ณัฐพร อาจหาญ: ภายใต้ความสงบ จริงๆแล้วคนอีสานกำลังประสบปัญหา

คุยกับ ณัฐพร อาจหาญ หรือ บี ขบวนการอีสานใหม่ หนึ่งในผู้นำเดินขบวน Walk for Rights เปิดมุมมองเหตุผลการเคลื่อนไหว เพราะภายใต้สถานการณ์หลังรัฐประหารไม่เหลือกลไกให้ชาวบ้านได้ต่อรองอำนาจกับรัฐ ขณะที่ทุกอย่างถูกควบคุมด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จ

หากพูดถึงผู้หญิงที่ชื่อว่า ณัฐพร อาจหาญ เชื่อว่าหลายคนคงไม่รู้จักเธออย่างแน่นอน แต่ถ้าพูดถึงผู้หญิงที่เป็นหนึ่งคนเดินนำขบวน Walk for Rights ซึ่งจัดโดยขบวนการอีสานใหม่ หลายคนอาจจะเคยเห็นหน้าเห็นตาเธออยู่บ้าง

ณัฐพร อาจหาญ หรือ บี อายุ 34 ปี เธอจบการศึกษาระดับปริญญาโทจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยร่วมงานในฐานะผู้ประสานงาน รายการเวทีสาธารณะ ช่อง TPBS อยู่ราว 1 ปีครึ่ง ก่อนจะกลับมาทำงานที่บ้านหนองแซง ต.นาตาล อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ซึ่งกำลังประสบปัญหาการดำเนินการขุดเจาะปิโตรเลียมโดยบริษัทเอกชน ซึ่งมีกระบวนการที่ขาดการมีส่วนในการตัดสินใจของคนในชุมชน นอกจากนี้เธอยังเป็นหนึ่งในกลุ่มคนทำงานภาคประชาชนสังคมกลุ่มแรกๆ ในพื้นที่ภาคอีสานที่กล้าออกมายืนกรานว่า ไม่ยอมรับอำนาจรัฐประหารจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และไม่ยอมรับกลไกและเครื่องมือที่เกิดจากรัฐประหาร เพราะไม่ได้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง

พื้นที่ที่เธอทำงานช่วยเหลือชาวบ้านที่กำลังจะได้รับกระทบจากนโยบายรัฐ และโครงการพัฒนาทั้งจากรัฐ และเอกชน ขยายเพิ่มอีก จากกรณีการขุดเจาะปิโตรเลียม ที่บ้านนามูล-ดูนสาด อ.กระนวน จ.ขอนแก่น หากยังคงจำกันได้ครั้งนั้นอาจจะเป็นครั้งแรกๆ ที่เราได้เห็นกองกำลังเจ้าหน้าที่รัฐทั้งทหาร และตำรวจ ลงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการขนย้ายแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมให้กับบริษัทเอกชน ท่ามกลางเสียงคัดค้านของชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับการขุดเจาะและผลิตปิโตรเลียม อันเนื่องมาจากมีกระบวนการทำประชาพิจารณ์ที่ไม่ถูกต้อง และชาวบ้านไม่ได้รับรู้ ไม่รับทราบข้อมูลผลกระทบ ทั้งยังไม่มีการกำหนดแนวทางในการเยียวยาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างชัดเจน และแน่นอนในการขุดย้ายแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมครั้งนั้นเจ้าหน้าที่รัฐได้อ้างอำนาจในการเข้าควบคุมสถานการณ์ตามกฎอัยการศึก

พูดอย่างไม่เกินเลยไปนัก บี อยู่ช่วยชาวบ้านในพื้นที่บ้านนามูลตั้งแต่เริ่มมีข่าวว่าจะมีการขนย้ายแท่นขุดเจาะปิโตรเลียม จนกระทั่งวันที่มีการขนย้ายแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมเมือวันที่ 13 ก.พ. 2558 และจนกระทั่งมีการขุดเจาะและเผาสำรวจก๊าซ ไม่ได้หมายความว่าการต่อสู้ร่วมกับชาวบ้านของเธอไม่มีความหมาย จริงอยู่ที่โครงการขุดเจาะปิโตรเลียมของเอกชนรายดังกล่าวได้ดำเนินการไป แต่ยังเร็วไปนักหากจะพูดว่าเธอและชาวบ้านพ่ายแพ้ในการต่อสู้ เพราะในสนามที่เธอต่อสู้อยู่นั้น กติกา และโครงสร้างอำนาจ ไม่ได้เอื้อหนุนให้เกิดการฟังเสียงจากประชาชนอย่างแท้จริง และด้วยเหตุนี้ นี่อาจจะเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้เธอลุกออกมาเดินไปทั่วภาคอีสาน อย่างน้อยก็เพื่อยื่นยันได้อยู่บ้างว่า ในสถานการณ์ที่โครงสร้างทางอำนาจบิดเบี้ยวเช่นนี้ ประชาชนยังมีสิทธิที่จะลุกขึ้นเดิน และบอกเล่าความคับข้องใจของตัวเองให้คนอื่นๆ ได้รับฟัง

00000

ในสังคมภายนอกยังคงตั้งคำถามกับกลุ่มอีสานใหม่อยู่ว่า ออกมาเดินครั้งนี้มีจุดประสงค์อะไร มีเป้าหมายในการเดินครั้งนี้อย่างไร

Walk for Rights เดินเพื่อสิทธิชีวิตคนอีสาน เราต้องการเดินเพื่อเยียมยามถามข่าวพี่น้องในภาคอีสานที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐ และเอกชนจากโครงการพัฒนา ซึ่งจริงๆ โครงการเหล่านี้มีมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสร้างเขื่อน เรื่องการทำเหมืองแร่ เรื่องที่ดินป่าไม้ อันนี้เป็นปัญหาของคนอีสาน มีความไม่เป็นธรรมต่างๆ เกิดขึ้นตลอด แต่เราพบว่า 2 ปีมานี้หลังจากการรัฐประหาร พี่น้องเจอกับชะตากรรม และสถานการณ์ที่หนักหน่วงมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีมาตรา 44 ที่ออกคำสั่ง หรือประกาศ ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งที่ 64 และ 66/2557 หรือกระทั่ง พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ที่ตัดสิทธิการแสดงออก หรือช่องทางในการเรียกร้องของพี่น้องประชาชน ในขณะที่โครงกรต่างๆ เดินหน้าไปโดยมีการใช้อำนาจที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดมากขึ้น มันทำให้พี่น้องหลายคนเผชิญกับชะตากรรมที่ค่อนข้างหนัก

การต่อสู้ก่อนหน้านี้ที่เคยมีมามันกลายเป็นการตั้งรับ แล้วพี่น้องก็เหนื่อยและท้อ อย่างเช่นกรณีเขื่อนโป่งขุนเพชร ที่มีการต่อสู้กันมา 30 ปี ตอนนี้เขื่อนก็ถูกสร้างไปแล้ว เราเลยนึกถึงว่ามันจะมีวิธีการไหนที่ทำให้พี่น้องคนอีสานได้พูด ได้แสดงสิทธิของเรา เราก็นึกถึงการเดินมาเยียมยามถามข่าว ด้านหนึ่งก็คงเป็นการให้กำลังใจกัน ให้พี่น้องชาวอีสานได้รู้ว่า เราไม่ได้อยู่คนเดียว เราไม่ใช่คนเดียวที่ต้องสู้กับปัญหา หรือที่ถูกทำให้เสียสิทธิ พี่น้องคนอื่นๆ ก็ยังมาเป็นกำลังใจกัน ด้านหนึ่งก็คงเป็นการยืนยันสิทธิว่าเรามีสิทธิที่จะเดิน ก่อนหน้านี้เราคงไม่คิดว่าการเดินมันเป็นเรื่องผิด แต่ทุกวันนี้เราถูกทำให้กลัว การเดินโดยธรรมชาติมันกลายเป็นเรื่องผิดไปซะแล้ว ทุกคนหวาดกลัวที่จะออกมาเดินเพื่อพูดถึงเรื่องสิทธิของตัว เรียกร้องสิทธิของตัวเอง เราถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ลง เรากำลังยืนยันสิทธิตรงนี้ และก็เรียกร้องสิทธิตรงนี้กลับคืนมาสู่ทุกคน เพื่อนำไปสู่อำนาจการต่อรองของพี่น้องที่เพิ่มมากขึ้น

เราก็เลยนึกถึงการเดินไปถามข่าวพี่น้องในพื้นที่ต่างๆ และได้พูดถึงปัญหาที่มันไม่ถูกพูดถึงในภาวะนี้ มันทำให้คนอื่นในสังคมได้รับมากขึ้นว่า ภายใต้ความสงบที่รัฐพูดถึง จริงๆ แล้วพี่น้องประชาชนในหลายพื้นที่กำลังได้รับปัญหากับภาวะแบบนี้อย่างไรบ้าง ซึ่งปัญหาส่วนนี้หลักๆ มันมาจากแนวทางการพัฒนา โครงการพัฒนามันมีมานาน แต่ว่าภาวะแบบนี้มันทำให้โครงสร้างอำนาจมันเปลี่ยนไป อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอยู่ที่ราชการ หรือสั่งมาจากข้างบน ประชาชนไม่มีสิทธิไม่ส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจอีกแล้ว หรือกลไกที่เคยเป็นกลไกในการเชื่อมประสาน แก้ไข หรือจัดการปัญหาไม่สามารถทำงานได้ เนื่องจากว่าทุกอย่างมีคำสั่ง มีอำนาจที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดเกินไป

เราคิดว่าภายใต้ภาวะแบบนี้มันคงจะสร้างปัญหา สร้างความทุกข์ยากให้คนอีสานมากขึ้น มันต้องมีการเปิดช่วงทางเปิดพื้นที่ให้คนอีสาน หรือคนอื่นๆ ได้พูดได้แสดงออก เราเลือกที่จะเดินเพื่อสิทธิ และเดินเยี่ยมยามถามข่าวบอกเล่าเรื่องราวของคนอีสาน

อาจจะมีบางคนตั้งข้อสงสัยว่าทำไมไม่เดินก่อนหน้านี้ และทำไมถึงเลือกที่จะเดินช่วงนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่ได้มีรัฐบาลที่ได้มาโดยปกติ

ก่อนหน้านี้ เราทำเรื่องนี้กันอยู่บ้าง แต่ไม่ได้ใช่การเดิน แต่ละพื้นที่มีกลไกในการแก้ไขปัญหาของตัวเองอยู่ แต่ที่เลือกใช้การเดินในช่วงเวลานี้ก็เพราะมันเป็นช่วงเวลาที่พี่น้องในหลายพื้นที่โดนสถานการณ์ที่เป็นผลกระทบหลังจากการรัฐประหาร มีคำสั่ง อำนาจที่สั่งการลงมามันชัด และมันสร้างผลกระทบให้กับพี่น้องในพื้นที่ค่อนข้างหนัก ในระหว่างนี้แทนที่รัฐจะมีกลไกให้คนได้แสดงออก แต่กลายเป็นว่ามีการออก พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ซึ่งปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของพี่น้อง เราคิดว่ากระบวนการแบบนี้มันเป็นปัญหา มันยิ่งทำให้เราต้องหาช่องทาง

การยื่นหนังสือไปยังหน่วยงานต่างๆ ท้ายที่สุดแล้วมันไม่ได้นำมาสู่การต่อรองอำนาจ รัฐไม่ได้ฟังกลไกเหล่านั้นจริงๆ มันเป็นเพียงการชะลอชาวบ้าน แต่ว่าในทางปฏิบัติก็คือ กระบวนการต่างๆ หรือโครงการต่างๆ ก็ยังเดินหน้าต่อไป เราคิดว่ามันต้องเปิดพื้นที่มากกว่านั้น และสิทธิของพี่น้องในการแสดงออก หรือแสดงความคิดเห็นอย่างสันติ มันต้องถูกเปิดกว้างมากกว่านั้น และรัฐต้องเลิกใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หรือเลิกสั่งอำนาจจากมาตรา 44 เพื่อกดขี่ และสร้างปัญหาให้พี่น้องประชาชน

ตลอดระยะเวลา 15-16 วันได้มีการเข้ามาของเจ้าหน้าที่รัฐบ้างหรือไม่

มีตลอด เรียกว่ามาทุกวัน และก็มีการเพิ่มระดับไปเรื่อย อย่างกรณีในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ ในพื้นที่นั้นก็จะมีการสร้างเขื่อน ก็จะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาสอบถามว่าจะไปไหน จะไปพักที่ไหน แล้วก็มีการเพิ่มระดับเช่น การพยายามประกบติดพวกเราตลอดเส้นทางที่เราเดินพูดคุยกับพี่น้องชาวบ้าน ซึ่งก็สร้างปัญหาในกรณีหนึ่งมันสะท้อนให้เห็นว่า ภาวะแบบนี้กระทั่งการพูดคุยกันอย่างปกติธรรมดาของประชาชนก็ยังทำไม่ได้  มีกลไกที่พยายามจะปิดกั้น แต่ด้านนั้นเราก็พอเข้าใจได้ แต่ว่าการเดินทางมาระดับหนึ่งในกรณีพื้นที่ของเมืองเลย ก็จะมีเจ้าหน้าที่ที่เป็นสันติบาลกลางเริ่มลงมาสอบถาม พยายามเข้ามาคุยในพื้นที่ หรืออย่างบ้านหนองจานที่เราเข้าไป วันแรกที่เราเข้าไปมีกระทั่งเฮลิคอปเตอร์บินดูว่าการเดินของเราผ่านอุทยานแห่งชาติภูผาม่านอย่างไร และมีกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เตรียมกำลังรอรับมือพี่น้องที่เดินเรียกร้องสิทธิอย่างสันติ หรือกระทั่งเวลาที่เราออกมาจากพื้นที่ ก็มีเจ้าหน้าที่ทหารจากค่าย ร.8(ค่ายสีหราชเดโชชัย) เข้าไปสอบถามชาวบ้านว่าทำไมให้เราพักในพื้นที่ และมีการบอกว่าจะเชิญแกนนำชาวบ้านไปพบปะพูดคุย ดื่มน้ำชา กาแฟที่ค่ายทหาร เราก็เห็นภาวะแบบนี้ ซึ่งพยายามกดดัน

ที่เห็นชัดเจน และหนักหนาที่สุดก็คงเป็นเมื่อวาน (18 มิ.ย. 2559) ที่จังหวัดอุดรธานี ทันทีที่เราเดินเข้าไปในพื้นที่ก็มีทั้งนายอำเภอ ทหาร และตำรวจ เข้ามา ตอนนั้นเรานั่งกินข้าวกลางวันอยู่ เขาก็พยายามสกัดให้เราหยุดเพื่อไม่ให้เดิน มีการเจรจาเพื่อห้ามการเดิน จริงๆ เราก็ยืนยันว่า การเดินนี้ถ้ามันไม่ผิดอะไร ซึ่งมนุษย์ทุกคนก็ควรมีสิทธิเดิน แล้วเราก็เดินรณรงค์ในหมู่บ้าน แต่เมื่อมาถึงพื้นที่ที่พี่น้องจัดให้พัก ก็มีท่าทีจากเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งพยายามกดดันให้เราออกจากพื้นที่ทันที ไม่ให้พัก เมื่อทำกิจกรรมเสร็จแล้วก็ให้ออกไป คนก็ตั้งถามกระทั่งแม่ๆ ในพื้นที่ว่า มันมีเหตุผลอะไรที่ต้องให้ลูกหลานที่เพิ่งมาถึงต้องออกไป ทั้งที่ผู้คนเพิ่งมาเจอกัน ลูกหลานพี่น้องรู้จักมักคุ้นกัน มาเยี่ยมยามถามข่าวกันทำไมเจ้าหน้าที่รัฐต้องใช้กำลังกดดันด้วยท่าทีที่ค่อนข้างแข็งกร้าว แต่เนื่องจากว่าพี่น้องในพื้นที่ก็ยังยืนยันสิทธิว่า แม้รัฐจะมีอำนาจมาก แต่รัฐก็ไม่มีสิทธิที่จะมาละเมิดพี่น้องประชาชน สุดท้ายเขาก็ยอม แต่ก็ขอนอนเฝ้าพวกเราด้วย เรียกว่ามีเจ้าหน้าที่ติดตามทุกระยะ และก็ใช้กลไกในแต่ละพื้นที่เพื่อทำให้เกิดความหวาดระแวงกับผู้คนที่เราเดินทางไปเยี่ยม

ช่วงเวลานี้ก็เป็นช่วงเวลาที่ไม่ปกติ ขบวนWalk for Rights ได้ประเมินหรือไม่ว่าถ้ามีปัญหาถูกจับกุมขึ้นมา พร้อมจะรับกับสถานการณ์มากน้อยแค่ไหน

จริงๆ เราพูดถึงเรื่องสิทธิ เรายืนยันตั้งแต่ก้าวแรกที่เราเริ่มเดิน ที่จริงมีคนบอกว่าตั้งแต่ 3 วันแรกเราอาจจะไม่ได้เดินแล้วด้วยซ้ำ แต่เราเชื่อว่า ถ้าแม้กระทั่งเดินอย่างสันติถ้าเรายังเดินไม่ได้ การได้สิทธิอื่นๆ ก็คงยากเกินไป เรายืนยันอย่างที่สุด และจะสู้อย่างสันติวิธี และหากมีการจับกุมก็อยากให้รัฐแสดงกฎหมายมาพิสูจน์ แล้วก็จับได้ เรายอมรับหากรัฐจะใช้กฎหมายเพื่อจับคนที่เดินเพื่อสิทธิอย่างสันติ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท