสาธารณะ ทุกกี่ปีๆ, คงหลักการความเป็นอิสระในการตัดสินใจใช้งบประมาณ แต่อาจกำหนดเพดานงบประมาณต่อปี แต่ต้องไม่ให้มีการแทรกแซง, ให้มีองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น 

"ในฐานะที่เคยผลักดันให้มี กสทช. และเป็นกสทช. เห็นว่าต้องแก้กฎหมาย แต่อย่าเปลี่ยนหลักการสำคัญ ไม่เช่นนั้น จะถอยหลังไปสองทศวรรษ สิ่งที่ดีจะหายไป" สุภิญญากล่าว

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท